ความคิดบวกที่เป็นพิษ หรือ Toxic Positivity กลายเป็นแนวคิดที่หลายคนเริ่มตระหนักถึงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็คือแนวคิดที่ว่าด้วยการพยายามมองโลกในแง่บวกมากเกินไป เพื่อซ่อนความรู้สึกเชิงลบเอาไว้ไม่ให้เล็ดลอดออกมา ดังประโยคที่ว่า Stay Positive, Good Vibes Only หรือ Don’t Worry, Be Happy จะเครียดทำไม ยิ้มเข้าไว้สิ แม้ว่าภายในใจกำลังร้องไห้อยู่ก็ตาม
.
ซึ่งการข่มอารมณ์หรือความรู้สึกเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความโกรธ ความเครียด หรือความกังวล สามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจของมนุษย์ ซึ่งวันหนึ่งเราอาจพบว่า ภาวะเครียดหรือภาวะซึมเศร้าเข้ามาทักทายเราโดยไม่รู้ตัวมาก่อน แต่การจะให้ยอมรับอารมณ์หรือความรู้สึกเหล่านั้นตั้งแต่แรก ก็เป็นความเจ็บปวดที่หนักหนาไม่แพ้กัน
.
มีหนังสือและบทความหลายชิ้นที่พูดถึงการพลังของการมองโลกในแง่ดี ความสำคัญของการมีพลังงานบวกตลอดเวลา การมองข้ามความมืดมนของชีวิต หรือการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เราไม่สบายใจ ซึ่งวิธีนี้ดูเหมือนจะเป็นการสร้างสบายใจให้กับเราได้ในช่วงแรก โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ที่ดูเหมือนจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกัน วิธีนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นการมองข้ามความจริงบางอย่าง ความจริงที่ควรจะมองเห็นเพื่อแก้ไขปัญหา หรือความจริงที่ว่าใครบางคนต้องการคนรับฟังและสนับสนุน มากกว่าถูกบอกว่า “มองโลกในแง่ดีสิ” และปล่อยไว้จนใจพัง
ตามที่นักวิจัยชื่อ โรเบิร์ต เอมมอนส์ (Robert Emmons) เคยกล่าวไว้ว่า “การปฏิเสธว่าชีวิตมีเรื่องที่ผิดหวัง โศกเศร้า สูญเสีย พ่ายแพ้ หรือเจ็บปวด เป็นสิ่งที่ไม่สมจริง เพราะชีวิตมีความทุกข์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง และไม่มีการคิดบวกแบบไหนที่เพียงพอจะเปลี่ยนความจริงนี้ได้”
.
เมื่อการมองโลกในแง่ดีอาจเป็นพิษกับจิตใจ แล้วเราควรจะคิดหรือรู้สึกยังไง ถึงจะพอดีกับจิตใจของเรานะ?
.
นักจิตวิทยาสายอัตถิภาวนิยม วิกเตอร์ แฟรงค์ (Viktor Frankl) ได้เสนอยาถอนพิษนี้ขึ้นมา โดยเป็นแนวคิดที่เรียกว่า Tragic Optimism หรือ ‘การมองโลกในแง่บวกอย่างโศกเศร้า’ แม้ว่าชื่อจะฟังดูหดหู่จนเผลอห่อไหล่ตาม แต่ก็เป็นแนวคิดที่น่าสนใจและน่านำมาประยุกต์ใช้ทีเดียว
.
หัวใจของแนวคิด Tragic Optimism คือการค้นหาความหมายของชีวิตท่ามกลางโศกนาฏกรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการดำรงอยู่ของมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยเรื่อง ‘การเติบโตหลังเผชิญบาดแผล’ (Post-traumatic Growth) ที่นักวิจัยหลายคนพบว่า ผู้คนสามารถเติบโตได้หลายแบบ หลายวิธี หลังจากเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบาก รวมถึงอาจซาบซึ้งกับชีวิตและความสัมพันธ์ของตนเองมากขึ้น ตลอดจนมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น และเรียนรู้ที่ใช้จุดแข็งของตัวเองในการพัฒนาจิตใจหรือความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นด้วย
.
โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะช่วงเวลาที่ยากลำบากโดยตรง (แน่นอนว่าเราคงไม่อยากขอบคุณโรคระบาด COVID-19 หรอก) แต่เกิดขึ้นเพราะตัวเราต่างหาก ที่มีมุมมองต่อโลกเปลี่ยนแปลงไประหว่างเผชิญหรือหลังเผชิญกับเหตุการณ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการรับมือหรือการหาความหมายของสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่าการแสดงความซาบซึ้งหรือขอบคุณต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ถือเป็นอีกหนึ่งตัวขับเคลื่อนให้ผู้คนเติบโตหลังเผชิญเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ และผลลัพธ์ก็ออกมาว่าการฝึกที่จะซาบซึ้งสิ่งเหล่านี้เป็นประจำ สามารถความเสี่ยงต่อการเป็นภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือความผิดปกติของการใช้สารเสพติดได้ตลอดชีวิตด้วย
.
ทำให้เห็นว่าท้ายที่สุดแล้ว มนุษย์ก็ยังต้องปรับตัวตามธรรมชาติและทำใจให้ชินกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ แม้จะยากลำบากแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้ามากไปก็อาจมองข้ามความจริงที่เกิดขึ้น ดังเช่นที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้ความยืดหยุ่นของมนุษย์มีความจำเป็นอย่างมากในการปรับตัวที่ว่านี้ บางคนอาจคิดว่าการลืมเหตุการณ์ร้ายๆ ในอดีตและเริ่มใช้ชีวิตปัจจุบัน จะสามารถทำให้มูฟออนต่อไป แต่บางครั้งอาจดีกว่าถ้าเราจำจดมากกว่าทำเป็นลืมๆ มันไป
.
ด้วยเหตุนี้ ลิเลียน ยานส์-เบเคน (Lilian Jans Beken) นักวิจัยเกี่ยวกับความซาบซึ้งหรือความสำนึกในบุญคุณ (Gratitude) จึงได้คิดค้น ‘มาตราส่วน’ ขึ้นมา เพื่อวัดแนวโน้มที่พอดีในการซาบซึ้งกับการดำรงอยู่ของมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่แค่การซาบซึ้งในด้านบวกของชีวิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านที่น่าเศร้าโศกด้วย เช่น
.
– ฉันรู้สึกขอบคุณชีวิตของตัวเอง แม้จะเป็นในยามทุกข์ทรมาน
– ฉันรู้สึกขอบคุณจิตใจของตัวเอง ที่สามารถเอาชนะความยากลำบากมาได้
– ฉันรู้สึกขอบคุณผู้คนในชีวิตของฉัน แม้คนนั้นจะทำให้ฉันต้องเจ็บปวดอย่างมาก
– ฉันรู้สึกขอบคุณที่ยังคงมีบางสิ่งที่ทำให้ฉันอยากใช้ชีวิตอยู่ต่อ แม้ว่าสำหรับฉัน การใช้ชีวิตจะยากลำบากบ้างก็ตาม
– ฉันรู้สึกขอบคุณทุกวิกฤต ที่เป็นโอกาสให้ฉันได้เติบโตขึ้น
.
จะเห็นได้ว่าวิธีคิดแบบนี้เป็นการผสมผสานระหว่างการมองโลกในแง่ดี และการยอมรับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งนักวิจัยพบว่าความซาบซึ้งใจหรือการขอบคุณอะไรสักอย่าง ทำให้มนุษย์มีความผาสุกทางจิตวิญญาณที่สูงขึ้นตามไปด้วย และถือเป็นปัจจัยที่ช่วยป้องกันความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้าได้
.
“การซาบซึ้งในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่สวิตช์ที่ถูกเปิดเมื่อสถานการณ์กลับมาราบรื่น แต่ยังเปรียบเสมือนแสงสว่างในยามที่มืดมิดด้วยเช่นกัน” โรเบิร์ต เอมมอนส์ กล่าว
.
บางครั้งเส้นทางของเปลี่ยนแปลงอาจขรุขระไปบ้าง เพราะการใช้ชีวิตไม่ได้มีแต่เรื่องที่ง่ายดายเสมอไป แต่แทนที่จะปล่อยให้ความรู้สึกเชิงลบนั้นเอ่อล้นหัวใจ หรือพยายามซุกเอาไว้ใต้พรม ทำเป็นมองไม่เห็น ลองทำทั้งสองอย่างแบบพอดีๆ แล้วจะพบว่า เราก็สามารถผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ไปได้ โดยที่ไม่ฝืนตัวเองมากขนาดนั้น
.
ขอแปะโควตทิ้งท้ายจาก พอล วอง (Paul Wong) นักจิตวิทยาคลินิกชาวแคนาดาสายอัตภาวนิยม เพื่อให้กำลังใจทุกคนที่กำลังผ่านช่วงเวลาที่เลวร้าย “ไม่เป็นไรนะที่จะรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่เป็นไรนะที่จะรู้สึกแย่ ไม่เป็นไรนะที่จะรู้สึกกังวล ยินดีต้อนรับเข้าสู่การเป็นมนุษย์”
.
ไม่ต้องโยนความเศร้านั้นทิ้งไปหรอก แต่ก็ไม่ต้องถึงกับดำดิ่งขนาดนั้นก็ได้ เพราะพวกเราเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์เชิงลบตามธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็ต้องการกลไกบางอย่าง เพื่อดึงตัวเองให้กลับมาสดใสด้วยเช่นกัน
.
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.theatlantic.com/family/archive/2021/08/tragic-optimism-opposite-toxic-positivity/619786/
https://www.bbc.com/worklife/article/20210302-tragic-optimism-the-antidote-to-toxic-positivity
.
Content by Warittha Saejia
.
#Brief #TheMATTER