ไม่ไหวแล้วโว้ย! จะปาดอะไรนักหนา ไฟเลี้ยวมีทำไมไม่เปิด จะแทรกหาสวรรค์วิมานอะไรวะ มันเส้นทึบ ซื้อใบขับขี่มาหรือไง!
ในช่วงเย็นที่เพื่อนคนหนึ่งเหนื่อยเกินจะโหนรถเมล์ ต่อคิวรถไฟฟ้า หรือรอแถววินมอเตอร์ไซค์ หากเรามีน้ำใจแล้วเอ่ยปากชวนว่า “กลับด้วยกันมั้ย เดี๋ยวไปส่ง” ก็น่าจะช่วยให้วันนั้นของเพื่อนจบลงพร้อมรอยยิ้มที่กว้างขึ้น
อย่างไรก็ดี ภาพที่คิดกลับไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะทันทีที่เพื่อนขึ้นมานั่ง และชั่วขณะที่เราเริ่มจับพวงมาลัย จากภาพคนที่ใจดี ใจเย็น และสุภาพอ่อนน้อม เรากลับกลายร่างเป็นคนละคนอย่างไม่น่าเชื่อ ท่าทางและอิริยาบถของเราเปลี่ยนถึงขั้นเพื่อนที่ติดรถไปด้วยต้องทักถาม
“เฮ้ยแก ช้าลงหน่อย ก็ได้” เพื่อนพยายามปรามเราให้ใจเย็น แต่…
“ไม่ได้ ถ้าช้าตอนนี้ เดี๋ยวได้ติดแยกลาดพร้าวเป็นชั่วโมงๆ แน่” เราว่า
“ให้เขาแซงไปเถอะ เขาดูจะรีบ” เพื่อนโน้มน้าว
“เราก็รีบเหมือนกันป้ะ ถ้ามันรีบมากทำไมไม่ออกตั้งแต่เมื่อวานวะ” เราอารมณ์ขึ้น
“โทษนะ ปกติไม่เห็นแกเป็นงี้เลย ทำไมพอขับรถแล้วเครียดจัง” เพื่อนอดสงสัยไม่ได้
“ไม่ได้เครียด นี่ปกติ ชีวิตบนท้องถนนก็แบบนี้แหละ” เราตอบ ก่อนจะรู้สึกตัวว่าตัวเองเปลี่ยนไปจริงๆ และมันก็เปลี่ยนไปแทบจะทุกครั้งที่ต้องขับรถ
ทำไมนะทำไม ชีวิตบนท้องถนนถึงสร้างความกังวลใจให้เราได้มากขนาดนี้ ราวกับว่าการจับพวงมาลัยคือการสับสวิตช์ เปลี่ยนจากโหมดคนใจเย็นมาเป็นคนหัวร้อน คนอารมณ์ดีถูกเปลี่ยนให้เป็นคนขี้หงุดหงิด เราไม่อยากเป็นแบบนี้เลย แต่มันก็เป็นไปแล้ว มันพอจะมีทางแก้บ้างมั้ยนะ
ความเครียดบนท้องถนนเป็นสิ่งที่เราทุกคนพบเจอได้จนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ แต่คำถามคือมันควรจะเป็นเรื่องปกติจริงๆ หรือ เพราะหลายครั้ง ความหงุดหงิดไม่สบายใจนี้ก็นำไปสู่ความรำคาญ โกรธเคือง ถึงขั้นที่ในภาษาอังกฤษมีคำจำกัดความว่า ‘Road Rage’ ที่หมายถึง ความโกรธที่เกิดขึ้นขณะขับรถเลยทีเดียว
เว็บไซต์ The Zebra รายงานว่า ในปี 2023 ประชาชนสหรัฐราว 92 % พบเห็นความเดือดดาลขณะขับขี่ และในระยะเวลาเพียง 7 ปี มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ในลักษณะนี้สูงถึง 12,610 คน และเสียชีวิต 218 คน โดยองค์กรบริหารความปลอดภัยบนท้องถนนของสหรัฐอเมริกา (National Highway Traffic Safety Administration) ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมว่า 66 % ของการเสียชีวิตบนท้องถนนเกิดจากความโกรธเกรี้ยวและก้าวร้าวของคนขับ
นอกจากนี้ สำนักข่าว CNN ยังรายงานในทำนองเดียวกันว่า ในปี 2022 มีการร้องเรียนในประเด็น Road Rage เพิ่มขึ้นกว่า 500 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลา 10 ปีก่อน
แม้เราจะไม่สามารถเทียบเคียงสภาพการณ์ของประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาได้แบบครบถ้วน เพราะบริบท ทั้งวัฒนธรรม อุปนิสัย หรือกระทั่งปัจจัยเรื่องกฎหมาย จำนวนยานพาหนะ และลักษณะของท้องถนนก็แตกต่าง อย่างไรก็ดี มันมีจุดร่วมบางอย่างที่ส่งผลต่ออัตราความเครียดของคนขับทั่วทุกมุมโลก
แน่นอนว่าความเครียดที่เกิดขึ้นย่อมต้องมีสิ่งเร้ามากระตุ้น ซึ่งในแต่ละประเทศย่อมมีสิ่งเร้าเหล่านี้แตกต่างกันไป บางท้องที่อาจมีปัจจัยเหล่านี้มาก บางบริเวณอาจมีน้อย เราจึงอยากชวนทุกคนลองอ่านแล้วสำรวจตัวเองว่า ในการขับรถของเราและคนรอบตัว เราต้องพบเจอปัจจัยและสิ่งเร้าที่บีบให้เราเป็นคนใจร้อนมากน้อยแค่ไหน
ทำไมหลังพวงมาลัย เราถึงกลายเป็นคนละคน
บริษัทประกันภัยอย่าง Swinton Insurance ได้ร่วมมือกับ IAM RoadSmart องค์กรการกุศลด้านความปลอดภัยบนท้องถนนของอังกฤษ เพื่อศึกษา 4 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความเครียดขณะขับขี่ โดย 4 ปัจจัยที่ว่า ได้แก่
- สภาพการจราจรและความแออัดของท้องถนน
การควบคุมยานพาหนะท่ามกลางการจราจรที่หนาแน่นอาจสร้างความตึงเครียดให้เราได้ โดยบางครั้งเราก็รู้ตัว แต่อีกหลายครั้งก็เป็นความกลัดกลุ้มอึดอัดที่เราสะสมไว้วันละนิดโดยไม่รู้ตัว ซึ่งความร้อนใจของเราก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากมีการนัดหมายสำคัญที่ต้องรีบไปถึงให้ทันเวลา
เว็บไซต์ TOMTOM เผยข้อมูลการเสียเวลาบนท้องถนนในปี 2023 โดยเก็บข้อมูลจาก 387 เมืองใน 55ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่าคนกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ต้องเสียเวลาบนท้องถนนในชั่วโมงเร่งด่วนสูงถึง 108 ชั่วโมงต่อปี การต้องทิ้งขว้างเวลาไปมากขนาดนี้ก็คงไม่แปลกหากผู้ใช้รถใช้ถนนจะหงุดหงิด โมโห หรือหลายคนถึงกับสิ้นหวังทุกครั้งที่เห็นไฟแดง
เมื่อเราต่างมีปัญหาการจราจรติดขัดเป็นภาพจำ เรายิ่งต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อประหยัดเวลาการเดินทาง ต่อให้ประหยัดได้ไม่กี่นาทีก็ยังดี นั่นเองที่นำมาสู่ความใจร้อน เร่งรีบ ยอมไม่ได้เมื่อถูกใครบางคนปาดหน้า หรือในจังหวะเวลาที่ต้องไป เราก็ยิ่งต้องเหยียบคันเร่งก่อนที่จะไม่มีโอกาสนั้นอีก รถติดที่เราเจอมาทั้งชีวิตสอนเราว่าตอนไหนรีบได้ต้องรีบไว้ก่อน
นอกจากนี้ ความแออัดบนท้องถนนยังนำไปสู่สาเหตุความเครียดได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความหิว ปวดท้องเข้าห้องน้ำ ฯลฯ แค่คิดเล่นๆ ว่า ตัวเองท้องไส้ปั่นป่วนกระทันหันตอน 6 โมงเย็นที่แยกอโศกก็สยองแล้ว
- ผู้ร่วมทางคนอื่นๆ
ต่อให้เราขับรถอย่างใจเย็นและมีสติมากแค่ไหนก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะราบรื่น เพราะบนถนนเส้นนี้ไม่ได้มีรถของเราเพียงคันเดียว แต่มีอีกมากมาย ทั้งรถยนต์ รถทัวร์ รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ ฯลฯ และทุกคันต่างก็พร้อมพุ่งเกี่ยวเฉี่ยวชน หรือสร้างความหงุดหงิดใจให้เราได้ทุกเมื่อ
หลายครั้งเราก็ไม่สามารถฟันธงว่าคันข้างๆ ที่ต้องการปาดหน้า เขาลืมเบี่ยงเข้าเลนซ้ายจริงๆ หรือเขาจงใจใช้เลนขวาโดยหวังมาปาดหน้าตั้งแต่แรก แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลไหนก็ตาม เราก็ไม่ชอบใจอยู่ดี และพอโดนมากเข้า เราก็ยิ่งหัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ
ข้อมูลจาก รายการประเด็นเด็ด 7 สี ชี้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนรถจักรยานยนต์มากที่สุดหากประเมินจากจำนวนครัวเรือนทั้งประเทศ โดยปี 2022 มียอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์สะสมในประเทศไทยมากกว่า 22 ล้านคัน โดยเราไม่ได้นำเสนอข้อมูลนี้เพื่อโจมตีว่า ปัญหาความเครียดบนท้องถนนเกิดจากผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ แต่ด้วยตัวเลขจำนวน ในมุมหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า การมีพาหนะหลากหลายขนาดสร้างความยุ่งยากในการขับขี่ได้จริง และยิ่งมอเตอร์ไซค์หลายคันเลือกใช้วิธีลัดเลาะ แซงซ้าย ปาดหน้า ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ควบคุมพวงมาลัยที่จะสังเกตเห็นได้อย่างรอบด้าน นั่นเองที่ทำให้คนขับเสมือนต้องเปิดรับข้อมูลแบบ 360 องศา ทั้งเครียดทั้งกดดัน
- คนร่วมทางในรถคันเดียวกัน
บางครั้งผู้ที่ติดรถมาด้วยก็ช่วยดูทาง เลือกเพลงที่ถูกใจ แถมยังชวนคุยในเรื่องที่สบายหู แต่อีกหลายครั้ง ผู้โดยสารก็ไม่ได้น่ารักขนาดนั้น หากเราเป็นคนขับแกร็บหรือแท็กซี่ที่คนข้างหลังพูดคุยเสียงดังตลอดเวลา ไม่มากก็น้อย มันย่อมสร้างความอึดอัดใจให้เราที่เป็นคนขับ
หรือถ้าลองจินตนาการว่าคนที่นั่งอยู่ข้างๆ คือพ่อแม่ บุคคลที่สอนเราขับรถมาเองกับมือ ความเกร็ง เครียด วิตกก็อาจเข้าเกาะกุมหัวใจ แค่ได้ยินเขาพูดว่า “ทำไมเปิดไฟเลี้ยวช้าจัง” เราก็รู้สึกไปแล้วว่ากำลังถูกจ้องจับผิดและตัดสินอยู่ตลอดเวลา
มากไปกว่านั้น อีกหนึ่งปัญหาที่พาให้คนขับหงุดหงิดเป็นเพราะไอคนข้างๆ เรานี่แหละที่ใจร้อน โหวกเหวกโวยวาย และตะโกนด่ารถคันอื่นไม่ยอมหยุด ปกติ ถ้าขับคนเดียว เราอาจไม่รีบ แต่เมื่อคนที่นั่งมาด้วยโคตรรีบ กลายเป็นว่าถ้าไม่รีบตามก็เหมือนเราเป็นคนผิดไปเป็นที่เรียบร้อย
- ขวาระวัง ซ้ายระแวง เส้นทางที่ไม่คุ้นเคย
ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Road Awareness อันหมายถึงการเปิดการรับรู้ขณะขับรถ อย่างที่ทุกคนรู้กันว่า การขับรถต้องพึ่งพาประสาทสัมผัสค่อนข้างมาก ผู้ที่ขับต้องมีสติสัมปชัญญะมากพอที่จะสังเกตเส้นทาง สัญญาณไฟจราจร คนข้ามถนน รวมไปถึงรถคันอื่นๆ ซึ่งนับเป็นความท้าทายสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มขับรถที่จะต้องเปิดรับสิ่งต่างๆ พร้อมกับใช้สมาธิจดจ่อกับการควบคุมพวงมาลัย เปลี่ยนเกียร์ และตบไฟเลี้ยว
และถึงแม้ว่าเวลาที่ผ่านไปจะช่วยให้มีประสบการณ์มากขึ้น เปิดระบบ Autopilot ในการขับรถได้มากขึ้น แต่เมื่อไปยังสถานที่ใหม่ๆ เส้นทางใหม่ๆ เราย่อมต้องกลับมามี Road Awareness เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาต้องเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นชิน ไม่เคยไปมาก่อน เรายิ่งต้องแยกสมาธิส่วนหนึ่งไว้สำหรับการดูแผนที่ และมองหาปลายทาง
เรื่องจริงที่น่าเศร้ามีให้เราเห็นทั้งจากรายงานข่าวและภาพที่เกิดขึ้นจริงบนท้องถนน หลายต่อหลายครั้ง ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บก็ไม่ใช่ฝ่ายเริ่มก่อน เขาเป็นฝ่ายที่ถูกอีกคนขับรถเบียดหรือปาดหน้าด้วยซ้ำ เพียงแต่เมื่อจอดรถลงไปถามและตักเตือน กลับเป็นเขาเองที่ถูกทำร้าย หรือเลวร้ายกว่านั้นคือถูกยิงเสียชีวิตคาที่ กลายเป็นว่าเขาต้องจากโลกนี้ไปตลอดกาลทั้งที่ตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิดเลย…
เราคนนอกอาจมองว่า ถ้าเขาอดทนได้มากกว่านี้ก็คงจะดี ถ้าเขาข่มใจไม่ลงไปตักเตือนก็อาจจะรอดชีวิต แต่พร้อมกันนั้น เราก็รู้ว่าหากมันเกิดขึ้นกับเราบ้าง เราก็อาจจะตัดสินใจไม่ต่างกับเขา
สุดท้าย วิธีการลดความเครียดขณะขับรถที่เราจะแนะนำต่อไปนี้ มันอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ในเมื่อรถยังคงติด และท้องถนนยังเต็มไปด้วยหลายชีวิตที่ต้องเร่งรีบ มันจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะได้ขับรถกันอย่างสบายใจแท้จริง แต่เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เทคนิคต่อไปนี้จะช่วยให้แต่ละคนขับรถโดยมีความวิตกกังวลน้อยลง
- พยายามเผื่อเวลา – คงดีหากการจราจรในประเทศเราดีกว่านี้ แต่ในเมื่อมันยังเป็นเช่นนี้อยู่ การเผื่อเวลาคงเป็นวิธีที่เราทำได้ง่ายที่สุด ครั้งไหนที่รถติดหนักอย่างช่วยไม่ได้ ก็อยากให้พยายามปล่อยวาง เพราะเรื่องนี้มันอยู่เหนือการควบคุมของเรา แต่ครั้งไหนที่ออกก่อนได้ ออกก่อนไว้ก็คงช่วยให้ใจเราว้าวุ่นน้อยลง
- ลองทำความเข้าใจ – เจ้าของรถคันนั้นอาจจะเป็นมือใหม่ คันที่ขับช้ามากๆ อาจเป็นเพราะเขามีเด็กเล็กอยู่ในรถ แน่นอน เราอาจรู้สึกหงุดหงิดในทีแรก แต่ถ้าหากพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ได้ ใจเราก็คงเบาลง อย่าลืมว่าครั้งหนึ่งเราก็เคยเป็นคนขับรถมือใหม่มาเหมือนกัน
- หาทางแก้เครียดบนรถ – หากต้องไปสถานที่ที่ไม่เคยไปก็ตรวจสอบเส้นทางให้แน่ใจไว้ก่อน หรือถ้าตอนไหนรู้สึกตึงๆ เริ่มโกรธ เริ่มเซ็งก็ลองเปิดเพลงหรือพอดแคสต์ที่ช่วยให้ใจเย็นลง การตะโกนร้องเพลงอาจช่วยให้เราได้บายความอึดอัดในใจได้มากขึ้น และวิธีการเหล่านี้น่าจะช่วยให้เราขับรถได้โดยไม่เครียดจนเกินไป
- ไม่ยุ่งกับคนหัวร้อน – หลายครั้งเราเองก็หัวร้อน แต่หัวร้อนคนเดียวภายในห้องโดยสารเท่านั้น ทว่าในความเป็นจริงมีอีกหลายคนที่หัวร้อนและเลือกที่จะระเบิดอารมณ์ออกมา ซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้งบนท้องถนนที่หลายต่อหลายครั้งก็ไร้ซึ่งความยุติธรรม คนไร้มารยาทอาจประหยัดเวลาได้มากกว่า และคนขับดีอาจต้องกลายเป็นผู้เสียหาย แต่ถึงอย่างนั้น การหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้าก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะการไปสายไม่กี่นาทีคงดีกว่าการบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายในเรื่องที่เราไม่ใช่คนผิด ท้ายที่สุดแล้ว หากสถานการณ์เลยเถิด หรือเพื่อป้องกันการปัญหาล่วงหน้า การมีกล้องหน้ารถติดไว้ ก็อาจช่วยให้เราอุ่นใจได้มากขึ้น
ทั้งหมดที่เราว่ามาล้วนเป็นวิธีแก้ไขปัญหาความเครียดที่ปลายเหตุ เป็นการบรรเทาความหงุดหงิดที่ผู้ใช้รถใช้ถนนจำต้องรับผิดชอบตัวเอง อย่างไรก็ดี หากมีทางที่เราจะสามารถเอาชนะความท้าทายนี้ที่ต้นตอ แก้ปัญหารถติดของไทย บังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ ซ่อมแซมถนนให้เสร็จสิ้นตามเวลา ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้คือการแก้ ณ จุดเกิดเหตุที่น่าจะช่วยให้คนไทยมีความเครียดในการใช้รถใช้ถนนน้อยลง
แต่เพราะเรายังต้องอาศัยอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ในระหว่างนี้ เราคงทำได้เพียงตั้งความหวังและตั้งคำถามต่อไปว่า จะเป็นไปได้มั้ยที่ท้องถนนของไทยจะมีนโยบายซึ่งช่วยให้เราขับขี่สัญจรได้อย่างสบายใจมากขึ้น
เพราะลำพังแค่เรื่องงานและการใช้ชีวิตก็เครียดมากพอแล้ว อย่าให้เราต้องเครียดต่อตอนขับรถกลับบ้านเลยนะ
อ้างอิงจาก