“…เพราะฉะนั้น อย่ามองว่า คนไม่มีเสื้อชูชีพทั้ง 30 คน จะสูญเสียทั้งหมด…”
คือคำแถลงบางส่วนของ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการกองทัพเรือ (ผบ.ทร.) ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา กรณี ‘เรือหลวงสุโขทัย’ อับปาง ท่ามกลางคลื่นลมแรงในอ่าวไทย ช่วงเย็นถึงค่ำของวันที่ 18 ธันวาคม
เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้มีกำลังพลเสียชีวิตแล้ว 6 นาย ยังคงสูญหายอีก 23 ราย (ข้อมูลเมื่อ 21 ธันวาคม เวลา 20.00 น.) จากยอดกำลังพลเรือหลวงสุโขทัยทั้งหมด 105 นาย
และส่งผลให้ประชาชนออกมาตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะในประเด็นของสาเหตุการอับปาง มาตรการในการเตรียมพร้อมต่อภัยพิบัติ โดยเฉพาะเรื่องจำนวนเสื้อชูชีพที่ไม่เพียงพอ ไปจนถึงการรับมือหลังเกิดเหตุการณ์ และการเยียวยาที่ตามมา
The MATTER ชวนอ่านสรุปเหตุการณ์ ‘เรือหลวงสุโขทัย’ อับปาง คำชี้แจงจากกองทัพเรือ รวมถึงคำถามที่เกิดขึ้น ได้ทั้งหมดในข้างล่างนี้
1.
ก่อนอื่น มารู้จักกันก่อนว่า ‘เรือหลวงสุโขทัย’ คืออะไร มีความสำคัญแค่ไหน?
เรือหลวงสุโขทัย เป็นเรือรบหลัก 1 ใน 5 ลำ ของกองทัพเรือ ที่มีความสามารถในการรบ 3 มิติ คือ การรบผิวน้ำ ทางอากาศ และใต้น้ำ เป็นเรือรบประเภทคอร์เวต (corvette – คือเรือรบขนาดเล็ก ประมาณ 500-2,000 ตัน ต่างจากเรือฟริเกต [frigate] ที่มีขนาดใหญ่กว่า) ประจำอยู่ที่ทัพเรือภาคที่ 1 รับผิดชอบอ่าวไทยตอนบน
ข้อมูลจาก พล.ร.อ.เชิงชาย ผบ.ทร. ระบุว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เรือหลวงสุโขทัยเพิ่งได้รับการซ่อมทำขนาดใหญ่ เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อเตรียมการปฏิบัติการในพื้นที่ทะเลอันดามัน แต่ก็เป็นแผนที่ไม่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากการขุดลอกท่าเรือฝั่งอันดามันไม่เป็นไปตามแผน
เรือหลวงสุโขทัยขึ้นระวางประจำการมาตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2530 เท่ากับว่า จนถึงวันที่อับปาง ก็ปฏิบัติการมากว่า 35 ปีแล้ว อย่างไรก็ดี เพจ ThaiArmedForce.com ซึ่งเป็นเพจผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านการทหารของไทย ก็ได้ให้ข้อมูลว่า กองทัพเรือได้ปรับปรุงอุปกรณ์ภายในให้ทันสมัยอยู่เรื่อยๆ นอกเหนือไปจากการซ่อมทำตามวงรอบปกติ
ดังนั้น “แม้เรือจะดูมีอายุการใช้งานค่อนข้างมาก แต่อุปกรณ์ข้างในไม่ได้เก่าเลย ถือว่ามีความทันสมัยมากทีเดียว การเสียเรือลำนี้ไปจึงมีผลกระทบมากกับยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ เพราะเป็นเรือรบหลัก ขีดความสามารถสูง” คือการวิเคราะห์ของเพจ ThaiArmedForce.com
2.
เรือหลวงสุโขทัยเริ่มประสบเหตุน้ำเข้าเรือ จนทำให้เรือเอียง ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา จนกระทั่งจมลงใต้น้ำเมื่อเวลา 23.30 น. ของวันนั้น ในบริเวณไม่ห่างไกลจากท่าเรือ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ คำถามที่เกิดขึ้นคือ เรือหลวงสุโขทัยกำลังจะไปไหน?
ในวันนั้น เรือหลวงสุโขทัยได้รับมอบหมายอยู่ 2 ภารกิจ หนึ่งคือ การสนับสนุนกิจกรรมครบรอบ 100 ปี การสิ้นพระชนม์ของ ‘เสด็จเตี่ย’ พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ด้วยการนำกำลังพลไปร่วมงาน ที่บริเวณหาดทรายรี จ.ชุมพร
นอกจากภารกิจดังกล่าว ผบ.ทร.ระบุว่า ยังได้รับมอบหมายให้ออกลาดตระเวนช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลด้วย หลังจากที่กรมอุตุวิทยาประกาศแจ้งเตือนว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว มีมรสุมกำลังแรงบริเวณอ่าวไทย เกิดสภาพคลื่นลมที่มีความรุนแรง สูง 3-4 เมตร
3.
ด้วยสภาพคลื่นลมที่รุนแรง (ในการแถลงข่าว ผบ.ทร.ย้ำอยู่หลายครั้ง ถึงคลื่นลมที่รุนแรง สูง 3-4 เมตร) ทำให้เรือรบที่เดินทางไปถึงหาดทรายรีก่อน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว คือ เรือหลวงกระบุรี ไม่สามารถทิ้งสมอที่หาดได้ จึงได้ขออนุญาตเดินทางเพื่อเข้าไปจอดที่ท่าเรือบางสะพาน ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกที่เรือรบเข้าไปจอดเทียบท่าได้ เพื่อหลบคลื่นลม
ผบ.ทร.อธิบายว่า เรือหลวงกระบุรีได้นำไปจอดล่วงหน้าก่อนแล้วตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 18 ธันวาคม ขณะที่เรือหลวงสุโขทัยกำลังเดินทางตามเข้าไปจอดที่ท่าเรือบางสะพาน และนั่นคือช่วงที่เกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่การอับปาง
4.
พล.ร.อ.เชิงชาย เปิดเผยจากข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า น้ำเริ่มเข้ามาในเรือจากบริเวณหัวเรือ ในปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดความเสียหายกับระบบเครื่องไฟฟ้า เครื่องจักร และเครื่องจักรช่วย เรือพยายามสูบน้ำออกตามขั้นตอน แต่ไม่สามารถทำได้ทัน นอกจากนี้ ยังมีการ ‘ผนึกน้ำ’ ซึ่งเป็นความสามารถของเรือรบ ในการแยกน้ำเป็นส่วนๆ (compartment)
แต่ท้ายที่สุดก็ปรากฏว่า น้ำเข้ามามากจนไม่สามารถบังคับเรือได้ เนื่องจากท่วมเครื่องจักรสำคัญหลายส่วน เช่น เครื่องยนต์ซ้าย เหลือเพียงเครื่องยนต์ขวาข้างเดียว รวมถึงเครื่องควบคุมไอจักรก็สูญเสีย ทำให้ไม่สามารถทำความเร็วได้ และน้ำท่วมเครื่องไฟฟ้าดับทั้งหมด
ส่งผลให้เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ของวันที่ 18 ธันวาคม จากการที่เรือหลวงกระบุรีเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ก็พบว่า เรือหลวงสุโขทัยเอียงประมาณ 60 องศา และจมลงใต้ทะเลทั้งลำ เมื่อเวลาประมาณ 23.30 น.
5.
ประเด็นน้ำที่เริ่มเข้าจากบริเวณหัวเรือ ก็กลายเป็นที่ตั้งคำถามของเพจ ThaiArmedForce.com เช่นกัน เพจดังกล่าวคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ว่า ประตู 2 บาท และฝาแฮตช์ 2 บาน ที่อยู่ด้านหน้า อาจจะลืมปิด หรือปิดแล้วแต่ตัวล็อกเสีย หรือน้ำกระแทกทำให้ตัวล็อกชำรุด หรืออาจเกิดจากรอยแตกบริเวณส่วนอย่างรุนแรง
แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงการคาดเดา ซึ่งก็ค้านกับสภาพความเป็นจริงของเรือรบที่ว่า “การเจอคลื่นแบบนี้แม้ว่าจะหนัก แต่ก็โอกาสยากที่เรือจะแตกเพราะคลื่น เพราะเรือรบค่อนข้างแข็งแรง” ท้ายที่สุด คำตอบคืออะไร เรายังคงต้องรอการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่อย่างเป็นทางการต่อไป
6.
อีกคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนผู้ติดตามเหตุการณ์ คือการยืนยันของ พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ในวันที่เกิดเหตุว่า กำลังพลปลอดภัยทุกนาย แต่จนถึงตอนนี้ (21 ธันวาคม เวลา 20.00 น.) กลับมีการยืนยันกำลังพลเสียชีวิตแล้ว 6 นาย ขณะที่ยังมีกำลังพลสูญหายที่รอคอยการค้นพบอีก 23 ราย
ในเรื่องนี้ พล.ร.อ.ปกครอง ให้คำอธิบายว่า รายงานที่ส่งมาคือ กำลังพลครบถ้วน โดยได้มีการตรวจสอบจำนวนกำลังพลที่ดาดฟ้าเรือ ในขณะที่มีคำสั่งให้สละเรือใหญ่ แต่พอเรืออับปาง มีการอพยพกำลังพลขึ้นเรือที่เข้าให้ความช่วยเหลือ ก็เป็นคนละเหตุการณ์กัน ทำให้บางนายสูญหายไปในเหตุการณ์นี้
7.
อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามขึ้น และเป็นประเด็นที่สำคัญมาก ก็คือ เหตุใดเสื้อชูชีพจึงไม่เพียงพอ? เรื่องนี้ ผบ.ทร.ออกมายอมรับด้วยตัวเอง ว่ากำลังพล 30 นาย บนเรือหลวงสุโขทัย ไม่มีเสื้อชูชีพจริง
โดยจำนวนตัวเลขดังกล่าว เป็นกำลังพลของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาชายฝั่ง หน่วยละ 15 นาย ที่จะไปร่วมพิธี ‘เสด็จเตี่ย’ ที่หาดทรายรี จ.ชุมพร
“ทั้งหมดที่กล่าวมา เรือหลวงสุโขทัยทราบปัญหานี้ดี เนื่องจากเสื้อชูชีพไม่เพียงพอกับกำลังพลที่มาเพิ่มเติม จำนวน 30 คน ก็ได้พยายามนำอุปกรณ์ และสิ่งที่สามารถช่วยชีวิตได้ มาให้กับกำลังพลที่ไม่มีเสื้อชูชีพ” พล.ร.อ.เชิงชาย ระบุ ในขณะเดียวกัน ก็ย้ำว่า นอกจากเสื้อชูชีพของกำลังพลที่ประจำบนเรือ ก็จะมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตอย่างอื่น เช่น แพชูชีพ ห่วงยาง หรือลูกยางกันกระแทกที่ติดอยู่กับเรือเล็กของเรือ
พล.ร.อ.เชิงชาย เล่าได้ว่า เขาได้ไปสอบถามกำลังพลบางนาย แม้จะไม่มีเสื้อชูชีพ แต่ก็ได้นำลูกยางที่ผูกติดกับเรือเล็ก มาผูกติดกับเอวไว้ ในกรณีที่จมน้ำไป และสามารถนำอุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถใช้ได้ มาใช้เกาะเพื่อช่วยชีวิตด้วย
ความเห็นหนึ่งของ ผบ.ทร.ที่ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ก็คือ คำกล่าวของเขาที่ว่า “การมีเสื้อชูชีพไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถรอดชีวิตและได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาบนเรือ” โดยเขาอธิบายว่า ในตัวเลข 30 นาย ที่ไม่มีเสื้อชูชีพนั้น มี 18 นายที่ได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาแล้ว ขณะที่ 12 นายยังอยู่ในทะเล
“เพราะฉะนั้น อย่ามองว่า คนไม่มีเสื้อชูชีพทั้ง 30 คนจะสูญเสียทั้งหมด เพราะตัวเลขแสดงให้เห็นแล้วว่า 18 คนที่ไม่มีเสื้อชูชีพ ขึ้นมากับ 75 คนแรก ยังเหลือในทะเล 12 คน และ 18 คนที่มีเสื้อชูชีพเอง ยังอยู่ในทะเลอยู่ เพราะฉะนั้น ที่ไปบอกข่าวว่า ที่ไม่มีเสื้อชูชีพ จะสูญเสียทั้งหมด ไม่ใช่” ผบ.ทร.ระบุ
8.
ผ่านมาแล้ว 3 วัน นับตั้งแต่เหตุการณ์เรืออับปาง แต่ภารกิจค้นหาผู้ประสบภัยยังคงดำเนินหน้าต่อไป
ข้อมูลจากกองทัพเรือระบุว่า ในการลาดตระเวน มีหลายฝ่ายที่เข้าร่วมค้นหา ประกอบด้วย เรือหลวงภูมิพลยอดุลเดช, เรือหลวงอ่างทอง, เรือหลวงนเรศวร, เรือหลวงกระบุรี, อากาศยานกองทัพเรือ 3 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ อากาศยานไร้คนขับ (UAV) 2 ลำ และสมทบจากกองทัพอากาศ เป็นอากาศยาน 2 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ
ท่าทีของกองทัพเรือ ก็ดูเหมือนว่ายังคงไม่หมดหวัง
พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ (เสธ.ทร.) กล่าวในการแถลงข่าวว่า “เคสล่าสุดที่เราค้นพบ ห่างจากเวลาจุดเกิดเหตุถึง 41 ชั่วโมง แต่กำลังพลก็ยังไม่เสียชีวิต ยังมีกำลังพลที่เป็นเคสสีเขียวอยู่ เพราะฉะนั้น เรามั่นใจว่า กำลังพลของเรายังมีความหวัง และเราก็จะดำเนินการใช้ทุกนาทีที่มีค่านี้ ในการค้นหาต่อไป ทั้งกลางวัน และกลางคืน”
9.
เหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ได้รับความสนใจจากนานาชาติเป็นอย่างมาก โดยมีการรายงานในสำนักข่าวต่างประเทศสำนักใหญ่ๆ แทบทุกแห่ง อาทิ BBC, CNN, AP, ABC,CBS, The Guardian, The New York Times, Reuters และ CNA
กองทัพเรือยังเปิดเผยด้วยว่า มีกองทัพเรือจากมิตรประเทศหลายประเทศ เสนอมาให้ความช่วยเหลือ เช่น กองทัพเรือสหรัฐฯ อังกฤษ และ มาเลเซีย แต่ท่าทีของกองทัพเรือ จากคำของ พล.ร.อ.ชลธิศ ก็ระบุว่า เราก็ขอบคุณ ในเจตจำนงในการให้ความช่วยเหลือ เราจะร้องขอตามความจำเป็นต่อไป
10.
สำหรับการเยียวยา กองทัพเรือเปิดเผยว่า กำลังพลที่เสียชีวิต จะได้รับการเลื่อนชั้นยศขึ้น 5 ชั้นยศ และจะได้รับเงินชดเชยที่กองทัพเรือจัดหาให้ ประมาณ 1-2 ล้านบาท แล้วแต่สิทธิของแต่ละบุคคล
ขณะเดียวกัน ที่สโมสรสัญญาบัติ กองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปาง เพื่อเป็นสถานที่ให้ญาติๆ ได้ไปสอบถามหรือติดตามข้อมูลที่จะมีการแจ้งเป็นระยะ รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือส่วนหน้า ที่ท่าเรือบางสะพาน เพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือกำลังพลที่พบเพิ่มเติม
ส่วนการสอบสวนข้อเท็จจริง พล.ร.อ.เชิงชาย ระบุว่า จะต้องให้หน่วยที่เป็นผู้บังคับบัญชาของเรือ ซึ่งก็คือทัพเรือภาค 1 รายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริง ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ่้น และรายงานความสูญเสีย ทั้งในเรื่องกำลังพลและยุทโธปกรณ์ จากนั้น จะต้องมีการรายงานความรับผิดทางละเมิดให้กับกระทรวงการคลังและนายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไปตามกฎหมาย
“เพราะฉะนั้น ในรายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุของเรือจม สาเหตุที่มีการกล่าวว่า เสื้อชูชีพไม่พอกับกำลังพล ในส่วนที่มาสมทบเพื่อไปทำภารกิจที่หาดทรายรี จะต้องถูกสอบสวนและรายงานข้อเท็จจริงทั้งหมด มาที่กองทัพเรือ” ผบ.ทร.ระบุ
ในระหว่างนี้ สิ่งที่ญาติๆ ทำได้ก็คือ รอคอยปาฏิหารย์ที่จะเกิดขึ้นกับกำลังพลที่สูญหาย เพื่อพาพวกเขาทั้งหมดกลับบ้านต่อไป
อ้างอิงจาก