การแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่าร่างกาย และจิตใจ แต่ยังส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของคน โดยเฉพาะลักษณะการทำงาน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือองค์กร และบริษัทต่างๆ เริ่มให้พนักงาน Work From Home มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม เทรนด์การทำงานหลังยุค COVID-19 อาจไม่ได้หยุดแค่ที่การ Work From Home เท่านั้น แต่เวลาการทำงาน รวมถึงรูปแบบก็อาจเปลี่ยนไปด้วย หลังจากที่นายจ้างพิจารณาแล้วว่า การกำหนดเวลาเข้างานที่แน่นอน และความเข้มงวดเกินไป อาจไม่ส่งผลต่อการทำงานได้เท่าเคยคิดไว้
การทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน วันละ 5 ชั่วโมง และตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นมากกว่าเคย อาจจะกลายมาเป็นเทรนด์การทำงานแบบใหม่ ซึ่งหากพิจารณาแล้ว จะเห็นว่า การเข้าออฟฟิศไปทำงานในช่วงก่อน COVID-19 เหล่าพนักงานเองก็ไม่ได้ใช้เวลา 7-8 ชั่วโมงไปกับการทำงานทั้งหมด และแต่ละคนมักจะมีเหตุผลที่แตกต่างกัน เพื่อไม่ต้องใช้เวลาใน ‘ที่ทำงาน’ ทั้งหมด ไปกับ ‘การทำงาน’ ไม่ว่าจะเป็น รถติด เข้าห้องน้ำ หรือทานข้าว
นอกจากนี้การประชุมกลุ่มใหญ่ โดยที่ทุกคนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้น หากเราย่นเวลาทำงานให้น้อยลง แต่มีประสิทธิผลในการทำงานเท่าเดิม อาจเป็นทางออกใหม่ที่ดีกว่า องค์กรก็จะได้งานที่มีประสิทธิภาพในเวลาที่กระชับ ส่วนพนักงานเองก็จะได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น
ข้อเสนอนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ Lasse Rheingans ซีอีโอบริษัท Enabler ในประเทศเยอรมนีที่มีพนักงานอยู่ 16 คนตัดสินใจหั่นเวลาทำงานให้สั้นลง โดยตั้งเป้าให้พนักงานทำงานแค่ 5 ชั่วโมงต่อวัน แต่มีข้อจำกัดคือให้งดการใช้โซเชียลมีเดียที่ไม่จำเป็น และพูดคุยเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานให้น้อยที่สุด ก่อนจะพบว่าสมาชิกในทีมมีความกระตือรือร้นมากขึ้น และสามารถสร้างชิ้นงานที่ดีกว่าการทำงานเต็มเวลาด้วย
Lasse Rheingans ระบุว่า เขาได้ไอเดียนี้มาจาก Stephan Aarstol ซีอีโอของ Tower Paddle Boards ที่เคยเขียนบทความว่า “เพียงแค่คุณอยู่ที่โต๊ะทำงาน 8 ชั่วโมง ไม่ได้หมายความว่างานของคุณมีประสิทธิภาพ และแม้แต่พนักงานที่เก่งที่สุด ก็ทำงานได้อย่างเต็มที่เพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น”
ไม่เพียงแต่การลดเวลางานแล้ว องค์กรอื่นๆ ในหลายประเทศยังเคยทดลองปรับวันทำงานให้เหลือเพียง 4 วัน อาทิ บริษัท Microsoft ในประเทศญี่ปุ่นที่ทำแคมเปญ “Work-Life Choice Challenge 2019 Summer” โดยบริษัทจะเปิดโอกาสให้พนักงานกว่า 2,300 คน เลือกรูปแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นตามเนื้องาน และวิถีชีวิต ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาดีทีเดียว เพราะพนักงานระบุว่าพวกเขามีความสุขมากขึ้น ขณะที่ผลงานก็มีคุณภาพมากขึ้นถึง 40%
นอกจากการปรับเปลี่ยนเวลาทำงาน อีกหนึ่งเทรนด์การทำงานแบบใหม่ที่น่าจะเป็นที่สนใจสำหรับนายจ้างหลายๆ คนคือ ตารางและชั่วโมงงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้เหมาะกับรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายคนหันมาสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นอาจมีการพิจารณาให้กลับบ้านก่อนเวลาเพื่อเลี่ยงช่วงรถติด หรือการปรับเปลี่ยนมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการสื่อสารมากกว่าเดิม เพื่อลดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
รูปแบบการทำงานที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นเพียงข้อเสนอแนะสำหรับองค์กร หรือพนักงานที่กำลังมองหาสไตล์การทำงานที่เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ท่ามกลางเมืองที่วุ่นวาย และเต็มไปด้วยความหวาดหวั่นจากโรคระบาด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานอาจทำให้ผู้คนผ่อนคลาย สามารถควบคุมรูปแบบชีวิต รวมถึงสร้างสมดุลให้กับตัวเองและสังคมรอบข้างได้ดีขึ้น
อ้างอิงจาก
https://www.forbes.com/…/the-future-of-work-will-be…/…
https://www.forbes.com/…/will-the-five-hour-work…/…
https://www.theguardian.com/…/microsoft-japan-four-day…