เชื่อว่าผู้หญิงหลายคนต้องเจอปัญหาประจำเดือนที่มาจากประจำเดือนกันเกือบทุกคน ราคาผ้าอนามัยที่สูงเกินไป ไหนจะเรื่องแพ้ผ้าอนามัยอีกถ้าซื้อของราคาถูก จะให้เปลี่ยนไปใช้เป็นถ้วยบางทีก็ไม่ถนัด แล้วยังมีเรื่องขยะที่เป็นไมโครพลาสติกที่หลายคนก็กังวลแต่ไร้ทางเลือก
.
เพราะเรื่อง ‘ผ้าอนามัย’ เป็นเรื่องสำคัญมากๆ แต่เป็นปัญหาของผู้หญิงแทบทั้งโลก เราชวน รุ้ง-วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ เจ้าของแบรนด์ผ้าอนามัย Ira ที่เป็นผ้าอนามัยออร์แกนิก ย่อยสลายได้ ราคาไม่แพง ซึ่งเธอมองว่าการทำธุรกิจของเธอในครั้งนี้เพราะอยากขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมทางเพศไปพร้อมๆ กันด้วย
.
รุ้งเล่าให้เราฟังถึงชีวิตของเธอที่เหมือนทุกอย่างปูทางมาให้เธอได้ออกแบบผลิตภัณฑ์นี้ เริ่มต้นเธอเรียนสายวิทยาศาสตร์ และสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมมากๆ จนกระทั่งเข้าไปทำงานในระบบราชการ และได้ไปอยู่ในหน่วยงานที่สามารถร่างนโยบายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างในระบบก็ทำให้นโยบายที่เธอทำไม่เกิดขึ้นจริง
.
“เรารู้สึกว่าประเทศมันมีปัญหาเยอะ และเราอยากแก้ เราเลยคิดว่าการเข้าไปทำงานในระบบราชการมันจะทำให้เราได้ทำตามเป้าหมาย มันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ช่วงที่ทำงานในระบบราชการ เราเพิ่งเข้าใจว่ารัฐไม่ได้อยากได้คนที่ท้าทายกับระบบ แต่เขาอยากได้คนที่อยู่ในกรอบ หลายๆ อย่างที่เราผลักดันมันก็ไม่ไปไหนเลย เรา lost นะ เหมือนเขาไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครฟังเรา แบบเกิด identity crisis หนักมาก”
.
“คือถ้าเป็นที่ต่างประเทศ รัฐอาจจะออกนโยบายอะไรสักอย่างมา แล้วเอกชนก็มาช่วยสานต่อ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่ที่ไทยมันกลับกัน คือมันเริ่มจากสตาร์ทอัพทำอะไรสักอย่างจนอิมแพ็ค แล้วรัฐค่อยเข้ามาต่อยอดไป เราเลยรู้สึกว่า งั้นเราออกมาทำของเราเองดีกว่า ถ้าอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง”
.
“ตอนออกมาก็ยังไม่ได้ทำแบรนด์นี้ แต่ไปทำงานที่อเมริกา ใน Silicon Valley ก็เจอเจ้านาย racist เจอ sexual harassment ในที่ทำงาน ก็เป็นอีกจุดที่รู้สึกว่า เข้าใจปัญหาของผู้หญิงและอยากเปลี่ยนแปลงมัน จริงๆ ก่อนหน้านั้นตอนเรียนมหาวิทยาลัยที่อังกฤษก็ทำแคมเปญแจกผ้าอนามัยให้คนไร้บ้าน แต่ว่า ณ จุดนั้นก็ไม่คิดว่าวันหนึ่งตัวเองจะลุกขึ้นมาทำแบรนด์นี้หรอก แต่จากการที่เราอยู่หลากหลายที่ เราเห็นวัฒนธรรมที่หลากหลาย เราเลยเห็นปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นมาตลอด”
.
“โดยเฉพาะเรื่องผ้าอนามัยมันพื้นฐานมาก มันคือ woman’s right แล้วมันก็เท่ากับ humam’s right”
.
รุ้ง เล่าให้ฟังอีกว่าการที่เธอเลือกจะทำแบรนด์ผ้าอนามัยนี้ เพราะเธอเองก็เจอปัญหากับประจำเดือนมาตั้งแต่แรก ทั้งการเป็นคนที่มีประจำเดือนมามาก และปวดประจำเดือนหนัก การใช้ผ้าอนามัยที่มีสารเคมีทำให้เธอแพ้ และการใช้ถ้วยอนามัยก็ไม่เหมาะกับการมีประจำเดือนของเธอ และเธอยังไปรีเสิร์ชข้อมูลปัญหาของผู้หญิงเกี่ยวกับผ้าอนามัย ก็ทำให้เธอมองเห็นว่าอะไรคือความต้องการของผู้หญิง
.
นอกจากนี้ เรื่องประจำเดือนยังถูกทำให้เป็นเรื่องน่าอับอายในสังคม ไม่ได้มีการให้ความรู้หรือทำความเข้าใจว่าประจำเดือนคือเรื่องปกติเลย เธอเคยเล่าเหตุการณ์ที่ต้องนั่งในห้องประชุมที่มีแต่ผู้ชาย และวันนั้นประจำเดือนมา และเธอต้องการลุกไปเปลี่ยนผ้าอนามัย แต่ก็โดนทักท้วง เธอจึงอยากทำให้การพูดคุยเรื่องผ้าอนามัยนั้นไม่ต้องหลบซ่อน และนำไปสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เห็นแล้วก็ไม่รู้สึกว่าน่าอับอายอะไร
.
นอกจากนี้เธอยังคิดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะผ้าอนามัยทั่วไปนั้นมีส่วนประกอบของพลาสติกและไมโครพลาสติก ที่ต้องใช้เวลาย่อยสลาย 600 – 800 ปี เธอเปรียบเปรยให้เราฟังว่า ต่อให้เราตายไป ผ้าอนามัยทั้งหมดที่เราใช้ตั้งแต่ครั้งแรกก็ยังอยู่อยู่เลย
.
ดังนั้นเธอเลยคิดว่านอกจากทำแบรนด์ผ้าอนามัยนี้ เธออยากทำ social movement ไปพร้อมๆ กัน
.
โดยตอนนี้เธอพยายามสร้างแคมเปญสวัสดิการผ้าอนามัยในสถานศึกษา ที่แม้จะมีอุปสรรคมากมาย ทั้งความไม่เข้าใจของผู้ใหญ่ในสถานศึกษา ทั้งงบประมาณ ทำให้ยังมีอุปสรรคมากมายที่เธอต้องแก้ปัญหากันต่อไป แต่เธอก็เล่าให้ฟังถึงความหวังเล็กๆ ว่ามีนักเรียนติดต่อเธอมาเพื่อร่วมแคมเปญนี้ ด้วยการระดมทุนกันเอง เพื่อให้เกิดสวัสดิการผ้าอนามัยในโรงเรียน
.
เราคุยกับเธอว่าการเป็นแบรนด์ที่ทำเพื่อสังคมมักไปไม่ค่อยรอด เธอจึงเล่าถึงการวางแผนธุรกิจนี้ว่าต้องยั่งยืนและแข็งแรงพอที่จะไม่ขาดทุน เพราะถ้าธุรกิจขาดทุน การขับเคลื่อนสังคมนี้ก็จะหายไปด้วย โดยเธอได้ออกแบบราคาผลิตภัณฑ์เป็นทั้งจ่ายครั้งเดียว หรือจะเป็นจ่ายรายเดือน โดยเธอจะส่งผลิตภัณฑ์นี้ให้ทุกเดือน และไม่ต้องทำให้คนซื้อคอยกังวลว่าจะไม่มีผ้าอนามัยใช้
.
และเธอได้ทิ้งท้ายว่ายังมีไอเดียที่อยากให้ไทยทำคือให้รัฐนำ VAT 7% ที่ได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาเป็นกองทุนเพื่อนำไปซื้อผ้าอนามัยในนักเรียนและเด็กๆ ที่เข้าถึงสินค้าเหล่านี้ไม่ได้ เพื่อสนับสนุนสุขอนามัยและการศึกษา
.
เธอเชื่อว่าเธอจะสามารถสร้างแบรนด์ที่แข็งแรง ในราคาที่เข้าถึง ไปพร้อมๆ กับเปลี่ยนแปลงสังคมได้
.
สามารถไปดูหรือสอบถามเรื่องผ้าอนามัย Ira ได้ที่เฟซบุ๊ก Ira Concept นะ
.
#Brief #business #TheMATTER