เหตุใด ‘ปฏิรูป’ ถึงกลายเป็น ‘ล้มล้าง’ การปกครองไปได้ ในความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ ?
บ่ายวันนี้ (10 พ.ย.2564) ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยที่ 19/2564 ในคดีที่จะเป็นประวัติศาสตร์ไปอีกนาน เมื่อมีผู้กล่าวหาว่า คำปราศรัยของอานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก(ไมค์ ระยอง) และ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุมของกลุ่มธรรมศาสตร์ไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ซึ่งสาระสำคัญคือเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จำนวน 10 ข้อ ว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 49 หรือไม่
โดยศาลใช้เวลาอ่านคำวินิจฉัยอยู่ราว 40 นาที ระบุว่า พฤติกรรมของบุคคลทั้ง 3 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ พร้อมสั่งให้ทั้ง 3 คน รวมถึงองค์กรเครือข่าย ยุติการกระทำเดียวกันในอนาคต!
เหตุใดปฏิรูปจึงกลายเป็นล้มล้างไปได้ ระหว่างถ่ายทอดเสียงการอ่านคำวินิจฉัยที่ 19/2564 ผ่านทางยูทูบของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงคุณภาพเสียงจะแย่ ตุลาการบางคนยังอ่านค่อนข้างเร็ว ทำให้ได้ยินถ้อยคำต่างๆ ไม่ชัดเจน The MATTER จึงกลับไปย้อนฟังคำวินิจฉัยดังกล่าวอีกครั้ง พร้อมกับถอดเทปเพื่อสรุปมาให้ทุกๆ คนได้อ่าน
ชวนอ่านแล้วพิจารณาเหตุผลกัน
1.) ช่วงแรก ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำสั่งว่าไม่รับ 3 คำร้องจากฝ่ายผู้ถูกร้องที่ขอให้ไต่สวนพยานและขอให้เบิกตัวอานนท์กับเบิกตัวไมค์มาที่ศาล ทนายความของอานนท์และไมค์ รวมถึงรุ้ง จึงประกาศว่าจะไม่อยู่รับฟังคำวินิจฉัยในห้องพิจารณา เพราะไม่ได้รับโอกาสในการต่อสู้คดี โดยศาลชี้แจงว่า ขั้นตอนการพิจารณาคดีในศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นการไต่สวน และที่ผ่านมาก็หาพยานหลักฐานจนเพียงพอต่อการวินิจฉัยแล้ว
2.) จากนั้น ศาลจึงเริ่มอ่านคำวินิจฉัยโดยระบุว่า คดีนี้มีพยานหลักฐานเพียงพอต่อการวินิจฉัยได้แล้ว
พร้อมกำหนดประเด็นการวินิจฉัยไว้เรื่องเดียว คือ “การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่” ?
สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ผู้ถูกร้องทั้ง 1-3 จะบอกว่า ข้อเสนอที่ถูกร้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับการ ‘ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์’ แต่ถ้อยคำที่ศาลใช้กลับเป็นคำว่า ‘แก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์’ และ ‘ให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์’ พร้อมอ้างถึงการชุมนุมที่ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.2563 (ม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์) มาจนถึงวันที่ 10 ส.ค.2563 (กลุ่มธรรมศาสตร์จะไม่ทน) ที่มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จำนวน 10 ข้อ อาทิ ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ, ยกเลิกมาตรา 112, ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ฉบับปี 2561, ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์, ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก ฯลฯ
3.) ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาคำวินิจฉัย ศาลอ่านข้อโต้แย้งของฝ่ายผู้ถูกร้องที่ 1-3 ที่ระบุว่า คำร้องมีเนื้อหาคลุมเครือไม่ชัดเจนและไม่ครบองค์ประกอบของรัฐธรรมนฉบับปี 2560 มาตรา 49 แต่ศาลขี้ว่า ผู้ร้องได้ยื่นเอกสารต่างๆ รวมถึงการถอดเทปจากคลิปเสียงคำปราศรัยวันที่ 10 ส.ค.2563 คำร้องดังกล่าวจึงชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ผู้ถูกรองที่ 1-3 เข้าใจสภาพการกระทำที่ถูกกล่าวหาสำหรับการต่อสู้คดีได้ ข้อโต้แย้งนี้จึงตกไป
4.) ศาลเริ่มอ่านคำวินิจฉัย โดยอ้างถึง ‘สิทธิและเสรีภาพ’ ที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ให้การรับรอง ที่อยู่ในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะ ในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจํากัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทําการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้น #ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ #ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และ #ไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”
5.) แต่หลังกล่าวถึงสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง ก็มาอ้างถึง ‘หน้าที่และความรับผิดชอบ’ ที่ศาลอ้างถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 50 (1)(3)(6) ที่กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่
(1) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(3) ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
(6) เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทําการใดที่อาจก่อให้เกิด ความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม
7.) พยานหลักฐานที่นำมาใช้ในคดีนี้ ศาลบอกว่า นอกจากฝั่งผู้ร้องและผู้ถูกร้องแล้ว ยังมีพยานหลักฐานที่ได้จากสำนักงานอัยการสูงสุด ผกก.สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เลขาธิการสภาความมั่นคง ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อธิการบดี มธ. และ ผบ.ตร. ส่งมาให้
8.) รัฐธรรมนูญกำหนดบทบัญญัติเรื่องการห้ามใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตั้งแต่ฉบับปี 2540 (มาตรา 63) ฉบับปี 2550 (มาตรา 68) และฉบับปี 2560 (มาตรา 49) และมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 และ 3/2562 ที่วางหลักคำว่า ‘ล้มล้าง’ ว่า “เป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญและระบบการปกครองที่สุดวิสัยจะแก้ไขให้กลับคืนได้ นอกจากนั้นเป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลาย ให้สูญสลาย หรือสูญสิ้น ไม่ให้ดำรงอยู่อีกต่อไป”
“การใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับพระราชสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงกระทำผิดมิได้ และห้ามผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
“ซึ่งหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามข้อเรียกร้องดังกล่าวจะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควร โดยมีผลให้กระทบกระเทือนและเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในที่สุด” ส่วนหนึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
9.) ศาลยังบอกต่อไปว่า “พระมหากษัตริย์กับชาติไทยเป็นของคู่กัน เป็นเนื้อเดียวกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคต แม้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ปวงชนชาวไทยยังเห็นพ้องร่วมกัน อัญเชิญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นสถาบันหลักคู่ชาติไทย และถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทั้งนี้เพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้”
โดยศาลอ้างถึง พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ปี 2475 มาตรา 1-3 ที่ให้กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ และเป็นหนึ่งในองค์กรที่จะใช้อำนาจแทนราษฎร นอกจากนี้ยังอ้างถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 ที่กำหนดสถานะของพระมหากษัตริย์ให้เป็นประมุขของประเทศ ดำรงตำแหน่งอยู่ในสถานที่เป็นที่เคารพสักการะ ที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้
“จากกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว เห็นได้ว่าประวัติศาสตร์การปกครองของไทยนั้น อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด นับแต่ยุคสุโขทัย พระนครศรีอยุธยา มาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของไทยมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญ เพื่อรักษาความอยู่รอดของบ้านเมืองและประชาชน โดยก็ต้องดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยเพื่อนำกองทัพต่อสู้ปกป้อง และขยายราชอาณาจักรอยู่ตลอดเวลา และเข้าถึงหลักธรรมในการปกครองตามหลักของพระพุทธศาสนา และยึดถือทศพิธราชธรรมเป็นหลักในการปกครองประเทศ
“พระมหากษัตริย์ของไทยจึงเป็นที่เคารพและศรัทธา เป็นศูนย์รวมจิตใจ ของความเป็นหนึ่งเดียวกัน ของปวงชนชาวไทย มาโดยตลอดเป็นเวลาหลายร้อยปี”
10.) ศาลยังอ้างด้วยว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 คณะราษฎรเจ้าของการเปลี่ยนแปลงและประชาชนชาวไทยก็ยังเห็นพ้องกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์ให้เป็นหนึ่งในสถาบันหลักที่ยังจะต้องดำรงคงอยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเรียกรูปแบบการปกครองนี้ว่า ‘การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ และราชอาณาจักรไทยก็คงไว้ซึ่งการปกครองแบบนี้ต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำนองเดียวกับประเทศต่างๆ ที่มีความเป็นมาของชาติและเอกราชที่แตกต่างกัน
“แต่สิ่งที่เหมือนกันประการหนึ่งคือ เอกลักษณ์หรือสัญลักษณ์ของชาติ รวมถึงทรัพย์สมบัติของชาติ จะมีกฎหมายห้ามอันกระทำให้มีมลทิน ต้องสูญค่า เสียหาย หรือชำรุด”
11.) มาถึงช่วงที่เป็นสาระสำคัญ
“ข้อเรียกร้องที่ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้การรับรองพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐผู้ใดจะกล่าวหาล่วงละเมิดมิได้นั้น เป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง
“การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะ ตัวอย่างเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอื่นที่เห็นต่าง จะเป็นกรณีตัวอย่างให้บุคคลอื่นทำตาม
“ยิ่งกว่านี้ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 มีการดำเนินงานอย่างเป็นกระบวนการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย แม้การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 จะผ่านไปแล้ว แต่ภายหลังที่มีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังปรากฏว่า ผู้ถูกร้องที่ 1-3 ยังคงร่วมชุมนุมกับกลุ่มต่างๆ โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลที่ ใช้กลยุทธ์เป็นแบบไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่อง โดยบุคคลที่มีแนวคิดเดียวกัน
“การเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องที่ 1-3 และเครือข่าย มีลักขณะเป็นขบวนการเดียวกัน เพราะมีเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรก ผู้ถูกร้องที่ 1-3 มีพฤติกรรมการกระทำซ้ำ และกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกระทำกันเป็นขบวนการ ซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดม ใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ และมีลักษณะของการก่อให้เกิดความวุ่นวาย และใช้ความรุนแรงในสังคม”
12.) ศาลพักไปพูดถึงหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยว่า มีหลักการสำคัญ 3 ประการ #เสรีภาพ หมายถึงทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพูดคิดหรือทำอะไรได้ตามที่ไม่มีกฎหมายห้าม #เสมอภาค หมายถึงทุกคนมีความเท่าเทียม และ #ภราดรภาพ หมายถึงบุคคลทั้งหลายมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อย่าพี่น้อง ความสามัคคี
“การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความผูกพันของปวงชนชาวไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีมาหลายร้อยปี พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขจึงได้รับความยินยอมจากปวงชนชาวไทยให้ทรงใช้อำนาจ ตามรัฐธรรมนูญผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล
“สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเป็นเสาหลักสำคัญ ที่จะขาดเสียมิได้ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นการกระทำใด ที่มีเจตนา เพื่อทำลาย หรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าจะโดยวิธีการพูด การเขียน หรือการกระทำต่างๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์”
13.) ใกล้ถึงบทสรุปแล้ว
ศาลบอกว่า การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ไม่เป็นไปตามหลักการของประชาธิปไตย เพราะการกระทำของทุกคนเป็นการอ้างหลักเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักเสมอภาคและภราดรภาพ
ผู้ถูกร้องที่ 1-3 ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ยอมรับความเห็นที่แตกต่างไปจนถึงล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ที่เห็นต่าง ด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่นด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือน
“การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 มีการจัดตั้งองค์กรในลักษณะเป็นเครือข่าย มีการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง บางเหตุการณ์ผู้ถูกร้องที่ 1-3 มีส่วนในการจุดประกายปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงขึ้นในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทำลายหลักความเสมอภาค และภราดรภาพ
“นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงในการชุมนุมหลายครั้งมีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกซึ่งการลบสีน้ำเงินออกจากธงไตรรงค์ ข้อเรียกร้องของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เช่น การยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 การยกเลิกการบริจาคหรือรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ ฯลฯ เป็นข้อเรียกร้องที่ทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันมาตลอดมา”
14.) เช่นนั้นข้อเรียกร้องของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการปฏิรูปหรือล้มล้าง?
ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า พฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่อง จากการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 แสดงให้เห็นถึงมูลเหตุจูงใจ ว่าการใช้สิทธิ์และเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1-3 มี ‘เจตนาซ่อนเร้น’ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป
“การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจ ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
“เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 และองค์กรเครือข่าย กระทำการดังกล่าวต่อไป อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
15.) และผลการวินิจฉัยก็คือ..
“ด้วยเหตุข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมถึงองค์กรเครือข่าย เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 49 วรรค 2”
นี่คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 หนึ่งในคดีประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย
– ฟังคำวินิจฉัยเต็มได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=txE5EpAEb5c
#Brief #TheMATTER