ราคาหมูแพงขึ้นมาพร้อมๆ กันทั่วไประเทศ ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อทั้งคนเลี้ยง คนขาย และคนบริโภค จนต้องมีการปรับตัว ปรับวิธีการต่างๆ กันไป จนกระทั่งข้ามปีมาแล้ว แม้ว่ารัฐบาลจะขอให้มีการตรึงราคา ราคาหมูก็ยังเพิ่มขึ้น และไม่รู้ว่าราคานี้จะเพิ่มไปถึงเมื่อไหร่ด้วย
.
ทำไมหมูถึงราคาแพง เกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจคนเลี้ยงสุกร และรัฐบาลออกมารับมืออย่างไรกับปัญหานี้ The MATTER สรุปประเด็นต่างๆ ไว้ให้แล้ว
.
ที่มา และปัจจัยของหมูราคาแพง
.
ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม มีการพบว่าราคาหมูในตลาดเพิ่มสูงขึ้น อย่างเช่น เจ้าของเขียงหมูในตลาดสดบ่อนไก่ เขตเทศบาลนครนครสวรรค์ ก็เปิดเผยกับทางไทยรัฐในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ว่า ราคาขายหมูหน้าแผงทะลุกิโลกรัมละ 240 บาท ขณะที่ตลาดสันติสุข อ.เมืองอุบลราชธานี ก็พบว่าราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์เกือบ 30-40 บาทต่อกิโลกรัม โดยกลุ่มเนื้อแดงเดิมขายกิโลกรัมละ 140-150 บาท ก็ขึ้นเป็น 190 บาท ขณะที่เนื้อสันนอก สันใน สันคอ กิโลกรัมละ 160-180 บาท ก็ปรับขึ้นเป็น 200-220 บาท
.
สำหรับราคาที่แพงขึ้นนั้น ทางเจ้าของเขียงหมูชี้ว่า ด้านผู้ประกอบการขายหมูฟาร์มอ้างว่ามีหมูเป็นในฟาร์มปริมาณน้อย จึงทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นจากราคาหมูเป็น 80-100 บาท เป็นราคา 120 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงเจ้าของร้านหมูสด ในตลาดพิษณุโลก ก็ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐเช่นกันว่า หน้าฟาร์มส่งหมูให้ในราคาแพงขึ้ในทุกส่วน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นทางร้านจึงต้องขึ้นราคาหมูตามไปด้วย
.
ประเด็นนี้ เจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้อธิบายว่า สาเหตุที่ฟาร์มส่งหมูที่แพงขึ้น เกิดจากเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหลายรายแบกรับต้นทุนในการเลี้ยงไม่ไหว จึงเลิกเลี้ยง ทำให้จำนวนหมูตัวลดน้อยลง รวมทั้งความต้องการเนื้อหมูในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย จึงทำให้ราคาสูงขึ้นตาม ไม่เพียงเท่านั้น สัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ก็ยังเปิดเผยว่าอีกปัจจัยคือเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นต่อเนื่อง เช่น อาหารสัตว์ ยาในการรักษาโรค รวมทั้งการพบโรคระบาดในสุกรเเละต้องทำลายสุกรมีชีวิตเพื่อควบคุมโรค
.
กรมอศุสัตว์เอง ก็ระบุว่า แนวโน้มหนึ่งที่ราคาสูงขึ้นก็มาจากแนวโน้มเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงปัญหาด้านสุขภาพสัตว์ในฟาร์มสุกรที่ต้องมีการควบคุมและกำจัดสุกรที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ทำให้มีปริมาณสุกรที่ลดลง ต้องมีการพักคอกสัตว์ก่อนทำการเลี้ยงรุ่นการผลิตใหม่ด้วย
.
ปัจจัยโรคระบาดนั้น นิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวประชาชาติธุรกิจว่า ผู้เลี้ยงได้รับผลกระทบจากโรคระบาดหนักมาก “ที่ผ่านมาคนเลี้ยงหมูเผชิญกับโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF ซึ่งเป็นโรคระบาดที่มีความรุนแรงในหมู หมูได้รับความเสียหายไปจำนวนมาก เนื่องจากเป็นโรคระบาดที่ไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มียารักษา”
.
“เนื่องจากหมูตายเกือบหมดประเทศไทยแล้ว โรคระบาดส่งผลให้หมูแม่พันธุ์ทั้งประเทศไทยที่มีประมาณ 1.1 ล้านตัว ปกติผลิตลูกหมูหรือเรียกว่า“หมูขุน”ได้ 21-22 ล้านตัว ปัจจุบันโรคระบาดสร้างความเสียหายกว่า 50% เหลือแม่หมูอยู่ประมาณ 550,000 ตัว ผลิตหมูขุนได้ประมาณ 12-13 ล้านตัวต่อปี” นิพัฒน์ให้สัมภาษณ์ และแม้ว่ากรมปศุสัตว์จะชี้แจงว่า ไม่พบ โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF ในไทยแต่นิพัฒน์ก็ยืนยันว่า ผู้เลี้ยงและทั่วโลกรู้ แต่กรมปศุสัตว์ประกาศเป็นโรคเพิร์ส (PRRS) แทน
.
การปรับตัวของร้านขายหมู
.
เมื่อเนื้อหมูราคาแพงขึ้น ก็ส่งผลให้คนมาซื้อที่ร้าน หรือเขียงหมูน้อยลง แม่ค้าหลายรายก็ต้องปรับตัว และวิธีการต่างๆ อย่างเช่น เจ้าของเขียงหมูในตลาดสดบ่อนไก่ เขตเทศบาลนครนครสวรรค์ ที่เปิดเผยว่า ได้ปรับมาขายแบบพรีออเดอร์ หรือตามจำนวนที่ลูกค้าสั่งเท่านั้น เพราะหากซื้อหมูมาเก็บไว้ขาย ก็จะเกิดการขาดทุน เพราะลูกค้ามาซื้อน้อยลง
.
ขณะที่บางร้านอาหารเอง ก็ต้องปรับราคาอาหารที่มีเมนูของหมู ให้สูงขึ้นตามราคาหมูในท้องตลาด เช่น ปรับขึ้น จานละ 5-10 บาท แล้วแต่เมนู อย่างเข็มชาติ พ่อค้าร้านอาหารตามสั่งวัย 42 ปี ก็ได้เล่าว่า จากเดิมกะเพราหมูขายอยู่ที่จานละ 40 บาท ปรับขึ้นเป็น 50 บาท ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็เข้าใจสาเหตุที่ต้องปรับราคาอาหารสูงขึ้น
.
นอกจากการปรับราคาแล้ว บางร้านเองก็เลือกที่จะเปลี่ยนเมนู นำเนื้อสัตว์อื่น อย่างแม่ค้าอาหารปรุงสำเร็จ ใน จ.บุรีรัมย์ ได้บอกว่า ได้ปรับเปลี่ยนเมนูอาหาร จากที่ใช้เนื้อหมู มาใช้เนื้อวัว กับเนื้อเป็ดแทนบ้าง เพราะเนื้อวัวถึงแม้จะแพงกว่าเล็กน้อย แต่เมื่อปรุงเสร็จจะมีสภาพฟูขึ้น ดูแล้วได้ปริมาณมากกว่าเนื้อหมูด้วย
.
การแก้ปัญหาหมูแพงของภาครัฐ
.
หลังปัญหาหมูแพงเกิดขึ้น หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งกรมปศุสัตว์ หรือกระทรวงพาณิชย์เอง ก็ได้เร่งหารือ โดยเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2564 นายกรัฐมนตรีก็ได้ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดูแลแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพงตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง ตั้งแต่ภาระเกษตรกรฟาร์มสุกร พ่อค้าคนกลาง ผู้ขายหมูหน้าเขียง ประชาชนผู้บริโภค รวมไปถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร เพื่อลดผลกระทบราคาหมูแพงในขณะนี้ โดยไม่ให้เสียกลไกตลาด
.
ซึ่งกรมการค้าภายใน ขยายการดำเนินการโครงการลดราคาหมูเนื้อแดง ด้วยโครงการพาณิชย์ลดราคา!…ช่วยประชาชน (หมูเนื้อแดง) ราคากิโลกรัม (ก.ก.) ละ 150 บาท ออกไป ถึงวันที่ 15 ม.ค. 2565 เดิมที่สิ้นสุดโครงการไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2564 และจะพิจารณาเป็นระยะๆ ตามสถานการณ์จริงว่าควรจะขยายเวลาโครงการอีกหรือไม่ แต่ถึงอย่างนั้น ทั้งจัดพื้นที่จำหน่ายหมูธงฟ้า 150 บาท/กก. 600 จุดทั่วประเทศ แก้ปัญหาราคาหมูปรับสูงขึ้น
.
แต่ถึงอย่างนั้นจากการสำรวจของ ประชาชาติธุรกิจ ในวันนี้ (3 มกราคม 2565) ก็พบว่าหลายร้านไม่สามารถตรึงราคาหมูไว้ที่ 150 ตามที่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือ และมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนที่สูงด้วย ทั้งมุมมองจากอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยังเห็นต่างจากการแก้ปัญหาด้วยการตรึงราคาว่า การตรึงราคายิ่งจะทำให้เกษตรกรอ่อนแอ เห็นควรปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ก็จะเกิดการสร้างสมดุลราคา ทั้งเสนอว่าควรไปดูที่คนกลางว่ามีการค้ากำไรเกินไปหรือไม่ด้วย ส่วนประเด็นการนำเข้าหมูจากต่างประเทศ เพื่อพยุงราคา ภาครัฐควรเก็บเงินค่าส่วนต่างราคาเพื่อนำมาฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยให้สามารถประกอบกิจการต่อได้แทน
.
สำหรับราคาหมูที่สูงขึ้นนั้น ยังไม่มีใครรู้ว่าราคานี้จะขึ้นไปอีกถึงเมื่อไหร่ โดยแม่ค้าบางรายได้คาดการณ์ว่า ราคาหมูอาจจะแพงเช่นนี้ไปถึงเดือนเมษายน ปีนี้ ซึ่งภาครัฐจะแก้ไขปัญหานี้ต่อไปอย่างไร หรือจะมีคำแนะนำให้เราเริ่มเลี้ยงหมู เหมือนที่เคยแนะนำการเลี้ยงไก่หรือไม่ เราคงต้องติดตามกันต่อไป
.
อ้างอิงจาก
https://ch3plus.com/news/program/272252
https://www.thansettakij.com/economy/508447
https://www.prachachat.net/local-economy/news-833141
https://www.prachachat.net/economy/news-833656
https://www.thairath.co.th/news/local/2276980
https://www.banmuang.co.th/news/region/264622
https://www.khaosod.co.th/economics/news_6813263
https://news.thaipbs.or.th/content/311162
#explainer #TheMATTER