เมื่อวานนี้คุณทำงานไปกี่ชั่วโมง การทำงานล่วงเวลานานเกินไป อาจส่งผลเสียมากกว่าแค่อาการง่วงนอน และภาวะเครียดสะสม ล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานหลายชั่วโมง 7.4 แสนรายต่อปี
งานศึกษาวิจัยขององค์การอนามัยโลกในครั้งนี้ จัดทำร่วมกับ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยพวกเขาพบว่า จากสถิติใน ค.ศ.2016 นั้น มีคนกว่า 745,000 คน เสียชีวิตจากการทำงานวันละหลายชั่วโมง โดยเป็นผู้เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดสมอง 398,000 คน และโรคหัวใจอีก 347,000 คน
จากงานศึกษาวิจัย ตั้งแต่ ค.ศ.2000 – 2016 พบว่า ตัวเลขการเสียชีวิต ของคนทำงานอายุตั้งแต่ 45 – 74 ปี จากการทำงานเฉลี่ย 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีอัตราพุ่งสูงขึ้น ด้วยโรคหัวใจ 42 เปอร์เซ็นต์ และโรคเส้นเลือดสมอง 19 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มคนส่วนใหญ่ ที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักหลายชั่วโมง เป็นประชากรจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก
โดยหากเปรียบเทียบ ผู้ที่ทำงาน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะมีโอกาสเสี่ยง ที่จะป่วยด้วยโรคหัวใจ 35 เปอร์เซ็นต์ และโรคเส้นเลือดสมอง 17 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าผู้ที่ทำงาน 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ความน่ากังวลกว่านั้นคือ กระแสการทำงานหลายชั่วโมงต่อวัน กลับพุ่งสูงมากขึ้น โดยมีประชากรโลกกว่า 9 เปอร์เซ็นต์ ที่ทำงานหลายชั่วโมงต่อสัปดาห์
ผลวิจัยจากองค์การอนามัยโลก ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 การบริหารจัดการเวลาการทำงานในแต่ละวัน ยิ่งทำได้ยากลำบากขึ้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่ ต่างทำงานจากบ้าน หรือ work from home ซึ่งทำให้เส้นแบ่งของเวลาการทำงาน กับเวลาการใช้ชีวิต เพื่อการพักผ่อนส่วนตัว พร่าเลือนจนแยกออกจากกันได้ยาก
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เรียกร้องขอให้รัฐบาล ผู้ว่าจ้าง และผู้ทำงาน ได้ออกมาขับเคลื่อนการปกป้องสุขภาพของแรงงาน เพื่อให้หลีกหนีจากการทำงานหลายชั่วโมงเกินไป ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ และชีวิตของผู้คน ด้วยการขอให้รัฐบาลปรับปรุงกฎหมายเวลาการทำงาน ส่วนบริษัทต่างๆ ขอให้มีการทำข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ในเรื่องเวลาการทำงาน ตลอดจนขอให้ผู้ทำงาน ละเว้นการทำงานเกิน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER