“ถ้าแต่งตัวแบบนี้ คนชอบแน่นอนนะพี่ว่า”
“โชว์กล้ามหน่อย นายแบบคนนั้นก็เราสู้ไม่ได้แล้ว”
คำชมเนียนๆ ดูไม่มีพิษมีภัยแบบนี้แหละ ที่พาไทยติด ‘อันดับ 2 ของโลก’ กับจำนวนการล่วงละเมิดทางเพศในออนไลน์ ตามรายงานของผู้แทนจากศูนย์เพื่อเด็กหาย และถูกฉวยผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ (NCMEC)
พร้อมสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่บอกว่า คนร้าย 1 คน สามารถสร้างความเสียหายให้เด็กถึง 1,000 คน แต่กฎหมายบ้านเรายังไม่สามารถเอาผิดทางอาญา ในขั้นตอนการแสวงหาเหยื่อได้ ต้องรอจนความเสียหายเกิดแล้ว
The MATTER มีโอกาสคุยกับ ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ถึงความน่ากังวลของพฤติกรรมผู้ใหญ่ล่อลวงเด็ก (Grooming หรือ Child Grooming) และพัฒนาการของ ‘ร่างบทบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์’
1. Child Grooming คืออะไร
เชื่อว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา คนต่างเริ่มเข้าใจปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ที่คุ้นหูกับคำว่า Sexual Harassment กันบ้างแล้ว และเป็นธรรมดาที่เมื่อเรารู้เท่าทัน บรรดาคนที่จ้องจะหาเป้าหมายก็ยิ่งเพิ่มกลยุทธ์ให้แยบยล จนแทบจะแยกไม่ออกว่าพวกเขามาดีหรือร้ายกันแน่
“เนียนมาก ค่อยเป็นค่อยไป และใช้เวลา” นับเป็นจุดเด่นสำคัญ ที่ศรีดาอธิบายถึงพฤติกรรม Grooming ว่าคนร้ายใช้การตีสนิท แล้วถึงแสวงหาโอกาสแยกเด็กออก เพื่อนำไปสู่บทสรุปของการล่วงละเมิดทางเพศ
ทั้งนี้ คนร้ายหลายคนแทบจะไม่ต้องพยายาม เพราะเขาอาจเป็นพี่ชายของแม่ น้องสาวของพ่อ คุณน้าข้างบ้าน หรือคุณครูประจำชั้น ที่เด็กไว้ใจไปแล้วก็ได้
“เขาจะไม่บอกว่าถอดเสื้อสิหรอก แต่อาจเริ่มจากหุ่นดีจัง หนูแต่งตัวแบบนี้สิ ค่อยๆ โน้มน้าวทีละนิด แล้วเปิดภาพที่ตอนแรกก็ไม่ถึงกับลามก แล้วค่อยเพิ่มระดับความเข้มข้น พร้อมประโยคเนียนๆ อย่างถ้าน้องโชว์ผิวก็ไม่แพ้นางแบบคนนี้หรอก มาสนุกด้วยกันนะ จนไปจบที่มีการกระทำพฤติกรรมทางเพศด้วยกัน หรือทำให้ดู”
“พอเป็นออนไลน์ ยิ่งทำให้ Grooming เกิดขึ้นได้เร็วกว่าเจอตัวเสียอีก เพราะเด็กคุยไปสัก 2 อาทิตย์ ก็คิดว่ารู้จักกันดีแล้ว มีแลกรูปโปรไฟล์กัน เห็นกิจวัตรประจำวันในหน้าฟีดโซเชียลฯ”
ผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565 ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 9 – 18 ปี จำนวน 31,965 คน พบว่า 36% มีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์ ซึ่งคนร้ายอาจพยายามทำให้เด็กเชื่อว่าตกหลุมรัก อยากคบหาเป็นแฟน แถมเด็กที่อายุประมาณ 10 ขวบ ถึง 12% ก็เคยผ่านประสบการณ์ล่อลวงมาก่อน
ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงคำตอบของเด็กๆ ที่สามารถบอกเล่าได้อย่างชัดเจนเท่านั้น เพราะสิ่งที่น่ากลัวของ Child Grooming คือเด็กๆ ไม่เข้าใจเลยว่าพวกเขาอาจถูกเก็บภาพ หรือวิดีโอในระหว่างท่องโลกออนไลน์ไปแล้ว
2. รู้จัก 7 ขั้นตอน Grooming
– มองหาเป้าหมาย เช่น เด็กที่ไม่ค่อยมีเพื่อน อยู่หอพัก ฐานะไม่ดี หรือมีความต้องการสิ่งใดที่เขาจะเสนอให้ได้
– เติมสิ่งที่ขาดให้ เช่น เสนอเงินให้กับเด็กที่ติดเกม มั่นชมคนที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง
– แยกเด็กออกจากลุ่ม อย่างในพื้นที่ออนไลน์จากเดิมที่เคยคุยกันในกระดานใหญ่ ก็จะเริ่มแชทคุยส่วนตัว
– ชวนคุยเรื่องเพศ
– นำไปสู่การกระทำความผิดที่สำเร็จ คือ การล่วงละเมิดทางเพศ
– บันทึกภาพ หรือวิดีโอระหว่างการละเมิด
– การข่มขู่ เพื่อบังคับให้มีการล่วงละเมิดซ้ำ
“หลายขั้นเด็กจะลังเล โดยเฉพาะตอนที่ถูกละเมิด นักจิตวิทยาถึงย้ำว่าให้เชื่อความรู้สึกอย่านึกถึงเหตุผล เพราะไม่งั้นตอนเริ่มไม่สบายใจกก็จะไม่บอกใครดีกว่า เดี๋ยวเพื่อนไม่เชื่อ บอกไปจะมีปัญหาไหม” ศรีดาย้ำถึงความสำคัญของการให้ความรู้เชิงรุกกับเยาวชน เพื่อให้เขาสามารถหาทางหลีกเลี่ยงในเบื้องต้นได้
3. นานาชาติไปถึงไหนแล้ว?
แม้ว่า Grooming ยังไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แกะกล่อง เพราะในบางประเทศได้มีกฎหมายที่พูดถึงบทลงโทษของประเด็นนี้ไว้ ทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส เป็นต้น
โดยเน้นว่า ‘การกระทำผิด หรือการพยายามกระทำผิด’ ในฐานนี้ จะได้รับโทษเท่ากัน เนื่องจากกฎหมายมุ่งคุ้มครองเหยื่อซึ่งเป็นเยาวชน เช่น ในอังกฤษที่ระบุว่าหากมีการติดต่อกับเด็กเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศ แม้จะไม่มีการนัดพบกัน ก็ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว และมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี
หากใครจะว่าใช่สิ ประเทศเหล่านั้นพัฒนาแล้ว ก็คงต้องยกตัวอย่างเพื่อนบ้านเรา อย่างฟิลิปปินส์ ที่มีการนิยามคำว่า Grooming เข้าไปในกฎหมายชัดเจน และระบุครอบคลุมถึงการล่อลวงผ่านระบบออนไลน์
4. เหตุที่ขั้นตอนแสวงหาเหยื่อ ควรมีความผิดทางอาญา
เมื่อมองย้อนมาถึงไทย “กฎหมายเดิมเราพอมีอยู่บ้าง แต่ไม่ตรงเป๊ะ ต้องประยุกต์เอาเป็นท่อนๆ” เป็นความเห็นของศรีดา ในฐานะคนที่ทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิเด็กในโลกออนไลน์มายาวนาน
ยกตัวอย่างกฎหมายใกล้เคียงที่พอจะเอาผิด คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (4) ที่ระบุว่า นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูล คอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ไม่เกิน 5 ปี ไม่เกิน 100,000 บาท
“แปลว่าเขาได้คลิปไปขายทำการค้าแล้ว นั่นคือเด็กเป็นเหยื่อแล้วถูกไหมล่ะ ถึงจะแค่ผ่านกล้องไม่ได้เจอตัว แต่คลิปนั้นก็ทำร้ายเด็กอยู่ดี อาจถูกไล่ออกจาก รร.แล้ว เพื่อนบูลลี่แล้ว พ่อแม่เสียชื่อเสียงแล้ว”
นั่นถึงเป็นเหตุผล ที่ศรีดาพยายามอย่างหนัก เพื่อให้ ‘ร่างบทบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์’ ถูกนำไปบังคับใช้จริง ซึ่งก็ดูเหมือนจะไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว เพราะได้ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมวุฒิสภา และครม.เองก็มีมติรับทราบแล้ว คณะทำงานจึงเดินหน้าทำงานต่อกับกระทรวงยุติธรรม
“สมมติไปจับคนร้ายได้คนหนึ่ง แล้วดูในมือถือหรือคอมพิวเตอร์ของเขา พบว่ากำลังล่อลวงเด็กอีก 5-6 คน ทั้งมีข้อมูลพูดคุย ส่งภาพที่กำลัง Groom เด็กนี่แหละ พอวิเคราะห์เนื้อหามีวัตถุประสงค์ชัด ว่าน่าจะนำไปสู่การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ ก็ควรต้องลงโทษอะไรได้ แทนที่จะรอเปิดกล้องถ่ายไปแล้ว”
กฎหมายนี้จะถูกนำมาใช้มั่วซั่วไหม? นับเป็นข้อสงสัยที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ในช่วงต้นของความพยายามออกกฎหมายในเชิงป้องกัน ว่าจะแยกความผิดให้ลงตะกร้าที่ถูกขีดเส้นขึ้นมาใหม่ได้ยังไง
“ไม่ได้บุ่มบ่ามจัดการหรอก คงต้องมีเนื้อหาหรือพฤติกรรมที่ชี้เจตนาชัดเจนก่อน ไม่ใช่รับเด็กไปกินไอติมทุกอาทิตย์แล้วจะเข้าข่าย แต่อาจจะมี ‘รักเสมออยากเจอมาก’ ‘ฝันถึงเมื่อคืน’ คือมีข้อความที่แสดงว่าเขากำลังหวังอะไรบางอย่าง” ศรีดาให้ความเห็น พร้อมอธิบายเพิ่มว่าจำเป็นต้องใช้หลักฐานหลายส่วนประกอบกัน
อย่างไรก็ดี ศรีดายังคงมองเห็นความหวังว่า กฎหมายจะยังเป็นที่พึ่งให้เด็กที่เดือดร้อน อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ในประเด็นของการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก ที่เวลาจับผู้ร้ายได้คนหนึ่ง แล้วพบหลักฐานว่าทำเช่นนี้กับเคนอื่นด้วย ก็สามารถระบุโทษเพิ่มได้โดยที่ไม่ต้องมีเหยื่อมาแจ้งความเพิ่ม
“ถ้ารอให้กระทำผิดแล้วเสร็จ นั่นเท่ากับมือเหยื่อแล้ว เราคงไม่อยากรอวันนั้น” ศรีดา กล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิงจาก