นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา การเมืองภายในเมียนมาก็เริ่มร้อนระอุมากขึ้นเรื่อยๆ ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นไปแทบไม่ได้เลยที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
โดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นบริเวณ อ.แม่สอด จ.ตาก ในช่วงสัปดาห์ก่อน ที่ทหารเมียนมาเริ่มโจมตี และทิ้งระเบิดลงมาในหมู่บ้านแม่ทอดตะเล จ.เมียวดี อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประชาชนชาวเมียนมาต้องอพยพหนีตายเข้ามาในไทยจำนวนมาก ขณะที่พลเรือนชาวไทยที่อาศัยอยู่ในจุดใกล้เคียงต่างก็พลอยหวาดผวาจากเหตุการณ์รุนแรงไปด้วย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณแม่สอดเป็นอย่างไร และรัฐบาลไทยรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไรบ้าง The MATTER จะมาเล่าให้ทุกคนฟังกัน
- เหตุการณ์รุนแรงในประเทศเมียนมาที่เกิดขึ้นมาตลอดทั้งปี เริ่มต้นจากกลุ่มทหาร ภายใต้การนำของ ‘มิน อ่อง หล่าย’ ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และนำประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการทหารอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนานาประเทศ และการต่อต้านจากประชาชนชาวเมียนมาทั้งในรูปแบบเปิดหน้า และใต้ดิน
- ในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ชาวเมียนมาที่ต่อต้านรัฐบาลรัฐประหารต่างพยายามบอกเล่าเหตุการณ์รุนแรงในประเทศผ่านแฮชแท็ก #WhatsHappeningInMyanmar ซึ่งหากใครเคยเข้าไปดูก็จะพบกับข้อความและรูปภาพสุดสะเทือนใจ ซึ่งล้วนเป็นผลจากการใช้ความรุนแรงของภาครัฐในการปิดปากประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย จนท้ายที่สุดนักเคลื่อนไหวหลายคนถูกสังหาร บ้างก็ถูกจับตัวไปโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม
- สำหรับเหตุการณ์ความรุนแรงล่าสุดที่อยู่ในความสนใจของชาวไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือเหตุการณ์ที่กลุ่มทหารเมียนมาและพันธมิตรปะทะกับกองกำลังกะเหรี่ยง KNU ที่ปักหลักอยู่ในหมู่บ้านแม่ทอดตะเล จ.เมียวดี ตรงข้ามกับบ้านดอนไชยริมเมย อ.แม่สอด จ.ตาก ของไทย ตั้งแต่ช่วงวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่เพิ่งมารุนแรงมากขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคม
- สำนักข่าวมติชน และข่าวสดรายงานว่า กลุ่มทหารเมียนมาได้ก่อเหตุยิงถล่มหมู่บ้านของกองกำลังกะเหรี่ยง KNU ก่อนเหตุการณ์จะเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีการทิ้งระเบิดลงมากลางดึก และไม่ใช่การโจมตีแบบจบในคราวเดียว แต่เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ และต่อเนื่องเป็นเวลานานในช่วงหลายวันที่ผ่านมา
- เมื่อเหตุการณ์รุนแรงดูท่าจะยังไม่สงบลงในเร็ววัน ชาวเมียนมาหลายร้อยคนที่อยู่ในละแวกนั้นจึงอาศัยช่วงที่มีการหยุดยิง อพยพข้ามฝั่งมาที่ไทยผ่านทางแม่น้ำเมย และมาหลบภัยอยู่ในแม่สอด ทำให้เกิดเหตุโกลาหลขึ้น จนเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแล และนำตัวผู้อพยพไปพักที่สนามกีฬาบ้านแม่กุใหม่ท่าซุงเป็นการชั่วคราว ตามแผนที่มีการวางไว้ก่อนหน้านี้ โดยตัวเลขจำนวนผู้อพยพในจุดพักที่อัพเดตเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม มีทั้งสิ้น 223 ราย
ซึ่งเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงแม่สอดได้ส่งกองกำลังเข้าไปดูแลบริเวณชายแดน พร้อมทั้งตั้งทีมแพทย์สนามไว้เพื่อรองรับผู้บาดเจ็บที่อาจข้ามฝั่งมาแล้ว พร้อมกันนี้ ยังมีการวางเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลการคัดกรองผู้ติดเชื้อ COVID-19 ด้วยเช่นกัน
- อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน เพจหมอแม่สอด ที่รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยที่อพยพมาจากเมียนมาอัพเดตว่า ณ วันที่ 24 ธันวาคมมีผู้อพยพข้ามแม่น้ำมาที่แม่สอดมากกว่า 1,000 คน และกำลังข้ามมาเรื่อยๆ ขณะที่ทีมแพทย์ต่างบอบช้ำกับการรักษาที่เกินกำลัง ทั้งต้องดูแลผู้ป่วยจากเหตุการณ์รุนแรง โรคระบาด รวมถึงโรคเรื้อรังต่างๆ
ทีมแพทย์ได้ประเมินสถานการณ์แล้วว่าจุดที่ทีมปักหลักรักษาผู้ป่วยอยู่ในรัศมีใกล้กับจุดเกิดเหตุมากเกินไป จึงจำเป็นต้องถอยร่นออกมาในจุดที่คาดว่าจะปลอดภัย ทำให้ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ทันทีเช่นเดิม แต่ทีมแพทย์ไม่มีทางเลือก เพราะไม่อาจเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตได้
ข้อความเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่แม่สอดกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ ขณะที่ทีมแพทย์มีจำนวนไม่เพียงพอต่อผู้ป่วย เพราะต้องรับมือกับอาการเจ็บป่วยจากหลายช่องทาง จึงเริ่มมีการเรียกร้องผ่านทางออนไลน์ ให้ภาครัฐเร่งส่งกำลังเสริมมาช่วยสาธารณสุขชายแดนโดยด่วน
- ขณะที่เอกอัครราชทูต อุปทูต และหัวหน้าคณะผู้แทนจากออสเตรเลีย แคนาดา คณะผู้แทนสหภาพยุโรป รวมถึงสถานทูตสมาชิกสหภาพยุโรปที่ตั้งอยู่ในเมียนมาร์ก็ร่วมกันออกแถลงการณ์ลงวันที่ 24 ธันวาคม ประณามการโจมตีพลเรือนในรัฐกะเหรี่ยงของรัฐบาลเมียนมา
โดยระบุว่า การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และส่งผลให้ผู้คนหลายพันคนต้องพลัดถิ่น เราจึงขอเรียกร้องให้ยุติการกระทำดังกล่าวทันที และรัฐบาลต้องรับประกันความปลอดภัยของประชาชนทุกคนตามกฎหมายระหว่างประเทศ
- เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะเกิดในเขตแดนเมียนมา แต่ไม่ได้มีแค่เพื่อนบ้านของเราเท่านั้นที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะชาวไทยที่อาศัยอยู่ตามชายแดนเองก็หวาดผวากับเหตุการณ์นี้ ด้วยความกลัวว่าอาจมีลูกหลงเกิดขึ้นกับตัวเอง และอีกส่วนหนึ่งคือกลัวการระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตอนนี้ ที่มีโอไมครอนมาเป็นตัวแปรใหม่ และอาจทำให้เชื้อยิ่งแพร่กระจายเร็วขึ้น ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงมีการติดแฮชแท็ก #แม่สอด ในทวิตเตอร์ เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลมากกว่านี้
แล้วตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ นอกจากเจ้าที่ที่กล่าวไปด้านบนแล้ว มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือบ้างหรือยัง แล้วรัฐบาลไทยมีความเห็นหรือตอบสนองอย่างไรกับเรื่องนี้บ้าง?
- แน่นอนว่าเมื่อมีเรื่องรุนแรงที่กระทบกับความมั่นคงของชาติเกิดขึ้น หนึ่งในคนสำคัญที่มีอำนาจจัดการปัญหา และเป็นเสมือน ‘กัปตันเรือ’ ที่ต้องคอยดูแลลูกเรือให้อยู่รอดปลอดภัย ก็คือผู้นำประเทศอย่างนายกรัฐมนตรี ซึ่งสำนักข่าวมติชนรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมในวันเดียวกับที่ทีมหมอจากแม่สอดออกมาเปิดเผยว่าสถานการณ์ยังวิกฤติ และคณะทูตจากนานาชาติออกมาประณามการใช้ความรุนแรง
ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์นี้ โดยในตอนแรกนายกฯ บอกว่าสถานการณ์ยังเรียบร้อยดี แต่ภายหลัง (ในวันเดียวกัน) ก็ยอมรับว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นเป็นเรื่องภายในประเทศเมียนมา แต่ก็ไม่ได้ละเลยกับสถานการณ์ทั้งหมด เพราะได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐของไทยให้ความช่วยเหลือและดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว
สำหรับประเด็นเรื่องการตั้งศูนย์อพยพในไทย นายกฯ ยืนยันว่าจะไม่มีการตั้งศูนย์ดังกล่าว ตอนนี้มีจำนวนผู้อพยพที่ยังอยู่ในไทยประมาณ 9 หมื่นคน เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายก็จะส่งตัวกลับประเทศ แต่จะพิจารณาเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก และระหว่างนี้จะให้การดูแลอย่างเต็มที่
ส่วนกรณีที่จะมีการอพยพพลเรือนชาวไทยออกจากพื้นที่หรือไม่นั้น นายกฯ ยืนยันว่าจะไม่มีการอพยพคนไทยออกจากแนวชายแดนเช่นกัน แต่หากประชาชนได้รับลูกหลง ก็จะแจ้งเตือนให้เมียนมาหยุดการกระทำดังกล่าว
- การตอบคำถามของนายกฯ ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนักหน่วงในช่วง 2 วันที่ผ่านมา เพราะหลายคนวิเคราะห์ว่า คำตอบนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะยังไม่เข้ามาดำเนินการขั้นเด็ดขาดใดๆ กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จนกว่าจะมีเหตุรุนแรง ซึ่งไม่ได้สร้างความสบายใจให้กับคนในพื้นที่เท่าไหร่นัก
- หลังจากนี้ คงต้องจับตากันต่อไปว่าสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา จะเป็นอย่างไรต่อไป เนื่องจากศูนย์สั่งการชายแดน ไทย-เมียนมา จ.ตาก เพิ่งมาอัพเดตสถานการณ์เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า การปะทะกันระหว่างกลุ่มทหารของเมียนมาและกองกำลังกะเหรี่ยง KNU ยังไม่ยุติลง และมีกระสุนไม่ทราบชนิด และไม่ทราบฝ่ายยิงตกลงมาฝั่งไทย 3 นัด สร้างความเสียหายให้บ้านเรือนประชาชน 1 หลัง **แต่ยังไม่มีชาวไทยได้รับบาดเจ็บจากเหตุดังกล่าว**
ในแถลงระบุอีกว่า กองกำลังนเรศวร ได้สั่งให้หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 ยิงกระสุนควันเพื่อเตือนให้ฝั่งเมียนมารู้ว่ามีกระสุนตกมาที่ไทย และได้ประท้วงไปที่รัฐบาลเมียนมาผ่านทางคณะกรรมการชายแดนระดับท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) ให้เมียนมาระมัดระวังการใช้อาวุธ โดยฝั่งไทยพร้อมโต้ตอบทันทีหากพบว่ามีเหตุรุกล้ำอธิปไตยขึ้น
ขณะที่ชาวไทยเองก็ออกมาช่วยกระจายข่าวและเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างเด็ดขาดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนในพื้นที่ นอกจากนี้บางส่วนก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับการไม่สนับสนุนรัฐบาลทหารของเมียนมาที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งไม่ได้ผ่านการยินยอมและยอมรับจากประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะเมื่อตอนนี้มีคนไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงแล้ว
อ้างอิงจาก
https://mm.usembassy.gov/joint-statement-on-attacks-on-civilians-in-karen-state/
https://ch3plus.com/news/program/271715
https://web.facebook.com/doctormaesot/posts/435450271465434
https://www.matichon.co.th/politics/news_3101650
https://www.matichon.co.th/politics/news_3101822
https://www.bbc.com/thai/thailand-56585626
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000127494
https://www.bbc.com/thai/thailand-59693843
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_6799306
#RECAP #TheMATTER