จะกลับบ้านสิ้นปีทำไมตั๋วเครื่องบินถึงแพงขนาดนี้?
สิ่งนี้กลายเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในทุกๆ ปีสำหรับคนที่ต้องห่างบ้านไกล เช่นเดียวกับ ‘เบล’ Junior Journalist วัย 24 ปี ที่อยากกลับบ้านที่ต่างจังหวัดทุกๆ เทศกาล ซึ่งในช่วงปีใหม่นี้ก็เช่นกัน เบลบอกว่าเธอเป็นคนจังหวัดน่านที่เข้ามาเรียนและทำงานในกรุงเทพฯ ที่ลืมคิดถึง ‘ภาระ’ หลายๆ อย่างไป
“เอาจริงๆ ก็มีภาระหลายอย่างที่คนลืมคิดไป ถามเพื่อนหลายคนที่บ้านอยู่ต่างจังหวัดเหมือนกัน เขาบอกว่าบางทีก็เลือกที่จะไม่กลับบ้าน ไม่ก็เลือกกลับบ้านช่วงวันที่ไม่ตรงกับเทศกาลเพื่อให้ได้ตั๋วถูก แต่เขาก็ต้องใช้วันลาไปอีก หรือเพื่อนบางคนก็นั่งรถเพราะว่าถูกกว่า ซึ่งเขาก็บอกว่าทั้งเสียเวลา และต้องรับความเสี่ยงของการเดินทาง ยิ่งในช่วงเทศกาลที่อาจมีอุบัติเหตุเยอะกว่าปกติ” เบลเล่า
เบลมองว่า เธอเองก็เป็นอีกคนไม่อยากเสียโอกาสอยู่กับครอบครัว ยิ่งในช่วงเวลาสำคัญอย่างในเทศกาลต่างๆ ที่อยากกลับบ้านไปเจอคนที่บ้านและใช้เวลาร่วมกัน
เบลเปิดค่าใช้จ่ายในการกลับบ้านของตัวเองให้ดู ซึ่งเธอเช็คราคาล่วงหน้าราวหนึ่งสัปดาห์ ทว่าราคาได้พุ่งทะยานเกินกว่าที่เธอคิดไว้ “ปกติแล้วไม่ใช่เทศกาล ตั๋วขาเดียวจะอยู่ประมาณ 1,000-2,000 บาท แต่อย่างวันที่ 28 ธันวาคมที่หยุดงานกันแล้ว ราคาขาเดียวพุ่งไปถึง 3,800-4,700 บาทเลย”
เบลบอกว่า เธอต้องคอยเช็คราคาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะไม่อยากเสียเงินเยอะ แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังอยากกลับบ้านในช่วงเทศกาล เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะได้อยู่กับครอบครัวแบบพร้อมหน้าพร้อมตา
“เรากลับบ้านช่วงเทศกาลตลอด เพราะก็อยากอยู่กับที่บ้าน เลยต้องวางแผนดีๆ ยิ่งน่านเป็นจังหวัดเล็กๆ ที่มีสายการบินให้เลือกแค่ 2 เจ้า ยิ่งทำให้ตัวเลือกมีจำกัด” – เบล
เธอเล่าพร้อมเสริมว่า ถึงจะวางแผนมาอย่างดีแล้ว แต่ก็มีกรณีที่ต้องกลับบ้านกระทันหัน เช่น คุณปู่เสียและต้องกลับให้ไวที่สุด ซึ่งในเวลานั้นตั๋วไป-กลับเกือบๆ 10,000 บาท แต่ก็ต้องจำใจซื้อ
“ส่วนเหตุผลที่เราไม่นั่งรถโดยสาร หรือเลือกโดยสารด้วยวิธีอื่น เพราะเรามองว่ามันอันตรายกว่า และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากกว่า ประกอบกับที่บ้านก็เป็นห่วงด้วย” เบลเล่า
ไม่ใช่แค่เบล แต่ยังมีอีกหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากราคาตั๋วเครื่องบินที่พุ่งสูงในช่วงเทศกาล คำถามต่อมาคือ การที่ราคาขึ้นสูงเช่นนี้ มาจากปัจจัยอะไรบ้าง?
สิ่งแรกที่เราต้องพูดถึงคือ ความต้องการที่สูงขึ้น เมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาล ความต้องการเดินทางของคนก็เริ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาตั๋วปรับตัวสูงขึ้นตาม ซึ่งความต้องการบินในประเทศนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่กับคนไทยเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงคนต่างชาติด้วย ทำให้ตั๋วเครื่องบินมีราคาขึ้นมาตามกลไกลของตลาด
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของเส้นทางการบินที่จุดหมายปลายทางอาจจะเป็นจังหวัดเล็กๆ ที่มีสายการบินเปิดให้บริการอยู่ไม่กี่เจ้า นั่นทำให้สายการบินสามารถตั้งราคาไว้สูงได้เพราะมีคู่แข่งน้อย ไปจนถึงไม่มีคู่แข่งเลย
ปัจจัยอีกหนึ่งอย่างคือ เหล่าสายการบินต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ ทำให้สายการบินจะต้องบริหารรายได้ให้คุ้มกับต้นทุน หรือต้องทำกำไรให้ได้มากที่สุดในแต่ละเที่ยวบิน นั่นก็เพื่อความอยู่รอด
ปัจจัยต่อมาคือ เพดานตั๋วเครื่องบิน ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT ได้ตั้งกฏเพดานราคาเอาไว้ สำหรับสายการบิน Low-Cost ห้ามคิดค่าตั๋วเกินอัตรา 9.4 บาทต่อกิโลเมตร
ขณะที่สายการบินแบบ Full-service ที่เราสามารถเลือกที่นั่ง มีอาหาร รวมค่าสัมภาระ ห้ามเกินกว่า 13 บาทต่อกิโลเมตร เช่น ตั๋วเครื่องบินจากกรุงเทพฯ – กระบี่ ที่เคยเป็นกระแสเรื่องความแพง โดยค่าเครื่องบินพุ่งทะยานแตะ 6,000 บาทต่อเที่ยว
แต่เมื่อดูจากระยะทางบินรวม 669 กิโลเมตร เท่ากับราคาห้ามเกิน 6,288 บาท ซึ่งยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสนามบิน แปลว่าราคาดังกล่าวก็ยังไม่ถือว่าเกินขอบเขตที่สายการบินทำได้ เนื่องจากกฏหมายกำหนดไว้เช่นนั้น
แล้วเพดานเหล่านี้จะปรับลดลงมาได้หรือไม่?
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ได้สั่งการให้ CAAT เชิญสายการบินที่ให้บริการเส้นทางในประเทศมาหารือเรื่องการปรับลดเพดานราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนและสถานการณ์
แม้ว่าการปรับลดเพดานจะยังไม่เกิดขึ้นในเวลานี้ เพราะจะต้องมีการประสานกับสายการบิน และประเมินผลกระทบที่สายการบินจะได้รับ อีกทั้งยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินการที่รอบด้านพอ เนื่องจากบางสายการบินก็ได้ทำการจัดโปรโมชันขายตั๋วล่วงหน้าเป็นปีไปแล้ว
ล่าสุด เหล่าสายการบินที่ให้บริการเส้นทางในประเทศได้จัดทำแผนเพิ่มเที่ยวบิน ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง โดยจะมีเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น 247 เที่ยวบิน และมีที่นั่งเพิ่มขึ้น 48,244 ที่นั่ง ซึ่งจะมีทั้งที่มีราคาสูงและไม่สูงอยู่รวมกัน
อย่างไรก็ตาม CAAT ยังได้แนะนำให้ซื้อตั๋วโดยสารจากเว็บไซต์ของสายการบินโดยตรง เนื่องจากมีการควบคุมเพดานราคาโดย CAAT ซึ่งหากพบเห็นการตั้งราคาเกินกว่าเพดานที่กำหนด สามารถร้องเรียนได้ที่ https://portal.caat.or.th/complaint/
ซึ่งการเพิ่มเที่ยวบินและที่นั่งก็เพื่อที่จะแก้ปัญหาความต้องการสูงในช่วงเทศกาล และบางที่นั่งในราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งประเด็น ‘การปรับลดเพดาน’ ลงมาก็ยังคงเป็นสิ่งที่เราจะต้องติดตามต่อไปว่าจะเป็นไปในทิศทางใดที่จะเหมาะสมกับทั้งผู้บริโภค และผู้ให้บริการสายการบิน
อ้างอิงจาก
thaipbs.or.th 1 / thaipbs.or.th 2
Editor: Thanyawat Ippoodom