หากเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่รอบบ้านของเรา หลายคนก็คงสนใจ และให้ความสำคัญสิ่งเหล่านั้น เช่นเดียวกับการประท้วงของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่มารวมตัวกันปักหลักค้างคืนบริเวณทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต
แล้วโครงการนี้คืออะไร ทำไมถึงต้องออกมาประท้วงล่ะ?
ก่อนอื่น ขอเริ่มเล่าจาก ‘โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ของรัฐบาล คสช. เมื่อปี 2559 ที่ต้องการเปลี่ยน 3 พื้นที่ ได้แก่ อ.เบตง จ.ยะลา, อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษ ด้วยการตั้งเป้าว่าจะขยายรายได้ให้กับผู้คนในพื้นที่นั้นๆ
แต่แล้วเมื่อปี 2562 ครม.ก็อนุมัติให้ อ.จะนะ จ.สงขลา กลายมาเป็นพื้นที่แห่งที่ 4 ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ พร้อมด้วยการนำของกิจการเอกชน 2 บริษัท ได้แก่ TPIPP และ IRPC และได้อนุมัติงบลงทุน 18,680 ล้านบาท โดยที่ไม่ได้พูดคุยกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาก่อน
การเป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ หมายความว่า โครงการลงทุนจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำตามกฎหมายหลายๆ ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับเขตเศรษฐกิจ EEC ที่เป็นรัฐอิสระ มีกฎหมายของตัวเอง
ตามแผนการของโครงการนี้ พื้นที่ 16,753 ไร่ใน 3 ตำบาล ได้แก่ ต.นาทับ ต.สะกอม และ ต.ตลิ่งชัน ของ อ.จะนะ จะถูกเปลี่ยนเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ที่ประกอบไปด้วยท่าเรือน้ำลึก เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเตล็ด รวมถึงเขตอุตสาหกรรมหนักและเบาต่างๆ โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ดำเนินการ และปัจจุบันมีโครงการนำร่องเกิดขึ้นแล้ว
ประเด็นก็คือ พื้นที่ที่โครงการนี้วาดแผนเอาไว้นั้น ตามผังเมืองเป็นพื้นที่สีเขียว นั่นแปลว่า เป็นพื้นที่ที่ไว้ใช้สำหรับทำเกษตรกรรมเท่านั้น หากจะเปลี่ยนให้ใช้สำหรับการลงทุน ต้องเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สีม่วงเสียก่อน
แล้วเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา พื้นที่สำหรับแผนการดังกล่าวก็กลายเป็นพื้นที่สีม่วง ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ศอ.บต. ใช้อำนาจของตัวเองในการเปลี่ยนผังเมือง ทั้งที่ ศอ.บต.ไม่ได้มีอำนาจนั้น โดยตามหลักกฎหมายผังเมืองแล้ว หากต้องการเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สีม่วงก็จะต้องทำเปิดรับฟังเสียงของคนในพื้นที่ก่อน
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ไครียะห์ ระหมันยะ หรือ ‘ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ’ เดินทางมายัง กทม. เพื่อยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร โดยขอให้ตรวจสอบการทำงานของ ศอ.บต. หลังพบความผิดปกติหลายอย่างในฐานะผู้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เช่น คัดกรองผู้เข้าร่วมเวทีโดยสกัดฝ่ายเห็นต่างออกไป และการใช้สินจ้าง เช่น น้ำมันพืช น้ำตาล ข้าวสาร มาจูงใจให้คนไปร่วมเวที โดยแลกกับการมอบชื่อและบัตรประชาชนให้ผู้จัดงาน แล้วนำไปอ้างกับรัฐบาลว่าชาวจะนะเห็นด้วยกับโครงการนี้
แต่ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่าการดำเนินงานของ ศอ.บต.เกี่ยวกับโครงการนี้เป็นไปตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ให้อำนาจ ศอ.บต. กำหนดเขตพื้นใดในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจและกำหนดกรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาในเขตพื้นที่นั้นได้
จากนั้น เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ครม.ก็มีมติให้กรมโยธาธิการและผังเมืองและจังหวัดสงขลา ดำเนินการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับแผนเร่งด่วนการลงทุนของภาคเอกชน ด้วยการเปลี่ยนผังเมืองในพื้นที่ตรงนั้นจากสีเขียวเป็นสีม่วง พร้อมอ้างผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จากเวทีที่ ศอ.บต. จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา
แต่เวทีรับฟังความคิดเห็นที่ ครม.อ้างถึงกลับมีปัญหา หลายคนออกมาคัดค้านว่าเป็นเวทีที่ไม่ชอบธรรมและไม่เป็นไปตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกฯ พ.ศ. 2548 เพราะปิดกั้นการแสดงออกของผู้เห็นต่าง ยิ่งกว่านั้น มีรายงานว่า ก่อนการจัดเวที มีทหารและตำรวจเข้าไปติดตามแกนนำที่มีความคิดเห็นคัดค้านโครงการ ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน รวมถึงตามคุกคามในการกิจกรรมต่างๆ ด้วย
อีกประเด็นก็คือ เรื่องของการจ้างงาน ซึ่งตามรายงานกรอบแนวทางของโครงการ ระบุเอาไว้ว่า โครงการนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจส่วนรวม โดยจะช่วยการจ้างงานขึ้น 100,000 อัตรา และก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการหมุนเวียนของการจ้างงานมากกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท/ปี
อย่างไรก็ดี เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันวิจัย TDRI มองว่าเป็นไปได้ยากที่โครงการจะทำให้เกิดการจ้างงานแสนตำแหน่ง เพราะตามแผนของโครงการดังกล่าว มีอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเข้มข้น (capital intensive) ไม่ต้องการแรงงานจำนวนมาก อีกทั้งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนระบุว่า โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนของทั้งประเทศในปี 2562 มีความต้องการแรงงานรวม 95,106 คน จึงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้เกิดการจ้างงานนับแสนตำแหน่งได้
ประกอบกับ ผู้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ก็ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การเกษตร และการประมง ขณะที่โครงการเหล่านี้ต้องพึ่งแรงงานอุตสาหกรรม ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าการพัฒนานี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและทำให้ได้การจ้างงานได้อย่างไร
ประเด็นต่อมาคือ เรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่หลายฝ่ายกังวล เพราะในพื้นที่ชายหาดธรรมชาติทางทะเลและชุมชน อ.จะนะ เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของประเทศไทย ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของคนในพื้นที่ ทำให้นักวิชาการและนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนกังวลว่า การก่อสร้างโครงการอุตสาหกรรมที่พื้นที่แห่งนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
ประเด็นนี้ ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีคณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ถ้ากำหนดไว้ว่าเป็นเขตอุตสาหกรรมก็จะช่วยป้องกันปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะโครงการต้องทำตามข้อกำหนด ข้อบังคับ มีระบบระเบียบ ทำให้ไม่มีการปล่อยน้ำเสีย และมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม
แต่ความเคลือบแคลงต่อที่มาของโครงการ ก็ทำให้ผู้คนยากที่จะเชื่อได้ว่า ขั้นตอนต่างๆจะเป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้จริง ขณะที่ เกื้อ ฤทธิบูรณ์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า คนในพื้นที่ต้องพึ่งพิงธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งการสร้างท่าเรือน้ำลึกจะทำลายชีวิตวิถีชาวประมงดั้งเดิม
อีกทั้ง ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาคลื่นกัดเชาะชายฝั่ง ปัญหามลพิษ การสูญเสียแหล่งจับสัตว์น้ำของชาวประมงพื้นบ้าน เสียพื้นที่เพาะปลูก รวมถึง สังคมวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิมที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดดด้วย
“หากเราจะเปลี่ยนพื้นที่ให้กลับไปเป็นป่าชายเลนสักแห่ง ต้องใช้ทรัพยาการมากถึง 3 เท่าในการเรียกคืนกลับมา เราจะพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ โดยทำลายและเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ ไปเพื่ออะไรหากระบบเสียหายไปแล้วเราเอาคืนมาไม่ได้”
ทั้งหมดนี้ นำไปสู่การคัดค้านโครงการดังกล่าว โดยนับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคมเป็นต้นมา เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นพร้อมด้วยผู้คนที่ได้รับผลกระทบ ยังคงปักหลักชุมนุมที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล ด้วยข้อเรียกร้อง 2 ประการ ได้แก่
1. รัฐบาลต้องยุติการดำเนินโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตทั้งหมด ทั้งการแก้ไขผังเมือง และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ในทันที เพื่อเป็นการหยุดการสืบทอดความไม่ชอบธรรมที่ส่งต่อมาจากระบอบ คสช.
2. เมื่อยุติการเดินหน้าโครงการแล้ว รัฐบาลต้องจัดให้มีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA อย่างรอบคอบ เพื่อสร้างชุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจต่อแนวทางและโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้ต่อไป
นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ยังกล่าวว่า โครงการนี้เป็นมรดกตกทอดจากยุค คสช. เพราะมีมติรัฐมนตรีก่อนสิ้นสุดรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ และกลับมาผลักดันอย่างรวดเร็วในรัฐบาลใหม่ (รัฐบาลของประยุทธ์รอบที่ 2) ผ่านการใช้อำนาจของ ศอ.บต. และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
ยิ่งกว่านั้น ตัวแทนชาวจะนะประกาศว่าจะไม่ยอมถอยอีก เพราะโดนหลอกมาตลอด ทั้งตอนมาร้องเรียนที่สงขลา และทั้งที่ กทม. ซึ่งครั้งนี้ตำรวจก็บอกให้ย้ายสถานที่ชั่วคราวอีก เพื่อให้ตำรวจนำตู้คอนเทนเนอร์ออก แต่ผู้ชุมนุมระบุว่า การกระทำแบบนี้ไม่มีความจริงใจกัประชาชน
และเมื่ออ่านประกาศเสร็จ ชาวจะนะที่ถูกตำรวจผลักดันให้ไปตั้งเต็นท์บริเวณทางเท้าเมื่อคืนวันที่ 10 ธันวาคม ก็ได้ยกเต็นท์กลับมาบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ซึ่งด้านหลังตำรวจยังปิดตู้คอนเทนเนอร์ โดยผู้ชุมนุมยืนยันว่า จะปักหลักชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาลต่อไป
ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเห็นด้วยว่าบ้านเมืองต้องพัฒนาไปข้างหน้า แต่การพัฒนานั้นจะต้องตั้งอยู่บนความชอบธรรม และเคารพวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จึงหวังว่ารัฐบาลจะเปิดใจรับฟังเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งทางแกนนำผู้ชุมนุมระบุว่า จะชุมนุมที่นี่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะบรรลุข้อเรียกร้อง และได้รับการรับฟังอย่างแท้จริง
อ้างอิงจาก
https://prachatai.com/journal/2020/12/90774?ref=internal_update_title
https://news.thaipbs.or.th/content/294482
https://tdri.or.th/2020/10/chana-industrial-estate/
https://siamrath.co.th/n/168667
https://www.bbc.com/thai/thailand-53259577
https://mgronline.com/daily/detail/9630000071433
https://www.matichon.co.th/social/news_2173839
#หยุดนิคมอุตสาหกรรมจะนะ #SaveChana #Explainer #TheMATTER