“นี่ไม่ใช่การปฏิรูประบบตุลาการ แต่เป็นการปฏิวัติที่ทำให้อิสราเอลไปสู่ระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ …เราต้องการให้อิสราเอลยังคงเป็นประชาธิปไตยเพื่อลูกหลานของเรา”
ข้อความข้างต้นคือเสียงจากผู้ชุมนุมประท้วงแผนปฏิรูประบบตุลาการในอิสราเอล ซึ่งเมื่อวานนี้ (11 มีนาคม) นับเป็นเวลา 10 สัปดาห์แล้ว ที่ชาวอิสราเอลหลายแสนคนร่วมประท้วงอย่างต่อเนื่อง จนหนังสือพิมพ์ฮาเร็ตส์ของอิสราเอล (Israeli Haaretz) เรียกว่าเป็น ‘การเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ’
แล้วการประท้วงครั้งนี้มีสาเหตุมาจากอะไร?
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 มกราคม รัฐบาลอิสราเอลชุดใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) ที่เคยถูกฟ้องร้องในข้อหาพัวพันคอร์รัปชัน ได้เสนอแผนการปฏิรูปเพื่อจำกัดอำนาจศาลสูงสุดของอิสราเอล แล้วคืนอำนาจดังกล่าวให้กับฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้นิติบัญญัติสามารถผ่านร่างกฎหมายที่ศาลสูงสุดลงมติว่าขัดต่อหลักประชาธิปไตยได้
ในสภาของอิสราเอลมีทั้งสิ้น 120 ที่นั่ง หากสภามีเสียงส่วนใหญ่เกิน 61 เสียง มติของสภาก็จะสามารถใช้แทนที่คำตัดสินสูงสุดของศาลได้ รวมไปถึงยังมีการเสนอให้เพิ่มบทบาทของนักการเมืองในการแต่ตั้งผู้พิพากษาสูงสุดได้อีกด้วย
ยาริฟ เลวิน (Yariv Levin) รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมระบุว่า สาธารณชนเสื่อมศรัทธาต่อระบบตุลาการของอิสราเอล แผนการปฏิรูปนี้จะช่วยคืนอำนาจให้กับบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
อย่างไรก็ดี อาเมียร์ ฟุคส์ (Amir Fuchs) นักวิจัยอาวุโสของสถาบันประชาธิปไตยอิสราเอล มองว่าการปฏิรูประบบตุลาการในครั้งนี้ขัดกับหลักประชาธิปไตยที่ต้องแบ่งแยกอำนาจทั้ง 3 ฝ่าย [นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ] เมื่อรัฐบาลมีอำนาจสูงสุด รัฐบาลจะใช้อำนาจนี้เพื่อควบคุมการเลือกตั้งและเสรีภาพในการพูด รวมไปถึงทุกสิ่งที่เขาต้องการอีกด้วย
หลังจากที่รัฐบาลเปิดเผยแผนการปฏิรูปดังกล่าวแล้ว ก็ทำให้ประชาชนชาวอิสราเอลนับแสนคนออกมาประท้วงเพื่อต่อการแผนการนี้ โดยความรุนแรงของการประท้วงเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม เมื่อตำรวจอิสราเอลยิงระเบิดมือและใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ประท้วง
แต่การประท้วงก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยล่าสุดก็เข้าสัปดาห์ที่ 10 ในเมื่อวานนี้ (11 มีนาคม) ทั้งยังมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 500,000 คนทั่วประเทศ จนถูกเรียกว่าเป็น ‘การเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ’ อีกด้วย
ทั้งนี้ ยังมีนักวิจารณ์ที่มองว่า หากแผนการปฏิรูประบบตุลาการนี้ผ่าน ตุลาการจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และนำไปสู่การมีรัฐบาลเผด็จการในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เนทันยาฮูยืนยันว่า นโยบายดังกล่าวได้รับการออกแบบมาเพื่อยับยั้งไม่ให้ศาลใช้อำนาจมากเกินไป และแผนการปฏิรูปนี้ก็เป็นสิ่งที่ชาวอิสราเอลเลือกแล้วผ่านการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่วนสาเหตุที่เกิดการชุมนุมขึ้น ก็เป็นเพราะฝ่ายค้านต้องการโค่นอำนาจของเขา ทั้งนี้ เขากำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีทุจริต 3 คดี โดยเขาให้การปฏิเสธทั้งหมด
อ้างอิงจาก