‘รถติด’ เป็นปัญหาที่คนกรุงเทพสนิทชิดเชื้อมานาน ยิ่งถ้าเป็นช่วงวันหยุดยาวด้วยแล้ว หยุดก็เหมือนไม่ได้หยุด ใช้ชีวิตยาวๆ บนรถแบบปวดหัวสุดๆ ไปเลย แถมเราก็ได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่ากรุงเทพติดอันดับท็อปของโลกเรื่องรถติด ไม่ว่าใครมาอยู่กรุงเทพก็ต้องหาทางปรับตัวเพื่อรับมือช่วงเวลาสุดเซ็งด้วยตัวเองกันทั้งนั้น
ว่าแต่จริงๆ แล้ว กรุงเทพรถติดมากระดับโลกจริงไหม แล้วในแต่ละปี เราต้องอยู่กับช่วงเวลาสุดเซ็งที่ว่านานเท่าไหร่?
INRIX บริษัทวิจัยด้านการจราจรและการขนส่ง ซึ่งรวบรวมข้อมูลและตัวเลขที่เกี่ยวกับปัญหาการจราจรจากเมืองใหญ่กว่า 1,000 เมืองใน 50 ประเทศทั่วโลก และจัดอันดับเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปี 2022 กรุงเทพถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่รถติดมากที่สุดอันดับ 2 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 32 ของโลก โดยพื้นที่เขตลาดกระบังมีปัญหาการจราจรมากที่สุดในกรุงเทพ แถมติดอันดับที่ 393 จากทั้งโลกอีกด้วย
ขนาดว่านี่เป็นเพียงการคำนวณจากค่าเฉลี่ยทั้งปีเองนะ ถ้าเป็นช่วงวันหยุดยาวหรือวันหยุดเทศกาลสำคัญอย่างปีใหม่ ทุกคนคงเห็นภาพว่ารถจะติดหนักหนาขนาดไหน หรือลองดูตัวเลขที่กรมทางหลวงรวบรวมไว้ก็ได้ว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2565 – 1 ม.ค. 2566 มีรถเข้า-ออกกรุงเทพรวมทั้งสิ้น 4,074,129 คัน แบ่งเป็นฝั่งขาเข้าจำนวน 1,917,727 คัน และฝั่งขาออก จำนวน 2,156,402 คัน
จากที่ตั้งใจเดินทางมาพักผ่อนและสนุกสนานในวันหยุดยาว เจอการจราจรแบบนี้เข้าไป หยุดยาวกี่วันก็คงไม่หายเหนื่อย แต่ที่น่ากังวลกว่านั้นคือ เราไม่ได้เจอปัญหาการจราจรแบบนี้แค่เฉพาะวันหยุดยาว แต่เราเจอกันทุกวัน!
TomTom Traffic Index หน่วยงานที่ทำรายงานดัชนีการจราจรประจำปีสำรวจแล้วพบว่า คนกรุงเทพสูญเสียเวลา ไปกับช่วงเวลารถติดราว 8 วันต่อปี หรือราว 192 ชั่วโมง แต่นั่นก็เป็นเพียงค่าเฉลี่ยเท่านั้น เพราะหากลองบันทึกเวลาในชีวิตจริงแต่ละคน เราจะพบว่ามันดูดกลืนเวลาไปอย่างน้อย 20 วัน กับ 6 ชั่วโมงต่อปีเลยทีเดียว
แน่นอนว่าปัญหารถติดไม่ได้สร้างปัญหาแค่เรื่องเวลาในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่การที่ยานพาหนะที่ติดเครื่องยนต์ต้องนิ่งค้างอยู่บนท้องถนนเป็นเวลานาน ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหามลพิษทางอากาศ เพิ่มฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพทั้งคนในรถและนอกรถ
ยังไม่นับอีกว่าการนั่งอยู่ในรถท่ามกลางการจราจรติดขัด ยังก่อให้เกิดปัญหาความเครียดสะสมอีกด้วย โดย Sunny Joseph นักจิตวิทยาคลินิกชาวอินเดียยืนยันว่า คนที่เจอสถานการณ์รถติดบ่อยๆ นั้นจะเกิดความเครียดสะสม และส่งผลต่อเนื่องให้ความดันเลือดสูงขึ้น ไปจนถึงปัญหาอัตราการเต้นหัวใจ การย่อยอาหาร รวมถึงโรคซึมเศร้าอีกด้วย