เลือกตั้งไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองเท่านั้น แต่เป็นเวทีที่ประชาชนจะได้แสดงพลังว่า อยากให้ใครเข้ามามีอำนาจ พัฒนาประเทศ ใช้เงินภาษีให้เกิดประโยชน์สูงสุด – ‘กติกา’ การเลือกตั้งที่สะท้อนความต้องการของประชาชนจริงๆ จึงสำคัญ
สัปดาห์นี้ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภากำลังพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญที่จะมากำหนดกติกาที่ว่า นั่นคือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.) โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะต้องมาหาข้อสรุป คือ ‘วิธีคำนวณจำนวน ส.ส.’
ช่วงนี้เราอาจจะได้ยินฝ่ายต่างๆ พูดกันเยอะหน่อย … ‘หาร 100’ … ‘หาร 500’
ว่าแต่มันหมายถึงอะไร และสำคัญอย่างไรกับพวกเรา ตามมาใกล้ๆ The MATTER จะอธิบายให้ฟัง
ข้อมูลพื้นฐาน
เลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า ไม่ว่าจะมีขึ้นปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จะกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ไม่ใช่แค่ใบเดียวอีกแล้ว หลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ถูกแก้ไข
และจำนวน ส.ส.ก็ปรับเปลี่ยน แม้ยังใช้ 2 ระบบเช่นเดิม คือ ส.ส.เขต 400 คน (เพิ่มขึ้น, เดิม 350 คน) และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน (ลดลง, เดิม 150 คน)
วิธีคำนวณที่นั่ง
สำหรับ ส.ส.เขต มีที่มาง่ายมาก นั่นคือผู้สมัครคนไหนได้คะแนนมากที่สุดในเขตนั้นๆ และมากกว่าคะแนนไม่เลือกผู้ใด (no vote) ก็จะได้เป็น ส.ส.เขต ไปตามระเบียบ
แต่ที่วุ่นวายนิดหน่อยก็คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เดิมตัวแทนฝ่ายต่างๆ ได้ข้อสรุปในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.วิสามัญ) พิจารณาร่างกฎหมายนี้ไปนานแล้วว่า จะกลับไปใช้เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 คือแยกคำนวณจาก ส.ส.เขต และใช้สูตรหาร 100 เพื่อหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยจะแบ่งเก้าอี้ไปตามสัดส่วน
นั่นคือที่มาของสูตร ‘หาร 100’ ที่เข้าใจไม่ยาก
แต่จู่ๆ ก็มีสัญญาณใหม่จากรัฐบาล ที่หลายสื่อรายงานตรงกันว่า หลังประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีผู้อยู่ยาวนับแต่รัฐประหารในปี 2557 เรียกตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ มาถามว่าอยากได้สูตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบไหน พร้อมประกาศจุดยืนส่วนตัวว่า อยากได้สูตร ‘หาร 500’
สูตรคำนวณ ส.ส.แบบ หาร 500 คืออะไร?
มันคือการย้อนอดีตกลับไปสู่สูตรคำนวณหา ‘ส.ส.พึงมี’ เหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 โดยนำคะแนนดิบเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดไปหาร 500 แล้วดูว่า แต่ละพรรคควรจะได้ ส.ส.พึงมีกี่คน
แล้วก็นำตัวเลข ส.ส.พึงมีนั้น ไปลบกับ ส.ส.เขตที่ได้ไปแล้ว ส่วนต่างจะถูกแปลงไปเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ
เช่น หากมีผู้มาใช้สิทธิโหวต ส.ส.บัญชีรายชื่อ 38 ล้านคน การจะได้ ส.ส.พึงมี 1 คน จะต้องได้เสียงอย่างน้อย 76,000 เสียง (38,000,000 เสียง หาร 500) สมมุติมีพรรค ก. ได้ 7.6 ล้านเสียง แปลว่าจะต้องได้ ส.ส.พึงมี 100 คน แต่ถ้าพรรคนั้นๆ ชนะเลือกตั้ง ส.ส.เขต ไปแล้ว 80 คน ส่วนต่างคือ 20 คน ก็จะถูกแปลงไปเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ
เหมือนจะเข้าใจไม่ยากเท่าที่คิด
แต่ก็ทำให้ประธาน กกต. เคยอ้างถึงเครื่องคิดเลข ตอนตอบคำถามนักข่าวมาแล้ว
วิเคราะห์
หลายฝ่ายมองตรงกันว่า การเปลี่ยนสูตรคำนวณ ส.ส. จากหาร 100 ไปเป็นหาร 500 จะกระทบต่อพรรคการเมืองขนาดใหญ่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศยุทธศาสตร์ “ชนะ landslide”
เหตุที่ต้อง landslide (‘ถล่มทลาย’) หรืออย่างน้อยได้ ส.ส.เกินครึ่งหนึ่ง ขั้นต่ำ 250 คนของทั้งหมด 500 คน ก็เพราะปัจจุบัน มันมีมรดกตกทอดจากรัฐประหารปี 2557 ที่เรียกว่า ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ที่มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้คาอยู่
ถ้ายังจำกันได้ หลังเลือกตั้งปี 2562 พรรคการเมืองกลุ่มหนึ่งพยายามรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาล แต่การที่กติกาอันพิกลพิการเขียนไว้ว่า ให้ ส.ว.แต่งตั้งมาร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ด้วย (ระหว่างปี 2562-2567) ทำให้ความพยายามดังกล่าวไม่สำเร็จ ไม่รวมถึงการที่ กกต.แจกเก้าอี้ ส.ส.ให้กับพรรคเล็ก กระทั่งเสียงของพรรคการเมืองกลุ่มนั้นลดลง และพลิกมาเป็นฝ่ายค้านถึงปัจจุบัน
ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ของไทยถูกพัฒนามาตามระยะเวลา ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 เคยมีแต่รัฐบาลผสมจนทำงานไมได้ จนเกิดระบบเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อที่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ 5% ไว้ เพื่อให้ได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง ผลักดันนโยบายไปสู่ประชาชนได้จริงๆ (พร้อมกับสร้างกลไกองค์กรอิสระขึ้นมาคอยตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาล)
สูตรหาร 500 ถูกมองว่า จะทำให้เกิดรัฐบาลผสมเช่นในอดีต ที่พรรคร่วมรัฐบาลมีอำนาจต่อรองสูง ยังไม่รวมถึงเกิดพรรคเล็กจำนวนมาก ที่มีข้อครหาเรื่อง ‘กล้วย’ เช่นการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา
…
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะแก้ไขสูตรคำนวณ ส.ส. จาก ‘หาร 100’ ไปเป็น ‘หาร 500’ หรือไม่ แต่การที่จู่ๆ ก็มีการส่งสัญญาณขอแก้สิ่งที่ตกผลึกไปนานแล้วในนาทีสุดท้ายของใครบางคน ก็ถูกมองว่าอย่างน่าเคลือบแคลงสงสัย
ถามว่าเรื่องนี้เป็นการเมืองจัดๆ เลยไหม คำตอบก็คือใช่ แต่ผลของมันย่อมเกี่ยวพันกับชีวิตของพวกเราแน่ๆ เพราะจะมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลชุดต่อไปด้วยว่า จะได้คนหน้าเดิมกลับมาเป็นนายกฯ ไหม? ส.ว.ที่ประชาชนไม่ได้เลือกจะมาวุ่นวายได้แค่ไหน? การผลักดันนโยบายสำคัญๆ จะทำได้หรือเปล่า?
ยิ่งฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งวุ่นวาย ฝ่ายอื่นๆ ที่ไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชนก็จะยิ่งเข้มแข็ง
ชวนดูกันต่อไปว่า กติกาการเลือกตั้ง ส.ส. รอบหน้าจะลงเอยในรูปแบบใด
#Explainer #เลือกตั้งสส #TheMATTER