ใครจะได้เป็นนายกคนต่อไป การเลือกตั้งที่โปร่งใสเป็นไปได้จริงหรือ แล้วเพราะอะไรการออกไปใช้สิทธิ์จึงสำคัญต่อสังคมประชาธิปไตย ร่วมไขข้องสงสัยไปกับ ‘Whose Vote Counts, Explained’ สารคดีที่จะช่วยให้เราเห็นจุดเริ่มต้นและปัญหาของการเลือกตั้งชัดกว่าที่เคย
กระทั่งประเทศอเมริกาที่มีประชาธิปไตยมาหลายร้อยปี ก็ยังมีเรื่องที่ต้องทบทวนแก้ไขไม่จบสิ้น ฉะนั้นก็คงไม่แปลกที่เรายังเห็นประเด็นเดียวกันนี้ถูกตั้งคำถามในสังคมไทยไม่เว้นแต่ละวัน และเมื่อความ ‘เต็มใบ’ ของประชาธิปไตยไทยยังห่างชั้นกับนานาประเทศ การเลือกตั้งทุกครั้งจึงน่าจับตาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของระบบระเบียบการนับคะแนน…
เมื่อการเลือกตั้งครั้งใหญ่จะมาถึงในอีกไม่กี่อึดใจ The MATTER เลยอยากชวนทุกคนเข้า Netflix ไปทำความเข้าใจอีกครั้งว่า กระบวนการการเลือกตั้งมีจุดเริ่มต้นแบบไหน มีความยุติธรรมเพียงใด แล้วเสียงของใครกันแน่ที่ถูกนับ ขอเชิญพบกับ Whose Vote Counts, Explained สารคดีสั้น 3 ตอน ตอนละ 25 นาที ที่จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจกลไกซึ่งเริ่มต้นในคูหามากขึ้น ข้อเท็จจริงทั้งหมดถูกบอกผ่านฟุตเทจเล่าสนุก กราฟิกดูง่าย พร้อมด้วยเสียงบรรยายจากนักร้องนักแสดงที่ผลัดกันมาลงเสียง ไล่ตั้งแต่ ลีโอนาร์โด ดีคาร์ปริโอ (Leonardo Dicaprio) เซเลน่า โกเมซ (Selena Gomez) และ จอห์น เลเจนด์ (John Legend) โดยขอเล่าเรื่องย่อเพื่อป้ายยาทุกคนไว้ดังนี้…
ตอนที่ 1 The Right to Vote
พาไปสำรวจจุดเริ่มต้นและพลวัตทางการเปลี่ยนแปลงของสิทธิการเลือกตั้งในสหรัฐ ตั้งแต่จุดที่สิทธิถูกสงวนไว้เฉพาะแค่ในกลุ่มชายผิวขาว ขยับขยายสู่สตรี ชนพื้นเมือง คนดำ ไปจนถึงกลุ่มผู้อพยพ ซึ่งทุกครั้งล้วนกระทำผ่านการต่อสู้ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อเอาชนะขั้วอำนาจเดิม นอกจากนี้สารคดีตอนแรกยังชวนจับตาการเลือกตั้งท่ามกลางโรคระบาด เมื่อการเว้นระยะห่างคืออุปสรรคซึ่งรบกวนจนการเลือกตั้งทำได้ยากเกินจำเป็น ซ้ำยังนำไปสู่กลโกงต่างๆ ที่ขัดขวางการสะท้อนเสียงที่แท้จริงของประชาชน
ตอนที่ 2 Can You Buy an Election
“เสียงของเราสำคัญเท่านายทุนจริงเหรอ?”
เมื่อสังคมทุนนิยมทวีความรุนแรง ความเหลื่อมล้ำกระจายตัวไปทั่วทุกพื้นที่ ก็ไม่แปลกที่พลเมืองอเมริกันจะตั้งคำถามถึงความสำคัญของเสียงตัวเอง ตอนที่ 2 ของสารคดีจะพาไปชำแหละงบประมาณการหาเสียงและช่องทางที่นายทุนอาจจะสามารถชักจูงทิศทางของแคมเปญ ตลอดจนใช้เม็ดเงินประโคมข่าวเพื่อสร้างเสียงที่ดังกว่าเรื่องราวปัญหาของคนตัวเล็ก และเมื่อคนตัวเล็กรู้สึกว่าเสียงของตัวเองดังไม่พอ แรงจูงใจที่จะออกไปใช้เสียงก็ต่ำลง ผลลัพธ์ที่เกิดคือนายทุนสามารถผูกขาดผู้แทนที่เอื้อประโยชน์กับตนได้มากขึ้น แล้วอย่างนี้กลไกการป้องกันปัญหา ‘เสียงไม่เท่ากัน’ ฉบับอเมริกันชนจะเป็นอย่างไร…
ตอนที่ 3 Whose Vote Counts
ทำไมโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) และพรรครีพับลิกันที่ได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าจึงกลายเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งปี 2016 วิธีคำนวนเป็นแบบไหน แล้วผลการเลือกตั้งที่ได้สะท้อนความต้องการของคนจริงรึเปล่า…
ตอนสุดท้ายของสารคดีจะจูงมือผู้ชมไปรู้จักกับช่องโหว่ขนาดยักษ์ของระบบเลือกตั้งสหรัฐ ทั้งเล่ห์เหลี่ยมคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า ‘Gerrymandering (การแบ่งเขตเพื่อควบคุมผลการเลือกตั้ง)’ และระบบการจัดสรรผู้แทนแบบหนึ่งคนต่อหนึ่งเขต ที่บอกเลยว่าเมื่อได้ชมก็คงอดไม่ได้ที่จะคิดถึงอุบายการเลือกตั้งของบางประเทศไม่ใกล้ไม่ไกล
ดูตัวอย่าง Whose Vote Counts, Explained ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=rYqWhxDwg0U
และชมสารคดีได้แล้วทาง Netflix
อ้างอิงจาก