ราวสัปดาห์ก่อน หลายคนอาจได้ยินข่าวว่าสถาบันคุรุพัฒนา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จะจัดหลักสูตรอบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู โดยให้อบรม 420 ชั่วโมง 7 โมดูล สำหรับผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นคุณสมบัติให้ผู้ที่ทำงานในสถานศึกษาได้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ
ประเด็นนี้ทำให้เกิดกระแสในสังคมออนไลน์ หลายคนเข้าใจว่า เป็นการให้ ‘ใครก็ได้’ มาร่วมอบรมเพื่อเป็นครู แต่จากการพูดคุยกับ อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็พบว่า ความเข้าใจนี้เป็นผลมาจากการสื่อสารที่ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนของคุรุสภา
“ตอนนี้มีการเตรียมครูอยู่ 3 แบบ 1 คือ เตรียมครูตามหลักสูตรครู ซึ่งเป็นหลักสูตร 4 ปีเต็มรูปแบบแล้ว กรณีนี้จะไม่ได้ใบอนุญาตอัตโนมัติ ต้องไปสอบ แบบที่ 2 คือ จบสาขาอื่นแล้วมาเรียนวุฒิประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) แล้วก็ไปสอบใบประกอบวิชาชีพครู ส่วนแบบที่ 3 คือ อบรม 420 ชั่วโมง 7 โมดูล ซึ่งเป็นกรณีของครูบางสาขา เช่น วิชาเฉพาะด้านที่สอนในโรงเรียนอยู่แล้ว และนับชั่วโมงอยู่ แล้วก็มาอบรมเพิ่ม เพื่อให้ได้วิชาครูเทียบเท่า ป.บัณฑิต แต่ไม่ต้องมาเรียนเป็นปี เรียนเป็นระบบโมดูล”
นั่นหมายความว่า ไม่ใช่ว่าคนทั่วไปจะเข้าอบรมแล้วเป็นครูได้เลย แต่ระบบดังกล่าวออกแบบมาเพื่อกลุ่มครูที่ทำงานในโรงเรียนอยู่แล้ว มีชั่วโมงการสอนอยู่แล้ว และต้องการใบประกอบวิชาชีพในการทำงานอย่างถูกต้อง
คำถามที่ตามมาก็คือ การอบรมดังกล่าวเป็นการตอบโจทย์ที่ดีไหม ซึ่ง อ.อรรถพลกล่าวว่า ปัญหานี้ต้องแยกออกเป็นหลายส่วน อย่างกรณีการเตรียมครูในระบบ professionalism ก็มีปัญหาว่าเป็นการผลิตเชิงปริมาณที่คุมมาตรฐานไม่ได้ ทำให้ผู้คนไม่เชื่อถือและมองว่า ให้คนเรียนจบสายอื่นมาต่อเป็น ป.บัณฑิต เพื่อเป็นครูก็ได้
“ในสิงคโปร์ก็เป็นระบบนี้ คนที่เรียนครูตาม ป.ตรี ก็จะสอนประถม ปฐมวัยกัน อาจจะสอนมัธยมบ้าง แต่ถ้าเป็นคนจบจากคณะอื่นมา เช่น จบวิศวฯ แล้วมาเรียนเทรนครูต่อที่สิงคโปร์ เป็นระบบ 18 เดือน ระหว่างที่เทรนก็ต้องอยู่โรงเรียน แล้วก็เทรนด้วย คือเขาไม่ได้แค่เรียนอบรม แล้วไปเป็นครูเลย”
“สำคัญคือต้องมีประสบการณ์ชั้นเรียน ซึ่งในการเรียนหลักสูตร ป.ตรี มันก็มีสิ่งนี้อยู่ไง ต้องมีประสบการณ์ชั้นเรียน ฉะนั้นคุณจะดีไซน์ระบบขึ้นมาเพื่อให้ตอบโจทย์ปัญหาที่กำลังเคลียร์อยู่ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องมีหลักการก่อนว่า ต้องครอบคลุมตัววิชาที่เป็นศาสตร์ของการครูทั้งหมด เช่น จิตวิทยาเด็ก แล้วก็ต้องมีปฏิบัติการในชั้นเรียนที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเอาความรู้จากการเรียนไปใช้ได้จริง ไม่ใช่แค่บอกว่ามานั่งอบรมแล้วก็เป็นครูได้แล้ว”
แต่กับหลักสูตรอบรมที่คุรุสภากำลังจะเปิดนี้ อ.อรรถพลก็กล่าวว่า ยังไม่รู้ว่า 7 โมดูลนี้มีมหาวิทยาลัยไหนบ้างที่จะเป็นผู้มีส่วนในการเทรน หรือเทรนจากคุรุสภาโดยตรง เพราะเดิมที ป.บัณฑิตก็ถูกทำไว้อย่างกระจัดกระจาย แต่ละมหาวิทยาลัยต้องแจ้งความจำนงในหลักสูตรเข้าไป ซึ่งก็มีปัญหาว่าเน้นแค่เชิงปริมาณ ไม่ได้คุมคุณภาพ
“ตอนนี้เหมือนหนีปัญหานึงไปเจออีกปัญหานึง เช่น ผลิตครูตามหลักสูตร ปีหนึ่ง 30,000 กว่าคน แต่ไม่สามารถทำให้สังคมเชื่อมั่นได้ว่าผลิตครูด้วยระบบ ป.ตรีจะมีคุณภาพ คนก็จะหนีไปเรื่องการเป็นครูโดยไม่จบตรงสาย แต่มาเทรนครู แล้วก็ให้มาเป็นครู ก็เลยเกิดระบบ ป.บัณฑิตขึ้น แต่ ป.บัณฑิตของแต่ละมหาวิทยาลัยก็ยังถูกตั้งคำถามเรื่องคุณภาพอยู่”
ขณะที่ ครูจุ๊ย—กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ จากคณะก้าวหน้า กล่าวถึงเรื่องหลักสูตรอบรมของคุรุสภาว่า สิ่งที่สังคมต้องตั้งคำถามกับเรื่องหลักสูตรอบรมนี้คือ ‘คุณภาพ’ ของการอบรม เวลาที่ต้องเสียไป 420 ชั่วโมงนี้จะคุ้มค่าหรือเปล่า มีเนื้อหาที่จำเป็นและเพียงพอหรือไม่ ไม่ใช่แค่การเอาตัวมานั่งฟัง เก็บชั่วโมง แล้วก็จบ
“คุรุสภาต้องออกมาเคลียร์ว่า ที่คุณจะทำคือยังไงกันแน่ มีเนื้อหายังไง มีการส่งเสริมประสิทธิภาพกระบวนการทำงานของครูยังไง”
นอกจากนี้ ครูจุ๊ยยังมีคำถามอีกว่า ทำไมคุรุสภาถึงปล่อยให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น ทำไมถึงมีครูที่ต้องรอผ่อนผัน ป.บัณฑิตไม่เพียงพอเหรอ หรือผู้คนเข้าไม่ถึง ป.บัณฑิต ที่ปกติใช้เป็นกระบวนการในการเทรนครู แล้วก็ให้ครูไปสอบใบประกอบวิชาชีพ
เธอเล่าอีกว่า วิธีการเช่นนี้ ที่ฟินแลนด์ก็มี หากจบจากวิชาชีพอื่นแล้วจะมาเป็นครู ก็ต้องเรียนเรื่องการเรียนการสอน จิตวิทยาการสอน ประมาณ 1-2 ปี ซึ่งก็เป็นอีกช่องทางนึงในการคัดเลือกคนเข้ามาเป็นครู แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับการศึกษาไทย เป็นคนละเรื่องกัน
“อันนี้เป็นเรื่องการบริหารจัดการของคุรุสภาที่ต้องไปตั้งคำถามว่า ทำไมถึงเกิดครูกลุ่มนี้ขึ้น อยู่ในบัญชีแล้ว ทำงานอยู่ในโรงเรียนแล้ว ผ่อนผันแล้ว แต่ยังจะผ่อนผันอีกเหรอ มันเกิดอะไรขึ้นจึงต้องออกการอบรม 420 ชั่วโมงนี้มา มันเป็นกระบวนการผ่อนผันใบอนุญาต เหมือนคุรุสภาอนุญาตให้ไปสอนก่อน พอไปสอนแล้ว ในที่สุดคุณก็ต้องได้ใบ เพราะคุณจะเป็นครู ยังไงก็ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ กระบวนการนี้อนุญาตให้ผ่อนผันตั้ง 6 ปีแล้ว ทำไมยังต้องมี 420 ชั่วโมงนี้อีก”
ไม่เพียงเท่านั้น ครูจุ๊ยยังย้ำเช่นเดียวกับ อ.อรรถพลว่า อยากให้คุรุสภาสื่อสารอย่างชัดเจน ด้วยการวางเงื่อนไขทุกอย่างเอาบนโต๊ะ สื่อสารง่ายๆ ทีเดียว ไม่ต้องออกมาทีละขยัก เพราะตอนนี้ประชาชนยังไม่รู้ว่า 7 โมดูลนี้มีรายละเอียดและกระบวนการอย่างไรกันแน่
อ.อรรถพลกล่าวปิดท้ายว่า เมื่อคุรุสภาจะออกแบบระบบแบบนี้ ก็ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมที่กลับมาหาคนที่เรียนผ่านแทรคปกติด้วย เช่น ต้องล็อกจำนวนชั่วโมงปฏิบัติงานที่ไม่แตกต่างกัน อย่างคนที่เรียนครุศาสตร์ทุกคน มีชั่วโมงปฏิบัติงาน 200 ชั่วโมง และเก็บมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 1 ดังนั้น คนจะมาเป็น ป.บัณฑิตก็ดี หรือสอบด้วยระบบโมดูลก็ดี ชั่วโมงฝึกสอนในโรงเรียนก็ต้องไม่แตกต่างกัน ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดคำถามว่าแล้วจะมีคุณภาพได้อย่างไรถึงมาอยู่ในกลุ่มเดียวกับที่นักศึกษากำลังสมัครสอบ
“ผมว่าเขาคิดไม่สุด คิดแบบหนีปัญหา แล้วก็แก้ปัญหาไปเรื่อยๆ ระบบก็ไม่เสถียรซักที คนเรียนก็หมดแรงแล้วว่า งั้นจะเรียนไปทำไม กว่าจะได้เรียน เรียนก็หนัก”