หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ถอนตัวจากการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยต่อไป ก่อนที่เขาจะเสนอชื่อ ‘กมลา แฮร์ริส’ (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้
ทว่า หญิงผิวดำวัย 59 ปี รายนี้ อาจเป็นผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ ซึ่งเธอจะถูกจับตาในประเด็นหรือจุดยืนในเรื่องต่างๆ ของโลกอย่างแน่นอน แล้วเธอคิดเห็นยังไงกับเหตุการณ์บนโลกนี้บ้างล่ะ?
จุดยืนของแฮร์ริสต่อ ‘สงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซา’
นักวิเคราะห์คาดหวังว่า หากแฮร์ริสได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี เธอจะดำเนินตามแนวทางของไบเดนต่อสงครามในฉนวนกาซาเป็นส่วนใหญ่ โดยเธอให้คำมั่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ‘จะสนับสนุนความมั่นคงและการป้องกันตนเองของอิสราเอล ขณะเดียวกันก็แสดงความเห็นอกเห็นใจพลเรือนชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา’
แฮร์ริสเคยกล่าวในปี 2023 ว่า เธอสนับสนุนให้อิสราเอลมีสิทธิที่จะปกป้องตนเอง และเรา (ทั้งไบเดนและแฮร์ริส) จะยังคงแน่วแน่ในความเชื่อมั่นนั้น และสนับสนุนทางทหารที่ชอบด้วยกฎหมายของอิสราเอลเพื่อขจัดภัยคุกคามจากกลุ่มฮามาส
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า แฮร์ริสเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันทีในฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา อีกทั้งยังบอกด้วยว่า อิสราเอลจำเป็นต้องปรับปรุงด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 เมษายน แฮร์ริสก็โพสต์ข้อความผ่านเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์เดิม) ว่า “การสนับสนุนความมั่นคงของอิสราเอลของเรา (สหรัฐฯ) นั้นแข็งแกร่งมาก” ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งวันหลังจากอิหร่านโจมตีอิสราเอล
คาดว่าแฮร์ริสจะเข้าพบนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลในระหว่างการเยือนสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ด้วย
แล้วสงครามรัสเซีย-ยูเครนล่ะ?
แฮร์ริสสนับสนุนความพยายามป้องกันตนเองของยูเครนต่อรัสเซียอย่างยิ่ง ซึ่งสอดคล้องกับไบเดน ขณะที่แฮร์ริสเองก็เป็นผู้สนับสนุน NATO เช่นเดียวกับไบเดนด้วย
“การรุกรานของรัสเซียไม่เพียงแต่เป็นการโจมตีชีวิตและเสรีภาพของประชาชนในยูเครน ไม่เพียงแค่โจมตีต่อความมั่นคงด้านอาหาร และพลังงานของโลกแต่เพียงเท่านั้น” เธอกล่าวในที่ประชุมสุดยอดสันติภาพยูเครนในสวิตเซอร์แลนด์
นอกจากนี้ แฮร์ริสยังประกาศด้วยว่าสหรัฐฯ จะจัดสรรเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคพลังงานของยูเครน
ที่การประชุมความมั่นคงมิวนิกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เธอตำหนิสงครามของรัสเซียในยูเครน และให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ จะเคารพมาตรา 5 ของ NATO อย่างเข้มแข็ง ซึ่งภายใต้การโจมตีสมาชิกคนใดคนหนึ่งของพันธมิตร กำหนดให้ประเทศอื่นๆ ทั้งหมดในกลุ่มเข้าร่วมความขัดแย้งดังกล่าว
จุดยืนของแฮร์ริสอยู่ตรงไหนในจีน?
แฮร์ริสได้รับ ‘ความคาดหวัง’ ให้ยังคงสอดคล้องกับนโยบายของไบเดนเกี่ยวกับจีน โดยมุ่งเน้นไปที่การควบคุมอิทธิพลของจีน โดยเฉพาะในเอเชีย
ในเดือนกันยายน เธอเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ในระหว่างการประชุมสุดยอด เธอกล่าวหาว่า จีนอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านขนาดเล็ก ขณะที่ไบเดนมอบหมายให้แฮร์ริสไปเยือนญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักในภูมิภาคด้วย
ในระหว่างการอภิปรายรองประธานาธิบดีในปี 2020 เธอวิพากษ์วิจารณ์การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) โดยกล่าวหาว่า พรรครีพับลิกันแพ้สงครามการค้ากับจีน และส่งผลให้ต้องสูญเสียงานหลายแสนตำแหน่ง
แม้ว่านักวิเคราะห์บางคนจะบอกว่า ตำแหน่งงานดังกล่าวหายไปเพราะ COVID-19 ไม่ใช่นโยบายของทรัมป์ ซึ่งเงินภาษีเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระหว่างการบริหารงานของไบเดน
นอกจากนี้ แฮร์ริสยังสนับสนุนไต้หวันด้วย และคาดว่าจะสนับสนุนไต้หวันต่อไปหากเธอได้เป็นประธานาธิบดี ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน2022 เธอให้คำมั่นว่า ‘เราจะสนับสนุนการป้องกันตัวเองของไต้หวันต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่มีมายาวนานของเรา (สหรัฐฯ)’
แล้วจุดยืนของเธอต่ออินเดียคืออะไร?
สหรัฐฯ และอินเดียมีความกังวลร่วมกันเกี่ยวกับจีน ส่งผลให้อินเดียเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์สำหรับสหรัฐฯ ในเอเชีย โดยที่ผ่านมาไบเดนได้สร้างข้อตกลงด้านกลาโหมและเทคโนโลยีหลายชุดกับ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง
ในปี 2023 แฮร์ริสเป็นเจ้าภาพให้โมดี ในงานเลี้ยงอาหารกลางวัน ซึ่งเธอขอบคุณนายกรัฐมนตรีอินเดียสำหรับ ‘บทบาทผู้นำในการช่วยให้อินเดียกลายเป็นมหาอำนาจระดับโลกในศตวรรษที่ 21’ พร้อมยกย่องความเป็นผู้นำของเขาในการประชุมสุดยอด Group of 20 เมื่อปีที่แล้ว
อ้างอิงจาก