ปีที่แล้วนับว่าการขยายตัวของธุรกิจบนโซเชียลมีเดียนั้นร้อนแรงขึ้น ด้วยปัจจัยของ COVID-19 ที่ทำให้หลายๆ คนออกจากบ้านไม่ได้ การทำการตลอดบนโลกออนไลน์จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญของหลายๆ แบรนด์
WISESIGHT ได้รวบรวมข้อมูลและจัดทำบทวิเคราะห์การใช้งานโซเชียลมีเดียของกลุ่มธุรกิจในปีที่ผ่านมา โดยเรียบเรียงและเผยแพร่ในรูปแบบรายงานออนไลน์ชื่อว่า BUSINESS USAGE 2020: ภาพรวมการใช้งานโซเชียลมีเดียเชิงธุรกิจ 2563
รายงานนี้ประกอบด้วยข้อมูลและสถิติการใช้งานสื่อโซเชียลบน 4 แพลตฟอร์ม ได้แก่ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และยูทูป ซึ่งเก็บข้อมูลจาก 20 กลุ่มอุตสาหกรรม มากกว่า 2,000 แบรนด์ชั้นนำ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2563
สิ่งที่น่าสนใจจากรายงานชิ้นนี้คือตัวเลขสถิติและแนวทางการใช้งานโซเชียลมีเดียของแบรนด์ต่างๆ ซึ่งเผยให้เห็นถึง insight ผู้บริโภคของปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี
บัญชีทางการของแบรนด์เผยให้เห็นถึงการใช้โซเชียลมีเดียทั้ง 4 แพลตฟอร์ม โดยแบรนด์โพสต์รวมมากกว่า 3 ล้านครั้ง และได้รับ engagement รวมกว่า 632 ล้านครั้ง แบรนด์มักใช้งานเฟซบุ๊กเป็นหลัก ซึ่งมีจำนวนโพสต์และ engagement คิดเป็น 85% ในขณะที่อินสตาแกรมมีสัดส่วนการใช้งานรองลงมา โดยมีจำนวนโพสต์และ engagement คิดเป็น 10% และ 9% ตามลำดับ
หากพูดถึงพื้นที่บัญชีทางการของแบรนด์ในโซเชียลมีเดียแล้ว พบว่าแบรนด์เลือกใช้แพลตฟอร์มแต่ละแบบ คิดเป็น
เฟซบุ๊ก 99%
อินสตาแกรม 65%
ยูทูป 50%
ทวิตเตอร์ 29%
กลุ่มธุรกิจเครื่องสำอาง ผิวพรรณ และความงามได้รับความสนใจจากทุกแพลตฟอร์ม ส่วนธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจยานยนต์จะเน้นโปรโมตคลิปโฆษณาผ่านยูทูป ในขณะที่ธุรกิจ E-commerce ได้รับความสนใจมากในทวิตเตอร์และอินสตาแกรม เพราะใช้แผนโปรโมตผ่านศิลปินคนดังเป็นหลัก ทำให้เห็นวิธีเลือกใช้แพลตฟอร์มของแบรนด์ที่แตกต่างกันไปตามลักษณะคอนเทนต์ที่ต้องการโปรโมตและไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายในธุรกิจนั้นๆ
นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ลักษณะ engagement ของผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มทั้งหมด ทำให้เห็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่น่าสนใจ แยกตามแพลตฟอร์ม ดังนี้
เฟซบุ๊ก
– ธุรกิจที่ได้รับ engagement มากที่สุดในเฟซบุ๊ก คือธุรกิจความงาม ตามมาด้วยธุรกิจสิ่งก่อสร้าง ร้านอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค
– ธุรกิจเดลิเวอรีและขนส่งได้รับ engagement เพิ่มขึ้นในช่วงล็อกดาวน์จนถึงสิ้นปี ในขณะที่ E-commerce กลับมี engagement ลดลงช่วงปลายปี
– ผู้คนนิยมกด like มากที่สุด คิดเป็น 96% รองลงมาคือกด love และ haha โดยกด love ให้กับคอนเทนต์ที่ทำให้รู้สึกดี ซาบซึ้ง และกด haha ให้กับคอนเทนต์ตลก มีม หรือ quote ที่สร้างเสียงหัวเราะ ส่วนปุ่ม angry จะใช้มากกับธุรกิจโทรคมนาคมและธนาคารการเงินเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาระบบหรือสัญญาณล่ม
ทวิตเตอร์
– ธุรกิจที่ได้รับ engagement สูงสุดในทวิตเตอร์ คือธุรกิจ E-commerce ตามมาด้วยธุรกิจความงาม ธนาคารและการเงิน และ department store
– คนนิยมกด favourite ให้กับคอนเทนต์ที่กล่าวถึงศิลปินคนดังเป็นหลัก รองลงมาคือคอนเทนต์ประเภทข้อมูลโปรโมชันสินค้าหรือความรู้ต่างๆ ส่วนคอนเทนต์ประเภทข้อความตลกหรือเชื่อมโยงกับเทรนด์และไลฟ์สไตล์ของคนจะได้รับการกด favourite และรีทวีต
อินสตาแกรม
– ธุรกิจที่ได้รับ engagement มากที่สุดบนอินสตาแกรม คือธุรกิจความงาม รองลงมาคือธุรกิจร้านอาหาร และ E-commerce
– คนมักกด love ให้กับแบรนด์มากที่สุด คิดเป็น 99% ส่วนใหญ่เป็นคอนเทนต์แนวความสวยความงามและคอนเทนต์ที่มีภาพสวย
– คนจะคอมเมนต์ในโพสต์ของแบรนด์ เพื่อร่วมกิจกรรมรับของรางวัลมากกว่า
– คอนเทนต์ประเภทวิดีโอมีแนวโน้มได้รับ engagement สูงกว่า โดยจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อใช้ศิลปินคนดังมาร่วมโปรโมท
ยูทูป
– ธุรกิจที่ได้รับ engagement มากที่สุดบนยูทูป คือธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ตามมาด้วยธุรกิจความงามและธุรกิจยานยนต์
– คนนิยมสร้าง engagement ด้วยการกด like มากที่สุด คิดเป็น 73%
และนี่ก็เป็นตัวเลขสถิติและข้อมูลที่น่าสนใจบางส่วน หากต้องการอ่านภาพรวมการใช้โซเชียลมีเดียเชิงธุรกิจของปี 2563 แบบละเอียด ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ฟรี ที่นี่ https://store.wisesight.com/product/business-usage-2020/
Content by Piyawan Chaloemchatwanit
#Brief #business #TheMATTER