แฮชแท็ก #ไฟเซอร์นักเรียน กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงคืนที่ผ่านมา หลังมีผู้ใช้ TikTok บางกลุ่มที่เป็นนักเรียนออกมาโพสต์คลิปวิดีโอปฏิเสธวัคซีนไฟเซอร์ พร้อมยกเหตุผลต่างๆ มาประกอบ จนทำให้เกิดเทรนด์ปฏิเสธวัคซีนไปตามๆ กัน
สาเหตุของการปฏิเสธวัคซีนไฟเซอร์คืออะไร และนอกเหนือจากประเด็นปฏิเสธวัคซีนยังมีดราม่าอื่นๆ ที่ถูกหยิบมาพูดถึงในแฮชแท็กอะไรบ้าง The MATTER จะสรุปให้ฟัง
- หลังจากต้องเรียนออนไลน์กันมานาน กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการได้จัดฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 12-17 ปีจำนวน 5,000,000 คน โดยเพิ่งดีเดย์เริ่มฉีดไปเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเตรียมการให้เด็กนักเรียนกลับไปเรียนในรูปแบบออนไซต์ให้ทันเดือนพฤศจิกายน
- กระทรวงสาธารณสุขจัดให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์กับเด็กนักเรียน เพราะไฟเซอร์เป็นวัคซีนตัวเดียวในไทยขณะนี้ที่สำนักงานอาหารและยา (อย.) อนุมัติใช้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ขณะที่วัคซีนโมเดอร์น่าก็ได้รับอนุมัติใช้กับเด็กแล้วเช่นกัน แต่ยังไม่ได้นำเข้ามา
ประกอบกับตัววัคซีนไฟเซอร์เองเป็นวัคซีนที่มีผลวิจัยรองรับอย่างกว้างขวางว่ามีประสิทธิภาพดีในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้า และเป็นวัคซีนตัวแรกที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ อนุมัติ นั่นจึงพออนุมานได้ว่า วัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยสำหรับเด็กในช่วงอายุดังกล่าว
ส่วนวัคซีนเชื้อตายอย่างซิโนแวคและซิโนฟาร์มยังอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อมูลความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพวัคซีนจึงยังไม่สามารถนำมาฉีดให้เด็กได้ในตอนนี้
- อย่างไรก็ตาม วัคซีนไฟเซอร์นั้นก็เหมือนวัคซีนตัวอื่นๆ ที่แม้จะมีการรับรองคุณภาพและความปลอดภัย แต่ก็ยังพบผลข้างเคียงในลักษณะต่างๆ อยู่บ้าง ทั้งผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ หนาวสั่น ไปจนถึงผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงอย่างอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
(อ่านรายละเอียดสรุปผลข้างเคียงและงานวิจัยในวัคซีน Pfizer สำหรับเด็กได้ที่ :
https://thematter.co/quick…/vaccine-pfizer-in-kids/156198 )
- ผลข้างเคียงเหล่านี้สร้างความกังวลให้กับเหล่าเด็กนักเรียนของไทยที่ได้สิทธิฉีดวัคซีนไฟเซอร์ จนทำให้หลายคนออกมาปฏิเสธการฉีดวัคซีน และเริ่มต่อความคิดเห็นเหล่านี้ไปในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแพลตฟอร์ม TikTok จนทำให้เกิดเทรนด์ปฏิเสธวัคซีนตามๆ กัน ด้วยเหตุผลคล้ายๆ กันคือ “คิดถึงอนาคต กลัวตาย” ซึ่งหลายคนมองว่านี่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ผิด เพราะเรามีสิทธิเลือกวัคซีนด้วยตัวเอง
- แต่เหตุผลนี้ก็อดทำให้หลายคนตั้งคำถามไม่ได้ว่า “ไม่ฉีดไฟเซอร์ แล้วจะฉีดอะไร?” เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น วัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนตัวเดียวที่ไทยมีอยู่ และผ่านการอนุมัติจาก อย.ให้ฉีดกับเด็กได้
- ขณะที่หลายคนมองว่า ที่ผ่านมาประชาชนกลุ่มอื่นๆ ต่างออกมาเรียกร้องให้เด็กนักเรียนได้ฉีดไฟเซอร์ เพราะต้องการให้เด็กได้กลับไปเรียนในแบบปกติโดยเร็ว ซึ่งการออกปฏิเสธวัคซีน (ซึ่งบางกลุ่มมองว่าเป็นการตามกระแส) นั้นไม่เกิดผลดีกับใครเลย
- เด็กมหา’ลัยบางส่วนยังออกมาแสดงความเห็นว่า หากนักเรียนไม่ฉีดก็ควรส่งวัคซีนนั้นมาให้เด็กมหา’ลัย เพราะเด็กมหา’ลัยก็ต้องการกลับไปเรียนออนไซต์เหมือนกัน พร้อมทั้งออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกณฑ์การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ที่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับเด็กนักเรียน ขณะที่เด็กมหาลัยถูกทอดทิ้ง
- The MATTER ได้ไปพูดคุยกับคุณครูคนหนึ่งจากโรงเรียนในจังหวัดเพชรบูรณ์ถึงประเด็นเรื่องเด็กปฏิเสธวัคซีน คุณครูคนนี้มีส่วนร่วมสำรวจการฉีดวัคซีนของเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และพบว่ามีเด็กบางส่วนปฏิเสธไม่ฉีดวัคซีน เพราะกลัวผลข้างเคียง และพอเห็นเด็กคนหนึ่งไม่ฉีด ก็เลยไม่ฉีดตามๆ กัน
เมื่อถามว่าเทรนด์ใน TikTok มีอิทธิพลมากน้อยแค่ไหน คุณครูมองว่ามีส่วน เพราะเด็กบางคนที่อยู่ในวัยนี้ยังไม่มีวุฒิภาวะในการเสพสื่อมากพอ ทำให้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และตัดสินใจโดยยังไม่ได้ผ่านการไตร่ตรองทุกประเด็น ส่วนประเด็นผู้ปกครองกีดกัน จากที่คุณครูได้พูดคุยมา ผู้ปกครองส่วนใหญ่สนับสนุนให้นักเรียนฉีด ที่นักเรียนไม่ฉีดวัคซีนนั้นเป็นการตัดสินใจของเด็กเอง
คุณครูมองว่าวิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้คือ ทางโรงเรียนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดอบรมและให้ความรู้กับเด็ก ทั้งเรื่องประสิทธิภาพวัคซีน และอัตราการเกิดผลข้างเคียง เพื่อให้นักเรียนรับข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง ซึ่งหลังจากนั้นเด็กจะตัดสินใจฉีดหรือไม่ฉีด ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนักเรียนแต่ละคน
- ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ ดร.สุวดี พันธุ์พานิช เลขานุการกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี และรองโฆษกพรรคไทยสร้างไทยที่ออกโพสต์ข้อความถึงประเด็นนี้ด้วยว่า “ฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนเป็นสิทธิส่วนบุคคล วัคซีนที่ได้รับการรับรองจาก WHO ให้ฉีดได้ในกลุ่มเด็ก เป็นข้อมูลที่ช่วยยืนยันว่า มีข้อดีมากกว่าข้อเสียในระดับที่ยอมรับได้ ทั้งนี้ คนต้องเลือกวัคซีน ไม่ใช่วัคซีนเลือกคน เอามาให้หลากหลายมากพอเถอะค่ะรัฐบาล #ไฟเซอร์นักเรียน”
- ทั้งนี้ ไม่ได้เพียงแต่เรื่องความกังวลเรื่องผลข้างเคียงที่ทำให้เด็กไม่ฉีดวัคซีน ยังมีเด็กอีกส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธวัคซีนเพราะไม่มั่นใจว่าจะได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์จริงไหม และกลัวว่าจะถูกสลับวัคซีน เนื่องจากมีการแชร์ภาพในอินเทอร์เน็ตว่าพบกล่องวัคซีนซิโนแวคในจุดฉีดวัคซีนไฟเซอร์ อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ก็ไม่มีการหลักฐานยืนยันว่ามีการสลับวัคซีนโดยไม่ได้แจ้งก่อนฉีดแต่อย่างใด
- นอกจากประเด็นเรื่องปฏิเสธวัคซีน ในแฮชแท็ก #ไฟเซอร์นักเรียน ยังมีการแชร์ปัญหาการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในรูปแบบอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น
– การจำกัดอายุฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมแค่ 12-17 ปี ทำให้เด็กมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งอายุครบ 18 ปีตกขบวนวัคซีนไฟเซอร์ ถูกเปลี่ยนให้ฉีดสูตร Sinovac+AstraZeneca
– เด็กนอกระบบที่อายุไม่ถึง 18 ปี ไม่ได้สิทธิฉีดวัคซีน
– การจัดสรรวัคซีนไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนที่ต้องการฉีดวัคซีน จนต้องมาตัดชื่อนักเรียนออกทีหลัง
– การออกระเบียบให้เด็กนักเรียนต้องแต่งตัว และทำผลถูกระเบียบ ไม่งั้นไม่ได้ฉีดวัคซีน
– ผู้ปกครองบางส่วนไม่ยินยอมให้ลูกหลานเข้ารับวัคซีน
- จนถึงขณะนี้มีนักเรียนที่ลงทะเบียนประสงค์ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ประมาณ 3,600,000 คน หรือร้อยละ 71 จากทั้งหมดกว่า 5,000,000 คน หลายคนจึงมองว่า กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขควรช่วยกันเร่งมือหาทางกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
นำวัคซีนส่วนที่ยังไม่ถูกใช้ในจุดหนึ่งมาเร่งให้บริการอีกจุดหนึ่งที่ขาดแคลน เพราะวัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่มีวิธีการเก็บรักษาที่ค่อนข้างยาก ดังนั้นจึงควรเร่งใช้ประโยชน์จากวัคซีนส่วนนี้ก่อนที่จะเสื่อมสภาพ
อ้างอิงจาก
https://news.thaipbs.or.th/content/308329
https://www.matichon.co.th/social/news_2977694
https://twitter.com/DrSuwadee/status/1445751107754496015
https://www.sanook.com/news/8454298/
https://www.bangkokbiznews.com/news/960847
#RECAP #TheMATTER