ความหลากหลายทางเพศในปัจจุบัน ทำให้หลายรัฐต่างยอมรับว่า เพศมีมากกว่าชายและหญิง แต่อาจไม่ใช่อย่างนั้นในจีน หลังศาลของจีนตัดสินให้ตำราเรียน สามารถระบุได้ว่าความรักในเพศเดียวกัน จัดอยู่ในกลุ่มอาการป่วยทางจิต
คดีฟ้องร้องดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อ ค.ศ.2016 หลังจากที่นักศึกษาหญิงอย่าง อู เจียหยง (Ou Jiayong) หรือที่ใช้ชื่อว่า สีสี (Xixi) ของมหาวิทยาลัย South China Agricultural ในกวางตุ้ง ได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลของจีน เหตุจากที่เธอพบข้อความระบุในตำราเรียนของว่า ผู้ที่เป็นเกย์นั้น เป็นผู้ที่มีภาวะอาการป่วยทางจิต โดยคำตัดสินของศาลเพิ่งออกมาว่า การที่ตำราเรียนระบุว่า ผู้ที่มีความรักในเพศเดียวกันเป็นผู้ที่มีอาการทางจิตนั้น ไม่มีความผิด โดยศาลพิจารณาว่าเป็นเพียงแค่ “มุมมองในเชิงวิชาการ” เท่านั้น
กลุ่ม LGBTQ ในจีน และสีสีต่างออกมาให้ความเห็นว่า คำตัดสินของศาลในมณฑลเจียงซูนี้ มี “ความผิดพลาดในข้อเท็จจริง” และ “สุ่มตัดสิน ตลอดจนไร้หลักการ” เนื่องจากหนังสือเรียน ‘การศึกษาสุขภาพจิตสำหรับนักเรียนอุดมศึกษา’ ที่ถูกตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยจี่หนาน ระบุข้อความตอนหนึ่งในหนังสือว่า การเป็นคนรักเพศเดียวกันเป็น “ความผิดปกติทางจิตด้านเพศ ที่พบได้ทั่วไป” เช่นเดียวกับบุคคลที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าของเพศตรงข้าม หรือคนที่มีความต้องการทางเพศกับสิ่งของ อีกทั้งหนังสือยังระบุอีกว่า การเป็นคนรักเพศเดียวกัน “มีสาเหตุมาจากความผิดปกติ ของการมีความรักและการมีเพศสัมพันธ์ หรือความผิดปกติจากคู่นอน”
อย่างไรก็ดี หนังสือเล่มดังกล่าวถูกใช้ในหลายมหาวิทยาลัยของจีน นี่จึงเป็นสาเหตุในการฟ้องร้อง ของสีสีและนักสิทธิ LGBTQ ที่ต่างก็มองว่า การตีความของหนังสือเล่มนี้ อาจทำให้ผู้คนเข้าใจผิด ว่าคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดบาป สีสีกล่าวว่า เธอได้พยายามรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อชี้แจงต่อศาลว่า ความรักในเพศเดียวกัน ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิต อย่างไรก็ดี ศาลก็ยังคงมีคำตัดสินว่า เนื้อหาในหนังสือวางอยู่บนฐานของความเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช่ความผิดพลาดในข้อเท็จจริง
Inkstone News ของฮ่องกง ได้ตีพิมพ์เรื่องราวของอาจารย์มหาวิทยาลัย ในจีนคนหนึ่งอย่าง เหวิน ซวยเลอ (Wen Cui Le) ที่ออกมาประกาศว่าตนเองเป็นเกย์ใน ค.ศ.2015 และเขาเป็นหนึ่งในบุคคล ที่ให้การสนับสนุนสีสีในการฟ้องร้องครั้งนี้ ว่า ตั้งแต่เขาออกมาเปิดเผยรสนิยมของตนเอง เขากลับถูกกดดันและตัดขาดออกสังคมของจีน ยิ่งไปกว่านั้น ทางมหาวิทยาลัยยังห้ามไม่ให้เขาพูดเรื่องเพศวิถีของตนเอง จนเขาตัดสินใจเดินทางออกจากจีนใน ค.ศ.2017 เพื่อมาเริ่มต้นชีวิตด้านการวิชาการใหม่ที่นิวซีแลนด์
เหวินมองว่า การที่ศาลของจีนตัดสินให้หนังสือเรียนดังกล่าว ไม่มีความผิดในการระบุว่าความรักในเพศเดียวกัน เป็นความผิดปกติทางจิตนั้น ทำให้พื้นที่ของชาว LGBTQ ในจีนหดเล็กลง รวมถึงสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในสังคมจีน จะไม่สามารถทลายกำแพงของความจำกัด ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างทางการเมืองของจีนได้
อย่างไรก็ดี จีนได้เปลี่ยนกฎหมายความรักในเพศเดียวกัน ไม่ให้เป็นความผิดทางอาญาเมื่อ ค.ศ.1997 และถอดความหมายของความรักในเพศเดียวกัน ว่าเป็นอาการทางจิตไปอย่างเป็นทางการตั้งแต่ ค.ศ.2001 แต่ความรักในเพศเดียวกันในสังคมของจีน กลับยังคงเป็นเรื่องที่ไม่ลงรอยซึ่งกันและกัน
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER