กรณีของ ‘ข้าว 10 ปี’ ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมว่าสามารถกินได้จริงไหม และมีคุณภาพหรือไม่ กระทั่งได้มีการส่งตัวอย่างข้าวไปที่ห้องแล็บและหน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบคุณภาพข้าว
ล่าสุดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาแถลงถึงผลการตรวจข้าวที่ได้รับจากกระทรวงพาณิชย์ ทางด้านสารเคมีตกค้าง การปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อรา และคุณภาพของข้าวด้านสารอาหารและอื่นๆ
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า ห้องแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นห้องแล็บที่ได้มาตรฐาน และยังเป็นแล็บที่ได้รับการอ้างอิงในประเทศไทย โดยการตรวจข้าว ได้ใช้ห้องแล็บมาตรฐาน ISO 17025 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการตรวจเพราะมีความละเอียดแม่นยำสูงมาก
ทั้งนี้กรณีข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการส่งตัวอย่างมี 2 จำนวน คือข้าวปริมาณ 3 กิโลกรัม และ 5 กิโลกรัม โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นเป็นวันหยุด 3 วัน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญต่อความเชื่อมั่นของประเทศ จึงได้ขอให้ดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่ช่วงวันหยุดที่ผ่านมาทันที ซึ่งไม่ได้เป็นการดึง หรือชะลอเวลาหลังจากที่ได้รับตัวอย่างแต่อย่างใด
โดยการตรวจข้าวจะมีการตรวจทั้ง 3 ด้าน ได้แก่
- การตรวจด้วยตาเปล่า การดม และด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 30 เท่าและ 50 เท่า
- การตรวจด้านความปลอดภัย ทั้งในส่วนของสารพิษจากเชื้อราที่พบได้บ่อยในตระกูลข้าว เช่น สารอัลฟาท็อกซิน 5 สายพันธุ์ สารตกค้างที่เหลือจากการรมข้าว และสารเคมีที่มีข้อกำหนดต้องตรวจในการเกษตร ทั้ง 250 ชนิด และตรวจโลหะหนักที่ตกค้าง ซึ่งเป็นมาตรฐานของการบริโภค
- การตรวจคุณค่าทางโภชนาการ
“ทางกรมวิทย์ฯ มีการตรวจข้าวรวม 4 ตัวอย่าง ประกอบด้วยข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ 2 ตัวอย่างดังกล่าว และข้าวที่กรมวิทย์ฯ ได้ซื้อจากร้านค้าของกระทรวงฯ อีก 2 ตัวอย่าง เพื่อเอามาตรวจเป็นตัวเปรียบเทียบไปด้วยกับข้าวที่ประชาชนบริโภคอยู่ทุกวัน” นพ.ยงยศกล่าว
นพ.ยงยศ เล่าต่อว่า ขั้นตอนในการตรวจนั้น จะมีการเตรียมตัวอย่างและตัวอย่างควบคุม ซึ่งจะทำเมล็ดข้าวทั้ง 4 ไปบดละเอียด และนำมาตรวจหาสารต่างๆ โดยใช้การตรวจถึง 2 รอบ แม้ว่าตามมาตรฐานของ ISO 17025 จะให้ตรวจเพียงรอบเดียว
ซึ่งผลการตรวจออกมาว่าตัวอย่างข้าวที่ได้รับจากกระทรวงพาณิชย์ พบสิ่งแปลกปลอมทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็นเศษมอดทั้ง 3 ชนิดที่พบบ่อยในข้าวสาร ซึ่งตัวอย่างที่ไม่พบสิ่งมีชีวิตนั้นมีเพียงตัวอย่างเดียว คือตัวอย่างควบคุม ส่วนอีก 1 ตัวอย่างที่ซื้อมาจากร้านค้า มีมอดปนอยู่ไม่มาก แต่ตัวอย่างข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ส่งมาพบว่า มีเศษขาแมลงและมอดอยู่จำนวนเยอะกว่ามาก
ทั้งนี้ มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.4000-2560 ระบุไว้ว่า ข้าวหอมมะลิไทยต้องปราศจากแมลงและไรที่มีชีวิต ดังนั้นถ้าเอามาตรฐานสินค้าการเกษตรมาเทียบก็จะไม่ผ่านทั้ง 3 ตัวอย่าง คือข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ และข้าวเก่าจากร้านค้า
ขณะที่ด้านความปลอดภัย พบว่าการตรวจครั้งแรกไม่พบสารตกค้างดังกล่าว ซึ่งมีการตรวจซ้ำอีก 1 รอบ ก็ยังไม่พบสารตกค้างเช่นกัน ส่วนการตรวจสารตกค้างของสารรมควัน และตรวจสารกำจัดศัตรูพืช 250 ชนิด ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ใช้ตรวจผลปรากฏว่า ไม่พบเลย ขณะที่โลหะหนักอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่อันตราย มีความปลอดภัย แม้จะพบสารตะกั่วที่ 0.009 ในทั้ง 4 ตัวอย่าง ขณะที่ด้านการปนเปื้อนโลหะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
“ส่วนเรื่องสำคัญที่สุดคือคุณค่าทางโภชนาการ ผมคิดว่าจะเป็นอาหารได้หรือไม่ได้ ก็ต้องดูตรงคุณค่าทางโภชนาการจึงมีการดูเรื่องนี้อย่างละเอียด เพราะเรามองเห็นประโยชน์จากผลการตรวจครั้งนี้ตัวชี้วัดอยู่ที่คุณค่าของโภชนาการของข้าว จะสังเกตเห็นว่าทั้ง 2 ตัวอย่างที่ทางกระทรวงพาณิชย์ส่งมา และ 2 ตัวอย่างที่ซื้อมาจากรอบของกระทรวงฯ มีคุณค่าทางโภชนาการไม่แตกต่างกัน ถามว่าข้าวตรงนี้ยังสามารถให้คุณค่าทางอาหารหรือไม่ ถ้าดูตรงนี้ ทั้ง 4 ตัวอย่างไม่แตกต่างกัน แต่ต้องไปดูเรื่องแรกคือมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.4000-2560 ที่ไม่ให้มีสิ่งปนเปื้อนมานั้นประกอบด้วย” นพ.ยงยศกล่าว
นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาวิตามินและแร่ธาตุที่คาดว่าจะเสื่อมสลายไป ปรากฏว่าข้าว 4 ตัวอย่างมีวิตามินและแร่ธาตุไม่แตกต่างกัน
อ้างอิงจาก
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์