เป็นคนสู้โควิด แต่โควิดก็สู้กลับ
เมื่อความอยากรอดไปถึงซีซั่นสุดท้าย เป็นสิ่งที่หลายคนหวัง แต่ COVID-19 ก็ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง จนมีสายพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ จนไม่รู้แล้วว่า ซีซั่นสุดท้ายจะมาเมื่อไหร่ แถมล่าสุด การระบาดก็เริ่มกลับมาอยู่ในแวดวงใกล้ชิดของเราอีกครั้ง ด้วย COVID-19 สายพันธุ์ลูกหลานจากโอไมครอนที่มีชื่อว่า BA.4 และ BA.5 นั่นเอง
ทวนข้อมูลกันแบบสั้นๆ ว่า ก่อนหน้านี้เราเคยเจอสายพันธุ์โอไมครอน (B.1.1.529) ที่ความสามารถในการแพร่ระบาดจัดว่าเซียน แพร่ง่าย ติดง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ จากนั้นเราก็มาเจอกับ BA.2 สายพันธุ์แยกย่อยจากโอไมครอน พร้อมด้วยความสามารถที่ทวีคูณขึ้นมาอีกครั้ง
แต่ตอนนี้ สายพันธุ์ที่ทั่วโลกกำลังกังวลกันก็คือ BA.4 และ BA.5 ซึ่งขึ้นชื่อว่า แพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ BA.2 ไปอี๊กก
แล้ว BA.4 กับ BA.5 เป็นยังไง คราวนี้มันกลายพันธุ์กันในตำแหน่งไหน แล้วผลจากการกลายพันธุ์นี้ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง? The MATTER สรุปข้อมูลมาให้แล้ว
พบครั้งแรก
ทั้งสองสายพันธุ์นี้ พบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ โดย BA.4 พบในช่วงเดือนมกราคม 2022 ขณะที่ BA.5 พบในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022
การกลายพันธุ์
เนื่องจาก สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยจาก BA.2 (ซึ่งย่อยมาจากโอไมครอนอีกที) ทำให้มีตำแหน่งกลายพันธุ์ใกล้เคียงกันมาก แต่ก็มีจุดที่ต่างกันอยู่ นั่นคือ สองสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นจาก BA.2 ในอีก 3 ตำแหน่ง ได้แก่ 69-70del, L452R, F486V ซึ่งการกลายพันธุ์ในตำแหน่งนี้ (ทั้ง L452R และ F486V) ทำให้สายพันธุ์ดังกล่าว หลบเลี่ยงภูมิคุ้นกันได้ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็มีการกลายพันธุ์กลับไปเหมือนกับสายพันธุ์ดั้งเดิมอยู่เช่นกัน โดยตำแหน่งกลายพันธุ์ที่ว่านี้คือ Q493 (จากที่ในสายพันธุ์ BA.2 BA.3 BA.4 ตำแหน่งนี้กลายพันธุ์เป็น Q493R) ซึ่งมีผลให้สายพันธุ์นี้กลับมาอ่อนไหวต่อยาในกลุ่ม mAb (Monoclonal antibody) เช่น bamlanivimab และ etesevimab อีกครั้ง (Monoclonal antibody คือแอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ออกแบบมาให้มีความจำเพาะต่อความต้องการMonoclonal antibody ที่ใช้รักษา COVID-19)
ลักษณะของสายพันธุ์
อธิบายแบบลงรายละเอียดขึ้นอีกนิด ตอนนี้เราใช้การวัดว่าแต่ละสายพันธุ์แพร่ระบาดได้ง่ายขนาดไหน โดยวัดจากตัวเลขการแพร่เชื้อพื้นฐาน (R0) ซึ่งเป็นตัวเลขที่คิดจากค่าเฉลี่ยของคนที่ติดเชื้อในเคสเริ่มต้นในกลุ่มประชากรที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะจากวัคซีนหรือจากการติดเชื้อซ้ำก่อนตาม ซึ่งหากเทียบด้วยตัวเลขนี้ จะพบว่า
- COVID-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม: 3.3
- COVID-19 สายพันธุ์เดลตา: 5.1
- COVID-19 สายพันธุ์โอไมครอน: 9.5
- COVID-19 สายพันธุ์ BA.2: 13.3
- COVID-19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5: 18.6
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งกลายพันธุ์แล้วจะเห็นว่า สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 นั้น มีความสามารถในการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และจากข้อมูลเบื้องต้นก็พบว่า ไม่ได้ทำให้อาการรุนแรงขึ้นหรือน้อยลง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ แต่กลุ่มเสี่ยงยังมีโอกาสป่วยหนักได้
ท่าทีของผู้เชี่ยวชาญต่อสายพันธุ์นี้
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป (ECDC) ประกาศให้สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) หลังจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงว่า BA.4/BA.5 เริ่มกลายเป็นสายพันธุ์หลักในหลายประเทศ รวมถึง ประเทศไทย แต่เบื้องต้นยังไม่พบความรุนแรงของสายพันธุ์เทียบเท่ากับ BA.1 และ BA.2
ชมรมแพทย์ชนบท เผยแพร่ภาพหนังสือราชการของกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุข้อความว่า ด่วนที่สุด และส่งสัญญาณเตือน เตรียมพร้อมรับ COVID-19 ระลอกใหม่ โดยเนื้อหาในเอกสารระบุด้วยว่า จากสถานการณ์การรายงานผู้ป่วย COVID-19 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าผู้ติดเชื้อ COVID-19 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้น หน่วยบริการสุขภาพประจำต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่งสูงขึ้นเพื่อให้การให้บริการรักษาพยาบาล รวมทั้งมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มีประสิทธิภาพ ผู้ให้บริการและผู้รับบริการปลอดภัย ประชาชนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล กล่าวว่า “สถานการณ์โควิดขณะนี้เขม็งเกลียวขึ้นมาใหม่ ทุกคนและทุกฝ่ายต้องช่วยกันประคองภาพรวมไม่ให้กลับไปทรุดหนักอีกรอบ แล้วรอลุ้นให้เกิดการปรับฐานโรคซาลงในช่วงอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า”
อ้างอิงจาก