กลายเป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย หลังจากเกิดเหตุอดีตตำรวจใช้อาวุธปืนและมีด บุกทำร้ายและกราดยิงภายในศูนย์เด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู จนทำให้มีผู้เสียชีวิตยืนยันอย่างน้อย 36 ราย โดยเป็นเด็กจำนวนมาก
คำถามหนึ่งที่ตามมา – แม้แน่นอนว่าไม่ใช่คำถามเดียว – แต่ก็คือประเด็นที่ว่า ประเทศไทยมีการจัดการเกี่ยวกับอาวุธปืนมากน้อยแค่ไหนกัน จึงทำให้การก่อเหตุในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้อย่างหดหู่ อีกทั้งนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น แต่มีอีกหลายคนที่นึกย้อนไปถึงเหตุกราดยิงโคราช เมื่อเดือน ก.พ. 2563 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 31 ราย
The MATTER ชวนย้อนดูสถิติในแง่มุมต่างๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นการครอบครองปืน การใช้อาวุธปืนก่อคดี และจำนวนผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์การครอบครองปืนของไทยในปัจจุบัน พร้อมๆ ไปกับเปรียบเทียบสถิติจากทั่วโลก
ถ้าดูสถิติจากการครอบครองปืนเพียงอย่างเดียว ข้อมูลจากองค์กรวิจัยในสวิตเซอร์แลนด์ Small Arms Survey เมื่อปี 2560 ระบุว่า ประชาชนไทยครอบครองปืนอยู่ 10,342,000 กระบอก เฉลี่ย 15.1 กระบอก ต่อ 100 คน นั่นทำให้ไทยครองครองอาวุธปืนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และอยู่ที่อันดับ 13 ของโลก
แต่ถ้ามาดูทางฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ จะพบว่า กองทัพไทยครอบครองปืนอยู่ที่ 1,052,815 กระบอก รั้งอันดับ 3 ในอาเซียน ส่วนตำรวจครอบครองอยู่ราว 230,000 กระบอก อ้างอิงข้อมูลจากปี 2561 โดยองค์กร Small Arms Survey เช่นเดียวกัน
ส่วนการใช้อาวุธปืนก่อเหตุในไทย ข้อมูลล่าสุดที่รวบรวมโดยกองสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือข้อมูลจากปี 2562 ซึ่งระบุว่า มีจำนวนครั้งรวมทั้งหมด 31,419 ครั้ง แบ่งเป็นปืนสั้นมีทะเบียน 6,410 ครั้ง ไม่มีทะเบียน 24,348 ครั้ง และเป็นปืนยาว 661 ครั้ง
ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากการใช้อาวุธปืนนั้น รายงานการวิจัย “Global Mortality From Firearms, 1990-2016” ของสถาบันเพื่อการวัดและประผลด้านสุขภาพ (IMHE) มหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐฯ ระบุว่า ไทยมีผู้เสียชีวิตในปี 2559 อยู่ที่ 3,830 คน คิดเป็นค่าเฉลี่ย 4.45 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งมากกว่าประเทศอย่างสหรัฐฯ ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.85 และถ้าคิดจากค่าเฉลี่ย ไทยจะอยู่อันดับที่ 11 ของโลก
นอกจากนี้ งานวิจัยจากสาขานิติวิทยาศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ศึกษาวิธีการฆ่าตัวตายในไทย ระหว่างปี 2555-2559 พบว่า แทบทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคกลาง การฆ่าตัวตายจากการใช้กระสุนปืนมีสัดส่วนร้อยละมากเป็นอันดับ 3 รองจากการแขวนคอหรือทำให้หายใจไม่ออก และการฆ่าตัวตายด้วยพิษจากยาฆ่าศัตรูพืชและสัตว์
อ้างอิงจาก
https://www.thaipbs.or.th/news/content/288988
https://www.tcijthai.com/news/2020/16/scoop/9893
https://ph01.tci-thaijo.org/index.php/ThaiJPhys/article/view/244138/166003
https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2698492
https://so02.tci-thaijo.org/index.php/forensic/article/download/248436/170962/932739