คืนที่ดาวไม่เต็มฟ้า อาจทำให้เราจินตนาถึงหน้าใครไม่ได้แล้ว ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบว่า มลภาวะทางแสง (light pollution) ทำให้ท้องฟ้ายามราตรีสว่างขึ้น จนมนุษย์แทบมองเห็นดาวด้วยตาเปล่าไม่ได้ ในอีกแง่นึงก็คือ จำนวนดวงดาวที่มนุษย์มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าลดลงอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ผลการศึกษายังบอกด้วยว่า ถ้ามลภาวะทางแสงยังมีมากขึ้นต่อไปเรื่อยๆ มนุษย์อาจมองไม่เห็นกลุ่มดาวนายพรานอีกต่อไป
ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา แสงที่มนุษย์สร้างมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคริสโตเฟอร์ ไคบาร์ (Christopher Kyba) นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยด้านธรณีวิทยา German Research Centre for Geosciences เผยว่า “การมองเห็นดวงดาวของเรากำลังจะหายไป”
ผลการศึกษานี้ตีพิมพ์ผ่านวารสารวิทยาศาสตร์ Science ซึ่งกลุ่มนักวิจัยเก็บข้อมูลผ่านนักดาราศาสตร์สมัครเล่นและนักวิทยาศาสตร์พลเมืองออกไปนับดาวตอนดึกตลอด 12 ปี ซึ่งผู้คนต่างรายงานว่ามองเห็นดาวเปลี่ยนไป สัมพันธ์กับความสว่างของท้องฟ้าที่เพิ่มขึ้นเกือบ 10% ในทุกปี
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์อธิบายให้เห็นภาพไว้ว่า เด็กที่เกิดในช่วงที่ยังมองเห็นดาว 250 ดวง ณ ที่แห่งหนึ่ง ในเวลา 18 ปีต่อมา จะเห็นดาวน้อยลงมากกว่า 100 ดวง
มลภาวะทางแสงไม่ได้แค่ทำให้เรามองเห็นดาวน้อยลงเท่านั้น เพราะมันสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ และกระทบกับวิถีการนอนด้วย แถมยังส่งผลกับสัตว์ที่ออกหากินยามกลางคืนด้วย
“และอยากชวนระลึกด้วยว่า มลพิษทางแสงก็เป็นการใช้พลังงานโดยสิ้นเปลืองด้วย เรามักจะใช้พลังงานแสงสาดไปยังบรรยากาศ ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่พวกเราควรทำ” ไคบาร์ กล่าว
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/science-environment-64321824
https://www.space.com/light-pollution-makes-stars-disappear