วันนี้ (21 ก.ค. 65) เป็นวันที่ 3 ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถึงประเด็นที่ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในกองทัพ สร้างความเสื่อมเสียแก่พระเกียรติยศผ่านโครงการเทิดพระเกียรติ และสร้างจิตสำนึกเผด็จการอันทำลายระบอบประชาธิปไตย
หนึ่งประเด็นหลักๆ ที่ ส.ส.อมรัตน์อภิปราย คือเรื่องของงบประมาณที่ส่อแววทุจริตในกองทัพและการฮั้วประมูลในกองทัพ ซึ่งสรุปได้ ดังนี้
#โครงการรื้อสร้างแท่นอนุสาวรีย์ที่ค่ายทหารลพบุรี
โครงการนี้ คือโครงการรื้อ–สร้างอนุสาวรีย์ที่ค่ายทหารในจ.ลพบุรี สำนักข่าวหลายแห่งรายงานตรงกันว่าใช้งบประมาณปรับปรุงภูมิทัศน์สูงถึง 60 ล้านบาท ภายหลังกระทรวงดิจิทัลได้ชี้แจงว่านี่คือข่าวบิดเบือน เพราะทุนทรัพย์ที่เอามาสร้างและปรับปรุงภูมิทัศน์ มาจากเงินบริจาค ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน
ส.ส.อมรัตน์ ได้อภิปรายแย้งว่า ตนไม่พบการประชาสัมพันธ์ระดมทุนบริจาค และเมื่อตรวจสอบงบการเงินของกองทัพบก ก็พบรายการเงินบริจาคที่ยอดรวมกันระหว่างปี 2563-2564 มีเพียงประมาณ 5 ล้านบาทเท่านั้น ในขณะเดียวกันก็พบเอกสารที่ยืนยันว่างบ 60 ล้านบาทได้มาจากเงินเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2564 ซึ่งสวนทางกับคำอธิบายของกระทรวงดิจิทัลที่เหมือนนำข่าวปลอมมาชี้แจงอีกที
ทั้งนี้ ส.ส.อมรัตน์ยืนยันด้วยว่า จากการค้นหาแล้ว ไม่พบหลักฐานการบริจาคที่โปร่งใสเลย และได้อภิปรายด้วยว่าการรื้อถอนอนุสาวรีย์ ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ และ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ที่ลพบุรีนั้นกระทบต่อคุณค่าทางจิตใจของชาวลพบุรี
ประเด็นการรื้อสร้างแท่นไม่ได้จบแค่เรื่องเงินงบประมาณเท่านั้น ส.ส.อมรัตน์อภิปรายต่อเนื่องถึงความไม่ชอบมาพากลที่กองทัพปล่อยให้เกิดการทุจริตรับผู้รับเหมาก่อสร้างล่วงหน้า โดยอภิปรายถึงการรื้ออนุสาวรีย์พระยาพหลและจอมพล ป. ที่กองทัพบกประกาศผู้ชนะการเสนอราคาในวันที่ 23 เม.ย. 64 แต่ปรากฎหลักฐานว่าปล่อยให้ผู้รับเหมาเข้าไปรื้อถอนอนุสาวรีย์เดิมตั้งแต่มกราคม 2563 หรือก็คือล่วงหน้า 15 เดือนก่อนที่จะมีการประกาศผู้ชนะการประมูลราคา
กรณีข้างต้นเกิดขึ้นระหว่างการสร้างแท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ในค่ายทหารเช่นกัน โครงการนี้ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาในวันที่ 14 ก.ค. 64 และเซ็นสัญญาในวันที่ 27 ส.ค. 64 ซึ่ง ส.ส.อมรรัตน์ได้เปิดภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงให้เห็นการปรับพื้นที่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ธันวาคม 2563 และภาพโครงสร้างฐานรากของแท่นประดิษฐานที่เริ่มเห็นโครงตั้งแต่เมษายน 2564 หรือก็คือ มีผู้รับเหมาเข้าไปทำงานล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่เซ็นสัญญา
#โครงการก่อสร้างบ้านพักรับรองผู้บัญชาการทหารเรือ
ส.ส.อมรัตน์อภิปรายต่อเนื่องถึงโครงการก่อสร้างบ้านพักรับรองผู้บัญชาการทหารเรือที่มีงบประมาณสูงถึง 65 ล้านบาท เธออ้างว่าโครงการนี้เริ่มก่อสร้างก่อนทำสัญญาเช่นกัน โดยแสดงหลักฐานว่ามีการเซ็นสัญญาเกิดขึ้นเมื่อ พฤษภาคม 2562 แต่พบหลักฐานจากภาพถ่ายทางอากาศว่าบ้านพักถูกรื้อถอนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561
ข้อมูลข้างต้นคือ 2 ตัวอย่างโครงการที่ริเริ่มดำเนินการสร้างก่อนจะเกิดการเซ็นสัญญาโดยกองทัพ และเป็นการปูทางสู่การอภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ปล่อยให้เกิดการทุจริตภายในกองทัพ และผูกปิ่นโตระหว่างผู้รับเหมาไม่กี่เจ้า
ส.ส.อมรัตน์ ระบุด้วยว่า มีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่มักจะได้งานรับเหมาก่อสร้างจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม และเผยว่าการประกวดราคาที่เกิดขึ้นในกองทัพมักเป็นการล็อคผู้รับเหมาล่วงหน้า และเป็นเพียงการประมูลหลอกๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ หลังถูกอภิปรายโดย ส.ส.อมรัตน์ก็ลุกขึ้นชี้แจงทันที โดยพูดถึงประเด็นเงินบริจาคเพื่อการสร้างแท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ว่า มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยกองทัพด้วยงบประมาณ 59 ล้านบาทจริง แต่หลังทำสัญญาและระหว่างก่อสร้าง คู่สัญญาประสงค์บริจาคสิ่งปลูกสร้างที่แล้วเสร็จและไม่ขอรับเงินค่าจ้างที่ระบุในสัญญา พร้อมกับไม่เรียกข้อเสียหาย ที่ทางทหารบกก็ได้เสนอคืนเงินงบประมาณไปแล้วด้วย
อย่างไรก็ดี ส.ส.อมรัตน์ไม่ได้อภิปรายถึงกรณีงบประมาณ–การฮั้วประมูลเท่านั้น เธอได้พูดถึงการพยายามรื้อถอนมรดกคณะราษฎรด้วยเช่นกัน