นักวิจัยจากออสเตรเลีย ฝึกให้สมองของมนุษย์ที่เพาะเลี้ยงในจานเพาะเชื้อสามารถเล่นเกมป็องได้สำเร็จ พร้อมขนานนามว่าเป็น ‘สมองไซบอร์ก’
นักวิจัย Cortical Labs บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพของออสเตรเลีย ได้สร้าง ‘สมองขนาดจิ๋ว’ ที่ประกอบไปด้วยเซลล์สมองของมนุษย์ประมาณ 8 แสนถึง 1 ล้านเซลล์ในจานเพาะเชื้อที่ติดตั้งระบบอาร์เรย์ไมโครอิเล็กโทรด เพื่อวิเคราะห์กิจกรรมการทำงานของระบบประสาท
จากนั้นพวเขาได้มอบภารกิจทดสอบความสามารถให้ โดยสร้างเกมป็องเวอร์ชั่นง่ายๆ แบบไม่มีคู่ต่อสู้ขึ้นมา และฝึกให้เจ้าสมองจิ๋วเล่นเกมด้วยวิธีที่ถูกต้อง ก่อนจะพบว่ามันสามารถทำผลงานได้ดีอย่างน่าทึ่งจนทีมวิจัยขนานนามว่ามันเป็น ‘สมองไซบอร์ก’
เบรท คาแกน ทีมนักวิจัยจาก Cortical Labs เปิดเผยว่า มันไม่ผิดถ้าจะนิยามสมองจิ๋วว่าเป็นสมองไซบอร์ก และทีมวิจัยคิดว่ามันเสมือนอาศัยอยู่ในโลกของเดอะเมทริกซ์ “เมื่อมันอยู่ในเกม มันจะคิดว่าตัวเองเป็นกระดานที่ต้องคอยรองไม่ให้ลูกบอลตก” คาแกนอธิบายโดยอ้างอิงถึงภาพยนตร์ชื่อดังในปี 1999 ซึ่งเป็นเรื่องราวที่มนุษย์ตกเป็นทาสของ AI
อีกหนึ่งความน่าสนใจที่ทีมวิจัยพบจากการศึกษาครั้งนี้คือ แม้ว่าสมองจิ๋วจะยังทำผลงานได้ไม่ดีเท่ามนุษย์หรือ AI ที่ก้าวหน้าแล้ว แต่มันกลับเรียนรู้ได้ดีกว่า AI บางตัวเสียอีก โดยคาแกนบอกว่า สมองที่ทีมพวกเขาพัฒนามีความเร็วในการเรียนรู้อยู่ที่ 5 นาทีแบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นอะไรที่น่าอัศจรรย์มาก
ทีมวิจัยหวังว่าสิ่งที่พวกเขาเพิ่งค้นพบในวันนี้ จะนำไปต่อยอดเป็นโปรเจ็กต์ใหม่ที่พิเศษกว่าเดิม นั่นคือการผนวกสมองของมนุษย์เข้ากับ AI และพัฒนาไปสู่การสร้างสมองไซบอร์กที่ใช้เซลล์จากสิ่งมีชีวิตจริง เพื่ออัพเกรดขีดจำกัดของ AI ให้ล้ำขึ้นไปอีกขั้นโดยอาศัยความสามารถในการเรียนรู้ที่รวดเร็วของสมองมนุษย์เข้ามาช่วย
สำหรับใครที่อยากดูวิดีโอการทำงานของสมองจิ๋วระหว่างเล่นเกมป็อง ตามไปได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=9ksLuRoEq6A
อ้างอิงจาก
https://futurism.com/the-byte/brain-cells-play-pong…
https://www.youtube.com/watch?v=9ksLuRoEq6A
#Brief TheMATTER