พรุ่งนี้ (7 พฤษภาคม) จะเป็นอีกวันที่ประชาชนจำนวนมากเดินเข้าคูหาเลือกตั้งล่วงหน้า ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งใหญ่ของจริงในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม และ (หวังว่า) อีกไม่นานเราจะได้เห็นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ของประเทศไทยว่าจะมีหน้าตาอย่างไร
ควบขนานไปกับระยะเวลาที่สั้นลงทุกขณะ ผลโพลของทั้งสำนักข่าวเนชั่น และนิด้าโพลต่างชี้ตรงกันว่ากระแสของพรรคก้าวไกลกำลังพุ่งขึ้นสูงชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กล่าวคือความนิยมเฉพาะนายกฯ ได้แซงเพื่อไทยไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ ส.ส. เขตและบัญชีรายชื่อก็เบียดเพื่อไทยชนิดตามมาติดๆ
แต่กระแสที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนความนิยมของพรรคก้าวไกลได้จริงหรือเปล่า The MATTER ชวน สติธร ธนานิติโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตรกรรมประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้ามาร่วมวิเคราะห์กระแสก้าวไกล และการเลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้ายว่าแต่ละพรรคการเมืองจะได้คะแนนเสียงเท่าไหร่ และรัฐบาลจะออกเป็นหน้าตาไหนได้บ้าง
- ก้าวไกลแรงจริงหรือจกตา
สติธรมองว่ากระแสก้าวไกลในรอบนี้ เกิดขึ้นจากความโดดเด่นของแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คู่ไปกับแนวทางที่พรรคเลือกเดินคือ “ชัดเจน ตรงไปตรงมา” ซึ่งสวนทางกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเมื่อถูกถามถึงจุดยืนในการจับมือจัดตั้งรัฐบาล
พรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ว่าปรับตัวอย่างไร พยายามส่งคนหน้าใหม่แค่ไหน แต่สุดท้ายยุทธศาสตร์เลือกตั้งยังเป็นการเมืองยุคเก่า คุยกันแบบกั๊กๆ ไม่ยึดหลักการอะไร ดังนั้น พอคุณไม่ทำการเมืองแบบที่คนสมัยนี้คาดหวัง คุณก็ไม่ได้คะแนน
อย่างไรก็ตาม ในมุมของนักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า คะแนนความนิยมของนายกฯ ยังไม่ได้สะท้อนชัยชนะของพรรคการเมือง แต่สะท้อนคะแนนที่ประชาชนจะโหวตให้กับบัญชีรายชื่อของพรรคนั้นๆ หรือถ้ายึดตามเนชั่นโพลล่าสุด พรรคก้าวไกลอาจได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อมากถึง 30 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งนี้
“ต้องยอมรับว่าคุณพิธาเด่นจริง แต่ปัญหาคือมันไม่มีบัตรเลือกตั้งนายกฯ แปลว่าถึงเวลาคนอาจไปกาบัญชีรายชื่อให้ก้าวไกล แต่มันแค่ 100 คะแนน ส่วนที่เหลือมันต้องไปวัดที่เขตว่าผู้สมัครแบ่งเขตของก้าวไกลจะชนะได้เท่าไหร่” สติธรกล่าว
สติธรชวนคิดต่อว่าในโพลเดียวกันของเนชั่น อันดับที่ 2 และ 3 คือ แพทองธาร ชินวัตร และ เศรษฐา ทวีสิน สองแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งถ้านำคะแนนมาบวกกันจะได้ถึง 40% ดังนั้น จึงน่าจะประเมินได้ว่าพรรคเพื่อไทยอาจได้บัญชีรายชื่อถึง 40 ที่นั่ง
ดังนั้น ในมุมของสติธร ด้วยกระแสที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นไปได้ที่คะแนนของก้าวไกลจะอยู่ที่ประมาณ 50 – 80 ที่นั่ง
- เหลียวมองพรรคอื่น
พรรคเพื่อไทย – ประมาณ 210 – 220 ที่นั่ง ไม่ถึง 250 ที่นั่ง
สติธรประเมินว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยุทธศาสตร์แลนด์ไสลด์ของเพื่อไทยอาจไม่สำเร็จเท่าที่หวัง สาเหตุหนึ่งคือการแบ่งคะแนนกันเองระหว่างพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล ที่อาจทำให้พรรคอันดับรองลงมาคว้าพุงปลาในหลายพื้นที่ของ ส.ส. เขตไปกินได้
“เพื่อไทยอาจไม่แลนด์ไสลด์ 250 เสียง แต่ได้ประมาณ 210 – 220 เสียง ก้าวไกลพุ่งไป 50 – 80 เสียง สองพรรครวมกันยังไงก็เกินครึ่งอยู่แล้วไง เพียงแต่กติกามันต้องการ 375 เสียง” สติธรกล่าวต่อ “การตัดคะแนนกันเองของสองพรรคเลยกลายเป็นปัญหามาก เพราะมันทำให้เพื่อไทยมีแนวโน้มจะได้ ส.ส. เขตน้อยลง และถูกก้าวไกลแบ่งบัญชีรายชื่อไป ทำให้ผลรวมของเพื่อไทยออกมาอาจไม่ทะลุ 250 เสียง” สติธรประเมิน
พรรครวมไทยสร้างชาติ – ไม่เกิน 25 ที่นั่ง
“น่าจะถึง 25 ที่นั่ง” สติธรเกริ่นก่อนกล่าวต่อ “แต่ลุ้นกันเหนียว”
สติธรยอมรับว่า คะแนนของรวมไทยสร้างชาติน่าจะน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าอาจสูงถึง 40 – 60 ที่นั่ง เพราะในช่วงหลังมานี้ไม่ว่ากระแสหรือท่าทีของพรรคเองดูต้องการแค่ 25 ที่นั่ง เพื่อเป็นขั่นต้ำในการเสนอเชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่ออีก 2 ปี
พรรคพลังประชารัฐ – ประมาณ 30 – 60 ที่นั่ง
สติธรวิเคราะห์ว่าในช่วงแรก พรรคพลังประชารัฐตั้งเป้าไว้ที่ 50 – 60 ที่นั่ง เพื่อเป็นพรรคขนาดกลางที่มีอำนาจกำหนดทิศทางการจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยปัจจัย 3 ประการคือ การแยกกันเดินของ 2 ป., ถูกพรรคภูมิใจไทยดูด ส.ส. และคะแนนนิยมของเพื่อไทย ทำให้พรรคพลังประชารัฐคะแนนลดหวบจนเหลือ 30 – 40 ที่นั่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันกันเองในพื้นที่เขตระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย อาจทำให้พรรคพลังประชารัฐคว้าพุงปลาไปกินได้ในหลายพื้นที่เช่นกัน
“ถ้าหนึ่งอาทิตย์หลังจากนี้ พลังประชารัฐเขาฮึกเหิมกลับมาฮึกเหิมและท่อน้ำเลี้ยงพร้อมๆ อาจได้ถึง 50 – 60 ที่นั่ง” สติธรกล่าวต่อ “แต่ถ้ามาไม่ทันมันก็ฮวบเลย เหลือสัก 30 ที่นั่ง ซึ่งแปลว่าเพื่อไทยยังได้อยู่ในเขต แม้โดนก้าวไกลตัดก็ตาม” สติธรสรุป
พรรคภูมิใจไทย – ประมาณ 70 – 80 ที่นั่ง
“แม้โพลทุกสำนักจะออกมาสวนทาง แต่น่าจะเข้าเป้าเขาแหละ (70 – 80 ที่นั่ง) เพราะในพื้นที่เขาแรงต่อเนื่องนะ ยิงไม่หยุดเลย” สติธรกล่าว
สติธรอธิบายการทำงานของพรรคภูมิใจไทยว่า เกิดจากการสร้างเครือข่าย “ระบบอุปถัมภ์ในพื้นที่” โดยใช้วิธีดึงบ้านใหญ่ในจังหวัดทั้ง นายกฯ อบจ. หรือนายกฯ เทศบาล รวมไปถึงการเมืองระดับรากฐาน เช่น กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับ อสม. ซึ่งเป็นทีมทำงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ภูมิใจไทยคุมตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ก่อนตบส่งท้ายด้วย ‘กระสุน’ เพื่อความชัวร์
การทำงานในไสตล์นี้ ทำให้พรรคภูมิใจไทยมีลุ้น ส.ส. เขตตั้งแต่ฝั่งตะวันออกถึงตะวันตก ไม่ว่า กาญจนบุรี, อุทัยธานี, ชัยนาท, อ่างทอง, อยุธยา, ปทุมธานี, นครนายก หรือสระแก้ว รวมถึงภาคใต้ตั้งแต่ สตูล, ตรัง, กระบี่, พังงา, ระนอง จนถึงภูเก็ต ดังนั้น ส.ส. เขตของภูมิใจไทยมีโอกาสถึง 50 – 60 ที่นั่งสูงมาก ขณะที่บัญชีรายชื่อได้เพิ่มเติมอีก 10 ที่นั่ง
พรรคประชาธิปัตย์ — ประมาณ 45 – 50 ที่นั่ง
“พรรคที่เคยดึงคะแนนประชาธิปัตย์ไป มันไม่พีคเหมือนรอบที่แล้ว ฉะนั้นคนที่อยู่ในปีกอนุรักษ์นิยมก็ไม่มีตัวเลือกอื่นนอกจากกลับบ้านเก่า” สติธรสรุปแนวทางประชาธิปัตย์ว่า “มีจุดยืนชัดเจนว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเดียว แล้วขอกระทรวงที่อยากได้”
ด้วยความนิยมของพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติที่ตกลง กอปกกับเลือดที่ไหลกลับพรรค ทำให้ครั้งนี้สติธรประเมินว่าพรรคประชาธิปัตย์อาจได้คะแนนพอกันกับการเลือกตั้งปี 2562
โดยพื้นที่น่าลุ้นคือ ภาคใต้ซึ่งถ้าไม่รวมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่น่าจะตกเป็นของพรรคประชาชาติ พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสลุ้นครึ่งนึงของ ส.ส. เขตทั้งหมดหรือที่ 25 ที่นั่ง ขณะที่ภาคกลางบวกกับกรุงเทพฯ อาจได้เพิ่มอีก 2-3 ที่นั่ง ดังนั้น และรวมกับบัญชีรายชื่ออาจได้ ส.ส. ทั้งหมดที่ประมาณ 45 – 50 ที่นั่ง
พรรคอื่นๆ สติธรประเมินว่า
- พรรคไทยสร้างไทย – อาจถึง 10 ที่นั่ง เนื่องจากความนิยมในตัว ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกฯ
- พรรคชาติพัฒนากล้า – ไม่เกิน 5 ที่นั่ง โดยมีลุ้นในโคราช 2 เขต และภูเก็ต 2 เขต
- พรรคเสรีรวมไทย – ไม่เกิน 3 ที่นั่ง
- พรรคเปลี่ยน – มีลุ้น 1 ที่นั่ง เพราะยุทธศาสตร์แม่นยำ หาฐานเสียงตัวเองเจอ
- พรรคไทยภักดี – รอปัดเศษ
- การจัดตั้งรัฐบาล (ถ้าไม่เกิดอภินิหารทางการเมือง)
คำถามต่อเนื่องที่น่าสนใจคือ หลังการเลือกตั้ง หน้าตาของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร?
สติธรเริ่มต้นด้วยการอธิบายว่าเกมการเลือกตั้งครั้งนี้ เสียงของ ส.ว. ยังคงสำคัญมาก และเขาไม่เชื่อว่าคนกลุ่มนี้จะโหวตสวนให้กับผู้มีอำนาจที่แต่งตั้งเขาเข้ามา ดังนั้น ถ้าพรรคร่วมฝ่ายค้านอยากจะจัดตั้งรัฐบาลต้องได้คะแนนอย่างน้อย 375 เสียง และนั่นแปลว่าจะหลีกหนีเสียงของพรรคภูมิใจไทย หรือพรรคพลังประชารัฐไม่ได้
“ถ้าได้ตัวเลขแบบที่โพลบอก ฝ่ายค้านปัจจุบันรวมกันได้สัก 300 ที่นั่ง แต่มันไม่พอ มันยังขาดอีก 75 ที่นั่ง มันก็ต้องเลือกละว่าจะเชิญลุง (พล.อ.ประวิตร) หรือเชิญพี่หนู (อนุทิน) ซึ่งมันจะยุ่งล่ะ เพราะทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลจะชว้างงูไม่พ้นคอ” สติธรกล่าว
ดังนั้น ในมุมมองของสติธร สูตรการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นไปได้มีเพียง 2 ทางเท่านั้น
- สูตรแรกคือ เพื่อไทย + พลังประชารัฐ + ภูมิใจไทย และบวกคะแนนของ ส.ว. ส่วนก้าวไกลยังคงต้องเป็นฝ่ายค้านอีกสมัย
- สูตรที่สองคือ พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม + พรรคน้องใหม่ อาทิ พรรคไทยสร้างไทย + พรรคภูมิใจไทย ซึ่งในสูตรที่สองนี้มีเงื่อนไขคือ พรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐต้องได้ ส.ส. น้อยมาก
“รวมไทยสร้างชาติต่ำกว่า 25 เสียง พลังประชารัฐสัก 30 เสียง ถ้าสองพรรคนี้หายไปเยอะค่อยไปเคีลยร์กับภูมิใจไทย” สติธรสรุปต่อว่า “มันแปลว่าสองลุงมันต้องร่อแร่มาก จนหมดความหวัง และสุดท้ายต้องกลืนภูมิใจไทย”
- อภินิหารทางการเมือง
สติธรยอมรับว่าเขายังคงมองว่ามีความเป็นไปได้ที่อภินิหารทางการเมืองจะเกิดขึ้น โดยเขาพูดถึงความเป็นไปได้ทั้งหมด 2 กรณี
กรณีแรก ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองเพื่อเลือกตั้งใหม่ กรณีนี้สืบเนื่องมาจากคำให้สัมภาษณ์ของ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่พูดถึงการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งสติธรมองว่าเป็นไปได้ และจะมีการปล่อยรัฐบาลรักษาการณ์ทำหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ แล้วหาจังหวะยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นในต้นปีหน้า เท่ากับว่า ส.ว. ยังสามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้อยู่
“ถ้าเลือกตั้งใหม่ต้นปีหน้า ส.ว. ก็ยังโหวตนายกฯ ได้อยู่ มันจะกลับมาเกมนี้อีกรอบนึง เขาก็รักษาการรัฐบาลเสียงข้างน้อยยื้อต่อได้” สติธรกล่าวต่อว่า “มันเขียนรัฐธรรมนูญมาแบบนี้ ทำให้เขามีลูกไม้ให้เล่นเยอะมาก ครั้งที่แล้วโชคร้ายที่ประยุทธ์ยังใช้อาวุธไม่ครบ แต่รอบนี้สิ่งที่เตรียมไว้จะได้ถูกใช้”
กรณีที่สอง ยุบพรรค สติธรยังเชื่อว่าการยุบพรรคการเมืองอาจเกิดขึ้นอีก โดยใช้สถานการณ์สุญญากาศทางการเมืองเป็นทางเข้าเพื่อสร้างความโกลาหล และรอคอยจังหวะเวลาที่มวลชนเริ่มเหนื่อย ก่อนตัดสินใจยุบพรรคเช่นเดียวกับที่เคยทำกับพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งปี 2562
“ทั้งก้าวไกลและเพื่อไทยมีโอกาสโดนยุบพรรคทั้งคู่” สติธรเสริมทิ้งท้ายว่า “นั่นแหละ ทำไมช่วงที่ผ่านมาเราถึงเห็นเพื่อไทยกั๊กๆ ก็เรื่องนี้แหละ ไม่กล้าหักกับเขา เพราะกลัวถูกยุบพรรค”