ในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นข่าวนักกิจกรรมทางการเมืองถูกบุกค้น ควบคุมตัว กระทั่งส่งตัวเข้าเรือนจำ ถี่หนักมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างล่าสุดคือ กรณีของ ‘ใบปอ’ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ และ ‘บุ้ง’ เนติพร เสน่ห์สังคม สองนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง ที่ศาลมีคำสั่งให้ถอนประกัน และถูกควบคุมตัวไปยังเรือนจำทันที ในวันที่ 3 พ.ค. 2565
เย็นวันเดียวกัน เราเห็นอีกข่าว คือข่าวของ ‘พลอย’ เบญจมาภรณ์ นิวาส เพื่อนนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง โกนหัวหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ใกล้เคียงกับทัณฑสถานหญิงกลางที่เป็นสถานที่คุมขังใบปอและบุ้ง เพื่อประท้วงและเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
ทำไมเยาวชนวัย 17 ปี ถึงต้องทำขนาดนี้? หนึ่งวันหลังจากที่โกนหัว The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘พลอย’ และขอให้เธอเล่าถึงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ครั้งนี้ รวมถึงการเคลื่อนไหวในครั้งที่ผ่านๆ มา
อันดับแรก ทำไมต้องโกนหัว? พลอยเล่าว่า “จุดประสงค์ก็คือ พลอยต้องการที่จะโกนหัวประท้วงให้ปล่อยตัวนักโทษในเรือนจำในคดีทางการเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นป้าอัญชัญ เก็ท ตะวัน บุ้ง ใบปอ เอกชัย หรือว่าเด็กๆ ทะลุแก๊สที่ยังอยู่ในสถานพินิจหรือเรือนจำ”
และอันที่จริง การโกนหัวในครั้งนี้ พลอยบอกว่าเป็นการล้อไปกับแคมเปญที่เธอเคยทำเมื่อ 2 ปีก่อน หากยังจำกันได้ พลอยคือเด็กนักเรียนที่ออกมาทำแคมเปญ #เลิกบังคับหรือจับตัด บริเวณสยามสแควร์ เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2563 โดยอนุญาตให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาใช้กรรไกรตัดผมของเธอ เพื่อสะท้อนถึงปัญหาบังคับตัดผมนักเรียน
ครั้งนั้น พลอยติดป้ายประกาศว่า
นักเรียนคนนี้ประพฤติผิดกฎโรงเรียน ไว้ผมยาวเกินติ่งหู และไว้ผมหน้าม้า ทำลายเอกลักษณ์ของนักเรียนไทย เชิญลงโทษนักเรียนคนนี้
ถัดมา 2 ปี พลอยโกนผมพร้อมกับติดป้าย
เยาวชนคนนี้ประพฤติผิดกฎหมาย ตั้งคำถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเสื่อมเสีย ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้ายแก่สถาบันหลักของชาติ เชิญประณามเยาวชนคนนี้
ใน 2 บทบาทที่พลอยเป็น – ทั้งนักเรียนและนักกิจกรรมทางการเมือง – เธอสังเกตเห็นว่า นักเรียนในโรงเรียนกับนักโทษในเรือนจำ ก็ต้องเจอกับการละเมิดสิทธิไม่ต่างกัน “นักเรียนถูกบังคับให้ตัดผม นักโทษในเรือนจำเองก็ถูกบังคับให้ตัดผมเหมือนกัน ถูกบังคับให้ใส่เครื่องแบบ ต้องยืนตรง เข้าแถวเคารพธงชาติ โดยที่ถูกละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ไม่ต่างกันเลย”
แน่นอน การเป็นนักกิจกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย พลอยเล่าว่า ตั้งแต่เคลื่อนไหวมา 2-3 ปี ก็โดนคุกคามมาโดยตลอด มีตั้งแต่การแจกหมายเรียก จนกระทั่งช่วงหลังที่หนักขึ้น ก็เปลี่ยนจากหมายเรียกเยาวชน มาเป็นออกหมายจับ ไปจนถึงเรื่องอย่างการบุกค้นห้อง โดนติดตาม โดนแอบถ่าย หรือแม้แต่ส่งจดหมายไปขู่แม่ของพลอยที่บ้าน
พลอยเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ ในวันที่ 28 เม.ย. ที่ตำรวจบุกจับนักกิจกรรมเพื่อนๆ ของพลอยถึงในห้องพักว่า “เราอยู่ในห้องกับเพื่อนในวันนั้น แล้วตำรวจก็เคาะประตูห้อง เคาะเรื่อยๆ เคาะตลอดๆ คือเค้ามากันตั้งแต่เช้า ประมาณ 10 กว่าคน รถกระบะอีก 4 คัน แล้วเค้าถึงจะขึ้นมาบุกตอนช่วงบ่ายๆ และจับเพื่อนเราไปหมดเลย เราไม่เหลือใครเลยตอนนั้น
“ในช่วงนั้นเราก็ต้องคอยประสาน คอยอยู่กับเพื่อนคนอื่นมากขึ้น และก็รู้สึกว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่ตำรวจไล่จับหมดเลย จะเห็นได้ว่า เก็ท [โสภณ สุรฤทธิ์ธํารง กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ] ถูกส่งเข้าเรือนจำ วันต่อมาเพื่อนเราก็เข้าไปด้วย เป็นช่วงที่ตำรวจทำงานหนักมาก แต่ด้วยความที่พลอยยังเป็นเยาวชนอยู่ ตำรวจก็เลยยังทำอะไรมากไม่ได้”
แต่ทำไมถึงต้องยอมเสี่ยงขนาดนั้น? อันที่จริง พลอยบอกว่า ในความรู้สึก ก็ยังยอมรับไม่ได้ “หลายๆ ครั้งก็ตกใจและรู้สึกสะเทือนขวัญ รู้สึกกลัวเหมือนกันกับสิ่งที่ตำรวจกำลังทำ และเราก็เป็นแค่เด็ก 17 เอง เขากลับเอากำลังคนมาล้อมบุกจับเฉยเลย แล้วก็ใช้คำพูดที่เหมือนกับว่าเราเป็นนักโทษ”
แต่ที่ต้องออกมาเคลื่อนไหว เพราะมองว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่เรื่องผิด จึงยังทำให้กล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้อยู่
เพราะว่าเราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำไม่ผิด การที่เราออกมาตั้งคำถาม ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อสิทธิเสรีภาพ เพื่อความเป็นมนุษย์ มันไม่ใช่เรื่องที่ผิด สิ่งที่ตำรวจกำลังทำกับเรานั่นแหละที่ผิด คือความไม่ชอบธรรม คุณมาทำกับเยาวชนขนาดนี้ได้ยังไง ทั้งๆ ที่แค่ออกมาพูด ออกมาตั้งคำถามอย่างเดียว
นอกจากนี้ พลอยยังเชื่อว่า มันคือหน้าที่ที่จะต้องออกมาทวงคืนสิทธิของตัวเอง ขณะเดียวกัน หลังจากที่เคลื่อนไหวมา ก็รู้สึกว่าตัวเองถอยไม่ได้แล้ว “เพราะได้ออกมามองเห็นสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน มองเห็นคุณภาพชีวิต ระบบการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ ความยากจนหิวโหย มันทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่เฉยๆ โดยที่ไม่สนใจการเมืองได้แล้ว”
ท้ายที่สุด พลอยบอกว่า การเคลื่อนไหวของเธอก็มีเป้าหมายเหมือนๆ กับทุกคน นั่นคือ เธออยากเห็น ‘ประชาธิปไตย’ และความเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งเธอร่ายยาวว่า อยากจะเห็นทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น มีรัฐสวัสดิการ หรือการที่ประชาชนมีทางเลือกที่จะเติบโตหรือลืมตาอ้าปากได้ โดยที่สุดท้ายไม่ต้องใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับระบอบหรืออำนาจที่กดขี่
หลังจากนี้ พลอยเปิดเผยว่า ยังมีแผนที่จะทำกิจกรรมเพื่อกดดันให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองต่อไป แต่ก็ตระหนักดีว่า สุดท้ายก็ยังขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจอยู่ดี ว่าจะให้ออกจากเรือนจำหรือไม่ให้ออก
“หน้าที่ของเรามีแค่ส่งเสียงต่อไปยังสังคมว่า ทุกวันนี้ยังมีเพื่อนหรือมีนักโทษคดีทางการเมืองที่ยังอยู่ในเรือนจำ แล้วก็ส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจด้วยว่า คุณต้องปล่อยตัวเพื่อนของเราออกมาได้แล้วนะ แม้กระทั่งพรรคการเมืองเอง ก็ต้องกดดันให้ศาลออกคำสั่งปล่อยตัวเพื่อนเราได้แล้ว