ในโอกาสที่เดือน มิ.ย.ของทุกปี ถูกยกให้เป็น Pride Month หรือเดือนที่ว่าด้วยการส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ
ทาง Rocket Media Lab จึงไปสำรวจเรื่องราวใน ‘ซีรีส์วาย’ หรือ boy’s love ซีรีส์เนื้อหาว่าด้วยชายรักชาย ที่เผยแพร่อยู่ในสื่อของไทย โดยเลือกซีรีส์วาย จำนวน 13 เรื่องที่ออนแอร์ใน LINE TV หนึ่งในแพล็ตฟอร์มยอดนิยมของคอซีรีส์วาย ระหว่างปี 2020 ถึงต้นปี 2021 เพื่อดูว่า ‘จักรวาลซีรีส์วายของไทย’ ในปัจจุบัน มีหน้าตาเป็นอย่างไรกันบ้าง
ทาง Rocket Media Lab ให้ข้อสังเกตไว้ในรายงาน ดังนี้
- 100% ของซีรีส์วายที่ว่าด้วยชายรักชาย จะต้องมีฝ่ายหนึ่งที่ดูแมนกว่าอีกฝ่าย
- ในการเสนอภาพความเป็นชายนั้น มักมีกีฬามาเกี่ยวข้อง โดยมีจำนวน 8 เรื่องที่ผู้ชายต้องเตะฟุตบอล และ 3 เรื่องที่ให้ผู้ชายว่ายน้ำ
- ทั้งหมด มีฉากเปลือยท่อนบน เผยเรือนร่าง
- 10 เรื่อง มีตัวละครตุ๊ดที่มีบุคลิกต่างจากหนุ่มวายชัดเจน เพื่อเทียบให้เห็นว่าเป็นคนละ genre กัน
- 7 เรื่อง พูดถึงความยากลำบากของความรักชาย-ชาย ในแง่สังคม/ครอบครัว
- 6 เรื่อง ให้ตัวละครเอกเคยคบหรือเคยชอบผู้หญิงมาก่อน
- 6 เรื่อง มีเนื้อหาผูกติดอยู่กับวัฒนธรรมมหาวิทยาลัย และมักใช้ระบบโซตัสมาผลักดันให้เกิดโมเมนต์ระหว่างตัวละครชาย
- 2 เรื่อง มีน้ำเสียงเรียกร้องสิทธิให้ LGBTQ โดยตรง แต่น่าเสียดายที่ประเด็นไม่ใหม่นัก
ฯลฯ
เจาะลึกไปถึงซ๊รีส์เรื่องที่ Rocket Media Lab มองว่ามีการเรียกร้องสิทธิให้ LGBTQ โดยตรง แต่มองว่าประเด็นไม่ใหม่นัก
ในซีรีส์เรื่อง ‘พี่ชาย My Bromance 2 | 5 Years Later’ มีเด็กนักเรียนชายถามครูว่า “พี่เขาเป็นเกย์เหรอครับ” คุณครูที่มีลักษณะตุ้งติ้ง ออกสาว ตอบว่า “ลูกต้องเปลี่ยนคำ ลูกต้องไม่พูดว่าเกย์ ต้องพูดว่า LGBT” และครูอีกคนก็เสริมอีกว่า “ความรักของพวกเขาน่ะบริสุทธิ์งดงาม ดีกว่าพวกผู้ชายแท้ๆ อย่างเธอ ที่ได้ใครแล้วก็ทิ้งตลอด” ซึ่งใช้วิธีเหยียดชายแท้กลับอีกทีหนึ่ง หรือในซีรีส์ ‘นิยามรัก So Much in Love ที่ให้ภาพตัวละครแม่เป็นหญิงแก่หัวโบราณ และพูด “ลูกชั้นไม่เคยเบี่ยงเบน เธออย่าเอาความคิดประหลาดๆ มาใส่หัวลูกชั้น” หรือ “ความรักของคนแบบพวกเธอมันฉาบฉวย” ฯลฯ
“สิ่งที่ทั้งสองเรื่องนี้กำลังโต้กลับอยู่นี้ เป็นภาพจำเกี่ยวกับ LGBTQ ที่มีอยู่เนิ่นนานมาแล้ว ซึ่งเป็นที่น่าตั้งคำถามว่าการโต้กลับในประเด็นเหล่านี้ยังน่าสนใจอยู่หรือไม่? หรือยังมีกลุ่มคนดูซีรีส์วายที่ต้องการการสื่อสารเกี่ยวกับประเด็นที่ว่านี้อยู่หรือเปล่า?” คือคำถามที่ปรากฎในรายงานของ Rocket Media Lab
ยังมีข้อค้นพบ ข้อสังเกต และการตั้งประเด็นอื่นๆ เกี่ยวกับจักรวาลซีรีส์วายไทย ของ Rocket Media Lab ไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://drive.google.com/drive/folders/1mM-9Of-uYxgCtINAlMe7P3cfdugbOQpI หรือ https://rocketmedialab.co
ทั้งนี้ ทาง Rocket Media Lab ได้ออกตัวไว้ในรายงานว่า การสำรวจครั้งนี้มี ‘ข้อจำกัด’ ทั้งเรื่องจำนวนซีรีส์วายที่นำมาศึกษา และการนำมาจากแพล็ตฟอร์มเดียวคือ LINE TV แต่เราเห็นว่า รายงานดังกล่าวมีข้อสังเกตที่น่าสนใจดี จึงหยิบนำมาบอกเล่าต่อ และหวังว่าจะช่วยสร้างบทสนทนาที่น่าสนใจต่อไป
#Brief #TheMATTER