ปัญหาการจัดซื้อชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit (ATK) กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทยตลอดทั้งวันนี้ เพราะอุปกรณ์นี้ถูกคาดหวังว่า จะมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการ ‘ตรวจเชิงรุก’ เพื่อหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วนำเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด
เพราะการตรวจด้วย RT-PCR มีข้อจำกัดเรื่องการใช้เวลารอผล และจำนวนการตรวจที่ทำได้ตอนนี้ ก็ยังอยู่เฉลี่ยวันละ 6-7 หมื่นรายเท่านั้น
แต่แม้จะเปิดประมูลและได้ผู้ชนะการประมูล จัดหา ATK จำนวน 8.5 ล้านชิ้น มูลค่ากว่า 600 ล้านบาท ให้กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แล้ว ก็ปรากฎว่า ถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตเรื่องคุณภาพ เพราะ ATK ที่ชนะ มาจากผู้ผลิตในจีน บริษัท Beijing Lepu Medical Technology จำกัด ซึ่งเคยถูก อย.ของสหรัฐอเมริกาเรียกเก็บกลับเมื่อปี 2563 ไม่รวมถึงผู้เข้าร่วมประมูลกับ อภ. อย่างบริษัท Ostlund Capital จำกัด ก็ถูกตรวจสอบพบว่า มีผลประกอบการไม่ดีนัก จะมารับผิดชอบงานสำคัญนี้ได้หรือไม่
นอกจากตัวแทนของ สปสช. อภ. และ อย.ของไทย จะตั้งโต๊ะชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ ไปแล้วในช่วงเช้าของวันนี้ (13 ส.ค.2564) บ่ายเดียวกัน ทางผู้ชนะประมูลยังขอชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ ผ่าน ZOOM โดยมีสื่อมวลชนหลายสิบสำนักเข้าร่วมรับฟัง The MATTER ขอสรุปให้ได้อ่านกันว่า ทางผู้เกี่ยวข้องชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ อย่างไรบ้าง
ผู้ชี้แจง มี 2 คน ประกอบด้วย
1.) ศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) และกรรมการบริหารบริษัท World Medical Alliance (Thailand) จำกัด
2.) รังสินี หวังมั่น product specialist บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด
สรุปคำชี้แจงจากทั้งสองคน มีประเด็นสำคัญๆ ดังต่อไปนี้
- ยืนยันว่า ATK จากจีนของ LEPU มีคุณภาพ ใช้ใน 24 ประเทศทั่วโลก เช่น เยอรมนี สวีเดน อาร์เจนติน่า ชิลี ฯลฯ กว่าจะนำเข้ามาไทยได้ ต้องผ่าน อย.ที่ขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก “ถ้าไม่เชื่อ อย.ของไทย ประเทศไทยก็ล่มสลาย”
- เดิมอยากนำเข้ามาใช้กับเอกชน โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว และใช้ในแพล็ตฟอร์ม ‘หมอเฮลโลว์’ แต่เมื่อทราบว่า ภาครัฐจะเปิดประมูล จึงเข้าร่วมประมูลด้วย เพราะหวังว่าจะทำให้นำเข้าได้ในราคาถูกลง จากเกิน 100 บาท/ชิ้น เหลือ 70 บาท/ชิ้น อยากให้เปิดประเทศได้เร็วขึ้น
- ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บ ในเดือน พ.ค.2563 เพราะไม่ได้เป็นตลาดที่ผู้ผลิต (LEPU ของจีน) ตั้งใจนำไปขายอยู่แล้ว และเป็นการลักลอบนำเข้าไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง ไม่ได้นำไปขึ้นทะเบียนจาก อย.ของสหรัฐฯ แต่หลังจากนั้น ก็ทราบมาว่าทาง อย.ของสหรัฐฯ ส่งหนังสือเชิญทาง LEPU ไปขึ้นทะเบียน
- การยื่นประมูลขาย ATK ให้กับภาครัฐครั้งนี้ เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท World Medical Alliance (Thailand) จำกัด ที่อยู่ในเครือบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) กับบริษัท Ostlund Capital จำกัด อีกที
- เงินทุนจะมาจากบริษัท World Medical Alliance (Thailand) จำกัด ทั้ง 100% แต่ที่ยื่นประมูลด้วยชื่อบริษัท Ostlund Capital จำกัด เพราะเป็นคนยื่นขอนำเข้าจาก อย.ของไทย
- ข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์จากการประมูล บริษัท Ostlund Capital จำกัด จะได้ส่วนแบ่งกำไร 20% แต่ถึงขณะนี้ ยังไม่ทราบว่าจะได้กำไรเท่าไร เพราะยังไม่รู้ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เหลือจะเป็นของบริษัท World Medical Alliance (Thailand) จำกัด
- รังสินีแจงว่า ที่ผลประกอบการบริษัท Ostlund Capital จำกัด ไม่ดี เพราะเป็น “บริษัทเล็กๆ” เพิ่งนำเข้า ATK เป็นสินค้าแรกๆ ของบริษัท แม้ก่อตั้งมาในปี 2557
- เดิม ATK จากจีน ล็อตแรกจะเข้ามา 16 ส.ค.2564 เพราะโทรศัพท์ไปสั่งตั้งแต่รู้ว่าชนะประมูล โดยไม่รู้ว่าจะต้องลงนามในสัญญากับภาครัฐก่อน เพราะเพิ่งเคยประมูลงานเป็นครั้งแรก แต่หลังจากรู้ว่าถูก อภ.ชะลอการทำสัญญา ก็ติดต่อไปยังโรงงานของชะลอการสั่งซื้อไว้ก่อน
- ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ จน อภ.ชะลอเซ็นสัญญา ศิริญาตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะ “เราไปป่วนวงการเขาหรือเปล่า”
- บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์มา 25 ปี ตั้งแต่ปีหน้าจะเริ่มทำ medical hub ยืนยัน “ไม่ใช่นอมินี” เพราะบริษัทที่ทำ เป็นบริษัทมหาชน การทำธุรกิจต่างๆ มีความรัดกุม
นี่คือสรุปคำชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ATK จากจีนมาขายให้กับภาครัฐไทย 8.5 ล้านชิ้น ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน
#Brief #TheMATTER