“แม้เราจะอยู่ต่างประเทศ เลือกตั้งที่ต่างประเทศมันมีความสำคัญทางใจต่อมากกว่า ว่าอย่างน้อยหนึ่งเสียงของเราในนั้นก็เป็นตัวแปรเล็กๆ ให้ผลเลือกตั้งที่จะออกมา ที่ไม่ว่าจะออกมาเป็นไงเราก็ไม่รู้สึกเสียดาย เพราะมันคือการแสดงถึงการมีตัวตนของบุคคลหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าเรามีสิทธิ์มีเสียงมีส่วนร่วมทางการเมือง เรามีส่วนในการเลือกอนาคตตรงนี้ให้กับตัวเอง”
เรียกได้ว่าเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งแล้ว ที่หลายๆ พรรคเตรียมดีเบตใหญ่ เพื่อดึงคะแนนจากหลายๆ คนที่อาจจะยังไม่ตัดสินใจ แต่สำหรับเหล่าคนไทยในต่างประเทศ เรียกได้ว่าการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรนั้น เกิดขึ้นแทบจะทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแบบคูหา หรือแบบส่งไปรษณีย์ เพื่อเตรียมพร้อมรวบรวมส่งคะแนนกลับมานับที่ประเทศไทย
The MATTER ไปพูดคุยกับคนไทยในต่างแดน ในหลายประเทศ ที่ได้มีโอกาสใช้สิทธิเลือกตั้งกันไปแล้วว่า แต่ละประเทศ มีบรรยากาศยังไง คึกคักแค่ไหน และพวกเขามั่นใจในกระบวนต่างๆ หรือไม่ ว่าคะแนนจากต่างแดน และบัตรเลือกตั้งของพวกเขา จะถูกส่งมานับทีประเทศไทยอย่างปลอดภัย
โยเกิร์ต ชาวไทยในสหรัฐฯ
เราเลือกตั้งจากประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองซาน โลเร็นโซ รัฐแคลิฟอร์เนีย เลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์ กระบวนการเลือกตั้งไม่ยุ่งยากอะไร เราต้องลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทางออนไลน์ก่อน จากนั้นเค้าจะส่งเอกสารการเลือกตั้งมาให้ที่อยู่ที่เรากรอกไป ส่วนบรรยากาศที่เมืองไทย เราได้ฟังพวกการปราศรัยหาเสียงตามทางยูทูบ จากสำนักข่าวต่างๆ การเมืองดูมีความคึกคักดีมากปีนี้
ส่วนตัวเราไม่ได้เจออุปสรรคในการเลือกตั้งอะไร ในซองเลือกตั้งเค้าจะมีกระดาษใบหนึ่งอธิบายการวิธีการเลือกตั้งไว้ค่อนข้างเข้าใจง่าย แต่เพื่อนเราหลายคนมีปัญหาเรื่องทางกงสุลส่งไปรษณีย์ไปผิดที่อยู่หลายคน ทำให้ได้รับจดหมายเลือกตั้งล่าช้า ซึ่งมันอาจจะทำให้ส่งผลคะแนนไปที่ไทยช้าได้ แต่นอกจากเรื่องนี้ เราคิดว่าการโหวตที่สหรัฐฯ ค่อนข้าง
อำนวยความสะดวกในการโหวตนอกราชอาณาจักรได้ดี ไม่ได้มีปัญหาอะไรในเรื่องนี้ แต่แม้ขั้นตอนการโหวตไม่มีปัญหา แต่ขั้นตอนการส่งคะแนนกลับไทย ทำให้เรารู้สึกไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ว่าบัตรเลือกตั้งที่เราส่งไป จะไปถึงเมืองไทยไหม เพราะเราไม่สามารถติดตามได้เลยว่าจดหมายเราจะตกหล่นไปที่ไหนรึป่าว หรือจะได้เอาไปนับคะแนนกับเขาไหม
ตอนอยู่ที่นี่เอง เราก็เห็นการเลือกตั้งในอเมริกา ที่ที่นี่ค่อนข้างง่ายกว่าตรงที่มีตัวเลือกให้คนเลือกผ่านทางเมลได้ด้วยถ้าไม่อยากไปลงคะแนนที่คูหา เราสามารถลงทะเบียนให้เค้าส่งใบเลือกตั้งมาที่บ้านได้ หลังจากเลือกเสร็จก็เอาไปหย่อนตามจุดที่เค้ากำหนดไว้ให้โดยที่จะต้องโชว์ ID การ์ดก่อนที่จะเข้าไปหย่อน ส่วนตัวเราค่อนข้างเชื่อมั่นระบบการนับคะแนนของที่นี่ว่าจะไม่มีบัตรเขย่ง และหวังว่าในเมืองไทยจะมีระบบการนับคะแนนที่น่าเชื่อถือมากกว่านี้เหมือนกัน
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโหวตนอกราชอาณาจักรครั้งที่ 2 ของเรา เราคิดว่าการที่มีเราสามารถโหวตนอกราชอาณาจักรได้ทำให้เราได้มีสิทธิ มีเสียงในการออกเสียงในฐานะที่เป็นประชนชนคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งเรารู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนนึงที่จะช่วยเลือกคนที่เราคิดว่าเหมาะสม และจะมาทำงานให้กับคนไทย แม้ว่าตอนนี้เราจะอาศัยอยู่ต่างประเทศ แต่เราอยากเห็นบ้านเมืองที่เราเกิดพัฒนาและไม่ย่ำอยู่กับที่อย่างที่ผ่านๆ มา
Scott p. ชาวไทยในแคนาดา
ผมเลือกตั้งที่แวนคูเวอร์ประเทศแคนาดา ตอนแรกว่าจะเลือกทางไปรษณีย์ แต่เห็นว่าคูหาไม่ไกลบ้านก็เลยตัดสินใจไปกาเองที่คูหาเลยดีกว่า แถมเลือกได้ 2 วัน เป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ สถานที่ที่จัดตั้งมันเป็นตึกของมหาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง เป็นแคมปัสใจกลางเมือง ใกล้กับ art museum เรียกได้ว่าบรรยากาศดีมาก (แถมวันนั้นก็อากาศดีมาก) บริเวณที่จัดระหว่างเดินไปใช้สิทธิ์ก็จะมีคนไทยคอยไถ่ถามเราตามจุดต่างๆ ด้วยความเป็นกันเองตลอดทางว่ามาเลือกตั้งใช่หรือเปล่า และในบริเวณเดียวกันก็มีมีการปราศรัยเล็กๆ มีการทำโพลสำรวจความคิดเห็น
ตลอดกระบวนการการใช้สิทธิ์ ผมไม่แน่ใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของทางการเองเลยหรือเป็นอาสาสมัคร แต่ทุกคนเป็นกันเองมาก ตอนไปยืนยันชื่อตัวเองทางเจ้าหน้าที่ก็มีถามว่าจำเบอร์ผู้สมัครบัญชีรายชื่อกับเบอร์ผู้สมัครแบ่งเขตได้แล้วหรือยัง ถ้าจำไม่ได้ก็มีแฟ้มให้ดูว่าจังหวัดไหน เขตอะไร มีเบอร์ผู้สมัครยังไงบ้าง ให้เราจำเบอร์ไปกาในคูหาอีกที ตั้งแต่ยืนยันสิทธิ์ยันเอาบัตรเลือกตั้งหย่อนลงกล่อง มีการเซ็นกำกับหมดทั้งคนใช้สิทธิ์และคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะตอนก่อนหย่อนบัตรลงหีบ ก็มีการผนึกซองและให้เจ้าหน้าที่เซ็นกำกับตรงที่ผนึกทุกซอง
ถ้าพูดถึงความสะดวกสบาย ก็ต้องบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างดีเยี่ยม ใครที่มาที่คูหาไม่ได้ ก็มีให้เลือกได้ผ่านทางไปรษณีย์ แต่อาจจะต้องพูดว่าส่วนตัวไม่ได้กังวลเรื่องความสะดวกสบาย ให้ไปกาในป่า ผมก็ไป (ฮา) แต่กลับกังวลเรื่องมาตรการในการคุ้มครองสิทธิ์ของพวกเราหลังจากที่ได้ออกเสียงไปแล้วมากกว่า
คำถามที่ผมสงสัยในฐานะประชาชนจะมีอยู่ 2 คำถาม คือ หนึ่ง ใบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่ไม่มีรูปพรรค มีแต่ตัวเลข เราจะป้องกันการสบสนได้อย่างไร เพราะแต่ละเขตเลขของผู้สมัครแต่ละพรรคไม่ใช่เบอร์เดิมเสมอไป สอง การส่งบัตรเลือกตั้งจากคูหากลับประเทศ (เจ้าหน้าที่แจ้งว่าส่งผ่านแอร์เมล) มีมาตราการการคุ้มครองเสียงของประชาชนอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งกลับให้ทันเวลา หรือการไม่ไปปะปนกับคูหาอื่นๆ จนเกิดการสับสน ทั้ง 2 คำถามผมแค่รู้สึกว่าการเลือกตั้งใหญ่ มันไม่ควรมีเรื่องอะไรแบบนี้ให้ประชาชนต้องมาสงสัยหรือกังวลอีกแล้ว มันควรจะเคลียร์ ชัดกว่านี้
ตั้งแต่อยู่มา ผมยังไม่เคยได้เห็นการเลือกตั้งที่แคนาดา แต่เคยได้ไปเห็นการเลือกตั้งที่เกาหลีใต้ครั้งหนึ่งที่ทุกอย่างเต็มไปด้วยเทคโนโลยีเพื่อความชัดเจน เคลียร์ ไม่ต้องให้ประชาชนมากังวลสงสัย คือเหมือนทางการเขาพูดอ้อมๆ ว่าเอาเวลาไปถกเถียง ไปดีเบต ไปแสดงสิทธิ์ ออกเสียงอย่างเต็มที่เถอะ ตรงนี้เราจะจัดการความชัดเจนเอง ผมที่เป็นคนนอกยังรู้สึกแบบนั้น
สุดท้ายนี้ถึงแม้ตอนนี้เราจะอยู่ที่นี่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบ้านเกิดยังไงก็คือบ้านเกิด ต่อให้พาตัวออกมาไกลแค่ไหนแล้ว หรือแทบไม่เคยกลับไป ผมคิดว่าไม่มีใครที่ไหนอยากเห็นบ้านเกิดตัวเองดิ่งเหว โดยเฉพาะถ้ามันยังเป็นบ้านเกิดที่ยังมีครอบครัว เพื่อนฝูง มีผู้คนที่เรายังรักอยู่ตรงนั้น ตรงนี้มันเลยไม่ใช่เรื่องของเราคนเดียว มันเป็นเรื่องที่ผมรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของเราที่จะช่วยประเทศชาติได้ และในอีกแง่หนึ่งก็คือความสวยงามของคนที่มันเท่ากัน คุณจะเป็นใครมาจากไหน วันนี้ วันเลือกตั้ง คุณมี 1 เสียงเท่ากับทุกคน และผมอยากออกไปเพื่อแสดงออกว่าผมยังรักและเคารพในกติกานี้
แตงโม ชาวไทยในฟินแลนด์
เราเลือกตั้งที่ประเทศฟินแลนด์ เมืองเฮลซิงกิ เป็นรูปแบบเลือกทางไปรษณีย์ เริ่มจากที่เราลงทะเบียนเลือกตั้งออนไลน์ ตรวจสอบสิทธิ์ แล้วก็รอซองมาส่งที่บ้าน ช่วงที่รอจะลุ้นมาก ในกรุ๊ปเพื่อนๆคนไทยก็จะสอบถามกันตลอด เตือนกันตั้งแต่ช่วงลงทะเบียนก่อนหมดเขต จะมีอัปเดตกันเรื่อยๆ ว่า ใครได้ซองแล้วบ้าง ใครวางแผนจะส่งคืนทางไปรษณีย์ หรือว่าจะไปส่งด้วยตัวเองที่สถานทูต บรรยากาศในวงรู้จักเล็กๆ ของเราก็ค่อนข้างแอ็กทีฟ แต่ไม่สามารถบอกภาพรวมคนไทยในประเทศได้ทั้งหมดแน่นอน
ปัญหาที่เราเจอคือ อย่างแรกเราคิดว่าระยะเวลาตอนลงทะเบียนจนถึงการส่งคืนบัตรเลือกตั้ง ค่อนข้างสั้น ไม่ค่อยเผื่อเวลาสำหรับการผิดพลาด ทั้งระบบล่มตอนลงทะเบียน หรือติดปัญหาที่การจัดส่งทั้งขาไปและขากลับ สองคือ เราและเพื่อนๆ ในหลายๆประเทศ พบเจอปัญหาการสื่อสารของแต่ละที่ไม่เป็นมาตรฐาน ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน เราจะติดต่อปรึกษากัน ตอนลงทะเบียนไม่ได้ สถานทูตไทยประเทศหนึ่งแจ้งแบบนี้ อีกที่แจ้งแบบนี้ ปัญหาการสื่อสารประชาสัมพันธ์เรื่องการเลือกตั้งทั้งกระบวนควรปรับปรุงทั้งในแง่เนื้อหาการสื่อสาร และช่องทางการสื่อสาร สามอันนี้เป็นอุปสรรคของเพื่อนลูกครึ่ง ที่พูดไทยได้ มีบัตรประชาชนไทย อยากมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง แต่อ่านภาษาไทยไม่ได้ ตรงนี้เราคิดว่าจะดีไหม ถ้าเราคู่มือช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลการลงคะแนนเลือกตั้งได้ดีขึ้นในภาษาอังกฤษ แบบคู่มือสื่อสารฉบับเข้าใจง่ายทางเว็บไซต์ก็ได้ เพราะถ้าเราคิดว่าทุกเสียงของทุกคนมีค่า เราก็ไม่ควรตัดโอกาสของคนกลุ่มนี้เช่นกัน
แต่ถึงอย่างนั้นเราคิดว่าการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของเราที่นี่ สะดวกกว่าที่คิด แต่มีการกังวลระหว่างทางตลอดว่าจะมาถึงมือเราทันไหม แล้วเราจะส่งกลับทันหรือเปล่า สำหรับเรายังโชคดีที่สามารถนำบัตรไปส่งด้วยตัวเองที่สถานทูตได้ เพราะเดินทางไม่ไกล แต่สำหรับคนที่ไม่มีทางเลือกอื่น จะต้องลุ้นกับการส่งทางไปรษณีย์ว่าจะทันก่อนหมดเขตหรือเปล่า หากมีการปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นให้สมกับงบประมาณที่ใช้ก็คงจะดีกว่านี้มาก
พูดถึงความมั่นใจ แน่ใจ ว่าคะแนนของเราจะไปถูกนับที่ไทยไหม ก็ตอบได้ว่าไม่มั่นใจในการทำงานของ กกต.เลย และคิดว่าถ้าสามารถลดขั้นตอนการส่งกลับไปนับที่ไทย นับที่สถานทูตในแต่ละประเทศ เชิญชวนประชาชนคนไทยในประเทศนั้นๆ มาเป็นพยานการนับคะแนน ไม่ต้องกังวลว่าการขนส่งจะล้าช้า การขนส่งจะผิดพลาด ถ้าเราออกแบบระบบการนับคะแนนที่ต่างประเทศ ให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มั่นใจว่ากกต. เคยถอดบทเรียนจากความผิดพลาดที่เกิดจากการเลือกตั้งรอบที่แล้วแค่ไหน ที่มีปัญหาการขนส่ง บัตรมาไม่ถึงไทย และอื่นๆ อีก แต่ลึกๆ ก็ยังหวังว่า กกต. จะมีความซื่อสัตย์ โปร่งใส ไม่ทรยศหักหลังประชาชนและตั้งใจทำงานเพื่อประชาชนด้วยความจริงใจ ทำหน้าที่ตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่คดโกงเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มนึงหรือเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
ช่วงก่อนที่ประเทศเราเปิดลงทะเบียนเลือกตั้ง ที่ฟินแลนด์ก็เป็นช่วงโค้งสุดท้ายสำหรับเลือกตั้งใหญ่เหมือนกัน! ทุกที่ในเมืองก็จะคึกคักมาก มีคนแจกใบปลิว ถือไมค์พูดหาเสียงตามจุดต่างๆ ป้ายหาเสียงสีสันหลากหลาย ป้ายไม่ค่อยขวางทาง อาจจะเพราะทางเท้าค่อนข้างใหญ่ เท่าที่เห็นผู้คนดูตื่นตัวกับการเลือกตั้งดี แต่ก็ต้องบอกว่าเราไม่ได้รู้รายละเอียดมาก เพราะเพิ่งย้ายมา มีถามเพื่อนๆ บ้างว่าแต่ละพรรคเป็นยังไง นโยบายเป็นยังไง แต่ก็ไม่ได้เจาะลึก สิ่งที่อยากเห็นในการเมืองไทยเหมือนที่เห็นในฟินแลนด์คือ ที่นี่สัดส่วนของเพศหญิงในบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งมีมากขึ้น จากสถิติที่เค้าบอกคือ คิดเป็น 42.9% ของผู้สมัคร ก็ฝันอยากเห็นทั้งความหลากหลายทางเพศในสภามากขึ้น และรวมทั้งความหลากหลายด้านอื่นๆ ด้วยในการเมืองไทยบ้าง
เราคิดว่าเสียงของเรา ที่แม้อยู่ต่างประเทศก็สำคัญ เพราะเรามองว่าไม่ว่าอยู่ที่ไหนเราก็ยังเป็นคนไทย และการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เราเชื่ออย่างมากว่าทุกเสียงของประชาชนนั้นสำคัญ เสียงประชาชนควรจะดังที่สุด เสียงของประชาชนคนไทยไม่ว่าอาศัยอยู่ที่ไหนก็ควรเป็นการหนึ่งในเสียงที่สามารถกำหนดทิศทางประเทศว่าเราอยากมีผู้นำประเทศแบบไหน ถ้าเราไม่อยากเห็นผู้นำที่ไล่จับประชาชนที่เห็นแย้งกับตัวเอง เราอยากเห็นนโยบายเปลี่ยนแปลงประเทศให้เท่าทันโลก และมีการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างในหลายๆ ด้าน หน้าที่ของเราคือการที่เรารู้จักใช้สิทธิ์ใช้เสียง เราออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เราหาข้อมูลนโยบายพรรคต่างๆ มาศึกษา หาข้อมูลตัวแทนส.ส. ที่จะเข้าไปทำงานแทนเราในสภา อ่าน คิด วิเคราะห์ ถกเถียง และท้ายที่สุดการกระทำที่เราพอจะทำได้ ก็คือการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ใช้เสียงที่เรามีให้ดีที่สุด ถือว่าเป็นเป็นหน้าที่ที่เราทำได้
มะไฟ ชาวไทยในออสเตรเลีย
เราเลือกตั้งที่ประเทศออสเตรเลีย ที่ซิดนีย์ เป็นการเลือกตั้งแบบคูหา (mobile unit) แต่จริงๆ อาศัยอยู่เมลเบิร์น ขั้นตอนเลือกตั้งที่นี่เริ่มแรกเลยคือต้องลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าแบบออนไลน์ให้ทันตามเวลาที่กำหนด ไม่งั้นไม่มีสิทธิเลือกตั้งทุกกรณี ซิดนีย์เปิดให้เลือกตั้งแบบคูหาวันศุกร์ที่ 28 เมษายน – วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม ไปเลือกที่โรงแรมที่ตั้งอยู่ในไทยทาวน์บรรยากาศค่อนข้างคึกคัก ขนาดเราไปเช้ายังมีคนต่อคิวแล้ว มีทั้งคนสูงอายุลงไปถึงนักเรียน แต่เป็นไปอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีใครวุ่นวาย ไม่มีคนคุยกันข้างในที่เลือกตั้ง ออกมาคุยกันข้างนอกมากกว่า เจ้าหน้าที่เยอะ คอยอำนวยความสะดวกตลอด หลังจากที่ลงทะเบียนเช็คชื่อใดๆ ก่อนเข้าไปกาเจ้าหน้าที่จะถามย้ำหลายครั้งว่าแบบรู้เบอร์ที่จะเลือกส.ส. เขตไหม รู้ไหมว่าเราอยู่เขตอะไร รู้สึกว่ากาง่าย ใบสีเขียวมีเขียนชื่อพรรคเลยไม่ผิดชัวร์ จำไปแค่เลขเดียวสำหรับบัตรม่วง
การเลือกตั้งทุกอย่างเจ้าหน้าที่ทุกคนเป็นคนไทย แล้วก็คนที่เลือกตั้งก็เป็นคนไทย เพราะฉะนั้นรูปแบบการเลือกตั้งทุกอย่างมันคล้ายกับตอนที่เลือกตั้งที่ไทยมากๆ เจ้าหน้าที่ทุกคนพูดจาดี ไม่ได้มีการทำให้เรารู้สึกไม่สะดวกสบายใดๆ หรือรู้สึกว่าเค้าอยู่คนละฝั่งกับเรา ถ้าจะเอามาปรับใช้กับไทยน่าจะเป็นเรื่องมารยาทที่ดี เซอร์วิสดีในทุกๆ ขั้นตอน พูดจาดี ระหว่างที่เรารอเข้าไปเลือกตั้งมีคุณป้าแก่ๆ คนหนึ่งเดินเข้ามาถามถึงเรื่องสิทธิ์การเลือกตั้ง เค้ามาแบบงงมากๆ พูดวนไปวนมา แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้โกรธหรือหงุดหงิดแต่ว่าค่อยๆ อธิบาย ก็รู้สึกว่าพูดจาดีจัง ใจเย็นมาก
อยากเพิ่มเติมเรื่องบรรยากาศตอนเลือกตั้งนิดหนึ่ง คือด้วยความที่มันเลือกที่โรงแรมที่อยู่ในไทยทาวน์แล้วร้านอาหารแถวๆ นั้นทั้งหมดคือติดป้ายโฆษณาให้พรรคก้าวไกลหมดเลย ตรงนั้นบรรยากาศคือรู้สึกมีความหวังมากกว่าทุกคนที่อยู่ในซิดนีย์อยู่ฝั่งประชาธิปไตยฝั่งเดียวกับเรา
นอกจากบรรยากาศจริงๆ อยากให้มีการประชาสัมพันธ์สำหรับช่วงการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าให้มากกว่านี้เพราะว่าจากที่ดูในเฟซบุ๊กของสถานทูตมีคนที่หลุดเยอะเหมือนกัน คือไม่ทราบว่าลงทะเบียนภายในเมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่ และพูดถึงระบบการเลือกตั้ง ด้วยความที่เราไปเลือกเองที่คูหาเลยรู้สึกค่อนข้างมั่นใจ เพราะว่าเป็นคนหย่อนลงไปในหีบเองก็เลยรู้สึกว่าบัตรน่าจะถึงแน่ๆ แต่ว่าสำหรับการส่งไปรษณีย์รู้สึกว่าอันนั้นจะไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ว่าจะถึงหรือเปล่า ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมแต่ว่าในปีนี้รู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่าเสียงของเราจะส่งไปถึงรู้สึกกว่ารอบที่แล้ว ที่กกต. ทำไว้แย่มากๆ แต่ปีนี้เรารู้สึกมีความหวัง
ถามว่าอยากให้ปรับปรุงอะไร เราอยากให้กกต. ทำระบบการเลือกตั้งล่วงหน้าให้ชัดเจนกว่านี้ เพราะเท่าที่ถามมีคนเลือกผิดเยอะมาก คืออยากให้ ประสานกับสถานทูต กับ กงสุลให้มั่นใจว่าเลือกถูกต้อง และได้เลือกแน่ๆ
เราว่าเสียงของเราในต่างประเทศสำคัญ เรามองว่าเรามาใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศมาเรียน และทำงานที่ต่างประเทศมันไม่ใช่ว่าเราเกลียดประเทศไทย เราอยากให้ประเทศมันล่มจม ไม่ใช่ เพราะครอบครัวเราเพื่อนเราชีวิตเรา 20 กว่าปีก็คือโตมาแล้วก็อยู่ที่ประเทศไทย รู้สึกว่าเสียงของคนไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนมันมีค่าเท่ากันหมดเลย เพราะว่ามันเป็นประเทศที่คนไทยเกิดแล้วก็เติบโตแล้วก็อาศัยอยู่ ณ ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต เราอยากเห็นว่าประเทศมันดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น ในอนาคตเราอาจจะกลับไปใช้ชีวิตที่ไทยอยู่ช่วงนึงก็ได้หรือว่าเราอยากที่จะนำความรู้ที่เราเรียน ที่นี่ประสบการณ์ที่นี่กลับไปพัฒนาหรือว่าเสริมอะไรที่ประเทศไทย คือรู้สึกว่าอยากให้ประเทศไทยพร้อมแล้วก็มีโอกาสให้คนไทยที่อยู่ต่างประเทศเราได้นำความรู้กลับไปพัฒนาต่อยอดได้ให้ประเทศมันดีขึ้นเรื่อยเรื่อย เราอยากเห็นประเทศไทยมันเจริญก้าวหน้าขึ้นไปจริงๆทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคมสิ่งแวดล้อมการพัฒนาแบบอย่างยั่งยืน เราเห็นถึงศักยภาพ แล้วอยากเลือกให้คนที่พร้อม ที่เก่ง ที่มีความรู้ด้านนั้นๆมาบริหารประเทศ
ยอนจิน ชาวไทยในเกาหลีใต้
เลือกตั้งที่ กรุงโซล เกาหลีใต้ รูปแบบคูหาเลือกตั้ง ที่จัดที่สถานทูตไทยในเกาหลีใต้ เราว่าที่เกาหลีค่อนข้างจัดคูหาเป็นระบบมาก เข้าไปถึงจะมีเจ้าหน้าที่ถามเรื่องการเช็กลำดับที่ว่าชื่อเราอยู่ลำดับไหน ในการลงทะเบียน ซึ่งจะง่ายต่อการลงทะเบียน ถ้าใครยังไม่เช็กก็มีคิวอาร์โค้ดให้เช็ก แล้วหลังจากนั้นก็ลงทะเบียน เซ็นชื่อตัวเอง ได้รับซอง และบัตรเลือกตั้ง พร้อมการอธิบายจากเจ้าหน้าที่ถึงการกา และการพับบัตร เข้าคูหาไปกา ออกมายื่นให้เจ้าหน้าที่เซ็น ปิดผนึกซอง และก็หย่อนกล่องเป็นอันเสร็จเรียบร้อย
ที่คูหาเราไม่เห็นปัญหาอะไร ค่อนข้างเป็นไปอย่างรวดเร็ว และราบรื่น แต่เราว่าบัตรเลือกตั้งของ กกต. คือปัญหา โดยเฉพาะใบสีม่วงสำหรับกา ส.ส.เขต เพราะไม่มีอะไรยืนยันว่าคือเขตบ้านเรา รวมถึงไม่มีเบอร์ และชื่อผู้สมัครด้วย รู้สึกว่ามันง่ายต่อการกาผิด หรือการจะโกงมากๆ เราคิดว่าบัตรมันควรทำให้ง่าย เห็นแล้วรู้ว่าต้องกาอะไร ตรงไหน หลายคนจำหน้าผู้สมัคร จำพรรค จำชื่อได้ แต่จำเบอร์ไม่ได้ ก็มี สุดท้ายก็ต้องไปพยายามจำเบอร์มา ซึ่งเอกสารผู้สมัครของ กกต.ก็มีคลาดเคลื่อนอีกหลายเขตอีก
สำหรับเราการเลือกตั้งที่เกาหลีค่อนข้างสะดวก แต่ก็เห็นคอมเมนต์ของคนไทยในเกาหลีหลายคน ที่อยู่ทางภาคใต้ ซึ่งค่อนข้างไกลจากโซล และอีก 2 หน่วยเลือกตั้งที่สถานทูตในเกาหลีจัด ว่าไม่มีหน่วยเลือกตั้งใกล้ๆ เขา ทำให้ไม่สะดวกไปลงคะแนน เลยคิดว่ามันน่าจะมีวิธีการ ที่ทำให้รวมเสียงประชาชนในต่างแดนได้มากกว่านี้เหมือนกัน เพราะจริงๆ แล้วคนที่อยากเลือกก็มี แต่ไม่สะดวกมา รวมไปถึงหลายคนที่ไม่รู้เรื่องการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้ามาก่อนเลยก็มีเยอะ เราเห็นคนที่มาถามที่คูหา ว่ามาลงทะเบียนจะเลือกตั้งได้ไหม เราคิดว่า กกต. ยังบกพร่องในการประชาสัมพันธ์ให้คนเข้าถึงข้อมูลตรงนี้มากๆ ทำให้หลายคนเสียสิทธิ์ของตัวเองไป
ถามถึงความมั่นใจใน กกต. เราก็บอกได้ว่า เราไม่มั่นใจเลย และเราคิดว่าจริงๆ คนไทยไม่ควรจะต้องมากลัว หรือกังวลแบบนี้ด้วย แต่จากข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับการทำงานของ กกต. ดูเหมือน กกต. ไม่ได้ตั้งใจทำงานเพื่อปกป้องคะแนนเสียงของประชาชนให้เป็นไปอย่างสุจริตซักเท่าไหร่ จึงไม่แปลกใจที่คนไทยในต่างแดน จะหวั่นๆ เพราะเลือกตั้งรอบก่อนนี้ ก็มีข่าวบัตรเขย่ง บัตรไม่ไปถึงมากันแล้ว ทั้งเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรยังเกิดขึ้นก่อนในไทยตั้ง 2 สัปดาห์ ระหว่างนั้นเราไม่แน่ใจเลยว่า มันจะถูกกระจายส่งไปถึงแต่ละเขตเลือกตั้ง หรือบัตรของเราจะมีชะตากรรมอย่างไร จริงๆ ถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีการนับคะแนนที่คูหาประเทศนั้นๆ กันไปเลยเหมือนกัน จะได้ลดขั้นตอนการส่ง การไม่โปร่งใสใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทาง
ตอนอยู่ที่เกาหลี เราเห็นบรรยากาศการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลี ปีที่แล้ว (2022) เราว่าอย่างแรกคือ เกาหลีใต้ติดป้ายเลือกตั้งเป็นระเบียบมาก คือมีที่เป็นจุดๆ ที่จัดไว้ให้ และติดทุกพรรครวมกัน หรือถ้าตามแยก ก็มีขึงป้ายตามเสา หมดปัญหาเรื่องป้ายเกะกะคนเดินไปมา ตามฟุตบาทเลย ทั้งตอนเลือกตั้งยังเป็นช่วงที่โควิดยังระบาดอยู่ แต่ก็มีการเปิดคูหาสำหรับผู้ป่วยโควิด หรือจัดเวลาให้ผู้กักตัว หรือติดโควิดมาโหวตได้ด้วย ทำให้เรารู้สึกว่า เค้าเห็นความสำคัญของคะแนนเสียงประชาชนจริงๆ อย่างสุดท้ายที่มองว่า กกต.ไทยน่าเอาแบบอย่างมากๆ คือการนับคะแนน เพราะโชว์การนับเรียลไทม์ อย่างโปร่งใส และทีวีทุกช่องก็ได้รับคะแนนนี้มารายงานพร้อมๆ กัน มันทำให้ไร้ข้อกังขา หรือความน่าสงสัยในการนับคะแนน ซึ่งเราว่าอันนี้ประชาชนไทย ทั้งในและต่างแดน คงต้องการมั่นใจ ว่าจะไม่มีการตุกติกในขั้นตอนเหล่านี้จริงๆ
สุดท้ายแล้ว เราว่าเสียงของคนไทย ไม่ว่าอยู่ที่ไทย หรืออาศัยอยู่ต่างแดนก็สำคัญเท่ากัน เราก็ไม่อยากกลับไปไทย และพบว่า ตลอดหลายปีที่เราไม่อยู่ ประเทศไทยไม่ได้พัฒนาไปเลย หลายคนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศชอบบ่นว่า กลับไทยไปแปปเดียวก็หงุดหงิดแล้ว ทั้งเรื่องฝุ่น หรือคมนาคม เราเองก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย และไม่อยากเห็นคนไทยคนอื่นๆ ต้องอยู่กับระบบที่ไม่ยุติธรรม หรือลิดรอนสิทธิ์ หรือขัดโอกาสไม่ให้ได้เติบโต ดังนั้นเราคิดว่าเสียงของเรา ไม่ว่าจะอยู่ตัวจะอยู่ที่ประเทศไทย หรือประเทศไหน ก็เป็นเสียงที่สำคัญเหมือนกัน