อีกไม่กี่ชั่วโมง ก็จะถือว่าเข้าสู่วันแห่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ หลังต่อสู้กันยาวนานมากว่าครึ่งปี โดยครั้งนี้ เป็นการต่อสู้กันระหว่าง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และ ‘โจ ไปเดน’ ผู้ท้าชิงจากเดโมแครต
ต้องบอกก่อนว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีมีความสำคัญอย่างมาก ตามประวัติศาสตร์การเมือง สหรัฐฯ เป็นประเทศที่แทบไม่เคยเลื่อนการเลือกตั้งเลยแม้แต่ครั้งเดียว (ยกเว้นในช่วงเกิดสงครามโลก) แม้ว่าปีนี้สหรัฐฯ ยังคงต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาด COVID-19 แต่ประชาชนชนก็ยังให้ความสนใจ และมีการลงทะเบียนใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้ากว่า 92 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 66.8% เลยทีเดียว
การเลือกตั้งสหรัฐฯ จะจัดขึ้นทุกๆ 4 ปี โดยจะมีการกำหนดให้ ‘วันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน’ เป็นวันเลือกตั้ง ซึ่งการกำหนดการนี้อิงจากความสะดวกของเกษตรกรเป็นหลัก เนื่องจากในอดีตสหรัฐฯ เป็นสังคมที่ทำการเกษตรมาเป็นเวลานาน ฝ่ายนิติบัญญัติจึงได้พิจารณาให้จัดวันเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ชาวนาเดินทางไปลงคะแนนได้อย่างสะดวก
โดยผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และจะต้องอยู่ในรายชื่อของหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหลายรัฐออกกฎหมายให้แสดงบัตรประจำตัวเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคลจึงจะรับสิทธิลงคะแนนได้ ซึ่งเป็นผลจากการผลักดันนโยบายของพรรครีพับลิกันเพื่อป้องกันการโกง ในขณะที่พรรคเดโมแครตได้ออกมาแย้งว่า นี่เป็นการจำกัดสิทธิการลงคะแนนของคนบางกลุ่ม เช่น ชนกลุ่มน้อย และคนยากจน ที่มักไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน
สำหรับกระบวนการคัดสรรผู้นำคนใหม่นั้นถือว่ามีความพิถีพิถัน และซับซ้อนพอสมควร เนื่องจากประเทศสหรัฐฯ มีรูปแบบการปกครองแบบประชาธิบไตยในรูปแบบ ‘สหพันธรัฐ’ กล่าวคือรัฐต่างๆ มีอำนาจในการปกครองตนเอง ในขณะที่รัฐบาลกลางจะมีอำนาจการตัดสินใจเรื่องนโยบายต่างประเทศ เศรษฐกิจ และความมั่นคงทางด้านต่างๆ จะเห็นว่าหลายๆ ครั้งประมุขของประเทศอย่างประธานาธิบดีก็ไม่มีอำนาจแทรกแซงในการบริหารงานของรัฐอื่นได้
เนื่องจากประเทศประกอบด้วยรัฐใหญ่ๆ มากมาย และแต่ละรัฐมีจำนวนประชากรไม่เท่ากัน ดังนั้นฝ่ายนิติบัญญัติจึงพยายามหาวิธีสร้างสมดุลในการลงคะแนน โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงผ่าน ‘คณะผู้เลือกตั้ง’ (Electoral College) ของแต่ละรัฐ แทนการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์เผด็จการเสียงข้างมาก
กล่าวคือ การเลือกตั้งทางอ้อม ประชาชนจะไม่ได้เลือกประธานาธิบดีโดยตรง แต่เลือกคณะผู้เลือกตั้งที่อยู่ในรัฐของตน และคณะผู้เลือกตั้งเหล่านั้นจะเป็นตัวแทนไปเลือกประธานาธิบดีในสภา
ก่อนการเลือกตั้ง แต่ละรัฐจะมีการคัดเลือก ผู้เลือกตั้ง (Electors) มารวมกันเป็น คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) โดยคนที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เลือกตั้งต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีตําแหน่งทางการเมืองมาก่อน พวกเขาจะมีสิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ครั้งเดียวเท่านั้น จากนั้นก็จะหมดอำนาจทางการเมืองไป
คณะผู้เลือกตั้งในแต่ละรัฐ จะมีจำนวนผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน โดยจำนวนคณะผู้เลือกตั้งจะมีการกำหนดจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ในพื้นที่ (ส.ส. 1 คนต่อประชากร 720,000 คน) รวมกับจำนวนวุฒิสมาชิกรัฐละ 2 คนเท่ากันทุกรัฐ นั่นหมายความว่า หากรัฐ ก. มีจำนวน ส.ส. 1 คน ก็จะมีจำนวนคณะเลือกตั้ง 3 คน ดังนั้นรัฐใหญ่ๆ อย่างแคลิฟอร์เนีย เท็กซัส หรือฟลอริดา จึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ
อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งคือ การตั้งคณะผู้เลือกตั้งจะมีการใช้ระบบผู้ชนะกินรวบ (Winner-Takes-All) มาใช้ในการจัดตั้งคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละรัฐ กล่าวคือ หากรัฐ ข. มีคณะเลือกตั้ง 5 คน แล้วมีประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกพรรคเอเยอะกว่าพรรคบี ก็จะเท่ากับว่าพรรคเอได้คณะเลือกตั้งไปทั้งหมด 5 คน โดยระบบผู้ชนะกินรวบนี้ใช้กับรัฐ 48 รัฐ และกรุงวอชิงตัน (Washington, D.C.) ส่วนรัฐเมนกับรัฐเนบราสก้า จะใช้ระบบสัดส่วน
หลังจากที่การเลือกตั้งเสร็จสิ้น จะมีการนับคะแนนมวลชน (Popular Vote) และคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) และแคนดิเดตจากพรรคไหนได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งเกิน 270 เสียงขึ้นไปจะได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี
มาถึงตรงนี้แล้วอาจจะดูเหมือนว่าคะแนน Popular Vote ไม่มีความสำคัญเท่าไหร่นัก แต่อย่าลืมว่าคะแนนดิบจากมวลชนนี่แหล่ะที่เป็นสิ่งชี้ชะตาคณะผู้เลือกตั้ง และนำไปสู่การตัดสินผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ
แม้ว่าที่ผ่านมาประธานาธิบดีส่วนใหญ่จะชนะมาด้วยคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง และคะแนนความนิยมจากมวลชน แต่ก็มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีถึง 5 ครั้ง ที่ผู้ได้ตำแหน่งประธานาธิบดีแพ้ Popular Vote แต่กลับชนะคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง รวมถึงในปี ค.ศ. 2016 ที่โดนัลด์ ทรัมป์ เอาชนะฮิลลารี คลินตันขึ้นเป็นประธานาธิบดี แม้จะแพ้คะแนนมวลชนกว่า 3 ล้านคะแนนก็ตาม
ต้องบอกว่าชัยชนะของทรัมป์ต่อฮิลลารี คลินตันในปี ค.ศ. 2016 ถือเป็นการตีแสกหน้าทุกโพลสำรวจในเวลานั้น ซึ่งฮิลลารีขึ้นนำมาโดยตลอดจนถึงวันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง และผลลัพธ์ในครั้งนั้นทำให้เราไม่สามารถวางใจได้เลยว่าศึกชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ในครั้งนี้ใครจะเป็นผู้ชนะ แม้ว่าโจ ไบเดนจะขึ้นนำในโพลทุกสำนักก็ตาม
เดิมทีผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการในช่วงเย็นของวันเลือกตั้ง แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปีนี้ ทำให้หลายรัฐใช้เวลาในการนับบัตรลงคะแนนในระบบไพรมารีโหวตเพิ่ม เนื่องจากมีการเปิดให้ลงคะแนนทางไปรษณีย์ด้วย เดวิด เบคเกอร์ (David Becker) กรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยนวัตกรรมและการเลือกตั้งที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด คาดว่า ผลการเลือกตั้งน่าจะเปิดเผยภายในหนึ่งสัปดาห์หลังวันลงคะแนน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับคนอเมริกันเลยทีเดียว
อ้างอิงจาก
https://th.usembassy.gov/th/summary-of-the-u-s-presidential-election-process-th/general-election-th/
https://www.bbc.com/news/election-us-2020-53785985
#Explainer #TheMATTER