เมื่อวานนี้ (1 พฤษภาคม) อุ๊งอิ๊ง–แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย คลอดลูกคนที่ 2 ซึ่งหลายคนก็ต่างออกมาแสดงความยินดีกับเธอมากมาย แต่ถึงกระนั้น ก็มีผู้คนบางส่วนแสดงความเห็นต่างออกไปอย่างให้เธอไปเลี้ยงลูกหรือเป็นแม่บ้านแทนที่จะมาเป็นนายกฯ แล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ชายดีกว่า แต่ก็มีคนตอบโต้กลับว่า “ทำไมผู้หญิงจะต้องทิ้งความฝันและอนาคตของตัวเองเพียงเพราะมีลูก?”
พอมาถึงจุดนี้หลายคนก็คงสงสัยว่า การแสดงความคิดเห็นที่สั่งให้ผู้หญิงต้องเป็นหรือต้องทำแบบนี้ แบบนั้น เกี่ยวข้องกับระบบสังคมชายเป็นใหญ่ที่ยังปรากฏอยู่ในสังคมไทยหรือไม่?
คำตอบก็คือใช่ เพราะวัฒนธรรมปิตาธิปไตย (Patriarchy) ได้ประกอบสร้างความเป็นแม่ในพื้นที่ครัวเรือน ซึ่งทำให้ผู้หญิงเองก็มีความสำนึกรู้ ตลอดจนความเข้าใจ โดยปราศจากข้อสงสัยและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงทำให้ผู้หญิงจะต้องเป็นแม่ไปตลอดชีวิต
ดังนั้น การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองไทยของผู้หญิง จึงมีจำนวนน้อยกว่าผู้ชาย ถ้าเทียบกับสัดส่วนทั่วโลก กว่าจะได้ผู้นำหญิงมาเป็นผู้นำ ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก และพอได้มาแล้ว ก็มักจะถูกโจมตีด้วยเรื่องเพศหรือความเป็นผู้หญิงอยู่เสมอ
ถึงแม้ว่า ในยุคสมัยปัจจุบันบทบาท ‘ความเป็นแม่’ ได้ถูกตีความใหม่และไปไกลเกินกว่าภาพจำเดิมๆ หรือการเหมารวมเหมือนในอดีตแล้ว ซึ่งเราต้องยอมรับก่อนว่า ความเป็นแม่ในอุดมคติที่สังคมไทยสร้างขึ้นได้กดทับผู้หญิงให้ต้องแบกภาระตามที่สังคมคาดหวัง โดยเฉพาะในวันที่ผู้หญิงไม่สามารถปฏิเสธบทบาทหลักทางเศรษฐกิจได้ แล้วจำเป็นต้องหารายได้ช่วยประคองครอบครัว แต่พวกเธอยังต้องสวมบทบาท ‘ความเป็นแม่’ และ ‘ความเป็นภรรยาที่ดี’ ควบคู่กันไปด้วย
“สังคมคาดหวังว่าหน้าที่หลักในการดูแลลูก คือ ‘ผู้หญิง’ เพราะมองว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายคลอดลูก ดังนั้น งานบ้านหรือการเลี้ยงลูกก็ควรจะเป็นหน้าที่ของผู้หญิง” ปณิธี บราวน์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว
แล้วถ้าเทียบกับกรณีของ จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ ที่ประกาศว่า เธอตั้งครรภ์ในขณะดำรงตำแหน่งอยู่เมื่อปี 2018 โดยเธอขอลาคลอดเป็นเวลา 6 สัปดาห์ และสามีของเธอก็รับหน้าที่เป็นพ่อบ้านดูแลลูก เมื่ออาร์เดิร์นต้องกลับไปทำงานต่อ ซึ่งก็เป็นข้อพิสูจน์ว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างหน้าที่การงานและครอบครัว
ทั้งนี้ ถ้าจะสรุปอย่างสั้นๆ ระบบชายเป็นใหญ่นั้นยังคงอยู่ในโครงสร้างทางสังคมของเรา ซึ่งเป็นระบบที่เอื้อให้เพศชายมีอำนาจ และใช้อำนาจนั้นเหนือคนกลุ่มอื่นๆ รวมไปถึงตัวเพศชายเองก็ได้รับผลกระทบจากวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ ดังนั้น คำว่า ‘ชายเป็นใหญ่’ จึงไม่ได้หมายถึงผู้ชายในฐานะบุคคล แต่หมายถึงวิธีคิดหรือแนวคิดที่ให้อำนาจกับผู้ชายมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ
อ้างอิงจาก