ตั้งแต่ 9.00 น. ของวันที่ 29 มิถุนายน กลุ่มอาชีพ sex worker อาทิ พนักงานบริการอาบอบนวด นักเต้นอะโกโก้ ตลอดจนพนักงานผับบาร์ คาราโอเกะ ร่วมกับมูลนิธิ Empower ได้มาร่วมชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรเงินเยียวยา หลังจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้สถานที่ทำงานของพวกเขาต้องปิดตัวลง
กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 9 โมง โดยได้มีการนำรองเท้าส้นสูง พร้อมชุดชั้นในที่ติดข้อความถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาผูกไว้กับประตูและวางไว้บริเวณหน้าประตูทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่จะมีการอ่านแถลงการณ์และยื่นหนังสือถึงรัฐบาล โดยมี เสกสกล อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้อีสาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีลงมารับหนังสือ
ภายในแถลงการณ์ที่มีชื่อว่า ‘สั่งปิดได้ ต้องเยียวยาด้วย’ มีใจความว่า นับตั้งแต่ไวรัส COVID-19 เริ่มแพร่ระบาดในต้นปี 2563 กลุ่ม sex worker ก็ต้องเผชิญกับการสั่งปิดสถานที่ทำงาน รายได้ลดลง ซ้ำร้ายยังไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ ดังนั้น การออกมาชุมนุมวันนี้มีข้อเรียกร้องให้ภาครัฐเยียวยาพนักงานกลุ่มนี้ทุกคน ไม่ว่ากลุ่มที่มีการจ้างงานชั่วคราวหรือ รายครั้ง และครอบคลุมถึงคนทำงานที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติเดือนละ 5,000 บาท จนกว่าสถานบริการจะกลับมาเปิดได้
หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมให้สัมภาษณ์กับ The MATTER เธอเล่าว่านโยบายสั่งปิดสถานบริการไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องไม่ลืมที่จะเยียวยาคนทำงานด้วย เพราะทุกวันนี้ไม่มีรายได้เข้ามาสักบาท “เงินเยียวยาที่เขาให้ไม่ใช่เงินสด เราจะเอาเงินให้ลูกไปโรงเรียน 5-10 บาท หรือจ่ายค่าห้อง มันไม่ได้”
เธอกล่าวต่อว่า เพื่อนบางคนที่ทำงานกับเธอไม่ได้รับสิทธิการเข้าถึงเงินเยียวยา เพราะบางคนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีบัตรประชาชนไทย “เพื่อนบางคนที่ไม่มีบัตรไทย ไม่ได้รับเงินเยียวยาเลย เขาลำบากกันนะ ที่เราออกมาวันนี้ก็อยากมาเป็นเสียงพูดแทนให้เพื่อนเราด้วย”
ทางด้านผู้ร่วมชุมนุมอีกท่านกล่าวว่า “เราไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว การพบเจอผู้คนเป็นเรื่องที่ยากไปหมด การทำอาชีพออนไลน์มันก็มีแต่คนแย่งกัน เราไม่สามารถเข้าเป็นหนึ่งในนั้นได้เลย”
เธอกล่าวต่อว่า “ทุกคนได้รับผลกระทบแน่นอน พอการทำงานมันยาก เราก็ถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนด้วยกันเอง ถูกตัดราคา ไม่ได้รับค่าแรง เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป มันยากและลำบากมากๆ”
เธอเล่าต่อว่าเงินช่วยเหลือผ่านแอพพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ เธอก็ไม่ได้สักบาท “ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเลย เขาบอกว่าเราเป็นเจ้าของกิจการ เราก็งงว่าทะเบียนราษฎรมันเก็บข้อมูลอย่างไร เราถึงกลายเป็นเจ้าของกิจการไปได้”
“อยากใหัเยียวยาเราบ้าง เขาปัดตกเรา ไม่นับเราเป็นคนด้วยซ้ำ ข้อเรียกร้องหลักคือเราต้องการเงิน และเรามาที่นี่เพื่อบอกว่ากะหรี่มีอยู่จริงนะ ไม่ใช่ไปเดินพัทยาหรือพัฒพงษ์แล้วบอกไม่มีกะหรี่ กะหรี่มีจริงและมีเยอะ และเราเป็นแรงงานคนหนึ่ง ที่ใช้ร่างกายทำงานและต้องการความอยู่รอดเหมือนกัน”
ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายกลุ่ม Empower จะเดินทางไปยื่นหนังสือที่รัฐสภาต่อไป
#Brief #TheMATTER #Sexworker #empower