วันที่ 25-26 ม.ค. นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ
การเยือนซาอุฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่มีการพบปะกันระหว่างผู้นำประเทศของทั้งสองชาติ ตอกย้ำสัญญาณกระชับความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างไทยกับซาอุฯ
แต่ทำไมต้อง ‘ฟื้นฟูความสัมพันธ์’ ความสัมพันธ์ไทย–ซาอุฯ ตกต่ำลงจนเกือบตัดสัมพันธ์ทางการทูต ตั้งแต่เมื่อไหร่ และเกิดขึ้นได้อย่างไร? The MATTER ชวนย้อนรอยประวัติศาสร์ความสัมพันธ์ของไทยและชาติมหาอำนาจแห่งอาหรับ คดีความต่างๆ ที่เป็นชนวนเหตุบาดหมาง และเหตุการณ์ต่อๆ มา จนถึงความพยายามฟื้นสัมพันธ์ในปัจจุบัน
จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ของไทย ประเทศไทยกับซาอุฯ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2500 และมีการยกสถานะเป็นความสัมพันธ์ในระดับเอกอัครราชทูตเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2509 ตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนของทั้งสองประเทศก็ดำเนินไปอย่างราบรื่น
แต่แล้วไทย–ซาอุฯ ก็เริ่มบาดหมางกันในช่วงปี 2532-2533 ซึ่งมีอยู่ 4 เหตุการณ์ที่เป็นชนวนเหตุร้าวฉาน นั่นคือ (1) คดีสังหารนักการทูตซาอุฯ 2 ครั้ง (2) คดีอุ้มฆ่า ‘อัลรูไวลี’ และ (3) คดีลักลอบขโมยเพชรซาอุฯ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนก็คือการฆ่าเจ้าหน้าที่การทูตซาอุฯ กลางกรุงเทพฯ จำนวน 1 ราย เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2532 และอีกครั้งเมื่อ 1 ก.พ. 2533 อีกจำนวน 3 ราย รวมเป็น 4 ราย ซึ่งไม่สามารถหาตัวคนผิดได้
กรณีนี้ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางศึกษา จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเขียนบทความ “ไทย–ซาอุดิอาระเบีย: จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”” วิเคราะห์ว่า มีต้นตอมาจากความขัดแย้งระหว่างอิหร่าน–ซาอุฯ ซึ่งมีมาแต่เดิมมากกว่า โดยยังเกิดเหตุคล้ายๆ กันในอีกหลายประเทศ ไม่เพียงแต่ที่ไทย
ส่วนเหตุการณ์ที่ ดร.ศราวุฒิ มองว่า ส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ของไทยโดยตรงเลย ก็คือ คดีอุ้มฆ่า ‘โมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี’ นักธุรกิจชาวซาอุฯ และสมาชิกราชวงศ์อัลซะอูดของซาอุฯ ซึ่งต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์สังหารนักการทูต และเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของไทยโดยตรง
อัลรูไวลี คือนักธุรกิจที่เข้ามาอยู่ที่ไทยเมื่อช่วงปี 2529 ดำเนินธุรกิจจัดส่งแรงงานไปประเทศแถบตะวันออกกลาง และหายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2533 มีการรายงานว่า อัลรูไวลี ตกเป็นผู้ต้องสงสัยคดีสังหารนักการทูต จนมีการนำตัวไปสอบเค้น แต่เกิดความผิดพลาดจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
คดีนี้ ดร.ศราวุฒิ เห็นว่า กระทบกับความสัมพันธ์ไทย–ซาอุฯ อย่างจริงจัง ด้วยเหตุผลหลักๆ 3 ประการ คือ อัลรูไวลีเป็นเชื้อพระวงศ์โดยตรง สองคือ การถูกทำร้ายจนตายถือเป็นเรื่องที่จะต้องชดใช้ด้วยชีวิต ตามธรรมเนียมของระบบชนเผ่าอาหรับ ซึ่งสร้างความเจ็บแค้นให้กับชาวซาอุฯ และอีกเหตุผลหนึ่งคือ การหายตัวไปทำให้เกิดความยุ่งยากในทางศาสนาและกฎหมายมรดกในฝั่งซาอุฯ
ส่วนคดีเพชรซาอุฯ หรือคดี ‘บลูไดมอนด์’ สุดอื้อฉาวที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินกันดี ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยส่งผลให้ความสัมพันธ์ตกต่ำลง
เรื่องนี้เกิดเมื่อเดือน ส.ค. 2532 เมื่อ เกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานไทยที่ไปทำงานในวังของซาอุฯ ได้ลักลอบเพชรจำนวนหนึ่งจากวังกลับเข้าประเทศ โดยเฉพาะที่สำคัญ คือ เพชร ‘บลูไดมอนด์’ ที่เม็ดใหญ่ที่สุด
คดีนี้ยังมีแง่มุมลึกลับอยู่อีกหลายแง่มุม แต่ขอข้ามมาเฉพาะตอนส่งคืนของกลางที่เจ้าหน้าที่ได้ติดตามกลับมา ซึ่งก็พบว่าได้คืนมาไม่ครบ โดยเฉพาะเพชร ‘บลูไดมอนด์’ ที่หายไป อีกทั้งยังมีการปลอมแปลงของกลางอีก ทำให้ทางฝั่งซาอุฯ ไม่พอใจเป็นอย่างมาก
คดีต่างๆ และเหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมา กต. ระบุว่า ส่งผลกระทบหนักต่อความสัมพันธ์ ทำให้ฝั่งซาอุฯ ประกาศลดระดับความสัมพันธ์จากระดับเอกอัครราชทูต ให้เหลือเพียงระดับอุปทูต และยังมีมาตรการตอบโต้อีกหลายประการ อาทิ ห้ามมิให้ชาวซาอุฯ เดินทางมาไทย ไม่ออกวีซ่าให้คนไทยไปทำงานในซาอุฯ และไม่ประทับตราวีซ่าไป–กลับให้กับแรงงานไทยในซาอุฯ
ในช่วงหลายทศวรรษต่อมา ความสัมพันธ์ไทย–ซาอุฯ ถือว่ามีความตึงเครียดเรื่อยมา เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นภาพ อัจฉรา อัชฌายกชาติ รายงานในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ว่า ในปี 2558 มีคนไทยทำงานอยู่ในซาอุฯ แค่หลักร้อย จากเดิมที่มีมากถึง 500,000 คนก่อนลดระดับความสัมพันธ์ และนักศึกษาในซาอุฯ จากเดิมที่มีหลักพัน ก็เหลือเพียง 300 คน
อย่างไรก็ดี ในช่วงปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นฟูความสัมพันธ์เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ดร.ศราวุฒิ วิเคราะห์ไว้ว่ามีอยู่ 2-3 สาเหตุที่สำคัญๆ หนึ่งคือ ในซาอุฯ มีการแต่งตั้งคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับอนาคต และมองข้ามอดีตมากขึ้น อย่างเช่น มุฮัมมัด บิน ซัลมานฯ ราชโอรสของกษัตริย์ และ อะเดล อัล–จูเบอีร์ อดีต รมต.ต่างประเทศในช่วงปี 2558-2561
อีกเหตุผลหนึ่งคือ ซาอุฯ ต้องการลดการพึ่งพาการขายน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีที่มาจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงต้องการเปิดประเทศและความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น โดยไทยเองก็เป็นเป้าหมายสำคัญที่ซาอุฯ มองว่ามีศักยภาพ
ทางฝั่ง กต.ไทย ระบุว่า มีความพยายามรักษาการติดต่อและประคับประคองความสัมพันธ์มาโดยตลอด ที่ผ่านมา การฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย–ซาอุฯ ถือเป็นนโยบายที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาลไทยหลายชุด และในช่วงปีที่ผ่านมา ก็เริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น
นับเฉพาะรัฐบาลประยุทธ์ มีการพบปะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทย–ซาอุฯ อยู่หลายครั้ง อาทิ การหารือ 3 ฝ่าย ระหว่างนายกฯ ไทย, นายกฯ บาห์เรน และ รมต.ต่างประเทศซาอุฯ ในช่วงการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9-10 ต.ค. 2559
ในการประชุม G20 ที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2562 ก็ปรากฏภาพการพบปะกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ มกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน ซัลมานฯ ขณะที่ในช่วงต้นปี 2563 ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.กต ได้เดินทางไปเยือนซาอุฯ ตามคำเชิญของซาอุฯ และได้หารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของซาอุฯ
จนมาถึงปีนี้ ก็มีการประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการเดินทางเยือนซาอุฯ อย่างเป็นทางการของ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งทาง กต. ของซาอุฯ ก็ระบุว่า จะได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในหลายๆ ประเด็น ขณะที่ทางสำนักนายกฯ ของไทย ก็หวังว่า การเยือนครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายให้แน่นแฟ้นมากขึ้น
ต้องจับตาดูกันต่อไปในเร็วๆ นี้ ว่าคนไทยจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการปรับความสัมพันธ์ในครั้งนี้ และคงต้องมาดูว่า ทั้งสองชาติสามารถก้าวข้ามบาดแผลในอดีตอันสาหัสได้อย่างแท้จริงแล้วหรือยัง
อ้างอิงจาก
https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc1c15e39c3060009fd4
http://www.ias.chula.ac.th/article/ไทย–ซาอุดิอาระเบีย–จากส/
https://www.bbc.com/thai/49821635
https://www.bangkokpost.com/print/721076/
https://www.bangkokbiznews.com/politics/600662
https://www.matichon.co.th/foreign/news_3146613
https://www.prachachat.net/politics/news-848583