โลกของการลงทุนไม่เคยหยุดนิ่ง สถานการณ์รอบด้านเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้รูปแบบการลงทุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ยุคดิจิทัลได้พลิกโฉมธุรกิจการลงทุนให้ไม่เหมือนเดิม ทำให้ประเด็นความยั่งยืนเป็นวาระระดับโลกที่นักลงทุนทุกคนต้องให้ความสำคัญ
ในโอกาสที่การดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET ที่เดินทางเข้าสู่ปีที่ 48 ในบทบาทการเป็นแหล่งลงทุนสำหรับผู้มีเงินออมและแหล่งระดมทุนสำหรับภาคธุรกิจ จึงได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ ‘SET ก้าวสู่ปีที่ 48 ขับเคลื่อนตลาดทุนแห่งอนาคต – Make it Work for Future’ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนถึงการพัฒนาที่ไม่เคยหยุดนิ่งจากจุดเริ่มต้น ปัจจุบัน และการก้าวสู่อนาคต ทั้งมิติการดำเนินธุรกิจ และมิติการเป็นต้นแบบด้านความยั่งยืนของ SET ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ชวนไปอ่านสรุปการเสวนา ที่ SET จะทำหน้าที่เชื่อมโยงโอกาสทั้งในตลาดทุนปัจจุบันและอนาคต ตามวิสัยทัศน์การพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ทั้งสังคมและประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน
เริ่มต้นกันที่ปาฐกถาพิเศษในช่วงแรก ‘บทบาทตลาดเงิน ตลาดทุน สู่จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย – Towards the Future of Thai Economy’ โดย ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ได้กล่าวถึงโอกาสและความท้าทายของตลาดทุนไทย โดยมี 5 ประเด็นสำคัญที่เป็นปัจจัยต่อเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวดังต่อไปนี้
ประการที่ 1 ความท้าทายจากด้านภูมิรัฐศาสตร์ อย่างเช่น ความขัดแย้งหรือสงครามต่างๆ สามารถกระจายความเสี่ยงได้ทั่วโลกและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะมีผลเชื่อมโยงต่อตลาดทุนโลกและตลาดทุนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลายด้าน เช่น ความผันผวนของราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อที่กระทบต่อผู้คนในสังคมจำนวนมาก อย่างความตึงเครียดด้านเศรษฐกิจการค้าของสหรัฐ-จีน หรือความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่กำลังเกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อมาตรการในการขับเคลื่อน ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองควบคู่กันไป
ประการที่ 2 ความท้าทายจากสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ขณะที่บางธุรกิจยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว โดยจะมาในลักษณะการฟื้นตัวแบบ K-shape คือมีทั้งกลุ่มที่ฟื้นตัวได้เร็วเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์โควิด-19 เติบโตตามการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก ในขณะที่บางกลุ่มที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น ภาคการท่องเที่ยวและบริการยังต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากภาครัฐ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็มีการผลักดันและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโต
ประการที่ 3 การปรับตัวและกระบวนการ Digitalization เพราะ Digital Disruption คือโอกาสและความท้าทาย ซึ่งการดำเนินงานของหลายองค์กร เริ่มมีการปรับตัวนำ Digital Technology เข้ามาใช้ ด้านตลาดทุนเองก็มีการผลักดันด้าน Digitalization เพื่อส่งเสริมความคล่องตัวให้กับภาคธุรกิจผ่านการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานด้วยเช่นกัน และสร้างการเข้าถึงลงทุนที่เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งการเปิดบัญชีออนไลน์ การพิสูจน์และยืนยันตัวตน หรือการเสริมความรู้ในการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับเรื่อง Cybersecurity เพื่อป้องกันความเสียหายต่อองค์กร ทั้งด้านการเงินและชื่อเสียง
ประการที่ 4 พัฒนาการด้านสินทรัพย์ดิจิทัล Cryptocurrency โดยเฉพาะ Distributed Ledger Technology (DLT) หรือ Blockchain ที่ถูกนำมาใช้ในภาคการเงินอย่างกว้างขวาง แม้จะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก และช่วยให้ผู้คนเข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายขึ้น แต่การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการเตรียม Platform ที่พร้อมเชื่อมต่อและให้บริการร่วมกับ Partner ต่างๆ เพื่อให้บริการการลงทุน การระดมทุน และบริการที่เกี่ยวเนื่องในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลสะดวกสบายมากขึ้น โดยจะเน้นให้บริการด้าน Digital Tokens ทั้ง Utility และ Investment Token
ประการที่ 5 ความยั่งยืนกับการพัฒนาตลาดทุน ESG ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอดของธุรกิจในอนาคต เพราะการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ส่งเสริมเรื่อง ESG ให้กับทุก stakeholders ในตลาดทุนผ่านโครงการต่างๆ เช่น การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะ การปลูกป่า และเตรียมพัฒนา ESG Data Platform เพื่อการนำข้อมูลด้าน ESG ไปใช้ในการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ดร. ประสาร ได้กล่าวปิดท้ายไว้ว่า ตลาดทุนไทยเติบโตขึ้นมาก ทั้งในแง่การเป็นแหล่งเงินทุนและช่องทางการลงทุน ส่งเสริมความคล่องตัวให้กับภาคธุรกิจ ผ่านการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐาน ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมรับทั้งโอกาสและความท้าทายที่จะเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือต้อง ‘Rethink’ และ ‘Redesign’ เพื่อปรับตัวและใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่หยุดที่จะพัฒนาตลาดทุนให้เป็นกลไกช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
การเสวนาในช่วงต่อมา คือการเสวนาที่มีหัวข้อว่า ‘Wealth Driver for Fruitful Growth’
คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้ให้ 4 โจทย์ใหญ่กับโอกาสและความท้าทายของตลาดทุนในอนาคต โจทย์ที่ 1 คือการสร้างแหล่งลงทุนสำหรับธุรกิจ New Economy และ Tech Startup เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจและยกระดับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โจทย์ที่ 2 คือการออกกฎเกณฑ์เพื่อรองรับธุรกิจ SMEs ให้สามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ โจทย์ที่ 3 คือการรับมือความท้าทายจากพฤติกรรมของนักลงทุน ที่เริ่มคุ้นเคยกับการลงทุนสินทรัพย์ในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยี ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องทำอย่างไรให้คนมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย และไม่ให้เงินไหลออกไปต่างประเทศ และโจทย์ที่ 4 การรับมือกับ Digital Transformation เพื่อรองรับการระดมทุนในรูปแบบของดิจิทัล ให้นักลงทุนรุ่นใหม่สามารถซื้อขายหุ้นแบบสัดส่วนได้ และสามารถเข้าสู่สินทรัพย์ดั้งเดิม ในรูปแบบของโทเคนที่เติบโตสูงเช่นเดียวกับคริปโตได้
ด้าน ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ Managing Director สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวถึงพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป ตลาดทุนก็ควรปรับตามด้วยเช่นกัน การรู้จุดแข็งของตัวเองและตอบโจทย์เทรนด์ใหม่ให้ได้ เป็นเรื่องที่จำเป็นมากสำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตอบรับกับ 3 เทรนด์หลักในยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น เทรนด์ Big Data & AI ถ้าบริษัทไหนไม่มี อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน, เทรนด์ Covidization ส่งผลกระทบด้านการเข้าถึงการลงทุน และเทรนด์ Web3.0 & Blockchain ที่มาเร็วและกระทบตลาดทุนแทบทุกส่วน
นอกจากนั้น ดร. ณภัทร ยังได้กล่าวถึง สิ่งที่อยากเห็นจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ประเด็นดังต่อไปนี้ 1) New & Rekindled Interest in Investing การเปิดรับโอกาสการลงใหม่ๆ ให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต 2) Speed, Convenience, Flexibility การเข้าถึงที่ง่ายขึ้น สะดวก และยืดหยุ่น ด้วยการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ และผลิตภัณฑ์ลงทุนใหม่ๆ ที่เติบโตสูงให้มากขึ้น 3) Being Early การระดมทุนและเข้าถึงนักลงทุนให้ได้เร็วกว่าเดิม รวมถึงโอกาสของบริษัทที่เข้าถึงดีลที่ดีได้เร็วกว่าเดิม 4) Approachability การสร้างการเข้าถึง รู้จัก และเข้าใจผลิตภัณฑ์ลงทุนได้ง่าย โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย 5) Collectivity การพัฒนาการเชื่อมต่อให้กับบริษัท ผลิตภัณฑ์ กับนักลงทุนได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นทางการ 6) Investor Education ส่งเสริมให้นักลงทุนค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยสร้างสมดุลในการกำกับดูแลการลงทุน
ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงความสำคัญของ ESG (Environmental, Social and Governance) จากผลสำรวจของ BlackRock พบว่า ครึ่งหนึ่งของนักลงทุนสนใจลงทุนในบริษัทที่มี ESG เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ และอีกครึ่งสนใจเพราะเป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีกว่าบริษัทที่ไม่มี ESG ขณะเดียวกันด้านคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นทั้งลูกค้าและแรงงานก็ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก อย่าง Climate Change สิทธิความเท่าเทียม ความหลากหลาย ความสัมพันธ์ของบริษัทกับการเมือง ขณะที่คนรุ่นเก่าให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการขยายตัวทางเศรษฐกิจพอๆ กัน จึงอยากให้บริษัทและนักลงทุนให้ความสำคัญกับ ESG เพราะในอนาคตจะกระทบกับความยั่งยืนทั้งธุรกิจและเศรษฐกิจแน่นอน และเชื่อมั่นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นตัวกลางในการสื่อสารและช่วยส่งเสริม ESG ให้กับทั้งธุรกิจและนักลงทุนได้ดียิ่งขึ้น
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงจุดแข็งของตลาดทุนไทยในปัจจุบันที่มีถึง 4 ประเด็นคือ 1) สภาพคล่องดีขึ้นมาก ซื้อขายวันละเกือบแสนล้านบาท 2) การเข้าจดทะเบียน มีธุรกิจหลากหลาย รวมทั้งธุรกิจที่ไทยมีจุดแข็ง เช่น อุตสาหกรรมอาหารและท่องเที่ยว 3) สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าในประเทศ 4) ฐานนักลงทุนเติบโตขึ้น ปัจจุบันมีกว่า 5 ล้านบัญชี
และประเด็นสำคัญทิ้งท้ายการเสวนาในช่วงนี้ คือเป้าหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะมุ่งมั่นทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อปรับปรุงและส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น ตามโจทย์ 4 ข้อ ดังต่อไปนี้
โจทย์ข้อที่ 1 การลงทุนแบบไร้พรมแดน การสร้างแอปพลิเคชันที่สามารถเปิดบัญชีแบบ e-Open Account ให้ลงทุนได้สะดวกตลอดเวลา ปลอดภัย เชื่อมต่อกับต่างประเทศได้
โจทย์ข้อที่ 2 การเติบโตของธุรกิจนวัตกรรม สนับสนุนการเข้าถึงตลาดทุนไทยของ SMEs และ Startup ผ่าน LiVE Platform ในรูปแบบ Partnership Platform ด้วยความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เตรียมความพร้อมให้กับบริษัทเหล่านี้ให้สามารถเข้าระดมทุนได้ใน LiVE Exchange รวมถึงการออกกฎระเบียบให้กับภาคธุรกิจ New S-Curve และธุรกิจเทคโนโลยีให้เข้ามาระดมทุนได้ง่ายขึ้น
โจทย์ข้อที่ 3 กระบวนการบริการแบบดิจิทัล และการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล การพัฒนา Super App ในรูปแบบ One Stop Service ที่สามารถลงทุนได้ทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าง Investment Token และ Utility Token ร่วมกับสินทรัพย์ดั้งเดิม รวมถึงลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ผ่าน Fractional DR ด้วยเงินบาท
โจทย์ข้อที่ 4 การลงทุนยั่งยืน เน้นการส่งเสริมธรรมาภิบาลเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยการจัดตั้งสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และ CG Center ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาต่อยอดมาจนถึง CSR, ESG และการทำธุรกิจยั่งยืนในปัจจุบัน ผลที่ได้รับดีมาก บริษัทจดทะเบียนไทยได้รับการยกย่องทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
พร้อมกันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังพัฒนาการต่อเชื่อมข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อนำมาสร้างเป็นฐานข้อมูล ผ่าน ESG Data Platform และส่งต่อให้กับผู้ต้องการใช้อย่างสะดวก มีมาตรฐาน มีความเหมาะสมกับธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมให้นักวิเคราะห์สนใจวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ ESG ให้กับนักลงทุน เช่น กองทุนรวม และ Index เหล่านี้คือกระบวนการในการสนับสนุนให้การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมีความหมายและได้ผลอย่างแท้จริง
มาถึงการเสวนาอีกช่วงสำคัญ กับหัวข้อ ‘เดินหน้าอย่างไร ในวันที่ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ – Sustainable Driver For Meaningful Growth’
คุณอภิศักดิ์ เกี่ยวการค้า รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการเงินและบริหารเงินลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เสนอมุมมองของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตให้กับตลาดทุนไทย ว่าต้องเริ่มจากจุดมุ่งหมายขององค์กรก่อน ด้วยการกำหนดกรอบ Sustainability Framework โดยดึงมาจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่ตรงกับบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ใน 4 ด้าน คือ 1) มุมมองที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน 2) แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน 3) การลดความเหลื่อมล้ำ 4) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จากประเด็นของ SDGs ได้นำมาต่อยอดสู่ SET ESG in Action ใน 5 มิติ ดังต่อไปนี้
มิติที่ 1 การบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน เน้นเรื่องความโปร่งใส ความรอบด้าน ความเท่าเทียม ความเป็นธรรม การบริหารความเสี่ยง และนวัตกรรม ผ่านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น e-Lisinging, FundConnext และในช่วงโควิด-19 พัฒนา e-Shareholder Meeting เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บริษัทจดทะเบียนในการประชุมผู้ถือหุ้นแบบออนไลน์ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม เช่น e-Open Account, e-Stamp Duty ระยะต่อไปคือการให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Digital Asset Exchange
มิติที่ 2 การสร้างคุณค่าตลาดทุน มุ่งส่งเสริมทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน กำหนดมาตรฐาน ให้ความรู้ คำปรึกษา ประเมินผล ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูล และยกย่องผู้ทำความดีเพื่อเป็นแบบอย่าง เช่น ส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนเข้าสู่ดัชนีความยั่งยืนระดับโลกต่างๆ และการส่งเสริมให้เกิด Sustainable Finance
มิติที่ 3 การพัฒนาและดูแลพนักงาน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดูแลพนักงาน โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่มีมาตรการให้พนักงาน Work From Home การดูแลอาคารสถานที่ทำงานให้ลดโอกาสจากการติดเชื้อ และส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองผ่าน Online Learning
มิติที่ 4 การพัฒนาและดูแลสังคม ส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้ประชาชนทุกวัยผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสร้างแพลตฟอร์ม SET Social Impact เชื่อมโยงเครือข่ายภาคธุรกิจ รวมทั้งการสร้างหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อสังคม
มิติที่ 5 การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร มีการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ บำบัดน้ำเสีย ลดขยะ ลดคาร์บอน และ Green Procurement ส่วนภายนอกได้ขยายเครือข่ายพันธมิตรกว่า 300 ราย ทำงานร่วมกันในการดูแลสิ่งแวดล้อม
คุณอภิศักดิ์ทิ้งท้ายว่า การบริหารความเสี่ยงทางการเงินของประเทศทำมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่เกิดวิกฤตปี 2540 เป็นบทเรียนที่ดีที่ทำให้บริษัทไทยมีความพร้อมในการบริหารจัดการในหลายวิกฤตที่ผ่านมา ขณะที่อนาคต การนำ ESG เข้าไปอยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ จะทำให้มีความพร้อมในการบริหารความเสี่ยงและจัดการกับวิกฤตได้มากยิ่งขึ้น
ด้านมุมมองในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม คุณนุกิจ ชลคุป Chief Manufacturing Officer บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ได้เน้นย้ำถึงเรื่องความยั่งยืนในภาคธุรกิจไว้ว่า เรื่องความยั่งยืนจะต้องเป็น Integrated Strategy ของทุกเรื่องใน Corporate Strategy ไม่ใช่งานเสริมหรืองานฝาก แต่ต้องเป็นงานหลักของบริษัท รวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอกองค์กร ถ้าทุกคนมองเห็นภาพเดียวกัน ก็จะช่วยจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้เร็วขึ้น เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องสนุกและท้าทาย เกิดประโยชน์ทั้งต่อมนุษยชาติและต่อตัวเราเองอีกด้วย
จุดเริ่มต้นที่บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ดำเนินการเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง คือปี 2561 หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มจากการสร้างการรับรู้แล้ว ตามด้วยการสร้างให้เกิด Commitment ที่บริษัทต้องทำให้ได้ ปัจจุบันบริษัทได้บรรลุเป้าหมาย โดยอยู่ใน SETTHSI Index ได้สำเร็จ
ต่อด้วยมุมมองต่อการลดความเหลื่อมล้ำของผู้ประกอบการขนาดเล็ก คุณไตรสรณ์ วรญาณโกศล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (maiA) กล่าวถึงประเด็นความยั่งยืนในการลดความเหลื่อมล้ำว่า บริษัทจดทะเบียนใน mai มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ในเรื่องของศักยภาพและประสบการณ์ต่างๆ ดังนั้นสิ่งที่สมาคมฯ จะช่วยได้ในการลดช่องว่างนั้น ต้องสร้างการรับรู้ (Awareness) เรื่อง ESG ผลักดันให้เกิดการยอมรับ (Adopt) และสุดท้ายคือการให้ลงมือทำทันที (Take Action)
นอกจากนั้นสมาคมฯ ยังช่วยสร้าง Community ให้ผู้บริหารมาแลกเปลี่ยนมุมมองประสบการณ์ระหว่างกัน ขณะเดียวกันก็ยังสร้างแรงบันดาลใจให้ SMEs ในการเติบโต และให้ข้อมูลกับนักลงทุนและนักวิเคราะห์ รวมทั้งบริษัทจดทะเบียนใน mai ยังร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างกิจกรรมเพื่อสังคม ระดมพล CEO มา Coaching ให้ธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ให้เข้าใจเรื่องการดำเนินธุรกิจ สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ รวมทั้งกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ที่เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ส่วนมุมมองต่อการลงทุนอย่างยั่งยืน คุณธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์การกองทุน กสิกรไทย จำกัด ให้มุมมองว่า ปัจจุบันความสนใจเรื่องการลงทุนที่เน้นเรื่อง ESG ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มนักลงทุนสถาบัน จึงควรสร้างความตระหนักแก่นักลงทุนทั่วไป ในแง่ของการให้ความสำคัญของการนำปัจจัย ESG มาพิจารณาร่วมด้วยในการตัดสินใจลงทุน หน้าที่ของผู้จัดการลงทุนคือการสร้างสมดุลระหว่างการสร้างผลตอบแทนและประเด็นด้าน ESG ในฐานะนักลงทุนสถาบัน เชื่อว่าการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึง ESG จะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนได้ ช่วยลดความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายนอกและภายในตัวธุรกิจเอง และช่วยแยกแยะและเพิ่มโอกาสการลงทุน
ภาพรวมกองทุน Passive Investment พบว่าทั่วโลกมีการเติบโตตามเทรนด์ ESG อย่างก้าวกระโดดเช่นกัน โดยเฉพาะอเมริกาและยุโรป ขณะที่ กลยุทธ์การลงทุน ESG แบบ Active Investment ก่อนหน้านี้ทั่วโลกใช้ Negative Screening โดยวิธีคัดบริษัทที่ไม่ผ่านการพิจารณาตามหลัก ESG ออกจากรายชื่อที่สามารถลงทุนได้ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์ ESG Integration แทน เป็นการรวมกลยุทธ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้มีความยืดหยุ่นในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนได้มากขึ้น
การประเมิน ESG ของ KAsset จะให้น้ำหนักในแต่ละปัจจัยไม่เท่ากัน เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีผลกระทบในด้าน ESG ที่แตกต่างกันออกไป เช่น กลุ่มพลังงานจะมีผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่กลุ่มธนาคารอาจต้องให้ความสำคัญในด้านสังคมมากกว่าธุรกิจอื่น แต่ขณะเดียวกัน ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม Emerging Market อย่างประเทศไทย ประเด็นธรรมมาภิบาลนั้นก็สำคัญเช่นกัน เพราะถ้าบริษัทมีธรรมาภิบาลที่ดี ก็สามารถให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงนโยบายที่ดีและมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการเปิดเผยข้อมูลด้านธรรมาภิบาลของไทยมีมาก และเข้าถึงได้ง่ายกว่าด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยังค่อนข้างจำกัด
คุณธิดาศิริ ได้เน้นย้ำถึงข้อควรระวังการลงทุนในบริษัทที่มี ESG คือประเด็นเรื่อง Green Wash หรือการที่บริษัทที่มีการสร้างภาพลักษณ์ให้นักลงทุนเข้าใจผิดว่าบริษัทมีความรับผิดชอบต่อ ESG แต่แท้จริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดังนั้น นักลงทุนต้องทำความเข้าใจ และติดตามว่าบริษัททำตามนโยบายหรือไม่ และมีการวัดผลอย่างไร
ปิดท้ายการเสวนาด้วย มุมมองต่อเครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาความยั่งยืน โดย คุณรัตน์วลี อนันตานานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า ESG เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงชั้นยอดของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นด้านผู้บริโภค หากพิจารณาข้อมูล ESG พลังนี้จะส่งไปถึงผู้ประกอบการได้ ด้านนักลงทุน สามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในการตัดสินใจลงทุนได้อีกมิติ ขณะที่ผู้ประกอบการ ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในการบริหารจัดการและสร้างโอกาสให้กับธุรกิจได้
ภาพรวมการพัฒนาความยั่งยืน มีเป้าหมายหลักอยู่ 2 ประการ คือ การส่งเสริมธุรกิจให้มีความยั่งยืน และการส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืน ผ่านกลไกที่เป็น 2 เครื่องมือสำคัญ ได้แก่
เครื่องมือแรก คือ SET ESG Data & Disclosure ที่ดำเนินงานผ่าน SET ESG Data Platform มีระบบการจัดการข้อมูล ESG ที่สำคัญ คือ SET ESG Metrics ข้อมูลตัวชี้วัดการดำเนินงานด้าน ESG ที่บริษัทจดทะเบียนรายงาน ทำให้เห็นประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความยั่งยืนของธุรกิจ และผู้ลงทุนสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ESG Structured Data จะทำให้นำข้อมูลในรูปแบบ Structured Data ไปใช้เปรียบเทียบและวิเคราะห์ต่อได้อย่างสะดวก
เครื่องมือที่สอง คือ Education ผ่านกับโครงการ SET ESG Academy ที่เป็นการเตรียมความพร้อมให้บริษัทจดทะเบียนด้านความยั่งยืน ทั้งการให้ความรู้ การสร้าง Junior ESG Professionals เพื่อยกระดับผู้ปฏิบัติงานด้าน ESG ให้ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งมีแผนผลักดันหลักสูตรนี้เข้าสู่มหาวิทยาลัยเพื่อผลิตบุคลากรรุ่นใหม่เข้าสู่แรงงานด้าน ESG ต่อไป การสร้าง ESG Expert Pool รวมพลังผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG แบบพี่สอนน้อง ช่วยขับเคลื่อน ESG ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ตลาดทุน และประเทศ และสุดท้ายคือการปลูกฝัง ESG DNA ส่งมอบความรู้ควบคู่การสร้างจิตสำนักการมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนความยั่งยืนไปด้วยกัน
สรุปได้ว่า การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าสู่ปีที่ 48 ในวันนี้ ทุกภาคส่วนล้วนมีส่วนร่วมในการสร้างตลาดทุนมาด้วยกัน เป็นเหมือนการนำจิ๊กซอว์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเศรษฐกิจมารวมกัน ด้วยเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการขับเคลื่อนตลาดทุนไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน