ค่ำวันที่ 13 มิ.ย. 2565 มูล ทุน ชาวประมงท้องถิ่นในกัมพูชา จับปลากระเบนน้ำจืดยักษ์ได้ในแม่น้ำโขง เขารู้เพียงแค่ว่า เป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดที่เคยเห็นมาในชีวิต จึงรีบโทรแจ้งกับนักวิจัยที่ติดต่อกัน คือ ดร.เซ็บ โฮแกน รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเนวาดา เรโน กับทีมวิจัยของเขาในโปรเจกต์ Wonders of the Mekong ซึ่งได้รับเงินทุนจากองค์กร USAID ของสหรัฐฯ
เมื่อนักวิจัยมาถึงและวัดขนาดปลากระเบนเพศเมียตัวนี้ ซึ่งถูกตั้งชื่อว่า ‘บอระมี’ ที่แปลว่า พระจันทร์เต็มดวง เนื่องจากรูปทรงของมัน และเนื่องจากมันถูกปล่อยลงน้ำในคืนพระจันทร์เต็มดวง ก็พบว่า มันเป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยน้ำหนัก 300 กิโลกรัม และความยาวเกือบ 4 เมตร
ทำลายสถิติเดิมของปลากระเบนยักษ์แม่น้ำโขง ที่จับได้ในไทยเมื่อปี 2548 กับน้ำหนัก 293 กิโลกรัม (ซึ่งตอนนั้นถูกฆ่าและนำไปขาย) หลังจากนั้น นักวิจัยก็พยายามศึกษาปลากระเบนในแม่น้ำ 2 สายของไทย ที่จะมาทำลายสถิติมาโดยตลอด พบว่ามีอยู่หลายตัว แต่ยังไม่สามารถยืนยันน้ำหนักได้
ต่อมา ก็เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าขึ้นในเดือน ต.ค. 2559 เมื่อมีปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลองตายนับ 70 ตัว ครั้งนั้น กรมควบคุมมลพิษแถลงผลพิสูจน์โดยสันนิษฐานว่า เกิดจากน้ำกากส่ารั่วจากการระบายน้ำของโรงงานเอทานอล ทำให้แอมโมเนียอิสระเข้มข้นสูง เป็นพิษต่อปลากระเบนและสัตว์น้ำในแม่น้ำ
หลังจากนั้น นักวิจัยก็พบว่า ในแม่น้ำแม่กลอง ปลากระเบนมีจำนวนที่ลดลงอย่างมาก และมักไม่พบตัวใหญ่ๆ เลย ยังไม่นับข้อเท็จจริงที่ว่า ปลากระเบนมักถูกจับนำมาขายในตลาด เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก ไม่ต่างจากปลากระเบนที่ทำลายสถิติเมื่อปี 2548
การพบเจ้าบอระมีในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นตัวที่ 4 ที่มีการค้นพบในจุดเดิมในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ก็สะท้อนให้เห็นถึงความหวังในการอนุรักษ์ โฮแกนระบุว่า “ข้อเท็จจริงที่ว่า ปลายังตัวใหญ่ได้ขนาดนี้ ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับแม่น้ำโขงแล้ว”
โฮแกนชี้ว่า การมีอยู่ของปลาตัวนี้เป็นข้อบ่งชี้ถึงสุขภาพของระบบนิเวศของมันได้ และแม้สถิติโลกอาจจะไม่ได้สำคัญอะไรในทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจ และช่วยย้ำเตือนคนในท้องถิ่นถึงความสำคัญของแม่น้ำโขงได้ด้วย
สำหรับปลากระเบนยักษ์ โฮแกนบอกว่า เป็นปลาที่มีการศึกษาน้อยมาก แม้แต่ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของมันยังถูกเปลี่ยนมาแล้วหลายครั้งในรอบ 20 ปี “มันถูกพบได้ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เราแทบไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับมันเลย เราไม่รู้เกี่ยวกับประวัติชีวิตของมัน นิเวศวิทยาของมัน รูปแบบการอพยพของมัน”
ในการจับปลากระเบนได้ครั้งนี้ ก่อนที่จะปล่อยลงแม่น้ำโขงตามเดิม ทีมของโฮแกนจึงถือโอกาสติดแท็กอะคูสติกเพื่อมอนิเตอร์การเคลื่อนไหวของเจ้าบอระมี โดยจะมีตัวรับสัญญาณอยู่ 36 แห่งตามแนวแม่น้ำ
อ้างอิงจาก
https://www.nytimes.com/2022/06/20/science/giant-stingray-mekong.html
http://www.mnre.go.th/th/news/detail/2163