ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างไร้ขอบเขต เกิดเป็นธุรกิจใหม่ที่เปิดรับแรงงาน พร้อมๆ กับงานตำแหน่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ทำไมตัวเลขผู้ว่างงานถึงยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ในทางหนึ่งก็เพราะการเข้ามา disruption ของเทคโนโลยี ที่มีความสามารถในการทำงานบางชนิดแทนมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ สอดคล้องกับที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้วิเคราะห์ไว้ว่า ภายในปี 2033 ตลาดแรงงานในสหรัฐฯ จะลดหายไปประมาณ 50% ขณะที่ตลาดแรงงาน 35% ในอังกฤษก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร
แต่อีกทางหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาหลักก็คือ แม้คนทำงานส่วนใหญ่จะพยายามปรับตัว แต่ก็ยังขาดทักษะขั้นสูงและทักษะใหม่ๆ ที่เข้ากับยุคสมัย หรือที่เรียกว่า Hyper-Relevant Skills อยู่ดี และไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มคนทำงาน แต่ในกลุ่มนักศึกษาเองก็ยังขาดทักษะเหล่านี้เพราะหลักสูตรยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร หลายๆ ครั้งเรียนจบออกไปแล้วไม่สามารถเอาทักษะที่มีไปใช้ในโลกของการทำงานได้ แรงงานในบ้านเราส่วนใหญ่จึงไม่สามารถควบคุมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แล้วยังไม่นับว่าการเกิดขึ้นของ Gig Economy ที่หมายถึงรูปแบบการจ้างงานชั่วคราว ที่ทำให้เกิดอาชีพรับจ้างและชาวฟรีแลนซ์เป็นจำนวนมากในปัจจุบันนั้น ก็ยิ่งทำความมั่นคงของพนักงานประจำที่ไม่ได้พัฒนาตัวเองนั้นสั่นคลอนมากขึ้น
ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือที่เรียกว่า Lifelong Learning จึงสำคัญ เพราะจะช่วยให้แรงงานพร้อมสำหรับการทำความเข้าใจความรู้ใหม่ๆ ในอนาคตอยู่เสมอ
และยิ่งจำเป็นมากๆ ในยุคที่ความรู้ใหม่ในปีนี้ อาจเป็นความรู้ที่ล้าสมัยในปีถัดไป
ผลจากการสำรวจแรงงานสหรัฐอเมริกาในปี 2016 โดย Pew Research Center พบว่า 87% ของแรงงาน เชื่อว่าการเทรนนิ่งและพัฒนาทักษะใหม่ตลอดชีวิตการทำงานมีความจำเป็นสำหรับพวกเขา ส่วนหนึ่งก็เพื่อช่วยให้พวกเขารับมือกับความเปลี่ยน ทั้งจากรูปแบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปโดยเทคโนโลยี ทั้งจากระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ A.I. ที่พัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่ง และอีกส่วนก็เพื่อเป็นอาวุธที่จะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานนั่นเอง
ถ้าอย่างนั้นแล้ว Hyper-Relevant Skills ที่เป็นทักษะตอบโจทย์แห่งยุคสมัยหน้าตาเป็นยังไง
ว่ากันง่ายๆ ก็คือ นอกจากทักษะในเชิงความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีสมัยใหม่แล้ว ก็ยังหมายถึงทักษะที่เทคโนโลยียังไม่สามารถเนรมิตขึ้นได้ด้วยตัวเอง ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ ความฉลาดทางอารมณ์ การคิดวิเคราะห์ และความสามารถในการ reskill พร้อมปรับตัวตลอดชีวิต
แต่คุณอาจจะสังเกตได้ว่า ทักษะที่กล่าวมานั้น แทบไม่มีสอนในมหาวิทยาลัยเท่าไหร่ ทั้งที่ในปัจจุบันนี้การแข่งขันสูง มีนักศึกษาจบใหม่ก็มาก ยังไม่นับคนในวัยทำงานซึ่งถือเป็นคู่แข่งที่มีประสบการณ์
ดังนั้นหากไม่มี Hyper-Relevant Skills คุณก็อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่น่าสนใจแล้วในยุคนี้
มาถึงตรงนี้แล้ว เราก็คงพูดได้ว่า การลงทุนเพื่อเพิ่มพูนทักษะดิจิทัล รวมถึง Hyper-Relevant Skills คือสิ่งที่คุ้มค่า และจำเป็นต่อการสร้างแรงงานในอนาคต
SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน ผู้ออกแบบโมเดลการสอนเพื่อเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็นในยุคใหม่ YourNextU เล็งเห็นถึงความจำเป็นนี้และมองไกลไปอีกว่าควรเริ่มต้นปลูกฝังแนวคิดตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย
พวกเขาจึงจับมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) ให้กับกลุ่มเป้าหมายหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ นักศึกษา บุคลากรในภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม และบุคคลทั่วไป โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทั้งความรู้เชิงเทคนิค หรือ Hard Skill และ Hyper-Relevant Skills
และแน่นอนว่าหลักสูตรนี้ถูกคิดค้นให้ตอบโจทย์กับยุคสมัยที่ physical distancing เป็นสิ่งสำคัญ โดยเปิดให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงความรู้ได้จากหลายช่องทางทั้งห้องเรียนปกติ, e-learning และ online learning
นอกจากนี้ยังร่วมกันพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างกลุ่มอาชีพใหม่สำหรับภาคการศึกษา ซึ่งถือเป็นเรี่ยวแรงที่สำคัญสำหรับแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างบุคลากรกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เพราะพวกเขาจะเป็นผู้ส่งต่อความรู้ไปสู่ผู้เรียนต่อๆ ไป อาชีพที่ว่าได้แก่ Online Instrctional Design (นักออกแบบการสอนแบบออนไลน์) Virtual Learning Facilitator (อาจารย์เกื้อหนุนสำหรับการเรียนแบบออนไลน์) และ Data Scientist Facilitator (อาจารย์เกื้อหนุนสาขาวิทยาศาสตร์ข้อมูล)
คงไม่ต้องหาเหตุผลมาสนับสนุนแล้วว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นเรื่องจำเป็นหรือเปล่า และหากก่อนหน้านี้คุณมีความสงสัยว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร จะเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ จากผู้เชี่ยวชาญได้จากทางไหน ตอนนี้คุณก็น่าจะพอเห็นคำตอบเป็นรูปเป็นร่างแล้ว
เหลือแค่ตัวคุณเองที่จะเป็นคนตัดสินใจกับการเริ่มต้นเรียนรู้ตลอดชีวิต
Content by Teeraphat Janejai
Illustration by Waragorn Keeranan