COVID-19 ที่เพิ่งระบาดมาได้ปีกว่า คือ โรคใหม่ที่เรายังอาจจะไม่เข้าใจมันได้อย่างรอบด้าน ถึงแม้ว่ามันจะเข้าทำร้ายระบบทางเดินหายใจของมนุษย์เป็นหลัก แต่ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งกลับพบว่า COVID-19 อาจเชื่อมโยงกับอาการเจ็บป่วยทางจิต และระบบประสาทของสมอง
จากการวิเคราะห์และวิจัย ของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดพบว่า ผู้ป่วย COVID-19 จำนวน 1 ใน 8 ตรวจพบอาการป่วยทางจิต หรือไม่ก็อาการผิดปกติของระบบประสาทในสมองเป็นครั้งแรกในชีวิต ภายในระยะเวลา 6 เดือน หลังจากติดเชื้อ COVID-19 ช่วยยืนยันได้ว่า ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการเครียดหลังทราบว่าตนเองติด COVID-19 ไม่ควรเป็นเรื่องที่ถูกละเลย
ยิ่งไปกว่านั้น ในงานวิจัยยังชี้ให้เห็นถึงตัวเลขที่พุ่งขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะในผู้ป่วย COVID-19 ที่เคยมีอาการป่วยทางจิต หรือไม่ก็มีอาการผิดปกติของระบบประสาทในสมอง ก่อนที่จะป่วยด้วย COVID-19 ได้มีอัตราการกลับมาป่วยด้วยโรคทางจิตหรือทางสมองเดิมกว่า 1 ใน 3 อีกทั้ง 1 ใน 9 ของผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคซึมเศร้าและโรคเส้นเลือดสมอง กลับเป็นผู้ป่วยที่ติด COVID-19 แต่ไม่ยอมเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล
กลุ่มนักวิจัยได้ใช้ตัวเลขทางสุขภาพ ของผู้ที่ทั้งเข้ารักษาตัว และไม่ได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของสหรัฐฯ จำนวน 236,379 กรณี ที่ตรวจพบในท้ายที่สุดว่าติด COVID-19 ไปเปรียบเทียบกับสถิติของผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ หรือผู้มีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ตั้งแต่ช่วงวันที่ 20 มกราคม ไปจนถึง 13 ธันวาคม ค.ศ.2020 อีกทั้งนำตัวแปรทั้ง อายุ เพศ เชื้อชาติ ประวัติอาการป่วยทั้งกายภาพและทางจิต ตลอดจนปัจจัยทางด้านสังคมและเศรษฐกิจเข้ามาคำนวณร่วมด้วย
ตัวชี้วัดเหล่านี้ทำให้พบว่า COVID-19 อาจส่งผลต่อสุขภาพจิต และอาการเจ็บป่วยทางระบบประสาทของสมอง เช่น โรคเส้นเลือดสมอง ภาวะเลือดไหลใต้กระโหลกหรือในสมอง สมองเสื่อม หรือโรคทางจิตเภทอื่นๆ ได้มากกว่าอาการไข้หวัดใหญ่ หรือผู้มีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่ติด COVID-19 และได้รับการบำบัดอย่างเหมาะสม มีปัจจัยเสี่ยงน้อยกว่า ที่จะป่วยด้วยอาการทางจิตและทางระบบประสาทของสมอง เมื่อเทียบกับผู้ป่วย COVID-19 ที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
แม็กซ์ ทาเก็ต (Max Taquet) หัวหน้าทีมนักวิจัยได้ออกมาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า พวกเขายังไม่สามารถตอบได้ว่าหลังจากอาการของ COVID-19 ดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคทางจิตและทางระบบประสาทสมองจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เหมือนปกติตามอาการของ COVID-19 ที่ลดลงหรือไม่ โดยตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามหาคำตอบของคำถามดังกล่าวต่อไป
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยไม่ได้ระบุว่าตัวเชื้อไวรัสส่งผลต่อการทำงานของสมองโดยตรง แต่มันมีสัญญาณของการสร้างภาวะเครียดให้แก่ผู้ป่วยที่ติด COVID-19 ในเชิงจิตวิทยา ซึ่งกระทบต่อการทำงานของระบบสมองส่วนกลางของผู้ป่วย ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวช่วยให้เราทำความเข้าใจอาการป่วยที่ตามมาของ COVID-19 ที่ไม่ใช่เฉพาะแค่ในทางกายภาพ แต่มันยังส่งผลถึงจิตใจของมนุษย์ด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก
https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2021.01.16.21249950v1.full.pdf
#Brief #TheMATTER