ถ้าหนังวันสิ้นโลก ที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก จะทำให้เราตระหนักถึงผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า ก็คงเป็นเรื่องที่ย้ำชัดเจนกว่าเดิมว่า วิกฤตนี้ เป็นเรื่องที่รีรอไม่ได้แล้วจริงๆ นะ
แม้จะไม่ได้มีอุกกาบาตมาพุ่งชนโลก จนมนุษยชาติต้องสูญสิ้นอย่างในหนังเรื่อง Don’t look up แต่สภาพอากาศร้อนจัดจนคร่าชีวิตผู้คนได้ รันเวย์สนามบินละลายจนต้องงดการใช้งาน ซึ่งเป็นผลจากคลื่นความร้อนที่ปกคลุมทั่วซีนโลกเหนือ ก็ทำให้หลายประเทศเผชิญกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ จนต้องกลับมาหาทางออกอย่างจริงจังกับเรื่องโลกร้อนแล้วเช่นกัน
แต่วิกฤตคลื่นความร้อนในครั้งนี้รุนแรงขนาดไหน แล้วการรับมือของหลายๆ ชาติ โดยเฉพาะชาติยุโรปที่เจอกับคลื่นความร้อนรุนแรงนี้เป็นอย่างไร The MATTER ขอชวนมาดูกัน
คลื่นความร้อนน่ากลัวแค่ไหน
คลื่นความร้อน (Heat Wave) คือปรากฎการณ์ที่สภาพอากาศร้อนจัด ซึ่งบางคนอาจมองว่าก็คงเหมือนกับอากาศในประเทศไทย แต่ความจริงแล้ว คลื่นความร้อนนับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อันตรายมากๆ แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้คนมากนัก เพราะว่าจำนวนผู้เสียชีวิตและความเสียหาย ไม่ได้มีให้เห็นกันในทันที
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มีประชากรที่สัมผัสกับความร้อนเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในปี 2000-2016 มีผู้ที่เผชิญกับคลื่นความร้อนเพิ่มสูงขึ้นถึง 125 ล้านคนในทั่วโลก
แม้ว่าคลื่นความร้อนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันก็เกิดถี่ขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นกว่าในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สต่างๆ อย่างกว้างขวาง แล้วการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความร้อน ความแห้งแล้ง อันเป็นชนวนให้เกิดไฟป่านั่นเอง
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดคลื่นความร้อน บ้างก็มองว่า การหมุนเวียนของบรรยากาศและมหาสมุทรอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดคลื่นความร้อนในยุโรปด้วยเช่นกัน
ผลกระทบจากคลื่นความร้อน
ตอนนี้ ปัญหาคลื่นความร้อนกระจายไปในทั่วโลก อย่างในยุโรป ที่เกิดเหตุไฟป่าลุกลามหลายพื้นที่ อย่างในโปรตุเกส ก็มีรายงานว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 ราย หลังประชาชนต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูงถึง 47 องศาเซลเซียส
ขณะที่ ในอังกฤษก็มีการเรียกใช้บริการรถฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือด้านคลื่นความร้อนอย่างหนักหน่วง จนถึงขั้นที่นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ระบุว่า ในวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้เรียกใช้รถฉุกเฉินสูงกว่าปกติ 10 เท่า ถือเป็นวันที่วุ่นวายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากมีเหตุเพลิงไหม้ถึง 41 จุด
นอกจากนี้ รันเวย์ของสนามบินลอนดอนลูตันที่ละลายจากคลื่นความร้อน จนเครื่องบินไม่สามารถลงจอดได้ เช่นเดียวกับ ในสเปนและฝรั่งเศสที่ต้องเผชิญกับไฟป่าที่ลุกลามรุนแรงหลายจุดเช่นกัน ทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องละทิ้งบ้านเพื่ออพยพหนีเพลิงไหม้
คลื่นความร้อนยังทำให้ปริมาณธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์ลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกิดปัญหาธารน้ำแข็งถล่ม ซึ่งในประเทศอิตาลี ธารน้ำแข็งในบริเวณเทือกเขาแอลป์ละลายลงอย่างรวดเร็ว จนถล่มลงมาคร่าชีวิตผู้คนไป 11 ราย
ด้านสหรัฐฯ เองก็เผชิญชะตากรรมที่ไม่ต่างจากโซนยุโรปมากนัก เมื่อคลื่นความร้อนทำให้อุณหภูมิสูงถึง 43 องศาเซลเซียส และมีเหตุไฟป่าหลายแห่งจนต้องมีการประกาศลี้ภัยและสภาวะฉุกเฉิน
ส่วนในจีน ก็เพิ่งมีการประกาศเตือนภัยขั้นสูงสุดไปในหลายพื้นที่ ด้วยอุณหภูมิสูงกว่า 40องศาเซลเซียส อย่างในเมืองกวางโจว ทางการได้ประกาศเตือนว่า ประชาชนต้องเผชิญกับภาวะนี้ไปราว 23 วัน นับเป็นปรากฎการณ์คลื่นความร้อนที่ยาวนานที่สุดในรอบกว่า 70 ปี
การรับมือกับภัยพิบัติในยุโรปเป็นอย่างไร
คำว่าคลื่นความร้อน ปรากฏอยู่ในข่าวต่างประเทศมาสักระยะนึงแล้ว แต่ทำไมสถานการณ์ถึงยังดูไม่มีวี่แววว่าจะสงบลง การรับมือของยุโรปเป็นอย่างไรบ้าง?
สถานการณ์คลื่นความร้อนรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ยุโรปมาหลายครั้ง อย่างเมื่อปี 2003 ก็เป็นอีกครั้งที่เกิดคลื่นความร้อนในยุโรป ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างต่ำ 30,000 คน ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือฝรั่งเศส (มีผู้เสียชีวิต 14,000 คน)
ด้วยเหตุนี้ ฝรั่งเศสจึงนำ plan canicule หรือแผนเตือนและปกป้องประชาชนจากปัญหานี้ ขณะที่หน่วยงานเทศบาลหลายแห่งก็ได้ลงทะเบียนให้พลเมืองกลุ่มเปราะบางเพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าถึงคำเตือนและข้อแนะนำต่างๆ จากหน่วยงานด้านสาธารณสุข เมื่อเกิดคลื่นความร้อนขึ้นมาอีก
แต่ในเยอรมนี แม้กระทรวงสิ่งแวดล้อมจะออกแผนรับมือกับความร้อนของสภาพอากาศมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว แต่ผลสำรวจจากหนังสือพิมพ์ Die Zeit พบว่า กว่า 80% ของหน่วยงานใน 300กว่าเขตของเยอรมนีไม่ได้มีระเบียบพิธีการสำหรับการรับมือตามแผนที่ออกมา
อีกทั้ง เยอรมนียังไม่พร้อมที่จะจัดการกับไฟป่าในอัตราและขนาดที่พวกเขากำลังเผชิญในขณะนี้ ซึ่งตอนนี้เยอรมนีเองก็เจอกับเหตุไฟป่ารุนแรง อย่างในรัฐนอร์ธไรน์-เวสต์ฟาเลียเพียงแห่งเดียว เกิดเพลิงไหม้ถึง 11 ครั้งในรอบ 4 วัน
อุลริค ชิโมลิโน (Ulrich Cimolino) จากสมาคมดับเพลิงแห่งเยอรมนี กล่าวว่า แม้ในช่วงเวลาที่พวกเขาแข็งขันดับไฟป่า นักผจญเพลิงก็ยังต้องต่อสู้กับระบบราชการมีลำดับขั้นตอนยุ่งเยิง
อธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นก็คือ หัวหน้ากองพลต้องไปขอเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิงจากศูนย์บัญชาการท้องถิ่น ซึ่งต้องขออนุญาตจากรัฐบาลส่วนภูมิภาค ขณะที่รัฐบาลส่วนภูมิภาคก็ต้องไปถามกระทรวงมหาดไทยของรัฐบาลกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะตรวจสอบว่าตำรวจส่วนภูมิภาค รัฐบาลกลาง หรือนักบินของกองทัพสามารถบินได้หรือไม่ บางรัฐต้องรอเวลาอนุมัติกันหลายชั่วโมงกว่าจะสามารถดำเนินการดับไฟได้
อีกปัจจัยที่สำคัญก็คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจของภาครัฐในการเตรียมรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จริงจัง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ยุโรปยังไม่มีความพร้อมในเรื่องนี้
ขณะเดียวกัน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและเมืองให้ทนต่อความร้อนก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เนื่องจากอาคารบ้านเรือนของยุโรปเหนือถูกออกแบบมาให้กักเก็บความร้อน ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มักเจอกับอากาศหนาวเย็น แตกต่างจากบ้านเรา ที่เน้นการปลูกสร้างอาคารที่อากาศถ่ายเทดี
ยิ่งกว่านั้น บ้านในยุโรปส่วนมากก็ไม่มีเครื่องปรับอากาศด้วย อย่างในสหราชอาณาจักรมีบ้านที่ติดเครื่องปรับอากาศเพิ่มความเย็นแค่ 1-5% ของบ้านเรือนทั้งหมด
ไม่เพียงเท่านั้น ระบบรางรถไฟเองก็เจอปัญหา เมื่อความร้อนทำให้รางรถไฟขยายตัวจนขบวนรถไฟไม่สามารถวิ่งได้ ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นที่จับตามองกันว่า ภาครัฐจะดำเนินการอย่างไร ให้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศสามารถทนต่อความร้อนได้ โดยต้องไม่เพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีก
ปัญหาเรื่องสภาพอากาศสุดโต่ง (Extreme weather) เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจน ซึ่งปกติแล้ว เราอาจเจอสภาพอากาศสุดโต่งกันแค่ครั้งเดียวในหนึ่งช่วงอายุ แต่ด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะยิ่งทำให้ช่วงชีวิตนึง พบเจอกับสภาพอากาศสุดโต่งมากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นก็คือ คนที่เกิดและเติบโตในรุ่นนี้จะเจอกับไฟป่ารุนแรงขึ้น 2 เท่า พายุไซโคลน 1.7 เท่า น้ำท่วม 3.4 เท่า พืชผลทางการเกษตรล้มตายอีก 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่เกิดในปี 1960
ดังนั้นแล้ว การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขทันที และต้องร่วมมือกันทั้งโลก ไม่ใช่แค่ประเทศที่เจอคลื่นความร้อนรุนแรงเท่านั้น ในไทยเองก็เจอกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเช่นกัน และเมื่อทุกประเทศมีโอกาสเจอกับภัยพิบัติทางธรรมชาติถี่ขึ้น การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจึงเป็นเรื่องที่รอไม่ได้
อ้างอิงจาก