“คุณเคยมาเปียงยางมั้ย? ถ้าคุณได้มาที่นี่ คุณจะเซอร์ไพร์สมากเลยละ!” คือข้อความที่ซงอา (Song A) ยูทูปเบอร์เกาหลีเหนือวัย 11 ขวบเล่าผ่านทูป เธอทำแชนแนลเล่าเรื่องราวชีวิตประจำวันที่เกาหลีเหนือ ประเทศที่ถูกมองว่าจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเข้าถึงข้อมูล
“เพราะว่าไม่ว่าจะไปทางไหน ก็จะเจอกับสวนสนุก เช่น สวนน้ำมุนซู, สวนสัตว์เซ็นทรัลปาร์ค, และสวนโรลเลอร์สเก็ต ที่นี่เต็มไปด้วยสถานที่มากมายที่เด็กๆ ชอบ” ซงอากล่าวด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงบริติช
แชลแนลของซงอามีผู้ติดตามอย่างน้อย 22,000 ราย เธอมักจะเล่าเรื่องราวชีวิตประจำวันในเมืองหลวงของเกาหลีเหนือให้ผู้ชมฟัง เช่น พาเที่ยวสวนน้ำ, วันแรกในโรงเรียนแบบไม่ใส่หน้ากาก, ชีวิตช่วงกักตัว, กินไอศกรีม, และโรงพยาบาลเด็ก เป็นต้น
ในคลิปวีดีโอตัวแรกของเด็กหญิงวัย 11 ปี ซงอาอัดจากห้องนอนที่มีหนังสือและลูกโลกเป็นเบื้องหลัง เธอเล่าว่าตัวเองชอบอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์มาก “หนังสือโปรดของฉันคือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่เขียนโดย เจ. เค. โรว์ลิง พนันเลยว่าหนังสือโปรดของคุณก็คงจะเป็นแฮร์รี่ พอตเตอร์เหมือนก้น” ซงอากล่าว พร้อมกับยกหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ให้ดู
อีกคลิปที่น่าสนใจ คือ คลิปที่ซงอาเล่าชีวิตการกักตัวจากโรคระบาด เธอเล่าว่าขณะที่ครอบครัวกำลังไม่สบาย ก็มี ‘หมอทหาร’ มาเคาะประตูถึงหน้าบ้านพร้อมกับเอายาเข้ามาให้ โดยในวิดีโอปรากฎภาพของหมอทหารเข้ามานั่งถึงพื้นในบ้าน และยื่นซองยาให้เลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยังมีคลิปซงอาที่พาผู้ชมไปดูสวนน้ำที่เต็มไปด้วยผู้คน และพาไปดูการไปโรงเรียนวันแรกที่เธอเล่าในคลิปไว้ว่า “ดูรอบๆ ฉันสิ ทุกคนดูสดช่ืนขึ้น มีความสุขมากขึ้น และมีพลังงานกว่าเดิม รู้มั้ยอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม? เราไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยอีกแล้ว!”
ซงอาไม่ใช่ยูทูปเบอร์เกาหลีเหนือคนเดียวที่เริ่มเผยแพร่คลิปตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา ยังมีแชนแนลของยูมิ (Yumi) วัยรุ่นเกาหลีเหนือที่อัดคลิปตัวเองเล่าเรื่องราวชีวิตในเกาหลีเหนือด้วยภาษาอังกฤษ เช่น กินไอศกรีม พาเที่ยวสวนสนุก พาไปยิม เป็นต้น
“วันนี้คือ TGIF เลยมาสวนสนุกเพื่อหาความสุข มันมีสวนน้ำ งานรื่นเริ่ง มินิกอล์ฟ สนามเทนเนส สนามแบดมินตัน คอร์ทวอลเลย์บอล .. คุณอาจสงสัยว่าคุณเกาหลีเหนือทำอะไรเพื่อความสุข วันนี้จะพามาดูกันค่ะ” ยูมิกล่าว ระหว่างคลิปพาทัวร์สวนสนุกในกรุงเปียงยาง
ที่น่าสนใจ คือ รูปแบบวิดีโอของซงอาและยูมิค่อนข้างคล้ายกัน คือ ทั้งคู่ต่างมีคลิปวิดีโอชิ้นแรกและมีเนื้อหาพาผู้คนไปดูวิถีชีวิตทั่วไป ใช้ภาษาอังกฤษในการเล่าเหมือนกัน และมีการวางซับไตเติ้ลด้านล่างคลิปคล้ายกัน
ขณะที่บางฉากบางตอน มีคนตั้งข้อสังเกตว่าพวกเธอละสายตาจากกล้อง คล้ายกับมองใครบางคนที่กำล้งให้คำแนะนำอยู่ นำมาสู่การตั้งคำถามว่า วิดีโอของซงอาและยูมิเป็นสิ่งที่เขียนสคริปต์ขึ้นมาหรือเปล่า หรือรัฐบาลเกาหลีเหนือมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างโฆษณาชวนเชื่อนี้หรือไม่
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า นี่อาจเป็นเพียงแค่หนึ่งในแคมเปญโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือเท่านั้น สะท้อนความอยากรีแบรนด์ภาพลักษณ์ของเกาหลีเหนือให้กลายเป็นประเทศที่เข้าถึงง่ายมากขึ้น พร้อมระบุว่า สถานะของยูทูปเบอร์เกาหลีเหนืออาจเชื่อมโยงกับข้าราชการรับสูง
ปาร์ค ซอง ชอล นักวิจัยที่ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนเกาหลีเหนือ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ว่า วีดิโอของยูมิดู “เหมือนกับละครที่จัดฉากมากแล้ว” ที่รัฐบาลเกาหลีเหนือเขียนสคริปต์ให้ และด้วยการจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และสื่อจากต่างประเทศ ทำให้ปาร์คเชื่อว่ายูมิไม่ใช่แค่คนเกาหลีธรรมดาๆ
ปาร์คระบุด้วยว่า คลิปวิดิโอของยูทูปเบอร์เกาหลีเหนือคงไม่ใช่เรื่องแต่ง 100% แต่เชื่อว่าเป็นการชวนให้เข้าใจผิด และไม่ได้นำเสนอชีวิตที่แท้จริงของชาวเกาหลีเหนือทั่วไป
ดูวิดิโอของซงอาได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=wzMMJvekHVw&t=1s
อ้างอิงจาก
https://www.youtube.com/watch?v=jL9q9zWIv00
https://www.youtube.com/watch?v=R0DZsC0iQoY
https://www.insider.com/north-korean-girl-youtube-subscribers-song-a-propaganda-videos-2023-2
https://edition.cnn.com/2023/02/04/asia/north-korea-youtuber-yumi-intl-hnk-dst/index.html