เคยสงสัยไหม ว่าหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่แสนจำเป็นในชีวิตประจำวันอย่าง ‘ค่าน้ำมัน’ ทำไมราคาถึงได้แพงขึ้นๆ
แต่เมื่อลองไปดูราคาน้ำมันในตลาดโลก บางครั้งก็ไม่ได้แปรผกผันตามราคาที่หน้าปั๊ม ทำให้หลายคนสงสัยว่า ผู้ประกอบการหรือปั๊มน้ำมันค้ากำไรเกินควรหรือไม่ ชวนมาลองถอดโครงสร้างราคาน้ำมัน ว่าทุกบาททุกสตางค์ที่เราจ่ายไป แท้จริงแล้วเงินไปอยู่ที่ไหนบ้าง รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่หลายคนยังสงสัยเกี่ยวกับราคาน้ำมัน
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การที่ราคาน้ำมันแพงขึ้น ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการได้กำไรเยอะขึ้น เพราะเมื่อเราเติมน้ำมัน 1 ลิตร ราคาที่จ่ายไป ไม่ได้ประกอบด้วยค่าน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่อีกมากมาย โดยโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ
1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน (ประมาณ 70% ของราคาขายปลีก) ประกอบไปด้วย ราคาน้ำมันจากตลาดโลก ที่มีความผันผวนตลอดเวลา ค่าการกลั่น (Gross Refining Margin) และค่าขนส่งน้ำมันไปยังคลังน้ำมัน ซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปอีกเช่นกัน
2. ภาษีและกองทุน (ประมาณ 25% ของราคาขายปลีก) ภาษีส่วนนี้มีการจัดเก็บเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ ประกอบไปด้วย ภาษีสรรพสามิต, ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนกองทุนมีการจัดเก็บเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน และเพื่อการสนับสนุนการลดใช้พลังงาน ประกอบไปด้วย กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
3.ค่าการตลาด (ประมาณ 5% ของราคาขายปลีก) เป็นส่วนที่บริษัทน้ำมันแบ่งกับปั๊มอีกที ยังไม่ใช่กำไรที่เข้าปั๊มจริงๆ ประกอบไปด้วย ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ค่าน้ำค่าไฟต่างๆ ค่าเช่าหรือค่าบำรุงสถานที่ ค่าพนักงานหรือเด็กปั๊ม ค่าขนส่งน้ำมันมายังที่ปั๊ม รวมไปถึงส่วนลดและโปรโมชันต่างๆ ที่จูงใจให้เราอยากจะเติมน้ำมันกับแบรนด์นั้นๆ
จากโครงสร้างราคาน้ำมันดังกล่าว จึงสามารถช่วยตอบคำถามได้ว่า ทำไมราคาน้ำมันส่งออกถูกกว่าราคาน้ำมันในไทย เพราะไม่ต้องเสียภาษีและกองทุน รวมไปถึงค่าการตลาดก็ไม่ใช่กำไร แต่เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
นอกจากนั้น ประเด็นที่หลายคนสงสัย คือไทยก็สามารถกลั่นน้ำมันเองได้ แต่ทำไมต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศอยู่ นั่นเป็นเพราะว่า ในประเทศมีความต้องการใช้น้ำมันในปริมาณที่สูงกว่าที่ผลิตได้ โดยแหล่งน้ำมันดิบในประเทศสามารถผลิตได้ประมาณ 70,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ความต้องการใช้น้ำมันของไทยอยู่ที่ประมาณ 1,032,000 บาร์เรลต่อวัน จึงจำเป็นต้องนำเข้ามากถึง 962,000 บาร์เรลต่อวัน หรือมากกว่า 90% เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน จากข้อมูลกระทรวงพลังงาน เมื่อปี 2566 รายงานว่าความต้องการใช้น้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 2.7% ต่อปีเลยทีเดียว
อีกหนึ่งคำถามที่คนมักสงสัยกันคือ ถ้าไทยเราต้องนำเข้าน้ำมันอยู่ แล้วทำไมเราถึงส่งออกน้ำมันได้ โดยน้ำมันที่เราส่งออกมี 2 ส่วน คือน้ำมันดิบที่เราขุดเองแล้วใช้ไม่ได้ เพราะบางส่วนของน้ำมันดิบที่เราขุดเองมีโลหะสูงเกินไป ไม่เหมาะใช้กับโรงกลั่นในประเทศ ส่วนนี้จึงถูกส่งออก อีกส่วนที่ส่งออกคือน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตมาเกินกว่าที่ต้องการใช้ น้ำมันสำเร็จรูปที่ว่านี้คือเบนซินและดีเซล ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ แต่เนื่องจากประเทศไทยใช้น้ำมันดีเซลเป็นส่วนใหญ่ เมื่อกลั่นออกมาแล้วได้เบนซินเกินจากที่ต้องการ ไทยเราจึงต้องส่งออก
แต่คำถามที่ตามมาคือ ถ้าเรามีน้ำมันเหลือเยอะๆ ทำไมไม่เก็บไว้ใช้เอง หรือทำไมราคาน้ำมันไม่ถูกลงถ้าเรามีเหลือใช้ ความจริงการกักเก็บน้ำมันไม่ได้ช่วยให้ราคาน้ำมันถูกลง เพราะการเก็บน้ำมันมีต้นทุนการเก็บและการรักษาคุณภาพที่สูง ยิ่งเก็บนานก็จะยิ่งมีต้นทุน ซึ่งทำให้น้ำมันแพงขึ้นจากต้นทุนดังกล่าว การส่งออกน้ำมันส่วนที่เกินเป็นเงินเข้าประเทศจึงได้ประโยชน์มากกว่า
และอีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนยังสงสัย คือทำไมไทยจึงต้องอ้างอิงราคาน้ำมันจากตลาดสิงคโปร์ นั่นเป็นเพราะว่าการซื้อขาย ไม่ว่าสิ่งใดก็ตาม จำเป็นต้องมีราคากลางเพื่อกำหนดมาตรฐานของราคาให้ไม่ถูกบิดเบือนจากพ่อค้าคนใดคนหนึ่ง ซึ่งตลาดสิงคโปร์เป็นตลาดน้ำมันที่ใกล้ไทยที่สุด และยังเป็นศูนย์กลางการค้าน้ำมันที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หัวใจสำคัญคือราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์ ไม่ใช่ราคาที่สิงคโปร์กำหนดเอง ไม่ได้ถูกกำหนดโดยโรงกลั่นใดโรงกลั่นหนึ่ง แต่เป็นผลมาจากการตกลงซื้อขายผ่านตลาดกลางอย่างมีมาตรฐาน การที่ราคาน้ำมันไทยอ้างอิงราคาจากสิงคโปร์ จึงเป็นการสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในการกำหนดราคา
นำมาสู่ข้อสงสัยสุดท้าย ว่าทำไมไทยถึงนำเข้าน้ำมันจากมาเลเซียไม่ได้ ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันของมาเลเซียมีราคาถูกกว่า ราคาน้ำมันมาเลเซียที่คนเคยเข้าใจว่าถูก เป็นผลมาจากสนับสนุนด้วยภาษีของประเทศ ไม่ใช่ราคาขายให้กับประเทศอื่น และปัจจุบันมาเลเซียได้ประกาศยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลแล้ว ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้นประมาณ 9 บาทต่อลิตร แต่ที่เห็นว่า ราคายังถูกกว่าของไทย เพราะโครงสร้างราคา ภาษี และกองทุนที่แตกต่างกันนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก กระทรวงพลังงาน, 2567