คุณจำข่าวไหนได้บ้างในปีนี้?
2022 เป็นอีกปีที่เรื่องสำคัญๆ ผ่านไปอย่างไม่ทันตั้งตัว ในระหว่างที่เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคระบาด ข่าวสารและดราม่าก็มีเข้ามาไม่เว้นวัน โดยเฉพาะโศกนาฏกรรม สงคราม และการสูญเสียบุคคลสำคัญที่นับเป็นเรื่องหนักหน่วงสำหรับปีนี้ แต่ก็เหมือนกับทุกๆ ปี ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องแย่ไปเสียหมด ปี 2022 ยังมีข่าวดีๆ มีการค้นพบใหม่ๆ ให้ได้ชื่นใจ เป็นกำลังใจสำหรับปีหน้าและในอนาคตต่อไป
เพื่อที่จะไม่พลาดหรือลืมอะไรไป นี่คือ 100 ข่าวที่ The MATTER อยากชวนคุณย้อนกลับไปดู
มกราคม
1. ปิดตำนาน Blackberry
“ขอพิน BB หน่อย” ประโยคคลาสสิกในตำนานที่ในยุคหนึ่ง เอาไว้เข้าหาคนที่ชอบแบบเนียนๆ แต่ก็ต้องเศร้า เมื่อปี 2565 เริ่มต้นมาพร้อมกับข่าวการปิดตำนาน BlackBerry ในวันที่ 4 มกราคม ด้วยการประกาศยุติระบบปฏิบัติการ ซึ่งจะทำให้คนที่มี BlackBerry ไม่สามารถโทรเข้า-ออก ส่ง SMS และใช้ข้อมูลต่างๆ ภายในเครื่องได้อีก
ไม่ใช่เพียงแค่ BlackBerry เท่านั้น ที่ยุติการให้บริการในปี 2565 แต่ยังมีเทคโนโลยีในตำนาน อย่างบราว์เซอร์ Internet Explorer หรือ IE ที่ยุติการให้บริการในวันที่ 15 มิถุนายน หรือแม้กระทั่งแบรนด์ดังอย่าง Apple ก็ประกาศยุติการผลิต iPod Touch ลงในวันที่ 10 พฤษภาคม ด้วยเช่นกัน
เรียกได้ว่า ตลอดทั้งปีนี้ เป็นปิดแห่งการปิดตำนานเทคโนโลยีสมัยวัยรุ่นของใครหลายๆ คน
2. หมูแพงเพราะโรค ASF
ร้านเขียงหมูหน้าซีด คนซื้อก็หน้าซีด ฟาร์มหมูยิ่งซีดเข้าไปอีก เพราะต้นปี 2565 ราคาเนื้อหมูกระโดดขึ้นไปถึงโลละมากกว่า 200 บาท ร้านข้าว ร้านตามสั่งพากันติดป้ายขอปรับขึ้นราคากันจ้าละหวั่น หลายสำนักข่าวพยายามหาสาเหตุว่าที่ต้นตอของราคาหมูที่แพงขึ้นเกิดจากอะไร และก็ได้ข้อสรุปในท้ายที่สุดว่าเพราะโรคระบาด ‘อหิวาห์แอฟริกา’ หรือ ASF ในหมู
มีเสียงวิจารณ์ว่า เหตุที่โรค ASF ระบาดมากไทย เป็นเพราะการปกปิดข้อมูลของภาครัฐ ทั้งกรมปศุสัตว์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ยืนยันว่า ไม่มีการระบาดของโรคนี้ในหมูไทย ทำให้ไม่มีการผลิตวัคซีนได้ทันท่วงที ส่งผลให้ฟาร์มหมูหลายแห่งขาดทุนเพราะหมูตาย ส่วนตัวที่ยังไม่ติดโรคก็ต้องเร่งขายออก กระทบกับภาคครัวเรือน ที่ต้องซื้อหมูในราคาที่แพงขึ้น
3. การข้ามเพศในโลกกีฬา
การแข่งขันหนึ่งที่คนให้ความสนใจเมื่อต้นปี 2565 คือการแข่งว่ายน้ำหญิงของสถาบันใน Ivy League ที่มีนักกีฬาข้ามเพศร่วมแข่งขันด้วย ที่เป็นประเด็นและสื่อต่างๆ ให้ความสนใจในการแข่งขันนี้ คือการที่นักกีฬาข้ามเพศ ‘ลีอา โทมัส’ นักกีฬาหญิงข้ามเพศ (ชายเป็นหญิง) พ่ายแพ้ให้กับ ‘ไอแซก เฮนิก’ นักกีฬาว่ายน้ำชายข้ามเพศ (หญิงเป็นชาย)
สำหรับลีอา โทมัสแล้ว เขาเป็นทรานส์วูแมน ที่ได้รับการปรับระดับเทสโทสเตอโรนมาครบ 1 ปี และพบว่ามีระดับเทสโทสเตอโรนเทียบเท่ากับผู้เข้าแข่งขันหญิงคนอื่นๆ ส่วนไอแซก เฮนิก ที่เป็นทรานส์แมน ยังไม่ได้เข้ารับการปรับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และที่ผ่านมาทำเพียงแค่ผ่าตัดหน้าอกเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ทาง Ivy League ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนการเข้าร่วมแข่งขันของโทมัส โดยระบุว่า โทมัส ได้ปฏิบัติตามกฎของสมาคมกีฬาระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (NCAA) และ Ivy League ยังประณามการเหยียด และการเลือกปฏิบัติคนข้ามเพศทุกรูปแบบ
4. ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เสียชีวิต
ถือเป็นความสูญเสียของคนในวงการบันเทิงไทย กับการจากไปของตำนานของวงการเพลงลูกทุ่งไทย ‘ไวพจน์ เพชรสุพรรณ’ ที่เสียชีวิตในวันที่ 12 มกราคม 2565 ชื่อและนามสกุลของเขากลายเป็นมุกให้นักแสดงตลกนำไปเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมมายาวนาน (ที่สำคัญคือเจ้าตัวก็ตลกไปด้วย)
ตลอดทั้งปี 2565 ยังมีคนวงการบันเทิงไทยอีกหลายคนที่เสียชีวิต ทั้งนักร้องลูกทุ่งเสียงมหาเสน่ห์อย่าง ‘ศรเพชร ศรสุพรรณ’ หรือนักแสดงในตำนาน, พระเอกตลอดกาลอย่าง ‘สมบัติ เมทะนี’ และ ‘สรพงศ์ ชาตรี’ รวมไปถึงศิลปินแห่งชาติมากความสามารถอย่าง ‘เศรษฐา ศิระฉายา’
ในวงการตลกก็มีความสูญเสียเกิดขึ้น ทั้ง ‘โป๊งเหน่ง เชิญยิ้ม’ ‘เด่น ดอกประดู่’ รวมไปถึงการจากไปของนางเอกชื่อดังอย่าง ‘แตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์’ และนางเอกภาพยนตร์เรื่องสยิว อย่าง ‘ผิง—พิมพาภรณ์ ลีนุตพงษ์’ ทางฟากฝั่งของนักร้องดัง อดีตบอยแบนด์ในตำนานก็สูญเสีย ‘ซันนี่ ยูโฟร์’ ไปเช่นกัน
แม้ว่าพวกเขาเหล่านี้จะจากไป แต่ผลงานทั้งหลายที่พวกเขาเคยสร้างไว้ จะยังเป็นที่จดจำของแฟนๆ เสมอ The MATTER ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต
5. สึนามิตองกา หลังภูเขาไฟระเบิด
ภัยพิบัติเป็นเรื่องน่ากลัวเสมอ และหนึ่งในภัยภิบัติใหญ่ของปี 2565 คือสึนามิที่พัดถล่ม ‘ตองกา’ ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ในช่วงวันที่ 15-16 มกราคมจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเล ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิพัดกระจายไปหลายทิศทาง ทั้งตองกาเอง และไกลไปจนถึงญี่ปุ่น
ในโลกโซเชียลมีการแชร์คลิปวินาทีที่สึนามิพัดถล่ม พร้อมกับภาพถ่ายจากดาวเทียมเปรียบเทียบก่อนและหลังเกิดสึนามิ ไปจนถึงก่อนและหลังภูเขาไฟจะระเบิดที่ทำให้เกาะฮังกาของตองกาเปลี่ยนรูปทรงจมทะเลไปครึ่งเกาะ
Photo Credit: Government of Tonga
6.รัฐบาลดัน กม.คุมสื่อ
หลายรัฐบาลมักจะเป็นไม้เบื่อไม้เมาและหาวิธีการที่จะควบคุมการทำงานของสื่อมวลชนเสมอ
ในวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีมติเห็นชอบชื่อฟังดูดี ‘ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน’ หรือร่าง พ.ร.บ.สื่อ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณา แต่หลายคนบอกว่าเมื่ออ่านเนื้อหาของร่างกฎหมายนี้แล้ว มีหลายจุดน่าเป็นห่วงว่าจะกระทบกับเสรีภาพการทำงานของสื่อมวลชน โดยไม่ได้ช่วยส่งเสริมจริยธรรมหรือยกระดับมาตรฐานวิชาชีพใดๆ
7. คดีหมอกระต่าย
ทางม้าลายไทยไม่ค่อยเอื้อต่อการข้ามถนนเท่าไร หลายครั้งยังเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น ที่เป็นข่าวโด่งดังต้นปี 2565 คือกรณีของ ‘หมอกระต่าย—พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล’ จักษุแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ถูก ส.ต.ต นรวิชญ์ บัวดก ตำรวจ คฝ. ขับบิ๊กไบค์มาชนขณะข้ามถนน จนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565
หลังเกิดกรณีหมอกระต่าย มีความพยายามรณรงค์ให้ทางม้าลายต้องปลอดภัย หยุดรถให้คนข้าม ออกกฎหมายใหม่เพิ่มโทษของการชนคนบนทางข้าม ขณะที่ ส.ต.ต.นรวิชญ์ถูกศาลชั้นต้นตัดสินให้จำคุก 1 ปี 15 วัน ปรับ 4,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา และเพิกถอนใบขับขี่
8. น้ำมันดิบรั่วที่ระยอง
นอกจากโศกนาฎกรรมที่เกิดกับคนบนผืนแผ่นดินแล้ว ในเดือนมกราคมของปี 2565 ก็ยังมีโศกนาฏกรรมในท้องทะเลเกิดขึ้นอีกด้วย โดยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 เวลาประมาณ 21.00 น. เกิดเหตุน้ำมันดิบกว่า 1.2 แสนลิตรรั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล บริเวณมาบตาพุด จ.ระยอง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับชายหาดหลายแห่งในจังหวัด
แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วกลางทะเล แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต เพราะไม่ใช่แค่กระทบกับประชาชน อุตสาหกรรม แต่กระทบต่อธรรมชาติ และสัตว์ต่างๆ ในท้องทะเลด้วย
Photo Credit: กองทัพเรือ Royal Thai Navy (Facebook)
กุมภาพันธ์
9. ข้อมูลส่วนตัวเด็กสอบ TCAS หลุดหลายหมื่นรายการ
เป็นอีกครั้งที่ข้อมูลส่วนตัวของประชาชนจากหน่วยงานรัฐรั่วไหล กับกรณีข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่สมัครสอบผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหรือ TCAS กว่า 23,000 รายการ ถูกประกาศขายในโลกออนไลน์ กลางดึกของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 โดยข้อมูลที่หลุดไปมีทั้ง ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน และผลคะแนนตามเกณฑ์การคัดเลือกของสาขาวิชาที่สมัคร
จึงนับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนความล้มเหลวของการรักษาความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยของประชาชน
Photo Credit: Blognone
10. หญิงรายแรกของโลก รักษา HIV หาย หลังปลูกถ่ายสเต็มเซลล์แบบใหม่
นับเป็นก้าวที่สำคัญของวงการแพทย์ เมื่อหญิงชาวสหรัฐฯ กลายเป็นผู้ป่วยคนที่ 3 และผู้หญิงคนแรกของโลก ที่หายจากการติดเชื้อ HIV หลังเข้ารับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รูปแบบใหม่ จากเลือดสายสะดือเพื่อรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว นี่จึงสะท้อนอีกว่าวิธีการรักษานี้ อาจสามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีภูมิหลังหลากหลายได้มากขึ้น เพราะผู้ป่วยมีเชื้อชาติผสม และเป็นผู้หญิง
ก่อนหน้านี้มีผู้ป่วย 2 รายแรก ที่เคยหายจากการติดเชื้อ HIV ไปแล้ว จากการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่ามาก และมักใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว
Photo Credit: NIAID&NIH
11. รัสเซียบุกยูเครน
20 กุมภาพันธ์ 2565 คือวันที่รัสเซียเริ่มต้นส่งกำลังทหารบุกเข้าไปในยูเครน โดนอ้างว่านี่ไม่ใช่ ‘สงคราม’ แต่เป็น ‘ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ’ หลายประเทศทั่วโลกตอบโต้การบุกดังกล่าว ด้วยใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและส่งอาวุธให้กับรัฐบาลยูเครน จนสามารถยันการบุกเข้ามาของกองทัพรัสเซียสำเร็จ
เหตุการณ์นี้ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์บนเวทีโลก ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ทั้งเรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการ แถมยังยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน
Photo Credit: AFP
12. แตงโม-นิดา ตกสปีดโบ๊ตเสียชีวิตกลางแม่น้ำเจ้าพระยา
อีกหนึ่งการสูญเสียของคนบันเทิงปีนี้ คือการจากไปของ ‘แตงโม-นิดา หรือ ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์’ นักแสดงชื่อดัง จากเหตุพลัดตกสปีดโบ๊ต บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงค่ำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ก่อนเจ้าหน้าที่กู้ภัยจะพบร่างในเวลาต่อมา
แม้เจ้าหน้าที่จะสรุปว่า เหตุครั้งนี้น่าจะเป็นอุบัติเหตุมากกว่าฆาตกรรม แต่ด้วยความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย ทำให้เหล่านักสืบออนไลน์ต่างตั้งข้อสงสัยเรื่องการเสียชีวิต โดยโยงใยไปถึงคนที่อยู่บนเรือ ไม่รวมถึงการเข้ามายุ่งเกี่ยวของ ส.ส.บางคนรวมถึงทนายความคนดัง จนกรณีนี้กลายเป็นมหากาพย์ยาวนานอยู่หลายเดือน
Photo Credit: melonp.official (Instagram)
13. ไทย-ซาอุฯ ฟื้นความสัมพันธ์
ถึงเวลาฟื้นสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ หลังร้าวกันไปนานถึง 32 ปี จากมหากาพย์เพชรซาอุฯ กับเที่ยวบินแรกที่บนจากซาอุฯ ถึงไทย พร้อมผู้โดยสารรวม 71 คน ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ด้วยการฉีดน้ำจาก 2 ข้าง หรืออุโมงค์น้ำ ขณะเครื่องบินเคลื่อนเข้าหลุมจอดตามธรรมเนียม เป้าหมายหนึ่งคือให้มีการแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมานักท่องเที่ยวกลุ่มรักษาพยาบาลทีมา ถือเป็นกลุ่มหลักที่สร้างเม็ดเงินจำนวนมาก
Photo Credit: ไทยคู่ฟ้า
มีนาคม
14. จำคุกคดี ม.112 กรณีติดสติ๊กเกอร์ กูkult บนพระบรมฉายาลักษณ์
วันที่ 4 มีนาคม 2565 ศาลอาญาชั้นต้นพิพากษาจำคุก ‘นรินทร์ (สงวนนามสกุล)’ เป็นเวลา 3 ปี จากคดี ม.112 กรณีติดสติ๊กเกอร์ กูkult บนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่สนามหลวง แต่ศาลเห็นว่าจำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี
ศาลระบุว่า แม้การกระทำของจำเลยจะไม่ได้กระทำผิดต่อรัชกาลที่ 10 โดยตรง แต่แปลความหมายได้ว่าเป็นการดูหมิ่น ลบหลู่ แสดงความยิ่งใหญ่เหนือพระมหากษัตริย์ จึงตัดสินให้มีความผิดตามรายละเอียดข้างต้น แต่มีการลดโทษให้เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ ซึ่งจำเลยสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อไปได้
15. รื้อ ‘คดีโฮปเวลล์’ ขึ้นมาพิจารณาใหม่
ถือเป็นข่าวดีช่วงต้นเดือนมีนาคมของปี 2565 หลังจากศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีมติให้รื้อคดี ‘โฮปเวลล์’ ขึ้นมาพิจารณาใหม่ หลังได้ข้อสรุปว่า เอกชนอาจจะยื่นคำฟ้องไม่ทันกำหนดระยะเวลา หรือหมดอายุความไปแล้วนั่นเอง
ผลจากการฟื้นคดีใหม่ ทำให้ค่าโง่เดิมจากคำพิพากษาเดิมที่ให้รัฐต้องจ่ายให้กับเอกชนกว่า 3 หมื่นล้านบาท จะต้องถูกล้างไป ไปเริ่มต้นพิจารณาคดีใหม่แต่ต้น
16. รัสเซียออกกฎหมาย Fake News โทษจำคุก 15 ปี
วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย ลงนามในกฎหมายต่อต้าน ‘ข่าวปลอม’ โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี หากมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับกองทัพรัสเซีย หรือข้อมูลให้ต่อต้านกองทัพรัสเซีย ซึ่งผลจากการออกกฎหมายนี้ทำให้สื่อตะวันตกหลายสำนักพากันระงับการรายงานข่าวในรัสเซีย
17. ครม.อนุมัติ 2 พันล้าน แก้หนี้ม็อบชาวนา
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 มีมติอนุมัติงบประมาณจากงบกลางกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) หลังจากที่เหล่าชาวนามาปักหลักรอกันอยู่นานนับเดือน
18. คานเย เวสต์ โดน IG แบน
‘คานเย เวสต์’ แรปเปอร์ชื่อดัง ถูกอินสตาแกรมระงับการใช้งาน 24 ชั่วโมงหลังละเมิดนโยบายการใช้งานว่าด้วยการโพสต์เนื้อหากลั่นแกล้ง เกลียดชัง และก่อกวนผู้อื่น เนื่องจากเวสต์โพสต์ข้อความเหยียดเชื้อชาติและโจมตี เทรเวอร์ โนอาห์ พิธีกรรายการ The Daily Show
แต่นั่นไม่ใช่วิบากกรรมเดียวที่เขาต้องเจอ เพราะตลอดทั้งปี 2565 เวสต์ถูกแบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Adidas, Gap, JPMorgan Chase, Balenciaga, Vogue และ Twitter ประกาศตัดสัมพันธ์ด้วย ซึ่งแต่ละแบรนด์ระบุว่า จะไม่ทนต่อการกระทำของเวสต์ที่ต่อต้านชาวยิวและมีคำพูดแสดงความเกลียดชังอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
19. รัฐบาลเปิดตัวเพลง ‘อย่าโอน’ สู้แก๊งคอลเซ็นเตอร์
รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรมได้เปิดตัวเพลง ‘อย่าโอน’ กระตุ้นเตือนประชาชนไม่หลงเชื่อ หรือตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลยังโพสต์ข้อความ ขอบคุณและชื่นชมกระทรวงยุติธรรม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเหล่าศิลปินดารานักร้อง ที่ร่วมมือกันประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ ความเข้าใจการป้องกันภัยคุกคามจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์
20. วิล สมิธ ตบหน้า คริส ร็อก บนเวทีออสการ์
ดราม่าร้อนๆ บนเวทีประกาศผลรางวัลออสการ์ 2022 ที่จัดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม จนคนแทบจำไม่ได้ว่าใครชนะรางวัลอะไรบ้าง หลัง ‘วิล สมิธ’ นักแสดงชื่อดังเดินเข้าไปตบหน้า ‘คริส ร็อก’ บนเวที หลังจากที่ร็อกเล่นมุกล้อเลียนทรงผมภรรยาของเขา ซึ่งมีอาการป่วยที่ทำให้ผมร่วงเป็นหย่อม
แต่หลังจากนั้น สมิธก็ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง King Richard และต้องขึ้นรับรางวัลบนเวที โดยเขาได้ขอโทษทางสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้จัดงานมอบรางวัลออสการ์ รวมถึงขอโทษเพื่อนๆ นักแสดงที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล แต่ไม่ได้กล่าวขอโทษร็อกโดยตรง
21. ตรวจพบไมโครพลาสติกในเลือดมนุษย์เป็นครั้งแรก
จากการสุ่มตรวจเลือดของอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 22 ราย นักวิทยาศาสตร์พบว่า ในเลือดของอาสาสมัคร 17 รายจากทั้งหมด มีอนุภาคไมโครพลาสติก โดย 50% พบตัวอย่างของพลาสติก PET ซึ่งมักใช้ในขวดเครื่องดื่ม ขณะที่ 1 ใน 3 ตรวจพบพลาสติกที่มีส่วนประกอบของโพลีสไตรีน ซึ่งใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหาร และ 1 ใน 4 พบโพลิเอทิลีนที่ใช้ทำถุงพลาสติก
การศึกษาครั้งนี้เป็นหลักฐานยืนยันที่ชี้ให้เห็นว่าไมโครพลาสติกได้ปนเปื้อนกับเลือดมนุษย์เป็นครั้งแรก
เมษายน
22. ดราม่า Top News-ช่อง 5
เกิดดราม่าขึ้นระหว่างทีม Top News กับสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) เมื่อรายการข่าวเที่ยง ททบ.5 ที่ทีม Top News เป็นผู้จัด ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 ถูกตัดสัญญาณระหว่างนำเสนอข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนทาง Top News ประกาศถอนตัวออกจาก ททบ.5 ทั้งหมด
แม้สุดท้ายจะเคลียร์กันได้ แต่ก็มีข่าวว่า เป็นผลให้ ‘พล.อ.รังษี กิติญาณทรัพย์’ ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ททบ.5 ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนเป็นต้นไป แม้เจ้าตัวจะยืนยันว่า ลาออกเอง ไม่ใช่ถูกปลดออก แต่ไม่ได้ให้สาเหตุ
23. ศาลสั่งปารีณา พ้น ส.ส.-แบนการเมืองตลอดชีวิต
ศาลฎีกาพิพากษาให้ ‘ปารีณา ไกรคุปต์’ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ มีความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง กรณีถูกกล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนใน จ.ราชบุรี ส่งผลให้ถูกตัดสิทธิ์จากตำแหน่ง ส.ส.ทันที นอกจากนี้ ยังถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี และไม่มีสิทธิ์ลงรับเลือกตั้งเป็น ส.ส., ส.ว., ผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ตลอดชีวิต เป็นการปิดฉากชีวิตนักการเมืองคนดัง ที่ช่วงหลังผันตัวไปเป็นดาว TikTok แทน
24. คดีฉาว ปริญญ์ พานิชภักดิ์
ษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายความชื่อดังโพสต์เฟซบุ๊กว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้หญิงคนหนึ่งว่าถูก ‘รองหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่’ ล่วงละเมิดทางเพศ ก่อนที่ต่อมา จะมีการพาดพิงไปถึง ‘ปริญญ์ พานิชภักดิ์’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งเจ้าตัวออกมาปฏิเสธว่าไม่มีพฤติกรรมเช่นนั้น และลาออกจากตำแหน่ง เพื่อไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรม
ต่อมามีผู้เข้าแจ้งความปริญญ์ในข้อหาอนาจาร-ข่มขืน มีผู้เสียหายอย่างน้อย 16 คน ใน 13 คดี แต่ปริญญ์ก็ยังปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและทุกคดี
25. สั่งฟ้องธนาธร กรณี ‘วัคซีนพระราชทาน’
อัยการมีคำสั่งฟ้องธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าต่อศาล ในคดีวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 18 มีนาคมของปี 2564 ที่ถูกสื่อเรียกว่าคดีวัคซีนพระราชทาน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
26. ลงโทษครูฝึกสั่งทหารใหม่กินอสุจิ
กองทัพเรือสั่งลงโทษครูฝึกที่บังคับทหารใหม่กินอสุจิ ให้ถูกขัง 30 วัน ฐานทำให้เสียชื่อเสียงแก่หมู่คณะทหารอย่างร้ายแรง ขณะที่ผู้บังคับบัญชาโดนธำรงวินัยด้วย ผบ.กรมรักษาความปลอดภัยนาวิกโยธิน 7 วัน และ ผบ.ร้อย 15 วัน
กรณีนี้เกิดขึ้นหลังจากสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ ได้เผยแพร่ภาพข่าว โดยระบุว่าเป็นค่ายทหารแห่งหนึ่งในพื้นที่สัตหีบ โดยจ่าทหารเรือ ซึ่งเป็นครูฝึกบังคับให้ทหารกองประจำการผลัดใหม่ รับประทานน้ำอสุจิของตน เหตุเกิดในเดือนตุลาคม 2564
Photo Credit: คนข่าวเมืองปทุม (Facebook)
27. ความฮิตของตู้ ‘เต่าบิน’
เป็นกระแสฮิตตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ ‘เต่าบิน’ ของบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ที่สามารถผสมเครื่องดื่มได้มากกว่า 170 เมนู จนมีการแซวกันในโลกออนไลน์ว่า มีคนชงซ่อนตัวอยู่ในตู้นั้นหรือเปล่า?
เหตุผลที่ตู้เต่าบินได้รับความนิยมมีหลายปัจจัย นอกจากราคาถูก มีหลากหลายเมนู ยังตอบสนองเทรนด์สุขภาพ เพราะเลือกลดความหวานได้ และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่ไม่ต้องเดินทางไกลไปซื้อเครื่องดื่ม โดยตู้เต่าบิน 1 ตู้ มีสิทธิบัตรถึง 35 ใบ
Photo Credit: เต่าบิน TAO BIN (Facebook)
28. ไต้หวันออกคู่มือเอาตัวรอด รับภัยคุกคามจีน
สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้คนในเกาะไต้หวันเกิดความหวาดหวั่นว่าจะตกเป็นเป้าหมายถัดไปหรือไม่ เพราะจนถึงปัจจุบันจีนยังอ้างว่าเกาะแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของตนมาตลอด กลางเดือนเมษายน 2565 กระทรวงกลาโหมของไต้หวันจึงเปิดตัวเอกสาร ที่สำนักข่าว Reuters เรียกว่า ‘คู่มือเอาตัวรอดจากสงคราม’ เป็นครั้งแรก เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชน สำหรับการเตรียมตัวและเอาชีวิตรอด ในกรณีที่เกิดสงครามระหว่างจีนกับไต้หวัน
29. สารคดีชีวิต พล.ต.ต.ปวีณ
สำนักข่าว Al Jazeera เผยแพร่สารคดีชีวิตของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตตำรวจผู้ทำคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาในปี 2558 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐไทยหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้อง จนต้องเผชิญกับแรงกดดันสาหัสกระทั่งต้องลี้ภัยไปยังออสเตรเลีย โดยที่คนในรัฐบาลหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้พยายามจะปกป้องตัวเขาเลย
ต้นปี 2565 กรณีของ พล.ต.ต.ปวีณถูก ส.ส.ฝ่ายค้านหยิบไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมาแล้วรอบหนึ่ง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้แสดงท่าทีว่า พร้อมจะดูแลความปลอดภัยของอดีตตำรวจรายนี้แต่อย่างใด อ้างเพียงว่าตอนที่ พล.ต.ต.ปวีณลี้ภัย ก็ออกไปเอง
พฤษภาคม
30. กองทัพบกแบน Lazada
กองทัพบกประกาศ #แบนลาซาด้า ไม่ให้เข้ามาส่งของภายในพื้นที่ทหาร หลังมีการเผยแพร่คลิปโปรโมตแคมเปญ 5.5 ของแอปพลิเคชั่น Lazada ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์ ‘นาราเครปกระเทย-หนูรัตน์’ เป็นผู้แสดง ผ่านทางแพล็ตฟอร์ม TikTok ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มีความเหมาะสมหรือไม่
ต่อมา ตำรวจได้จับกุมทั้ง 2 คน รวมถึง ‘มัมดิว’ ในคดี 112 รวมถึง พ.ร.บ.คอมฯ ที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า ต่อให้เนื้อหาในคลิปอาจจะไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่ควรหยิบมาตรา 112 มาใช้
Photo Credit: Matichon
31. ‘ชัชชาติ’ ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ ชนะการเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ด้วยคะแนนกว่า 1.38 ล้านเสียง ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ซึ่งเขากล่าวหลังรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า พร้อมดำเนินการทั้ง 214 นโยบาย และยังคงมีคีย์เวิร์ดสำคัญในการทำงานคือ การก้าวข้ามความขัดแย้งและ ‘เป็นผู้ว่าฯ ของทุกคน’
32. ‘ลูกหนัง-ศีตลา’ ประกาศถอนตัวจากวงเกิร์ลกรุ๊ป H1-KEY
วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ต้นสังกัด GLG ได้ออกมาแถลงว่า ‘ลูกหนัง—ศีตลา วงษ์กระจ่าง’ สมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ปของเกาหลี ชื่อ H1-KEY ได้ขอถอนตัวจากวงด้วย ‘เหตุผลส่วนตัว’
ก่อนหน้านี้ ช่วงต้นปี 2565 ในวันเปิดตัวสมาชิกวง H1-KEY ได้เกิดดราม่าใหญ่ พร้อมแฮชแท็ก #แบนลูกหนัง ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในไทย และมีการนำเสนอข่าวในสื่อเกาหลีใต้ เพราะลูกหนัง—ศีตลา คือลูกสาวของ ตั้ว—ศรัณยู วงษ์กระจ่าง อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ส่วนลูกหนังเองก็เคยเข้าร่วมการชุมนุมของ กปปส. โดยการชุมนุมครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการรัฐประหารและยึดอำนาจโดย คสช.
Photo Credit: H1-KEY OFFICIAL (Instagram)
33. แคมเปญเลิกใช้ ‘เลขไทย’ ในเอกสารราชการ
มีการตั้งแคมเปญ ‘ขอให้ใช้เลขอารบิกในเอกสารราชการไทยเพื่อความพัฒนาในด้านดิจิทัล’ ผ่านทางเว็บไซต์ change.org เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานราชการปรับมาใช้เลขอารบิกในเอกสารราชการเป็นหลัก โดยเฉพาะเอกสารดิจิทัล อย่างคำว่า ๕G, Windows ๑๐ หรือ URL ที่ใช้งานไม่ได้จริงอย่าง www.๑๒๑๒occ.com เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน เป็นสากล และส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงและประมวลผลข้อมูลดิจิทัล
นำไปสู่การถกเถียงกันในโลกออนไลน์ โดยมีทั้งฝั่งที่เห็นด้วย และฝั่งที่เห็นต่างว่าควรจะใช้เลขไทยต่อไปเพื่อสืบสานอัตลักษณ์ความเป็นไทย บ้างก็เข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าแคมเปญนี้เรียกร้องให้ยกเลิกการใช้เลขไทย จนลามไปถึงการตีความว่าชังชาติและปฏิเสธความเป็นไทย
34. อธิการบดี ม.ศิลปากร ลาออก กรณีถ่ายรูปแอร์โฮสเตส
ต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ‘ชัยชาญ ถาวรเวช’ ได้แถลงการณ์ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร หลังถ่ายภาพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินแล้วโพสต์ลงในเฟซบุ๊กพร้อมแคปชั่นที่อาจเข้าข่ายคุกคามทางเพศ โดยในแถลงการณ์ระบุว่า ตนได้กระทำความผิดจริงและขอรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร
Photo Credit: Matichon
35. ‘วาด รวี’ นักเขียน บรรณาธิการ เสียชีวิต
‘วาด รวี’ นักเขียนและบรรณาธิการ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ไชน์ (Shine Publishing) เสียชีวิตในวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 โดย วาด รวี คือนามปากกาของ ‘รวี สิริอิสสระนันท์’ เจ้าของผลงานการเขียนหลายเล่ม เช่น เดนฝัน, ชั่วขณะ, ปิดบริสุทธิ์, และคิดสั้น ตลอดจนงานแปล เช่น บันทึกสงครามปฏิว้ติคิวบาของเช เกวารา หรือชายชรากับทะเลของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ รวมทั้งเคยเป็นกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ก่อนจะขอลาออกและขอไม่เป็นกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมใดๆ อีกตลอดชีวิต
ส่วนบทบาททางการเมือง วาด รวี ยังเป็น 1 ใน 7 นักเขียน ที่ออกมาเขียนจดหมายเปิดผนึกเชิญชวนเพื่อนนักเขียนทั่วประเทศร่วมลงชื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และเป็นหนึ่งในคนที่วิพากษ์กฎหมาย ม.112 เสมอมาอีกด้วย
36. การล่มสลายของ LUNA สะเทือนวงการคริปโตฯ
วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 บล็อกเชน Terra เจ้าของเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี LUNA ประกาศปิดการทำงาน โดยมูลค่าเหรียญ LUNA ลดลงไปแตะที่ 0.000001 ดอลลาร์ ถือเป็นเหตุการณ์แรกๆ ของปีนี้ที่จะกระทบความเชื่อมั่นต่อวงการคริปโตฯ จนราคาเหรียญต่างๆ ตกต่ำลงจนถึงปัจจุบัน
มิถุนายน
37. ปลดล็อกกัญชา พร้อมสารพัดเรื่องวุ่น
ถือเป็นต้นเหตุของหนึ่งในเรื่องวุ่นๆ ตลอดครึ่งปีท้ายของปี 2565 เมื่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกประกาศ มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ปลดล็อกกัญชา-กัญชง ออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ให้ประชาชนสามารถปลูกเพื่อใช้เอง รวมทั้งผู้ประกอบการที่ปลูกในเชิงพาณิชย์ โดยไม่ต้องขออนุญาต
แม้จะเป็นการทำตามสัญญาที่พรรคภูมิใจไทย (ซึ่งหัวหน้าพรรคเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) เคยหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้งปี 2562 แต่การปลดล็อกก่อนที่ พ.ร.บ.กัญชา จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศ มีคนลองใช้กัญชา รวมถึงเด็กเยาวชน จนกลายเป็นวิวาทะ ทั้งในแวดวงการแพทย์ไปจนถึงการเมือง
Photo Credit: Matichon
38. ‘จอห์นนี เดปป์’ ชนะคดี ‘แอมเบอร์ เฮิร์ด’
เป็นประเด็นที่คนทั่วโลกจับตาต่อเนื่องยาวนาน 6 สัปดาห์ ในที่สุดวันที่ 6 มิถุนายน คณะลูกขุนศาลเมืองแฟร์แฟ็กซ์ รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา มีคำตัดสินในคดีของอดีตคู่รักดารานักแสดงชื่อดัง ให้ ‘จอห์นนี เดปป์’ ชนะคดีหมิ่นประมาท ‘แอมเบอร์ เฮิร์ด’ กรณีเฮิร์ดเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ The Washington Post กล่าวหาว่าเขาทำร้ายร่างกายเธอ โดยศาลมีคำตัดสินให้เธอชดใช้ค่าเสียหาย 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 525 ล้านบาท
หลังคำตัดสินคดีนี้ #JusticeForJohnnyDepp ได้พุ่งทะยานขึ้นในโลกทวิตเตอร์ทั้งไทยและต่างประเทศทันที
39. ม.เกษตรฯ-ขอนแก่น ยกเลิก SOTUS
“ความเต็มใจคือพื้นฐานของการจัดกิจกรรมที่ดี ร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในรั้วมหาวิทยาลัยไปด้วยกัน”
ประโยคข้างต้นมาจากประกาศขององค์การบริหารองค์การนิสิต ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 โดยประกาศให้ทุกองค์กร ‘ยกเลิกระบบ SOTUS’ ทุกรูปแบบ พร้อมเปิดให้นักศึกษาร้องเรียนหากพบเห็นกิจกรรมเข้าข่ายดังกล่าว
2 วันถัดมา องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น จะประกาศยกเลิกระบบ SOTUS ทุกรูปแบบเช่นกัน เพื่อต้อนรับการเปิดภาคเรียนใหม่ที่ใกล้เข้ามา
40. ศาลสหรัฐฯ กลับคำตัดสิน คดี Roe v. Wade
ถือเป็นคำตัดสินที่ส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของชาวสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ศาลสูงสุดสหรัฐฯ มีมติพลิกคำตัดสินคดี ‘Roe v. Wade’ ส่งผลให้การทำแท้งไม่ถูกคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ดังนั้น แต่ละมลรัฐจึงสามารถออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งของตัวเองได้
ข้อมูลจาก New York Times ช่วงปลายปี 2565 ระบุว่า มีอย่างน้อย 13 รัฐแล้วที่การทำแท้งไม่ถูกกฎหมาย ขณะที่อีก 1 รัฐกำลังมีผลในเร็วๆ นี้ มีรายงานว่ากฎหมายใหม่ทำให้ผู้หญิงหลายคนต้องเดินทางข้ามรัฐเพื่อเข้ารับการทำแท้งหรือบางรายต้องเข้ารับการทำแท้งเถื่อน ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและตอกย้ำความไม่เท่าเทียมในสังคมสหรัฐฯ
41. จำคุกตลอดชีวิต ‘อดีต ผกก.โจ้’
เชื่อว่าหลายคนยากจะลืมคดีนี้ สำหรับคดี ‘โจ้—พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล’ อดีต ผกก สภ.เมืองนครสวรรค์ ที่มีภาพจากกล้องวงจรปิดเห็นชัดเจนว่าใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิต ทำให้ต่อมามีการแจ้งความดำเนินคดีตัวเขาพร้อมนายตำรวจอีก 6 ราย
ในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตัดสินประหารชีวิต อดีต ผกก.โจ้ แต่ระบุว่ามีการเยียวยาผู้เสียหาย จึงลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต พร้อมด้วยจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 5 ราย ในขณะที่อีก 1 รายมีโทษติดคุก 5 ปี 4 เดือน
Photo Credit: Thai News Pix
42. ศาลญี่ปุ่นจำคุกคนบุกบ้าน ‘ปวิน’
วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ศาลเมืองเกียวโตของญี่ปุ่นพิพากษาจำคุก ‘ทัตสึฮิโกะ ซาโตะ’ ผู้ก่อเหตุบุกอพาร์ตเมนต์และทำร้ายร่างกาย ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ นักวิชาการและผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย เป็นเวลา 20 เดือน หลังจำเลยรับสารภาพ 2 ข้อหาคือ บุกรุกเข้าไปในเคหสถาน และทำร้ายร่างกาย
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 ขณะที่ปวินและคู่ชีวิตนอนอยู่ในห้องพักที่เมืองเกียวโต คนร้ายได้บุกเข้าไป ก่อนจะกระชากผ้าห่มออกจากตัวพวกเขา แล้วฉีดสารเคมีจากกระป๋องใส่ตัวปวินและคู่ชีวิต ก่อนหลบหนีออกไป
43. EU บังคับใช้สายชาร์จ USB-C
ต้องแสดงความยินดีกับชาวสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกข้อบังคับให้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็ปท็อป และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ออกรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2567 ต้องออกแบบให้ใช้สายชาร์จ USB-C เท่านั้น และกฎดังกล่าวจะเริ่มใช้กับแล็บท็อปในปี 2569 เช่นเดียวกัน
EU ให้เหตุผลว่า กฎนี้จะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมกับช่วยให้บริโภคใช้สินค้าคุ้มค่าขึ้น หลังพบว่ามีสายชาร์จที่ไม่ได้ใช้งานและถูกทิ้งถึง 11,000 ตันต่อปี
44. แนะนำ ‘เตามหาเศรษฐี’ ประหยัดพลังงาน
ท่ามกลางวิกฤตราคาพลังงานที่ดีดตัวขึ้น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแนะนำให้ประชาชนใช้ ‘เตามหาเศรษฐี’ โดยระบุสรรพคุณของนวัตกรรมนี้ไว้ อาทิ เพรียวเบา, ให้ความร้อนสูง, ประหยัดถ่านกว่าเตาอั้งโล่ในท้องตลาด, วางภาชนะหุงต้มได้ 9 ขนาด, อายุใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 2 ปี
การออกมาแนะนำเตามหาเศรษฐีเกิดขึ้นหลังมติประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานให้มีการปรับราคาก๊าซหุงต้มในอัตรา 1 บาทต่อกิโลกรัม ขยับเป็น 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ในเดือนกันยายน 2565 จากเดิมที่ราคาประมาณ 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 12%
45. บ.ก.ฟ้าเดียวกันถูกบุกจับ ข้อหาเปิดความลับประเทศ
29 มิถุนายน 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุม ‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ข้อหาเปิดเผยเอกสารลับของประเทศ ก่อนที่ ส.ส.รังสิมันต์ โรม จากพรรคก้าวไกลจะใช้ตำแหน่งยื่นประกันเป็นจำนวน 100,000 บาท และกำหนดให้มารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนทุก 15 วัน
เอกสารที่ธนาพลเปิดเผยคือ หนังสือของสภาความมั่นคงแห่งชาติ เดือนพฤศจิกายน 2563 ระบุประเด็นสำคัญ 4 ข้อ ดังนี้
– ให้ติดตามความเคลื่อนไหวของแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมในช่วงวันที่ 23-27 พ.ย. 2563
– ให้ติดตามและสืบสวนประวัติของ รัศม์ ชาลีจันทร์ เจ้าของเพจ ‘ทูตนอกแถว’ เพื่อปฏิบัติการข่าวสารตอบโต้
– ให้ ผวจ.ทั่วประเทศ เตรียมแนวทางป้องกันการระดมมวลชนมาร่วมการชุมนุมใหญ่ในพื้นที่ส่วนกลาง และภูมิภาค และประสาน ผวจ.ทั่วประเทศ (ในทางลับ) จัดกิจกรรมแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติอย่างต่อเนื่อง
– ให้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ดูแลความปลอดภัยการลงพื้นที่ของเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย
46. ตุรกีเปลี่ยนชื่อประเทศ
องค์กรสหประชาชาติ (UN) มีมติรับรองให้สาธารณรัฐ ‘ตุรกี (Turkey)’ เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ทูร์เคีย (Türkiye)’ ตามความตั้งใจของประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ที่ไม่ต้องการให้ชื่อประเทศสับสนกับคำว่า turkey ที่แปลว่าไก่งวง ซึ่งเขียนเหมือนกันและออกเสียงคล้ายกัน
ทางด้านสำนักงานราชบัณฑิตยสภากำหนดการเขียนชื่อทับศัพท์ภาษาไทยของสาธารณรัฐทูร์เคีย โดยสามารถใช้ได้ทั้งสาธารณรัฐตุรกีหรือทูร์เคีย
47. ถนอม ชาภักดี เสียชีวิต
วงการศิลปะต้องเศร้าหมองอีกครั้ง เมื่อ ‘ถนอม ชาภักดี’ ศิลปิน นักวิจารณ์ และอาจารย์ศิลปะชื่อดังเสียชีวิตลงด้วยอาการป่วย เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565
ถนอมเป็นที่รู้จักในฐานะอาจารย์และนักวิจารณ์ศิลปะฝีปากคมคาย โดยก่อนเสียชีวิตเขาเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมักปรากฎตัวในฐานะผู้เข้าร่วมขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง และที่สำคัญ เขาเป็นแกนหลักที่ผลักดันให้มีการใช้ศิลปะเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ
กรกฎาคม
48. ชุลมุนสูตรเลือกตั้ง ส.ส. หาร 100 หรือ 500
กลายเป็นมหากาพย์คว่ำสูตรเลือกตั้งไปมา หลังที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาโหวตคว่ำร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ที่เสนอสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบ ‘หาร 100’ และลงมติเห็นชอบร่างฯ ที่ใช้วิธีคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยสูตร ‘หาร 500’ แทน จนนำมาสู่กระแสต่อต้านและต่อรองจากหลากหลายพรรคให้กลับไปใช้สูตร 100 เพราะเสียผลประโยชน์ทางการเมือง
อย่างไรก็ดี สูตรหาร 500 กลับไม่ได้ไปสู่ฝั่งฝัน เพราะระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. สูตรหาร 500 ในวาระที่ 2 และ 3 ก็เกิดการเล่นเกมในสภาฯ มีสมาชิกรัฐสภาบางส่วนใช้วิธีโดดประชุมจนสภาล่ม ยื้อยุดฉุดกระชากกันจนสุดท้ายโหวตไม่ทันกำหนดการ กลายเป็นว่าต้องกลับไปใช้สูตรหาร 100 เหมือนเดิมโดยปริยาย และศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ขัดกับรัฐธรรรมนูญ ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ พร้อมเข้าโหมดเลือกตั้งที่จะมีขึ้นช่วงต้นปี 2566
49. AIS ลุยเน็ตบ้าน ซื้อ 3BB
วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ‘AIS’ แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทจะซื้อหุ้นของบริษัท ทริปเปิลที บอร์ดแบนด์ หรือ ‘3BB’ ทั้งหมด รวมถึงหน่วยลงทุนในกองทุน JASIF รวมมูลค่าทั้งหมด 32,420 ล้านบาท
การประกาศซื้อนี้ ถูกมองว่าเป็นการ ‘พลิกเกม’ สู้กับกลุ่มทุนใหญ่ที่เพิ่งประกาศควบรวมไปก่อนหน้าอย่าง ‘ทรู-ดีแทค’ หลายฝ่ายจึงกังวลว่า เหตุการณ์นี้อาจทำให้ผู้บริโภคจะมีตัวเลือกน้อยลง และตลาดมีลักษณะผูกขาดมากยิ่งขึ้น
50. แฉรัฐใช้ ‘เพกาซัส’ สอดแนมนักกิจกรรมนักวิชาการ
หลังมีประชาชนจำนวนหนึ่งได้อีเมลแจ้งเตือนจาก Apple ว่า ถูกแฮกมือถือโดยผู้โจมตีที่ ‘สนับสนุนโดยรัฐ’ ทาง iLaw, DigitalReach และ Citizen Lab ได้รายงานข้อค้นพบว่า มีการใช้สปายแวร์ ‘เพกาซัส’ สปายแวร์ที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก เพื่อสอดแนมประชาชนผ่านโทรศัพท์ จนมีผู้เสียหายที่ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมและนักวิชาการถูกละเมิดอย่างน้อย 30 คนในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีกระแสการชุมนุมเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย
หลักฐานแวดล้อมจากรายงานบ่งชี้ว่า รัฐบาลไทยคือฝ่ายที่ใช้เพกาซัสเพื่อสอดแนมประชาชน จนวาระเรื่องสปายแวร์เพกาซัสถูกนำไปเป็นหนึ่งในประเด็นที่ใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ช่วงกลางปี 2565 และต่อมา ทางผู้เสียหายก็ยื่นฟ้องเอกชนที่พัฒนาสปายแวร์นี้ต่อศาลแพ่ง
51. ภาพถ่ายอวกาศที่ชัดและไกลที่สุด
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ทาง NASA ร่วมกับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จัดงานเผยภาพ ‘กระจุกกาแล็กซี SMACS 0723’ ภาพแรกจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ซึ่งเผยให้เห็นภาพถ่ายอวกาศที่ไกลและคมชัดที่สุดเท่าที่เคยมีมา นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของ NASA และมนุษยชาติ
Photo Credit: NASA
52. ‘ชินโซ อาเบะ’ ถูกลอบสังหาร
ถือเป็นข่าวใหญ่ที่ชวนตกตะลึง เมื่อ ‘ชินโซ อาเบะ’ อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น วัย 67 ปี ถูกลอบยิงจากด้านหลังระหว่างกล่าวคำปราศรัยในใจกลางเมืองนาราของประเทศญี่ปุ่น เขาล้มลงทันที ก่อนจะถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตลงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น
ผู้ก่อเหตุถูกจับกุมในจุดเกิดเหตุ พร้อมกับอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่รายงานว่า เป็นอาวุธปืนที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง นับเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจแก่ญี่ปุ่นและชาวโลก พร้อมๆ กับสั่นคลอนความมั่นใจในด้านความปลอดภัยที่ประเทศแห่งนี้สั่งสมมาโดยตลอด
53. อังกฤษเปลี่ยนผู้นำ 3 คนในปีเดียว
ในขณะที่ผู้นำไทยยังกอดตำแหน่งแน่น แต่ตลอดทั้งปี 2565 อังกฤษต้องประสบกับวิกฤตทางการเมือง จนเปลี่ยนผู้นำไปแล้ว 3 คน ตั้งแต่ ‘บอริส จอห์นสัน’ ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม จากเหตุอื้อฉาวฝ่าฝืนมาตรการล็อกดาวน์ช่วงโควิด และส่งต่อเก้าอี้ผู้นำให้ ‘ลิซ ทรัสส์’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศหญิง ที่เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 6 กันยายน แต่หลังทำงานได้แค่ 44 วันก็ดันประกาศลาออกเพราะนโยบายทางเศรษฐกิจ จนกลายเป็นนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ
ท้ายที่สุด 25 ตุลาคม อังกฤษก็ได้นายกฯ คนใหม่ก็คือ ‘ริชี ซูนัค’ ผู้นำเชื้อสายเอเชียคนแรก และเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของจอห์นสัน
54. พบคนติด ‘ฝีดาษลิง’ รายแรกในไทย
วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 กรมควบคุมโรคเผยว่า พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายแรกในประเทศไทย ที่ จ.ภูเก็ต โดยเป็นชายชาวไนจีเรียวัย 27 ปี มีอาการไข้ เจ็บคอ ผื่นแดง และตุ่มหนอง ที่ต่อมาแอบหลบหนีออกนอกประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติ
แม้จะไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่หากติดเชื้อ ก็ทำให้ป่วยได้เหมือนกัน โดยจะมีอาการไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย และมักจะมีผื่น-ตุ่มขึ้นตามแขนขาและลำตัว ที่ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มหนอง และตกสะเก็ด
55. อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย ประยุทธ์ได้ไปต่อ
การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 กรกฎาคม และจบลงโดยที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงรัฐมนตรีอื่นอีก 10 คน ได้รับเสียงโหวตไว้วางใจให้ไปต่อ
56. เมียนมาประหาร 4 นักเคลื่อนไหว
วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 สื่อของรัฐบาลเมียนมารายงานว่า กองทัพเมียนมาลงมือประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยแล้ว 4 คน ซึ่งมี จ่อ มิน ยู หรือ ‘โก จิมมี่’ แกนนำคนสำคัญ และ ‘เพียว เซยา ตอ’ อดีตแรปเปอร์ที่ผันตัวมาเป็น ส.ส.พรรค NLD ร่วมอยู่ด้วย พวกเขาถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานก่อการร้าย และนับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้บทลงโทษประหารชีวิตในเมียนมาในรอบหลายทศวรรษ
57. สะพานกลับรถพระราม 2 ถล่ม
หัวค่ำของวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 เกิดอุบัติเหตุสะพานปูนกลับรถ กม.34 ย่านถนนพระราม 2 จ.สมุทรสาคร ถล่มลงมาทับรถยนต์ที่อยู่ด้านล่าง จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 3 ราย กลายเป็นเหตุสลดที่สร้างความสะเทือนใจและสังคม และนำมาสู่การตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในโครงการก่อสร้างของรัฐ
Photo Credit: กรมทางหลวง
58. เมื่อศรีลังกากลายเป็นรัฐล้มเหลว
เพราะรัฐบาลบริหารประเทศจนล้มเหลว ประกอบกับปัญหาการทุจริตที่เรื้อรังยาวนาน ศรีลังกาจึงต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จนประชาชนนับล้านต้องเผชิญกับสารพัดความเดือดร้อน เช่น ตกงาน ขาดรายได้ ยากจน ขาดแคลนเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม ขาดแคลนน้ำมัน ไม่มีไฟฟ้าใช้
เรียกได้ว่าวิกฤตทุกทาง จนประชาชนไม่พอใจและลุกขึ้นมาประท้วงขับไล่รัฐบาลของ ‘โกตาบายา ราชปักษา’ ถึงกับบุกเข้าไปในบ้านพักของประธานาธิบดี และจุดไฟเผาบ้านพักของนายกรัฐมนตรี การลุกขึ้นประท้วงของประชาชนจบลงด้วยการมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
ท้ายที่สุด โกตาบายา ยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และเดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศ
สิงหาคม
59. ประธานสภาสหรัฐฯ เยือนไต้หวัน ด้านจีนไม่พอใจ
คืนวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ทั่วโลกต่างจับตาการเดินทางของ ‘แนนซี เพโลซี’ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่ไปเยือนไต้หวัน ตามแผนการเยี่ยมเยียนเอเชีย รวมถึงสิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ด้วยจุดประสงค์ “การยึดมั่นอย่างไม่เสื่อมคลายของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนประชาธิปไตยอันเบ่งบานของไต้หวัน” โดยไต้หวันต้อนรับเพโลซีด้วยข้อความ เช่น “ไต้หวัน (หัวใจ) สหรัฐฯ” ถือเป็นผู้มีตำแหน่งสูงในรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เดินทางมาไต้หวันในรอบ 25 ปี สร้างความไม่พอใจให้กับทางการจีน ที่ซ้อมรบด้วยกระสุนจริงในทะเลรอบเกาะไต้หวัน
Photo Credit: Prachatai
60. บุ้ง-ใบปอ ออกจากเรือนจำ
หลังจากถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 94 วัน และประท้วงอดอาหารนาน 64 วัน ‘ใบปอ—ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์’ และ ‘บุ้ง—เนติพร เสน่ห์สังคม’ สองนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวังได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงกลางในคืนวันที่ 4 สิงหาคม 2565 โดยเหตุผลที่สองนักกิจกรรมถูกคุมขังเป็นเวลาราว 3 เดือนนั้นเกิดขึ้นจากการทำโพลเกี่ยวกับขบวนเสด็จ ในเดือนเมษายน 2565
61. ‘ซัลมัน รัชดี’ ถูกแทงกลางเวที
วันที่ 12 สิงหาคม 2565 มีเหตุทำร้ายนักเขียนชาวอังกฤษชื่อดัง ‘ซัลมัน รัชดี’ ณ เวทีการบรรยายที่เทศกาลวรรณกรรมของสถาบันชูโทกัว นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ โดยคนร้ายบุกใช้มีดแทงบริเวณลำตัวและคอประมาณ 10-15 ครั้ง โดยเหตุผลที่เขาถูกปองร้ายนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2531 เมื่อหนังสือชื่อดังของเขา The Satanic Verse มีเนื้อหาที่กลุ่มมุสลิมจำนวนหนึ่งมองว่าลบหลู่ศาสนา ในระดับที่ถูกตั้งค่าค่าหัวราวมากกว่า 100 ล้านบาท
และนอกจากซัลมันแล้ว การปองร้ายนำไปสู่ความรุนแรงต่อคนผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มนี้คนอื่นๆ ด้วย ตัวอย่างเช่นในปี 2534 ‘เอโตเร คาปริโอโล’ นักแปลหนังสือดังกล่าวเวอร์ชั่นอิตาลีถูกแทงในมิลาน ในสัปดาห์เดียวกันนั้น ‘อิการาชิ ฮิโตชิ’ ผู้แปลหนังสือดังกล่าวฉบับภาษาญี่ปุ่นถูกฆาตกรรมด้วยการแทง ในปี 2536 มีการเผาโรงแรมในตุรกีเพื่อพยายามฆ่านักเขียน ‘อาซิส เนซิน’ ผู้เผยแพร่การแปลส่วนสั้นๆ จากหนังสือลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และในปีเดียวกันนั้น ‘วิลเลียม ไนการ์ด’ เจ้าของสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์ The Satanic Verse ฉบับนอร์เวย์ถูกยิง 3 ครั้งที่บ้านตัวเอง แต่หลังรักษาตัวแล้ว เขาก็พิมพ์หนังสือใหม่อีกครั้ง
เวลาต่อมา ตัวแทนของรัชดีเปิดเผยว่าผลการทำร้ายดังกล่าว ถึงจะไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ทำให้เขาสูญเสียสายตาหนึ่งข้าง และมือขยับไม่ได้หนึ่งข้าง
Photo Credit: AFP
62. ไทยย้ำหลักการ ‘จีนเดียว’
“ไทยยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว และไทยไม่ประสงค์ที่จะเห็นการดำเนินการใดๆ ที่จะเพิ่มความตึงเครียดและบั่นทอนสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค” ความคิดเห็นของ ‘ธานี แสงรัตน์’ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศที่ถูกเผยแพร่ลงในเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565
ในวันเดียวกันกับที่ธานีออกความเห็น สถานทูตจีนเองก็มีการแถลงถึงความเห็นดังกล่าวว่า “จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน ตั้งแต่การก่อตั้งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและราชอาณาจักรไทย รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยยึดถือนโยบายจีนเดียวอย่างสม่ำเสมอ และสนับสนุนการรวมชาติอย่างสันติของจีน” โดยทิ้งท้ายว่า “เราเชื่อว่ารัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและคนไทยไม่ว่าใครจะสนับสนุนจุดยืนที่เที่ยงธรรมของจีนอย่างต่อเนื่อง”
Photo Credit: PPTV
63. ปัญหาผีน้อยไทยในเกาหลี
กรณีเกาหลีสกัดกั้นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายจากไทย หรือที่รู้จักกันว่า ‘ผีน้อย’ ถูกรายงานบ่อยครั้งในเดือนสิงหาคม 2565
“คนไทยถูกปฏิเสธการเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้น ในอัตราส่วนครึ่งต่อครึ่ง” สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวถึงผลกระทบวงกว้างของปัญหาแรงงานดังกล่าวไปยังนักท่องเที่ยวหมู่มาก
วันที่ 19 สิงหาคม 2565 กระทรวงยุติธรรมเกาหลีเปิดเผยข้อมูลการปราบปรามแรงงานข้ามชาติผู้ไม่มีเอกสารอนุญาต ระบุว่าระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2565 มีการจับกุมแรงงานรูปแบบดังกล่าวได้เป็นจำนวน 887 คน โดยในจำนวนทั้งหมดเป็นคนไทย 527 คน เวียดนาม 49 คน จีน 33 คน รัสเซีย 12 คน และฟิลิปปินส์ 11 คน
64. กม.ป้องกันอุ้มหายผ่านแล้ว!
วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย หลังก่อนหน้านี้ ส.ว. เคยมีมติแก้ไขร่างฯ ในบางมาตรา ส่งผลให้ร่างกฎหมายนี้จะถูกบังคับใช้หลังมีการผลักดันมายาวนานหลายสิบปี
Amnesty International มองว่า การผ่านร่างกฎหมายนี้แสดงให้เห็นว่าไทยจริงจังกับการปฏิรูปกฎหมายเพื่อนำความยุติธรรมมาสู่เหยื่อของอาชญากรรมการอุ้มหาย แต่ก็ยังคิดว่า ร่างกฎหมายนี้ยังมีจุดอ่อน เช่น การตัดมาตราที่ยกเว้นเรื่องการนิรโทษกรรมออก, การถอดถอนบทบัญญัติเกี่ยวกับการไม่รับฟังคำให้การหรือข้อมูลอื่นอันได้มาจากการทรมานหรืออุ้มหายมาเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี และนิยามของอาชญากรรมการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายไม่สมบูรณ์หรือไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ
65. สหรัฐฯ เลิกหนี้การศึกษา
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการช่วยเหลือทางการเงินคนอเมริกันในช่วงเศรษฐกิจหลังโรคระบาด ทำเนียบขาวประกาศว่า จะมีโครงการล้างหนี้การศึกษา โดยล้างให้ 10,000 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 3.5 แสนบาท) สำหรับผู้กู้ยืมที่มีรายได้น้อยกว่า 125,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (ราว 4.4 ล้านบาท) หรือในครัวเรือนที่มีรายได้ทั้งหมดต่ำกว่า 250,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (ราว 8.8 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ผู้พิพากษา มาร์ก พิตต์แมน จากศาลแห่งเท็กซัสเหนือสั่งชะลอโครงการนี้ ด้วยเหตุผลว่า การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติของฝ่ายบริหาร ไปจนกว่าจะมีคำตัดสินสุดท้าย
66. คดี ‘บอส อยู่วิทยา’ เหลือแค่ 1 ข้อหา
ใกล้จะพ้นมลทินแล้ว สำหรับ ‘บอส—วรยุทธ อยู่วิทยา’ ผู้ก่อเหตุขับรถหรูชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 ซึ่งตอนแรกถูกตั้งข้อกล่าวหาไว้ 5 ข้อกล่าวหา ต่อมาก็ใช้เทคนิคทางกฎหมาย เช่น ยื่นขอความเป็นธรรม จนสามารถหลบหนีไปต่างประเทศและข้อกล่าวหาต่างๆ ทยอยหมดอายุความ ล่าสุดในปี 2565 ก็มีอีก 1 ข้อหาหมดอายุความ ได้แก่เสพโคเคน ภายหลังมีการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดทำให้โทษและอายุความของโทษดังกล่าวลดลง จนเหลือเพียงข้อหาเดียว คือขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ที่จะหมดอายุความในปี 2570 ซึ่งถึงขณะนั้น บอสที่มีอายุ 45 ปี จะสามารถกลับไทยได้โดยปราศจากข้อกล่าวหาใดๆ
67. สั่งฟ้องมือยิง ‘เด็ก 15’ หน้า สน.ดินแดง
วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ‘วาฤทธิ์ สมน้อย’ เยาวชนวัย 15 ปี ถูกยิงบริเวณถนนมิตรไมตรี หน้า สน.ดินแดง จนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ภาพจากกล้องวงจรปิดชี้ว่ากระสุนถูกยิงมาจากซอยด้านข้าง สน.ดินแดง ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2565 อัยการได้สั่งฟ้องผู้ต้องหา 2 คน 1.ชุติพงษ์ ทิศกระโทกและ 2.ชายไม่ทราบชื่อ พร้อมกำหนดนัดสืบพยานในวันที่ 5, 6, 10, 11 ตุลาคม 2566
Photo Credit: Khaosod
กันยายน
68. ควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต
เป็นหนึ่งในข่าวที่ใหญ่ที่สุดแห่งปี เมื่อพระราชวังบักกิงแฮมประกาศว่า ‘สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2’ แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 สิริพระชนมพรรษา 96 พรรษา นำมาสู่การผลัดแผ่นดิน ด้วยการขึ้นครองราชย์ของ ‘สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3’ พระราชโอรสพระองค์แรกในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น สหราชอาณาจักรอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ ก่อนจะมีพระราชพิธีพระบรมศพในวันที่ 19 กันยายน 2565 ที่มีผู้นำจากนานาชาติเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ขณะที่ไทยส่ง ‘พิษณุ สุวรรณะชฎ’ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน เป็นผู้แทนเข้าร่วม ส่วนสำนักพระราชวัง ได้เปิดให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ร่วมไว้อาลัยที่บริเวณหน้าพระบรมมหาราชวัง ระหว่างวันที่ 19-25 กันยายน
Photo Credit: Royal Trust Collection
69. คดี 112: จำคุกกรณีแต่งชุดไทย
‘นิวส์—จตุพร แซ่อึ้ง’ นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ตัดสินจำคุก 3 ปี ในคดี ม.112 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 จากการถูกกล่าวหาว่าแต่งชุดไทยเลียนแบบสมเด็จพระราชินี ในกิจกรรม ‘รันเวย์ของประชาชน’ ที่บริเวณหน้าวัดแขก ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 และให้ปรับ 1,500 บาท ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ แต่เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี และปรับ 1,000 บาท
ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน ด้วยวงเงิน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
Photo Credit: ไข่แมวชีส
70. กราดยิงในกรมยุทธศึกษา กองทัพบก
วันที่ 14 กันยายน 2565 เกิดเหตุเสมียนวิทยาลัยการทัพบก (วทบ.) รายหนึ่ง กราดยิงภายในตึกกรมยุทธศึกษาทหารบก วทบ. ถนนเทอดดำริห์ ย่านบางซื่อ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ด้าน พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก ให้สัมภาษณ์ว่า แรงจูงใจน่าจะมาจากความเครียด และอาการทางจิตประสาท
เป็นอีกครั้งที่ทำให้ประชาชนตั้งคำถามว่า เหตุใดผู้ก่อเหตุกราดยิง มักจะเป็นทหารหรือตำรวจ
Photo Credit: The Reporters
71. ยกฟ้อง ‘สุเทพ’ คดีโรงพักร้าง
สิ้นสุดมหากาพย์คดีโรงพักร้างที่ลากยาวมามากกว่า 10 ปี ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ให้ยกฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 6 ราย ไม่ต้องรับผิดชอบการทุจริตสร้างโรงพักและแฟลตตำรวจ 396 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 5,848 ล้านบาท
“ขอให้ดูกรณีที่เกิดขึ้นกับผม ต้องตกอยู่ใต้กระแสการโจมตีว่าเป็นคนเลว คนทุจริต ตั้ง 8-9 ปี แต่ผมก็อดทนอดกลั้น และอาศัยความจริงเข้ามาต่อสู้” สุเทพเปิดใจหลังศาลพิพากษา “คนดีทั้งหลาย ก็สมควรจะมีกำลังใจ ประเทศไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครอง”
Photo Credit: Matichon
72. กรณี ‘มาห์ซา อามินี’ ต้นเหตุลุกฮือในอิหร่าน
‘มาห์ซา อามินี’ (Mahsa Amini) คือหญิงอิหร่านวัย 22 ปี ที่เสียชีวิต ภายหลังจากถูกตำรวจศีลธรรมควบคุมตัวโทษฐานไม่ใส่ฮิญาบ การเสียชีวิตของเธอกลายมาเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนอิหร่านทั่วประเทศลุกฮือ ออกมาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของ ‘อายะตุลลอฮ์ อาลี คอเมเนอี’
การประท้วงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565 และได้รับการสนับสนุนเป็นวงกว้าง ในช่วงฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ทีมชาติอิหร่านยังแสดงจุดยืนสนับสนุนผู้ประท้วง ด้วยการไม่ร้องเพลงชาติ ก่อนแข่งในนัดอังกฤษ-อิหร่าน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ด้วย
แต่การเคลื่อนไหวก็ถูกปราบปรามอย่างหนัก ข้อมูลจากองค์กรสิทธิมนุษยชนที่จับตาสถานการณ์ในอิหร่านหลายแห่ง ระบุว่า มียอดผู้เสียชีวิตในการชุมนุมมากกว่า 300 รายแล้ว และถูกจับกุมอีกนับหมื่นราย
Photo Credit: AFP
73. ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว หลังใช้มา 2 ปีครึ่ง
ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. มีมติยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 หลังจากที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง นับเป็นการสิ้นสุดการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีผลบังคับใช้มาเกือบ 2 ปี 6 เดือน ตั้งแต่เริ่มประกาศใช้ทั่วอาณาจักรครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563
74. คดี 8 ปีนายกฯ: ศาล รธน. ให้ประยุทธ์ไปต่อ
เป็นคดีที่ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศต่างจับจ้อง ในฐานะหมุดหมายสำคัญบนเส้นทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ในวันอ่านคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ก็ปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบวาระ 8 ปีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 โดยให้นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ คือ 6 เมษายน 2560
ก่อนหน้าที่จะมีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องพิจารณาปม 8 ปีนายกฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พร้อมสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย นั่นทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ขึ้นรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นเวลามากกว่า 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม – 30 กันยายน 2565
75. รัสเซียประกาศผนวก 4 ดินแดนในยูเครน
ภายหลังจากทำประชามติใน 4 พื้นที่ของยูเครน ที่ถูกนานาชาติประณามว่าเป็นการ ‘ตบตา’ วลาดีมีร์ ปูติน ผู้นำของรัสเซีย ก็ประกาศผนวกดินแดนดังกล่าว ประกอบด้วย โดเนตสก์ ลูฮันสก์ เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565
ความเคลื่อนไหวนี้ สะท้อนสถานการณ์ในขณะนั้นว่า รัสเซียเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ หลังถูกยูเครนรุกกลับอย่างหนัก เช่นเดียวกับการที่ปูตินประกาศ ‘ระดมพลบางส่วน’ (partial mobilization) เป็นจำนวน 300,000 นาย ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ในวันที่ 21 กันยายน 2565 เพื่อเสริมกำลังการสู้รบในยูเครน ซึ่งยิ่งบ่งบอกว่ารัสเซียสูญเสียกำลังพลอย่างหนัก
Photo Credit: AFP
ตุลาคม
76. เยาวชน 15 ปี ขับรถฝ่าไฟแดงชนคนเสียชีวิต
ต้นเดือนตุลาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งการเกิดอุบัติเหตุในคืนวันที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 22.00 น. บริเวณสี่แยกไฟแดง ถนนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี โดยเยาวชนอายุ 15 และเพื่อนรวมกัน 3 คน ได้ขับขี่รถยนต์ BMW ชน ‘เต้—ธนพล แก้วมูล’ อายุ 24 ปี ที่กำลังขับชี่รถจักรยานยนต์จนเสียชีวิต จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดพบว่ารถยนต์ BMW นั้นได้ขับฝ่าไปแดงมาด้วยความเร็ว
เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดแฮชแท็ก #เด็ก16ผ่าไฟแดงชนคนตาย ในทวิตเตอร์ และมีการทวีตถึงอย่างน้อย 490,000 ครั้ง ส่วนหนึ่งเพราะผู้คนต่างเชื่อมโยงคดีนี้เข้ากับคดีในอดีต เช่น คดีแพรวา คดีบอส อยู่วิทยา ที่สังคมยังคงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความยุติธรรม และนำไปสู่การถกเถียงถึงกฎหมายเยาวชน
ในเย็นวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ผู้ปกครองได้นำเยาวชนอายุ 15 ไปรับทราบ 3 ข้อหาคือ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต ขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง และไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ด้านเยาวชนที่เป็นคนขับยอมรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา
Photo Credit: Dailynews
77. เหตุกราดยิงหนองบัวลำภู
วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ช่วงเวลาประมาณ 12.30 น. ชายผู้ก่อเหตุได้นำอาวุธปืนพร้อมมีดบุกเข้าไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู โศกนาฎกรรมครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 36 คน ในจำนวนนั้นมี 24 คนเป็นเด็กเล็ก หลังจากนั้นผู้ก่อเหตุได้ทำการหลบหนี และยิงลูกเลี้ยงพร้อมภรรยาจนเสียชีวิต ก่อนยิงตัวตายตาม ภายหลังทราบว่าผู้ก่อเหตุคืออดีตตำรวจที่เคยรับราชการอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรนาวัง
เนื่องจากเคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้มาแล้วเช่นเหตุกราดยิงโคราช ปี 2563 เหตุกราดยิงหนองบัวลำภูจึงก่อให้เกิดการตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยและการป้องกันเหตุกราดยิงอีกครั้ง รวมไปถึงปัญหาการครอบครองอาวุธปืน ยาเสพติด (เนื่องจากผู้ก่อเหตุมีประวัติครอบครองยาเสพติด) สุขภาพจิต และโครงสร้างองค์กรตำรวจ
หลังเกิดเหตุการณ์ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นประธานกำหนดมาตรการกวดขันการครอบครองอาวุธปืน และควบคุมการนำเข้าและส่งออกสารโซเดียมไซยาไนด์ที่นำไปใช้ผลิตยาเสพติด นอกจากนี้ ทางการยังได้เพิ่มในส่วนของมาตรการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต ทั้งหมดนี้เป็นการออกมาตรการเร่งด่วนที่ยังต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีผลแค่ไหนในระยะยาว
Photo Credit: AFP
78. ‘ศรีสุวรรณ’ โดนชก ระหว่างให้สัมภาษณ์ร้อง ‘โน้ส อุดม’
หลังจาก ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ ส่งหนังสือร้องเรียนให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางตรวจสอบเอาผิดกับ ‘โน้ส—อุดม แต้พานิช’ จากการแสดงในเดี่ยว 13 ระหว่างที่เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงการร้องเรียน ‘วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล’ ชายวัย 62 ปี เจ้าของช่องยูทูบศักดินาเสื้อแดง ได้เดินเข้ามาชกศรีสุวรรณจนเกิดความชุลมุนวุ่นวาย
ทางวีรวิชญ์ให้เหตุผลว่านี่เป็นการตบสั่งสอน และถ้าถูกดำเนินคดีก็พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า “คำว่าประชาธิปไตยทุกคนต้องยอมรับความเห็นต่าง แต่อย่าเกินเลยจนเกินไป หลายปีมานี้ นายคนนี้เป็นนักร้องดังกว่านักร้องแร็ป นักร้องลูกทุ่ง เหตุผลนี้ผมจึงมาตบสั่งสอน” ทว่าการกระทำครั้งก็ทำให้เกิดการถกเถียงทั้งจากคนดังและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถึงความไม่เหมาะสมในการใช้ความรุนแรง
Photo Credit: Sanook
79. ศาลสั่งจำคุก ‘ภัคภิญญา’ 9 ปี คดี 112
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้สั่งลงโทษ ‘ภัคภิญญา’ อดีตบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงพยาบาล อายุ 31 ปี ให้จำคุก 9 ปี โดยไม่รอลงอาญา เพราะแชร์เพจเฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น โพสต์จากเพจเยาวชนปลดแอก-Free YOUTH, KTUK-คนไทยยูเค, ราษฎร, และอานนท์ นำภา
คดีนี้ทำให้ภัคภิญญาต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพฯ และสุไหงโก-ลกถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาหลายวัน เนื่องจากต้องเดินทางกว่า 1,200 กม. นี่คือหนึ่งในคดีที่ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน จากเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) เข้าแจ้งความไว้ด้วย ม.112
Photo Credit: iLaw
80. กสทช. มีมติแค่ ‘รับทราบ’ กรณีควบรวม TRUE-DTAC
ในวันที่ 20 ตุลาคม 2565 คณะกรรมการ กสทช. ทั้ง 5 คน ได้ลงมติเพียง ‘รับทราบ’ การรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC โดยประธานในที่ประชุมออกเสียงชี้ขาดหลังมติระหว่างรับทราบและไม่อนุญาตเสมอกัน ด้านที่ประชุม กสทช. ยังออกเงื่อนไขที่ต้องกังวล 5 ข้อ คือ อัตราค่าบริการ, ขาดประสิทธิภาพการแข่งขันของตลาด, คุณภาพการให้บริการ, การถือครองคลื่นความถี่, และความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล
ไม่นานสภาองค์กรของผู้บริโภคก็ได้ยื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครอง ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 เพื่อให้เพิกถอนมติที่ กสทช. ‘รับทราบ’ การควบรวม TRUE-DTAC และขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา พร้อมยื่นรายชื่อผู้บริโภคที่ร่วมรณรงค์คัดค้านจำนวน 2,022 ราย
81. โตโน่ว่ายน้ำข้ามโขง
‘One Man and The River’ หรือ ‘หนึ่งคนว่าย หลายคนให้’ คือภารกิจที่ ‘โตโน่—ภาคิน คำวิลัยศักดิ์’ ประกาศไว้ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม โดยตั้งเป้าจะว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงไปกลับไทย-ลาวเป็นระยะทาง 15 กิโลเมตร ในวันที่ 22 ตุลาคม 2565 เพื่อระดมทุนรับบริจาคเงินช่วยเหลือ รพ.นครพนม และ รพ.เแขวงคำม่วน ของสปป.ลาว ในด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์
ในท้ายที่สุด ภารกิจของโตโน่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีพร้อมกับเงิบบริจาค 63 ล้านบาท เป็นจำนวนเงินมากกว่าที่กำหนดไว้ (16 ล้านบาท) ทว่าตั้งแต่เริ่มตลอดจนภารกิจการว่ายน้ำของโตโน่นั้นมีทั้งการชื่นชม และการวิพากษ์วิจารณ์ถึงปรากฎการณ์นักบุญทุนคนอื่น รวมถึงการออกมารับบริจาคที่อาจทำให้ปัญหาด้านสาธารณสุขที่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไม่ได้รับการแก้ไข
Photo Credit: Khaosod
82. ‘เค ร้อยล้าน’ ล็อกคอ ‘ธนาธร’ กลางงานหนังสือฯ
วันที่ 23 ตุลาคม 2565 เกิดเหตุโกลาหลขึ้นในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีรายงานว่าขณะที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กำลังแจกลายเซ็นอยู่ที่บูธ E11 คเณศพิศณุเทพ จักรภพมหาเดชา หรือ ‘เค ร้อยล้าน’ ก็พุ่งเข้าไปล็อกคอธนาธร พร้อมกับตะโกนว่า “ผมมีระเบิดนะๆ” โดยหลังจากพูดก็มีการโยนกระเป๋าลงที่พื้น สร้างความแตกตื่นให้กับผู้มาร่วมงาน
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ พร้อมนำตัว เค ร้อยล้าน ออกจากงานมหกรรมหนังสือฯ ระหว่างควบคุมตัวมีผู้บันทึกภาพเหตุการณ์ที่ เค ร้อยล้าน ชูโปสเตอร์ในหลวงรัชกาลที่ 10 และตะโกนว่า “ใครรักประเทศนี้ ใครทำความดีเท่าพระเจ้าอยู่หัวบ้าง…” ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2565 เค ร้อยล้าน ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน และถูกนำตัวไป รพ.สมเด็จเจ้าพระยา เพื่อวินิจฉัยอาการทางจิต
Photo Credit: sa_ri_sa (Twitter)
83. อีลอน มัสก์ ซื้อทวิตเตอร์ 44,000 ล้านเหรียญฯ
ในที่สุดมหากาพย์การเข้าซื้อทวิตเตอร์ของ ‘อีลอน มัสก์’ ที่ลากยาวมาตั้งแต่ต้นปี 2565 ก็ได้ผลสรุป เมื่อเขาได้เป็นเจ้าของทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการในวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ปิดดีลการซื้อไปด้วยมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท)
หลังได้เป็นเจ้าของทวิตเตอร์ สิ่งแรกๆ ที่มัสก์ทำคือการไล่คณะผู้บริหารของทวิตเตอร์ในขณะนั้นออกทันที ตามมาด้วยความวุ่นวายอีกหลายประกาศ ทั้งการแบนบัญชีนักข่าวที่รายงานข่าววิจารณ์มัสก์ หรือตั้งโพลว่าคนยังอยากให้เขาเป็นซีอีโอทวิตเตอร์อยู่หรือไม่ ซึ่งแม้ผลออกคือคนไม่อยากให้เขาอยู่ แต่มัสก์ก็ยังประกาศว่าจะอยู่จนกว่าจะมีคนโง่พอที่จะมาแทนที่เขา
ทวิตเตอร์จะเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังและความแตกแยกอย่างมัสก์ตั้งเป้าไว้หรือไม่ คงอยู่ที่การตัดสินใจของเขาเท่านั้น
84. โศกนาฎกรรมอิแทวอน ในคืนฮาโลวีน
กลายเป็นหนึ่งในโศกนาฎกรรมที่น่าสลดของโลกและเกาหลีใต้ เมื่อการมาร่วมเฉลิมฉลองในเทศกาลฮาโลวีนรัฐบาลคลายล็อก COVID-19 ที่ย่านอิแทวอน กรุงโซล ได้กลายเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 156 ราย และบาดเจ็บ 133 ราย ในคืนวันที่ 29 ตุลาคม 2565
มีรายงานว่าในคืนนั้นมีนักท่องเที่ยวมาเข้าร่วมงานในย่านเศรษฐกิจอิแทวอนถึงประมาณ 100,000 คน จำนวนคนที่ล้นหลามในซอยแคบข้างโรงแรมแฮมิลตันนำไปสู่การเบียดเสียดกัน (crowd crush) ที่คาดกันว่าน่าจะเป็นสาเหตุของเหตุการณ์ในครั้งนี้ ผู้คนต่างกรีดร้องและตะเกียกตะกายออกจากพื้นที่ ก่อนจะมีการโทรแจ้งขอความช่วยเหลือในเวลาประมาณ 22.15 น. ทางเจ้าหน้าที่พบผู้หมดสติเป็นจำนวนมาก โดยมีการทำ CPR พร้อมรถพยาบาลและรถดับเพลิงจอดอยู่รอบนอก ซึ่งกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายก็ใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง
Photo Credit: AFP
พฤศจิกายน
85. สภาฯ คว่ำ กม.สุราก้าวหน้า
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 มีมติคว่ำร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือ ‘ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า’ ที่มีสาระสำคัญหลักๆ คือ เป็นการแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 153 เดิม โดยมีการเพิ่มคำว่า ‘เพื่อการค้า’ เป็น “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุรา ‘เพื่อการค้า’ หรือมีเครื่องกลั่นสุราสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครอง” เพื่อให้ขอบเขตการอนุญาตผลิตสุรากว้างขึ้น ซึ่งเสนอโดย เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล และคณะ ด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย 177 ต่อ 173 เสียง จากผู้ลงมติ 365 คน
86. เสียงวิจารณ์ ปมถ่ายสดบอลโลก
หลังจากที่ กกท. (การกีฬาแห่งประเทศไทย) ปิดดีลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่กาตาร์ 2022 ได้ด้วยมูลค่า 1,400 ล้านบาท (ค่าลิขสิทธ์ 1,200 ล้านบาท และค่าภาษี 200 ล้านบาท) เรื่องราวของมหากาฬก็ยังไม่จบลงเสียทีเดียว เมื่อสมาคมทีวีดิจิทัลฯ ออกมาระบุว่า การแบ่งลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไม่ได้ทั่วถึงเท่าเทียมตามหลักการของ กสทช. และจบลงด้วยการที่ กสทช. ได้ขอความร่วมมือทรู ให้คืนโควตาถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบ 16 ทีมสุดท้าย กลับมาให้จัดสรรใหม่อีกครั้ง
87. วิกฤต Meta เลิกจ้างคนนับหมื่น
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 บริษัท Meta บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และวอตส์แอปป์ ได้เลิกจ้างพนักงาน 13% คิดเป็นจำนวน 11,000 คน โดยที่ตัว มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ได้อธิบายว่า ต้องเลิกจ้างพนักงานจากการที่เขาคิดว่า ที่โลกออนไลน์เติบโตขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 จึงตัดสินใจเพิ่มการลงทุน แต่ผลประกอบการณ์กลับไม่เป็นแบบที่เขาคาดการณ์เอาไว้ โดยหลังจากนี้เขาจะหันไปโฟกัสกับสิ่งที่คาดว่าจะเติบโตในอนาคตอย่าง AI ธุรกิจโฆษณา และแพลตฟอร์มทางธุรกิจ
88. ประชุมเอเปค APEC ที่ไทย ผู้นำหลายชาติส่งตัวแทนมา
ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค APEC 2022 ในหัวข้อ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” แต่บรรยากาศการประชุมค่อนข้างเงียบเหงา เมื่อไร้เงาของผู้นำชาติมหาอำนาจทั้ง 2 อย่างรัสเซียและสหรัฐฯ ทว่าต่างประกาศส่งตัวแทนมาร่วมประชุม
89. บอลโลก 2022 ที่กาตาร์
การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 แต่มาพร้อมสารพัดปัญหาและดราม่า ตั้งแต่ข้อครหาว่ามีการ ‘ทุจริต’ และ ‘ติดสินบน’ เพื่อเป็นเจ้าภาพ เรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานอพยพ ทั้งการโกงค่าแรงและบังคับใช้แรงงาน รวมถึงความปลอดภัยของแฟนบอล LGBTQ+ และการจำกัดการขายเบียร์ 2 วันก่อนการแข่งขันเริ่ม
90. ตำรวจ คฝ. สลายม็อบรุนแรง สื่อ-ผู้ชุมนุมเจ็บ
การชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุด APEC2022 ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ถูกตำรวจ คฝ. บุกเข้าสลายการชุมนุม ระหว่างเดินจากลานคนเมืองไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่ถูกสกัดไว้ที่ถนนดินสอ ผลจากการปฏิบัติการดังกล่าว ทำให้มีประชาชนจำนวนมากได้รับบาดเจ็บ มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมอย่างน้อย 25 ราย และมีสื่อมวลชนอย่างน้อย 4 ราย ได้รับผลกระทบจากฝีมือตำรวจ คฝ. โดยเฉพาะนักข่าวของ The MATTER ที่ถูกเข้าทุบตีจนล้มลงและเตะซ้ำ แม้จะใส่ปลอกแขนแสดงตัวและตะโกนหลายครั้งว่าเป็นสื่อมวลชน และทั้งๆ ที่ศาลแพ่งเคยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้สลายการชุมนุมโดยระวังความปลอดภัยสื่อ
ผลจากการกระทำดังกล่าว ทำให้ศาลแพ่งเรียกตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไปชี้แจงว่าปฏิบัติตามคำสั่งของศาลแพ่งหรือไม่ ในวันที่ 17 มกราคม 2566 รวมถึงถูกเรียกให้ไปชี้แจงในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของสภาผู้แทนราษฎร และสมาคมสื่อได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้ามาตรวจสอบด้วย
91. FTX แพล็ตฟอร์มคริปโตฯ ยักษ์ใหญ่พัง
อีกหนึ่งเหตุการณ์สั่นสะเทือนวงการคริปโตเคอร์เรนซี เมื่อ FTX แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีที่เป็นเบอร์ 2 รองจาก Binance ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกขนานนามว่าเป็น ‘ราชันแห่งโลกคริปโตฯ’ ล้มสลายลงในทันตา หลังจากที่มีบทความบนเว็บไซต์ Coindesk ได้ออกมาตีแผ่เอกสารงบดุลของ Alameda Research บริษัทเก็งกำไรหลักทรัพย์ ที่เป็นเจ้าของเดียวกันกับ FTX ถึงปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของ FTX และ Alameda Research ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันถึงความไม่มั่นคง เมื่อสินทรัพย์บริษัทในเครือไม่ใช่เงินสดหรือคริปโตฯ ของแพลตฟอร์มอื่น แต่เป็นเหรียญ FTT ซึ่งเป็นเหรียญของแพลตฟอร์ม FTX เอง
และเพราะบทความนี้เองที่ทำให้ราคาเหรียญ FTT ผันผวนอย่างรุนแรง จนสุดท้าย FTX และบริษัทในเครือทั้งหมด ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากศาลสหรัฐฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการล้มละลายอย่างเป็นทางการ และทำให้ แซม แบงแมน-ฟรายด์ ผู้บริหาร FTX ถูกจับกุมในที่สุด
92. จีนเดือด คนประท้วง Zero Covid
ประชาชนจีนรวมตัวกันประท้วง ที่เมืองอูหลู่มู่ฉี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการมาตรการล็อกดาวน์อันยาวนานนี้เสีย หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่อพาร์ตเมนต์ในเมืองอูหลู่มู่ฉี เมื่อประชาชนมองว่ามาตรการล็อกดาวน์เป็นอุปสรรคต่อการดับไฟ ซึ่งการประท้วงเพื่อต่อต้านมาตรการ Zero Covid นี้เกิดขึ้นในหลายที่ของประเทศจีนทั้งในเมืองซีอาน ฉงชิ่ง และหนานจิง ซึ่งโดยมากเป็นการประท้วงกันในรั้วมหาวิทยาลัย
Photo Credit: AP
93. BTS ทวงเงิน กทม. (อีกแล้ว)
บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เตรียมยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อเรียกร้อง (ทวง) ให้ทางกทม. จ่ายค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังจากที่บริษัทยังไม่ได้รับการชำระจากทาง กทม. เนื่องจากการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดของ กทม. ในคดีผิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และเพราะการเลื่อนชำระหนี้นี้ ทำให้ยอดรวมติดค้างที่กทม. จะต้องชำระนั้นพุ่งไปกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท
นอกจากการเรียกร้องในรูปแบบของการฟ้องร้องแล้ว BTS ยังได้เปลี่ยนป้ายโฆษณาและจอภาพในพื้นที่สถานีให้กลายเป็นช่องทางการทวงเงิน ด้วยการฉายภาพพื้นหลังดำที่มีข้อความบอกว่า “ติดหนี้….ต้องจ่าย” “ภาษีประชาชนเสียหาย”
Photo Credit: Thai Post
94. ลุยปราบมาเฟียจีน
หลังจากที่ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง เปิดเผยข้อมูลที่กลุ่มทุนธุรกิจจีนที่เปิดสถานบันเทิงมั่วสุมยาเสพติดในประเทศไทย จนนำไปสู่การเข้าตรวจค้นพื้นที่และจับกุมนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 200 คนที่เขตสาทร ไปเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2565
พอเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน 2565 ชูวิทย์ก็ได้ทำการเปิดข้อมูลความสัมพันธ์ของอดีตนายตำรวจและ 5 มาเฟียที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทา ที่กระจายลงทุนอยู่ในหลายประเทศ เพื่อฟอกเงิน หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ทำการปราบปรามการทุจริตอย่างหนัก
Photo Credit: Thairath
95. เตรียมเลือกตั้ง! หลัง 2 กม.สำคัญไม่ขัด รธน.
เตรียมเข้าโหมดเลือกตั้งกัน! ทั้งนักการเมืองและประชาชนทั่วไปในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในเดือนพฤศจิกายน 2565 ว่าร่างกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีเนื้อหาไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
ธันวาคม
96. เพื่อไทยประกาศนโยบาย ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท
เพื่อไทยประกาศกร้าว “ในปี 2570 คนไทยต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำให้สมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย คือ ไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวัน เงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป” แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม กล่าว ระหว่างการประชุมวิสามัญพรรคเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม แต่ชาวเน็ตก็ล้วนสงสัยว่าค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทจะเป็นได้จริงหรือไม่ ถ้าค่าแรงขึ้นแล้ว ค่าครองชีพจะขึ้นตาม แล้วสุดท้ายก็กลับมาวังวนเดิมหรือเปล่า
จากงานแถลงในวันที่ 7 ธันวาคม ได้คำตอบว่าที่กล้าเสนอ เพราะพรรคมีวิสัยทัศน์ที่หวังยกระดับการผลิตของประเทศ เพิ่มความเร็วของการหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจ ค่าแรงจะต้องถูกปรับตามปัจจัยของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงาน และเงินเฟ้อ โดยการปรับค่าแรงขั้นต่ำจะคู่ขนานไปกับการดูแลผู้ประกอบการ และพรรคจะมีการดูแลผู้ประกอบการด้วย
Photo Credit: กรุงเทพธุรกิจ
97. นักวิทยาศาสตร์ได้พลังงานสุทธิจากพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่นเป็นครั้งแรก
ความหวังใหม่ของชาวโลก เพราะนี่คือการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ เมื่อห้องปฏิบัติการ National Ignition Facility (NIF) ที่ Lawrence Livermore National Laboratory (LLNL) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ออกมายืนยันการเกิดพลังงานสุทธิจากพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่นเป็นครั้งแรก โดยกระบวนการผลิตที่ไม่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นผลต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้พลังงานฟิวชั่นนี้มีแววจะได้เป็นพลังงานสะอาดแห่งโลกอนาคต ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน
แม้จะยังต้องใช้เวลาในการค้นคว้าและทดลองต่ออีกสักพัก เพราะนี่ยังเป็นแค่ช่วงต้นของการค้นพบเท่านั้น แต่ยืนยันได้เลยว่าจะเป็นการเปิดประตูสู่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในวงการวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน
Photo Credit: AP
98. เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ทรงพระประชวร
วันที่ 15 ธันวาคม สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงพระประชวร
ตามแถลงการณ์ระบุว่า เมื่อวันที 14 ธันวาคม เวลา 18.20 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงทำการฝึกสุนัขทรงเลี้ยง ที่จะเข้าแข่งขันสุนัขใช้งานตามมาตรฐานสากล ในรายการ Thailand Working Dog Championship by Royal Thai Army 2022 ระหว่างวันที่ 10-19 ธันวาคม ณ สนามฝึกสุนัขทหาร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
ในระหว่างทรงทำการฝึก ทรงมีอาการประชวรหมดสติ ด้วยพระอาการทางพระหทัย คณะแพทย์ประจำพระองค์จึงได้เชิญเสด็จพระราชดำเนินไปปฐมพยาบาล ณ โรงพยาบาลปากช่องนานา พระอาการคงที่ในระดับหนึ่ จากนั้น ได้เชิญเสด็จประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเข้ารับการรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อถวายการตรวจพระวรกายอย่างละเอียด และประทับรักษาพระองค์ต่อไป
Photo Credit: สำนักพระราชวัง
99. อาร์เจนตินาคว้าแชมป์บอลโลก ครั้งแรกในรอบ 36 ปี
หลังจากเทศกาลบอลโลกได้ดำเนินมาอย่างยาวนานเกือบ 1 เดือน เป็นจำนวน 64 นัด ซึ่งเราก็ได้รู้ผลแพ้ชนะกันเป็นที่เรียบร้อยในคืนวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา เมื่ออาร์เจนตินาเอาชนะฝรั่งเศสแชมป์เก่าไปได้ด้วยผลสกอร์ 4-2 ในช่วงจุดโทษ หลังเสมอในเกม 3-3 ซึ่งการคว้าชัยชนะครั้งนี้เป็นแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยที่ 3 ของอาร์เจนตินา และเป็นแชมป์ครั้งแรกในรอบ 36 ปี
แชมป์ครั้งนี้นับเป็นการฟินาเล่ของ ลิโอเนล เมสซี ผู้เล่นยอดเยี่ยมบัลลงดอร์ 7 สมัยที่ปีนี้อายุย่างเข้า 36 ปีได้อย่างสวยงาม
Photo Credit: PPTV
100. เรือหลวงสุโขทัยอับปาง
ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 18 ธันวาคม 2565 เรือหลวงสุโขทัยที่เป็น 1 ใน 5 เรือรบหลักของกองทัพเรือไทย ได้ประสบเหตุน้ำเข้าเรือ จนเมื่อถึงเวลาประมาณ 23.30 น. เรือหลวงสุโขทัยก็จมลงใต้น้ำ ในบริเวณใกล้เคียงกับท่าเรือ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เหตุการณ์นี้ทำให้มีกำลังพลเสียชีวิตแล้ว 6 นาย ยังคงสูญหายอีก 23 ราย (ข้อมูลเมื่อ 21 ธันวาคม เวลา 20.00 น.) จากยอดกำลังพลเรือหลวงสุโขทัยทั้งหมด 105 นาย
นอกจากความสูญเสียที่เกิดขึ้น การอับปางของเรือหลวงสุโขทัยได้นำสังคมไปสู่การตั้งคำถามถึงความพร้อมของอุปกรณ์สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน การปฎิบัติหน้าที่เพื่อช่วยเหลือลูกเรือ และท่าทีของกองทัพเรือต่อเหตุการณ์ ในคำแถลงการบางส่วนของ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ (ผบ.ทร.) กล่าวว่า “อย่ามองว่าคนไม่มีเสื้อชูชีพทั้ง 30 คนจะสูญเสียทั้งหมด เพราะตัวเลขแสดงให้เห็นแล้วว่า 18 คนที่มีเสื้อชูชีพขึ้นมากับ 15 คนแรกยังเหลือในทะเลอีก 12 คน และ 18 คนที่มีเสื้อชูชีพยังอยู่ในทะเลอยู่”
Photo Credit: กองทัพเรือ