วันนี้ (24 ส.ค. 2565) รุ้ง–ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ มายด์–ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล สมาชิกราษฎร ได้มาร่วมพูดคุยกับ The MATTER เพื่อรีวิว ‘8 ปี ประยุทธ์ ไปต่อหรือพอแค่นี้?’ พร้อมกับร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมื่อถามถึงมติของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ส่งผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นรักษาการแทน รุ้งบอกว่า “คำแรกที่ผุดขึ้นมาในหัว คือ หนีเสือปะจระเข้ แต่อย่างไรก็ตาม เสือที่เราหนีมา กับจระเข้ที่เราเจอ มันเป็นเพื่อนกัน แล้วจระเข้ที่มันรออยู่ มันนั่งรออยู่ตั้งนานแล้ว”
สำหรับเรื่องนี้ รุ้งย้ำว่า “ประชาชนต้องมีส่วนร่วมด้วย” เพราะสุดท้ายแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะได้ไปต่อหรือไม่ “มันต้องมีแรงกดดันจากทั้งภาคประชาชนและพรรคการเมืองเอง ร่วมกันเพื่อไม่ให้องคาพยพของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในอำนาจต่อไปได้
ถ้าให้ประเมินผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้น รุ้งเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การคุยกับทนายความ ที่เคยตอบกลับมาว่า บางครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่กฎหมาย แต่คือการเมือง เพราะฉะนั้น “อภินิหารเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย เรากลายเป็นประชาชนที่ไม่สามารถกำหนดทิศทางชีวิตตัวเองได้เลย”
แต่อย่างไรก็ตาม รุ้งเสนอว่า “ตอนนี้เราอาจจะลองรอดูกันซักหน่อยนึง” พร้อมชวนให้ติดตามกันต่อไปว่า สิ่งแรกที่ พล.อ.ประวิตรจะทำเป็นสิ่งแรกในขณะขึ้นมารักษาการแทนนายกฯ คืออะไร “มันจะมีอภินิหารอะไรขึ้นหรือเปล่า ก็ต้องลองดู” รุ้งว่า
ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา รุ้งเล่าให้ฟังว่า สิ่งที่รับไม่ได้มากที่สุด มีอยู่ 2 เรื่อง คือการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เนื่องจากเป็นการใส่ชุดตัวเองว่าเป็น ‘ประชาธิปไตย’ แต่เนื้อในคือ ‘เผด็จการอำนาจนิยม’ ทำให้เกิดความสับสน ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ กับอีกเรื่องคือ COVID-19 ซึ่งทำให้สะเทือนใจเนื่องจากเป็นการบริหารโดยไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน จนส่งผลให้มีการฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก
ส่วนเรื่องที่ทำให้ ‘ใจฟู’ มากที่สุดสำหรับรุ้ง ก็คือการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เพราะเนื่องจากเคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้มาก่อน ต้องมีการถกเถียงกันก่อนหน้านั้นเยอะมากว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ “ทำให้เราตื่นเต้นมาก และดีใจมาก เป็นความรู้สึกว่าจะเปลี่ยนไปแล้ว” จนสุดท้ายรุ้งบอกว่า มันทำให้กลายเป็น ‘สังคมตั้งคำถาม’ จริงๆ
หลังจากนี้ รุ้งย้ำด้วยว่า สิ่งที่สำคัญมากก็คือการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต่อไป โดยชี้ว่า เป็น ‘ปฏิบัติการทางการเมือง’ ที่เราต้องทำร่วมกัน เพื่อให้พรรคฝั่งประชาธิปไตยได้ที่นั่งอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง หรืออย่างมากให้ได้ 375 เสียง เพื่อต่อรองกับ ส.ว. อย่างไรก็ดี ภาคประชาชนก็มีความสำคัญที่ต้องทำงานร่วมกับพรรคการเมืองต่อไป เพื่อให้ข้อเรียกร้องของประชาชนสามารถคลี่คลายผ่านกลไกของสภาฯ ได้
ท้ายที่สุด รุ้งตอกย้ำว่า ความหวังที่จะทำให้ประเทศนี้ดีขึ้นยังเป็นสิ่งสำคัญและมีความหมาย “เราอยู่ที่นี่มา เรามีวัฒนธรรมของเรา เรามีบ้าน เรามีสังคม เรามีความรักในที่เหล่านี้ การที่อยู่ดีๆ เราจะละทิ้งความหวังแล้วมองแต่ความหดหู่ของมัน แล้วหาทางออกอื่น ที่หนีไปจากประเทศนี้ มันเศร้ามาก”
ก่อนจะย้ำว่า “เชื่อเถอะ ว่าเสียงของเรามีความหมายจริงๆ และมีพลังจริงๆ”
“ถ้าคุณฝัน คุณยังมีความหวัง และคุณยังมีแรงพอ มีกำลังใจมากพอที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน ยังไงความเปลี่ยนแปลงมันมาถึงแน่ๆ”
รับชมย้อนหลังได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=YYGDYzUR1PA