ห้องสมุดยังคงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ยอดนิยมสำหรับการค้นหาความรู้ต่างๆ แต่ถึงเช่นนั้น บนโลกใบนี้ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ห้องสมุดเข้าไปถึง เช่นเดียวกับที่ประเทศปากีสถาน ซึ่งล่าสุดภาครัฐได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ และจัดให้มี ‘ห้องสมุดอูฐ’ เคลื่อนที่ เพื่อนำหนังสือไปบริการให้เด็กๆ และประชาชนที่อยู่ห่างไกล
สำนักข่าว Vice News เปิดเผยเรื่องราวของประชาชนที่อยู่ในเมืองมานด์ (Mand) เมืองทะเลทราย ในจังหวัดโบโลกีสถาน (Balochistan) ประเทศปากีสถาน ด้วยความห่างไกลจากเส้นทางคมนาคมสายหลัก และความแห้งแล้งของสภาพภูมิศาสตร์ ทำให้พลเมืองที่อาศัยอยู่ไม่พื้นที่ไม่ได้รับบริการสาธารณะอย่างห้องสมุด
เมื่อเล็งเห็นปัญหาในระยะยาวถึงการไม่สามารถเข้าถึงห้องสมุดของประชาชน ราฮีมา จาลาล (Raheema Jalal) ครูใหญ่ของโรงเรียนจากเมืองมานด์ และน้องสาวของเธอซูไบดา จาลาล (Zubaida Jalal) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของรัฐบาล จึงได้ออกไอเดียสร้างห้องสมุดอูฐ โดยร่วมมือกับองค์กรการกุศลเพื่อทำให้มันเกิดขึ้น
ราฮีมา จาลาล กล่าวว่า “เราได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างห้องสมุดบนหลังอูฐ จากมองโกเลียและเอธิโอเปีย ซึ่งหลังจากทำมันก็ไม่ได้คาดหวังผลตอบรับที่น่าทึ่งเช่นนี้” แต่ถึงอย่างนั้น ห้องสมุดบนหลังอูฐในเมืองมานด์แห่งนี้ ดูเหมือนจะกลายเป็นความหวังใหม่ของผู้อยู่อาศัยหลายๆ คนในพื้นที่
ซูกลา (Sughra) วัย 22 ปี เล่าว่า วันศุกร์ได้กลายมาเป็นวันสุดพิเศษของเธอ นับตั้งแต่มีการตั้งห้องสมุดอูฐ เธอมักจะยืมหนังสือกวีนิพนธ์ และชีวประวัติเพื่อมาอ่าน และส่งคืนในสัปดาห์ต่อไป ซูกลาแต่งงานตั้งแต่อายุ 15 ปี หลังแต่งงานเธอต้องออกจากโรงเรียน และไม่นานก็ให้กำเนิดลูก 2 คน ชีวิตที่พลิกผันทำให้ซูกลาคิดว่าเธอคงไม่อ่านหนังสืออีกแล้ว แต่แล้วห้องสมุดอูฐก็เข้ามาทำให้มันเกิดขึ้นอีกครั้ง
จังหวัดโบโลกีสถาน เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีอัตราการรู้หนังสือของผู้หญิงต่ำสุดในโลก สอดคล้องกับอัตราการออกจากโรงเรียนของเด็กๆ และเยาวชนที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นห้องสมุดอูฐซึ่งเปิดทำการ 3 วันต่อสัปดาห์ จึงเป็นแหล่งหนังสือเพียงแห่งเดียวสำหรับเด็ก ๆ จำนวนมากในหมู่บ้าน สำหรับการให้บริการห้องสมุดอูฐนั้นไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายหรือค่าสมาชิก หนังสือส่วนใหญ่เป็นหนังสือสำหรับนักเรียนที่มีอายุ 4 – 16 ปี
ฮานีฟา ซามาด (Haneefa Samad) ครูและอาสาสมัครองค์กรการกุศลที่ดูแลห้องสมุดเคลื่อนที่ เปิดเผยว่า เขาต้องพาอูฐเดินทางประมาณ 4 ไมล์ เพื่อนำหนังสือมาแจกจ่ายในหมู่บ้าน และนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา มีหนังสือมากกว่า 1,000 เล่ม หมุนเวียนให้เด็กๆ ในหมู่บ้านกว่า 300 คนได้อ่าน ซึ่งนอกจากหนังสือแล้ว ในบางครั้งยังมีเกมปริศนา, หุ่นกระบอก และวิดีโอเพื่อการศึกษาต่างๆ ด้วย
แม้ว่าการกระทำของอาสาสมัคร และครูใหญ่จะไม่ยิ่งใหญ่จนสามารถเปลี่ยนแปลงทั้งโลกได้ แต่การทำห้องสมุดอูฐ ได้สร้างจุดมุ่งหมาย และความหวังครั้งใหม่ให้กับคนในพื้นที่ รวมถึง มาฮาล ซาเซียร์ (Mahal Naseer) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากหมู่บ้านโฮซาย ที่เล่าว่า ก่อนหน้านี้ หนังสือที่เธอสนใจมักจะอยู่ในห้องสมุดของโรงเรียนมัธยมปลายซึ่งเธอไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้น การมีห้องสมุดอูฐจึงเป็นโชคดีสำหรับเธอ และทุกคนที่อยู่ที่นี่
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER