“กลับบ้านไป โกตา” ผู้ชุมนุมพูดกับประธานาธิบดี ‘โคฐาภยะ ราชปักษะ’ ประธานาธิบดีของศรีลังกา
“ผมโหวตให้โกตา คิดว่าเขาเป็นราชสีห์ แต่ตอนนี้เห็นได้ว่าเขาแย่ยิ่งกว่าหมา ผมรักประเทศของผม แต่ไม่รู้ว่าจะมีประเทศหลงเหลือให้กับลูกหลานของผมอีกหรือไม่” อูปุล ชาวศรีลังกาวัย 50 ปี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Guardian
‘ศรีลังกา’ เป็นประเทศเกาะเล็กๆ ที่อยู่ใต้อินเดีย หลายคนอาจจะรู้จักประเทศแห่งนี้จากการเป็นแหล่งปลูกใบชา หรือเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาพุทธคล้ายๆ กับไทย
แต่ในวันนี้ ศรีลังกากำลังต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 1948 ส่งผลให้ประชาชนออกมาประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีกันเป็นวงกว้าง
เกิดอะไรขึ้นที่ศรีลังกา? มีที่มาที่ไปจากอะไร? The MATTER จะมาอธิบายให้ฟัง
วิกฤตเศรษฐกิจของศรีลังกา มีที่มาจากอะไร?
เศรษฐกิจศรีลังกากำลังเจอกับวิกฤตที่หนักหนาที่สุดครั้งหนึ่ง เห็นได้จากค่าเงินรูปีของศรีลังกาที่ตกต่ำมากกว่า 30% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ หรือถ้าเทียบกับเงินบาทไทย จะเห็นว่า 1 บาทเคยแลกได้ประมาณ 6.20 รูปีเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว แต่ในวันนี้ 1 บาทแลกได้มากถึง 9.30 รูปี
หรือในมุมของประชาชน นิตยสาร The Economist ชี้ว่า อาหารและพลังงานเข้าขั้นขาดแคลนมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ แก๊สหุงต้มราคาพุ่ง ขณะที่ไฟฟ้าถูกตัด 13 ชั่วโมงต่อวัน กระทบแม้กระทั่งคนชนชั้นระดับบนๆ ที่ต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนไม่ต่างจากประชาชนทั่วไป
สาเหตุหลักๆ ในภาพรวมของปัญหาเหล่านี้ที่คนพูดถึงกันก็คือ ‘การบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด’ ของรัฐบาลที่เรื้อรังมาหลายปี ซึ่งเราอาจแจกแจงได้ดังต่อไปนี้
ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา รัฐบาลยืมเงินจำนวนมากจากต่างประเทศเพื่อมาลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ทั้งจากจีน อินเดีย หรือญี่ปุ่น หากนับแค่จีน ก็ยืมมาประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจนถึงตอนนี้ โครงการต่างๆก็ยังไม่ได้มีผลตอบแทนที่งอกเงยแต่อย่างใด
อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ คือ นโยบายลดภาษีอย่างหนักของประธานาธิบดีราชปักษะที่ประกาศตั้งแต่ปี 2019 หวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่เป็นผล กลับทำให้เงินในคลังลดลง ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์โรคระบาดเพียงไม่กี่เดือน
แน่นอน ศรีลังกายังต้องเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด ซึ่งส่งผลกระทบหนักกับเศรษฐกิจ กระทบทั้งธุรกิจท่องเที่ยว และจำนวนเงินส่งกลับประเทศจากแรงงานในต่างประเทศ ยังไม่รวมไปถึงสาเหตุอื่นๆ อย่างเช่นมาตรการที่รัฐบาลประกาศในปี 2021 ซึ่งห้ามเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีอยู่ช่วงหนึ่ง ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตสำหรับการส่งออกที่ลดลงไปแบบครึ่งๆ
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบ เช่น พายุมรสุมรุนแรงที่คร่าชีวิตคนไปหลายสิบคน หรือเหตุระเบิดในวันอีสเตอร์เมื่อปี 2019 ที่มีผู้เสียชีวิตถึงมากกว่า 250 คน กระทบหนักกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของประเทศ
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในศรีลังกาทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างประเทศลดอันดับ credit ratings ของศรีลังกา จนเกือบอยู่ในระดับที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เท่ากับว่าศรีลังกาแทบจะหมดโอกาส เข้าถึงตลาดเงินทุนต่างประเทศไม่ได้อีกต่อไป
เมื่อไม่มีเงินใช้หนี้ ศรีลังกาจึงหันมาใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ (foreign exchange reserves) เพื่อจ่ายหนี้ของรัฐบาล ส่งผลให้เงินทุนร่อยหรอ เหลือเพียง 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่มีถึง 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2018 ปัจจัยนี้กระทบต่อการนำเข้าของศรีลังกา ทั้งพลังงานและสินค้าจำเป็นอื่นๆ ส่งผลให้ราคาพุ่งสูงขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังประกาศลอยค่าเงินรูปีของศรีลังกาเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะเริ่มคุยกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของ IMF ก่อนที่จะอนุญาตปล่อยเงินกู้ การประกาศลอยค่าเงินเช่นนี้ส่งผลให้ค่าเงินรูปีตกต่ำอย่างหนัก
และแน่นอนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือประชาชนคนธรรมดา ยังไม่ต้องพูดถึงเหตุการณ์ล่าสุดอย่างกรณีรัสเซียบุกยูเครน ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับราคาสินค้าต่างๆ
ส่งผลกระทบอะไรบ้างกับประชาชน สถานการณ์ประท้วงเป็นอย่างไร?
อย่างที่ได้เกริ่นไป ประชาชนเป็นฝ่ายที่ต้องได้รับผลกระทบมากที่สุด และต้องตกอยู่ในสภาวะที่ใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบากมากขึ้นทุกวัน CNN รายงานว่า วิกฤตเศรษฐกิจได้ทำให้ชีวิตประจำวันของผู้คนต้องกลายเป็น “วงจรอันไม่สิ้นสุดของการยืนต่อแถวเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคพื้นฐาน” ทั้งน้ำมันรถ แก๊สหุงต้ม หรือสินค้าอาหารทั่วไป ซึ่งนอกจากจะขาดแคลน ก็มีราคาพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
CNN ยังบอกอีกว่า ประชาชนต้องต่อแถวรอคิวกลางแดดเป็นชั่วโมงๆ บางคนถึงกับเสียชีวิตในคิวเลยก็มี ขณะที่บางส่วนยิ่งลำบาก เนื่องจากต้องทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว แต่ก็ต้องหาเวลามาต่อคิวซื้อสินค้าอุปโภคด้วยในขณะเดียวกัน
ขณะที่สินค้าหลายๆ อย่างก็ขาดแคลน มีรายงานว่ารัฐบาลต้องเลื่อนการสอบของนักเรียนหลายล้านคนเพราะกระดาษไม่เพียงพอ หรือในกรณีของการตัดไฟ 13 ชั่วโมงต่อวัน ก็ส่งผลให้ร้านค้าหลายแห่งต้องปิดตัวลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าสำหรับตู้เย็นหรือเครื่องปรับอากาศ
แน่นอนว่าสภาวะยากลำบากดังกล่าวสร้างความไม่พอใจเป็นวงกว้างให้กับประชาชน The Economist ระบุว่า แม้แต่กลุ่มคนที่มีฐานะ ก็ยังรู้สึกได้ถึงผลกระทบจากสภาวะสินค้าขาดแคลน ทำให้คนเหล่านี้ออกมาประท้วงกันมากขึ้น จากเดิมที่มักจะไม่ปรากฏตัวในการชุมนุมต่างๆ
และเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (9-10 เม.ย.) ก็น่าจะเป็นการชุมนุมครั้งที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งตั้งแต่ประเทศเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ผู้ชุมนุมหลักหมื่นคนเดินขบวนมุ่งหน้าสู่ทำเนียบของประธานาธิบดีราชปักษะ ตะโกนว่า “กลับบ้านไป โกตา” เรียกร้องให้ผู้นำลาออก
การชุมนุมส่วนใหญ่ยังเป็นไปอย่างสงบ บางแห่งในเมืองหลวงมีบาทหลวงและแม่ชีคาทอลิกเป็นผู้นำการเดินขบวน แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็ขู่ว่าพร้อมใช้แก๊สน้ำตาและรถฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุมด้วย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 เม.ย.) มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้ฉีดน้ำใส่เด็กนักเรียนที่มาชุมนุม
และแม้จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 1 เม.ย. โดยให้อำนาจกองทัพควบคุมการชุมนุม และมีการประกาศเคอร์ฟิว ก่อนที่จะมายกเลิกใน 5 วันถัดมา แต่การชุมนุมก็ได้แพร่หลายไปแล้วทั่วประเทศ ขณะนี้ถือว่าอารมณ์โกรธของประชาชนพุ่งถึงขีดสุด
รัฐบาลจะทำอะไรต่อไป?
ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีในรัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีราชปักษะได้ลาออกกับแทบยกคณะ ยกเว้นเพียงแต่นายกรัฐมนตรี มหินทะ ราชปักษะ ซึ่งเป็นพี่ชายของประธานาธิบดีเอง สถานภาพของรัฐบาลถือว่าไม่มั่นคงอย่างสูง เห็นได้ชัดจากกรณีของ อาลี ซาบรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ที่ลาออกหลังจากเข้ารับตำแหน่งได้แค่วันเดียว
ท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ ประธานาธิบดียังยืนกรานว่าจะไม่ลาออก แต่ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่าย “ร่วมกันทำงานเพื่อประโยชน์ของพลเมืองทุกคนและคนรุ่นหลังต่อไปในอนาคต” และเรียกร้องให้ประชาชนทุกคน ‘สนับสนุน’ รัฐบาล “เพื่อเอาชนะความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ประเทศต้องเผชิญ”
แล้วรัฐบาลจะทำอะไรต่อไป? อย่างที่ได้พูดถึงไป IMF เปิดเผยว่าน่าจะได้ร่วมเจรจากับรัฐบาลศรีลังกาในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติปล่อยเงินกู้ช่วยเหลือศรีลังกา ในระหว่างนี้ รัฐบาลน่าจะหันมาขอความช่วยเหลือทางการเงินจากประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคอย่างจีนและอินเดียด้วยเช่นกัน (แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเห็นว่าจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี)
นอกจากนี้ บทความของ The Economist ได้อธิบายว่า รัฐบาลได้แต่งตั้ง นันดาลัล วีระสิงห์ ให้เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมานี้ ซึ่งถือว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับความเคารพนับถือ ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลน่าจะรับรู้แล้วว่าวิกฤตครั้งนี้หนักหนาอยู่พอสมควร และได้พยายามแก้ปัญหาแล้ว เห็นได้ชัดทั้งจากทั้งการแต่งตั้งวีระสิงห์และการมุ่งเจรจากับ IMF
แต่ The Economist ก็ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ประชาชนศรีลังกาที่โกรธถึงขีดสุดแล้ว จะให้โอกาสรัฐบาลหรือไม่ นั่นก็เป็นอีกคำถามที่ต้องถาม
อ้างอิงจาก