“วันหยุด? คุณหมายถึงอะไร?”
คือคำถามที่เกิดขึ้นหลังถูกนักตรวจสอบจากภายนอกถามถึงสภาพการทำงานในโรงงาน ของ หล่า หล่า เท (Hla Hla Htay) พนักงานชาวเมียนมาวัย 55 ปี ของโรงงงาน วี. เค. การ์เมนท์ (VK Garment Factory หรือ VKG) ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และเป็นผู้ผลิตเสื้อและกางเกงยีนส์ F&F ให้กับห้างของ ‘เทสโก้’ (Tesco) ในช่วงปี 2560-2563
ที่โรงงาน VKG แห่งนี้ อดีตผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมากว่า 130 คน เปิดเผยว่า พวกเขาต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับใช้แรงงานในหลากหลายรูปแบบ อย่างเช่นต้องทำงาน 99 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กับค่าจ้างที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เพื่อผลิตเสื้อผ้าส่งให้กับห้างดัง
นั่นเป็นสาเหตุให้โรงงานดังกล่าว กำลังกลายเป็นคดีความในอังกฤษในขณะนี้ หลังอดีตพนักงานโรงงาน 130 คน ยื่นต่อศาลผ่านสำนักงานกฎหมาย ‘Leigh Day’ ฟ้องร้องบริษัทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ ‘เทสโก้’ (Tesco PLC) ‘เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม’ (Ek-Chai Distribution System Company Limited ซึ่งมีเทสโก้เป็นเจ้าของ ก่อนขายให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ในปี 2563) และบริษัทตรวจสอบ (auditing) ที่ชื่อว่า ‘อินเตอร์เทค’ (Intertek)
ในการฟ้องร้อง อดีตพนักงานกล่าวหาการละเมิดสิทธิโดยโรงงานอยู่หลายประการด้วยกัน เช่น
- แรงงานได้ค่าจ้างไม่ถึง 170 บาท (3-4 ปอนด์) ต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่มาก ส่วนเงินค่า OT มักจะไม่ได้เลย
- ต้องทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ โดยทำ 8.00-23.00 น. ในวันจันทร์-เสาร์ ขณะที่วันอาทิตย์สามารถทำถึง 17.00 น. ถ้าไม่มีออเดอร์เพิ่มเติม และได้พักแค่ 1 วันต่อเดือน โดยไม่มีวันหยุด
- บางครั้งมีออเดอร์ใหญ่ที่จะต้องจ่ายสินค้าให้กับเทสโก้ จนไม่สามารถพักรับประทานอาหารหรือไปห้องน้ำได้เลย หรือต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเป็นเวลายาวนาน
- สภาพการทำงานอันตราย พนักงานหลายคนได้รับบาดเจ็บจากมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
- และต้องทำงานในอุณหภูมิที่สูง โดยไม่มีการระบายอากาศ น้ำสะอาด ไม่มีชุด PPE ไม่มีไฟส่องสว่างอย่างเหมาะสม หรือต้องทำงานกับสายไฟที่ไม่มีการห่อหุ้ม เป็นต้น
ทางด้านสำนักข่าว The Guardian ระบุว่า เรื่องนี้กำลังกลายเป็นคดีความแล้ว หลังจากที่มีการยื่นฟ้องร้องต่อศาลสูง (High Court) ของอังกฤษ ซึ่งก็คาดว่า จะมีการยื่นเอกสารแจ้งการฟ้องร้องให้กับจำเลยแต่ละรายในช่วงปีใหม่นี้
‘เทสโก้’ มีการทำธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปี 2563 สร้างรายได้ไปทั้งหมด 5 หมื่นล้านปอนด์ (2.1 ล้านล้านบาท) และในช่วงปี 2558-2563 ก็ได้กำไรไป 1-2 พันล้านปอนด์ (4.2-8.4 หมื่นล้านบาท) ในแต่ละปี ในส่วนของธุรกิจ F&F มีมูลค่า 1.7 พันล้านปอนด์ (7.2 หมื่นล้านบาท) ซึ่ง ‘Leigh Day’ ก็อ้างว่า กำไรส่วนใหญ่ได้มาจากการใช้แรงงานราคาถูกหรือกระทั่งฟรี ที่โรงงานในแม่สอด ทำให้ต้นทุนต่ำมาก
ส่วนบริษัท ‘อินเตอร์เทค’ ได้เข้ามาตรวจสอบที่โรงงาน VKG อย่างสม่ำเสมอในช่วงปี 2560-2563 แต่ ‘Leigh Day’ ระบุว่า ก็ไม่ได้พบหรือรายงานอย่างถูกต้อง ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในโรงงานหรือบ้านพักของแรงงาน จึงทำให้ถูกกล่าวหาว่าประมาทเลินเล่อ จากการที่ตรวจสอบไม่พบสภาพการทำงานหรือความเป็นอยู่ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
โอลิเวอร์ ฮอลล์แลนด์ (Oliver Holland) พาร์ตเนอร์ของ ‘Leigh Day’ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “การปฏิบัติต่อแรงงานอพยพผู้เปราะบาง ที่มีการกล่าวหามานั้น เป็นไปในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับภาพลักษณ์ทางจริยธรรมที่เทสโก้พยายามนำเสนอในสหราชอาณาจักร บริษัทที่ใหญ่ขนาดนี้ควรจะดำเนินการอะไรบางอย่าง เพื่อทำให้แน่ใจว่า พนักงานที่ผลิตสินค้าให้พวกเขาจะต้องไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง”
อ้างอิงจาก