หนึ่งในภารกิจสำคัญของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขช่วงนี้ คือ การเฝ้าระวัง COVID-19 สายพันธ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นในไทยอย่างต่อเนื่อง ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพิ่งเผยว่า ตอนนี้ผู้ติดเชื้อในไทย 100% ป่วยด้วยสายพันธ์ุ ‘โอมิครอน’ และจากกลุ่มตัวอย่าง 948 ราย มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธ์ุย่อย BA.4 และ BA.5 สูงถึง 489 ราย คิดเป็น 51.7% จากทั้งหมด
สถิติข้างต้นน่าจะสร้างความกังวลให้ใครหลายคน ในขณะเดียวกัน เชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายคนยังสับสนว่า BA.4 และ BA.5 คืออะไร อันตรายกว่าเดิมไหม มีคนติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นหรือเปล่า วัคซีนป้องกันได้รึเปล่า หรืออาการเป็นอย่างไร ชวนอ่านไขข้อสงสัยกันได้ ดังนี้
– สายพันธ์ุย่อย BA.4 และ BA.5 คืออะไร –
ไวรัสสามารถวิวัฒนาและกลายพันธุ์ได้เรื่อยๆ ซึ่ง ‘BA.4’ และ ‘BA.5‘ เป็นสายพันธุ์ย่อยที่เกิดจากการวิวัฒนาการของไวรัสโอมิครอน พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นเหมือนสายพันธุ์ย่อยน้องใหม่ของโอมิครอนที่ตรวจเจอแล้วในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ถูกพบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ในช่วงเดือนมกราคม–กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้านกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ เปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 65 ว่า สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับสายพันธุ์เดลตา
ในขณะที่ WHO เพิ่งรายงานเมื่อ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่า มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 18% และเหตุที่อัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นนั้น สัมพันธ์กับสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ที่คนติดเชื้อเยอะขึ้น
และวารสารวิทยาศาสตร์เนเจอร์ รายงานว่า สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 สามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นก่อนหน้า และยังไม่พบรายละเอียดที่บ่งชี้ชัดเจนว่า BA.4 และ BA.5 จะทำให้โอกาสเสียชีวิต–โอกาสต้องรักษาใน รพ. เพิ่มสูงขึ้น หากเทียบกับสายพันธุ์ย่อยก่อนหน้า
– BA.4 และ BA.5 อันตรายมากน้อยขนาดไหน –
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า BA.4 และ BA.5 มีแนวโน้มที่จะระบาดและติดต่อกันได้ง่ายกว่า ซึ่งอาจเป็นผลมาจากมาตรการป้องกันโรคที่เริ่มผ่อนคลายลง และการกลายพันธุ์ของตัวไวรัสเอง
แต่จากข้อมูลที่มีขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 จะไม่อันตรายมากไปกว่าไวรัสสายพันธุ์อื่น เพราะบางคนก็มีภูมิคุ้มกันบางส่วนจากการติดเชื้อและการฉีดวัคซีน ที่แม้จะไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่ก็ช่วยลดความเสี่ยงอันตรายจากการติดเชื้อได้
อย่างไรก็ดี WHO รายงานว่า BA.4 และ BA.5 มีโอกาสที่จะหลบหลีกภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะภูมิคุ้มกันที่มาจากวัคซีน หรือภูมิคุ้มกันจากการเคยติดเชื้อ COVID-19
– ฉีดวัคซีนครบ–เคยติดเชื้อมาก่อน จะติด BA.4 และ BA.5 ได้ไหม –
ได้ ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบคอร์สก็มีโอกาสติดได้ (แต่แน่นอนว่าความรุนแรงของโรคจะลดลง) และผู้ที่เคยติดเชื้อ COVID-19 มาก่อน (แม้จะเคยติดสายพันธุ์โอมิครอนอื่นแล้วก็ตาม) ก็มีโอกาสติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5
– อาการเป็นอย่างไร –
หากติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 อาจมีอาการ ดังนี้
– ไข้
– ไอ
– น้ำมูก
– เจ็บคอ
– อ่อนเพลีย
– ปวดศีรษะ
– ปวดกล้ามเนื้อ
– จาม
และจากแถลงข่าวสถานการณ์ COVID-19 วันนี้ (4 ก.ค. 65) กระทรวงสาธารณสุขเผยว่า คนไข้ที่ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 มักจะมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ค่อนข้างเยอะ โดยหากพบอาการน่าสงสัย แนะนำให้ตรวจ ATK ได้ทันที
– วิธีป้องกัน –
แม้จะฟังดูไม่อันตราย แต่โอกาสป่วยอย่างรุนแรงก็ยังมีอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ–ผู้ป่วยหนัก ซึ่งวิธีการป้องกันตัวเองอย่างง่ายที่สุด ก็คือ หมั่นล้างมือและฉีดวัคซีน แม้วัคซีนจะไม่ได้ช่วยป้องกันได้ 100% แต่ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค ณ ขณะนี้
ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตอนนี้พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และเชื่อว่ายังไงก็ต้องอยู่ร่วมกับ COVID-19 ต่อไป เขาได้ย้ำถึงแนวทางการป้องกันไว้ ดังนี้
1) มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล หรือก็คือส่งเสริมให้กลับมาสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาแม้มีการผ่อนคลายแล้ว เช่น ขณะออกจากบ้าน ขณะใช้ขนส่งสาธารณะทุกประเภท ขณะร่วมกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก หรือขณะอยู่ในสถานที่ปิด เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ
2) ฉีดวัคซีน (ทั้งเข็มแรก และเข็มกระตุ้น) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการป่วยหนัก
ซึ่ง 2 กระบวนการนี้จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ ป้องกันการป่วยหนัก และลดอาการป่วยที่รุนแรง
– สถานการณ์ BA.4 และ BA.5 ในไทยเป็นอย่างไร –
วันนี้ (4 ก.ค. 65) กระทรวงสาธารณสุขเผยว่า พบผู้ติดเชื้อ BA.5 และ BA.5 ในไทยมากขึ้น (จาก 17% ขึ้นเป็น 20%) โดย นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ไทยกำลังเข้าสู่ระยะที่อาจพบการระบาดเพิ่มเติมมากขึ้น เพราะโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เริ่มระบาดแล้ว ทั้งนี้ นพ.จักรรัฐระบุเพิ่มเติมว่า มีการคาดการณ์ว่าปริมาณผู้ติดเชื้อน่าจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่สัปดาห์นี้ จนถึงอีก 10 สัปดาห์หลังจากนี้
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า จากกลุ่มตัวอย่าง 948 ราย ตรวจพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ในไทยแล้วกว่า 51.7% (หรือก็คือ 489 ราย) และเขาอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ตอนนี้พบผู้ติดเชื้อในไทยแล้วอย่างน้อย 1,000 ราย ซึ่งสัดส่วนผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากสัปดาห์ก่อน ซึ่งสถานการณ์แบบนี้อาจคาดการณ์ได้ว่า BA.4 และ BA.5 อาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทยได้
อ้างอิงจาก
https://www.facebook.com/fanmoph/videos/1007868346560564/
https://www.facebook.com/fanmoph/videos/393718902738009
https://www.komchadluek.net/covid-19/521135
https://www.nature.com/articles/d41586-022-01730-y
https://www.nytimes.com/2022/06/28/health/covid-subvariants-ba4-ba5.html
https://www.bbc.com/news/health-55659820
https://www.mirror.co.uk/news/uk-news/what-symptoms-ba4-ba5-omicron-27359735