หลายคนน่าจะเคยได้ยินเพื่อนๆ พูดภาษาที่ฟังเหมือนมาจากต่างดาว แต่ซ่อนโครงสร้างภาษาที่น่าสนใจเอาไว้อย่าง ‘ภาษาลู’ และเพื่อความเข้าใจที่ลึกซึงในภาษานี้มากยิ่งขึ้น The MATTER ขอสรุปสารนิพนธ์ ‘ลาภูลาษูซูแล: ภาษาลูกับการสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มกะเทย’ เพื่อดูว่าที่มาของภาษานี้มาจากไหน ทำไมถึงแพร่หลายในกลุ่ม ‘กะเทย’ และมันมีวิธีการใช้อย่างไร
เกริ่นกันก่อนว่าสารนิพนธ์ชิ้นนี้จัดทำขึ้นโดย ปุณยาพร รูปเขียน จากคณะศิลปศาสตร์ ภาควิชามานุษยวิทยา โบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยผู้จัดทำได้พูดคุยเชิงลึกกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ 10 คนเพื่อวิเคราะห์ถึงความสำคัญของภาษาที่มีส่วนในการสะท้อนสังคมและอัตลักษณ์ประจำกลุ่ม
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านสารนิพนธ์ฉบับเต็มได้ที่: http://www.sure.su.ac.th/xmlui/handle/123456789/15269
– ที่มาของภาษาลู
หลายคนน่าจะเคยสงสัยว่าภาษาลูมีที่มาจากไหน และอันที่จริงสารนิพนธ์ฉบับนี้ก็ไม่ได้ชี้แน่ชัดนัก แต่จากการค้นคว้าพบว่า มีการใช้ภาษาลูกันมานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยมีการค้นหาคำว่า ‘ภาษาลู’ บนโลกอินเตอร์เน็ตครั้งแรกเมื่อปี 2006 และมีการเขียนบทความ ‘ภาษาลู รู้ไว้ไม่เสียหาย’ ลงในเว็บไซต์ dek-d เมื่อปี 2007 ซึ่งอาจแปลได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ภาษานี้เกิดขึ้นมา หรือได้รับความนิยม
แต่จากการเก็บข้อมูลของผู้เขียน 2 ใน 10 ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ให้ข้อมูล พวกเขาเคยถูกทักว่าทำไมถึงพูดภาษาลู และเคยติดคุกมาหรือถึงได้พูดภาษานี้ได้ ซึ่งตรงกับบทความบนเว็บไซต์ dek-d ซึ่งเคยเขียนไว้ว่า “ภาษาลูมาจากคนคุกพูดกัน เพื่อไม่ให้ผู้คุมรู้ว่าไปทำอะไรมา”
– ทำไมภาษาลูถึงกลายเป็นภาษา ‘กะเทย’
แต่เดิมกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นกลุ่มชายขอบของสังคม ไม่สามารถเปิดเผยตัวได้มากนักเพราะขัดต่อขนบ พวกเขาจึงมีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมา
ถึงแมัยังไม่แน่ชัดในเรื่องที่มา แต่จากการเก็บข้อมูลพบว่า กลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่เริ่มใช้ภาษาลูครั้งแรกในสมัยวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยคึกคะนอง อยากรู้อยากลอง และเมื่อถึงช่วงวัยรุ่นที่กลุ่มกะเทยตระหนักว่าตัวเองไม่เหมือนผู้หญิงและผู้ชาย จึงมีการมองหาต้นแบบของตัวเอง นำไปสู่การเรียนรู้จากรุ่นพี่กะเทยและสร้างอัตลักษณ์ภายในกลุ่ม เช่น ภาษา, กริยาท่าทาง หรือพฤติกรรม
สอดรับกับเหตุผลที่กลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์เลือกใช้ภาษาลู โดยเรียง 5 ลำดับได้ ดังนี้ ไม่ต้องการให้คนนอกรู้เรื่อง, นินทา, พูดเรื่องทะลึ่งลามก หยาบคาย, สนุกสนาน สีสัน ดราม่า และจริตจะก้าน และสะท้อนความเป็นพวกเรา ไม่ใช่พวกเขา
หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์อีกคนยอมรับว่า การใช้ภาษาลูทำให้คนภายนอกรู้ทันทีว่าตัวเองเป็นกะเทย การใช้ภาษาลูจึงเป็นการเปิดเผยตัวตนและรสนิทางเพศของตนสู่ภายนอก
ที่น่าสนใจอีกประการคือ ภาษาลูมีหลักการ แต่ไม่มีกฎเกณฑ์ในการใช้ การใช้ภาษาลูจึงยังเป็นตัวแบ่งระดับเลเวลของผู้ใช้ภาษาได้อีกด้วย เช่น หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์ที่บอกว่าตัวเองมักลดคำ เพื่อพูดภาษาลูให้ผิดเพี้ยนไปจากหลักการเดิม ซึ่งนอกจากทำให้ตัวเองดูเป็นผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังทำให้มองคนที่แปลภาษาลูทุกคำว่าเป็น ‘กะเทยแบบเบบี๋’
– วิธีการใช้ภาษาลู
หลักสำคัญของภาษาคือการใช้ และวันนี้เราจะสรุปวิธีการใช้ภาษาลูจากสารนิพนธ์ชิ้นนี้ให้อ่านกัน แต่ต้องย้ำอย่างที่เขียนไปข้างต้นก่อนว่า ภาษาลูมีหลักการ แต่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ดังนั้น วิธีการใช้ที่ยกมาจึงเป็นแค่ ‘ภาษาลู 101’ เท่านั้น
- นำคำว่า ‘ลู’ ไว้ด้านหน้าของคำที่ต้องการ หลังจากนั้นจึงนำคำมาผวน โดยยังคงตัวสะกดและวรรณยุกต์เดิมไว้ เช่น คำว่า ‘เสื้อ’ ให้เติมคำว่า ‘ลู’ ด้านหน้ากลายเป็น ลู – เสื้อ เมื่อนำมาผันจึงกลายเป็น เลื่อ – สู้ หรือ คำว่า ‘มาก’ ที่เติมคำว่า ‘ลู’ กลายเป็น ลู – มาก และกลายเป็นคำว่า ลาก – มูก
- ในกรณีที่คำหน้าเป็น รอเรือ หรือ ลอลิง ให้นำอักษร สอเสือ หรือ ซอโซ่ มาใส่แทน แล้วค่อยผวน เช่น คำว่า ‘รัก’ ที่กลายเป็น ซัก – ลุก หรือคำว่า ‘ร้อน’ ที่กลายเป็น ซ้อน – ลู้น
- ในกรณีที่เป็นคำสระอู ต้องเปลี่ยนเป็น สระแอ หรือ สระอี แทน แล้วค่อยผวน เช่น คำว่า ‘จูบ’ ที่อาจผวนเป็นได้ทั้งคำว่า หลูบ – จีบ หรือ หลูบ – แจบ หรือคำว่า ‘ลูก’ ที่อาจเป็นได้ทั้งคำว่า ซูก – แลก หรือ ซูก – ลีก
- ในกรณีที่คำมีความซับซ้อนหรือมีหลายพยางค์ ให้นำมาเปลี่ยนเป็นภาษาลูทีละคำ เช่น คำว่า ‘กะเทย’ ที่กลายเป็นคำว่า หละ – กุ เลย – เทย หรือคำว่า ‘ขอบคุณ’ ที่กลายเป็นคำว่า หลอบ – ขูบ ลุค – คิน
ในกรณีท้ายสุดนี่อาจเป็นการวัดกันถึงความเชี่ยวชาญภาษาลู เพราะผู้ใช้บางคนอาจเลือกตัดคำให้สั้นลง เช่น คำว่า ‘กะเทย’ จะเหลือแค่ กะเลย – ทูย เท่านั้น
ในโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย การเรียนรู้อัตลักษณ์ของผู้อื่นเพื่อเข้าใจพวกเขาให้มากขึ้นและอยู่ด้วยกันได้ดีขึ้น ดังนั้น ลามูเลียนซูลาภูลาษูซูแลลันกูเลอะทู
อ้างอิงจาก
http://www.sure.su.ac.th/xmlui/bitstream/handle/123456789/15269/BA_Poonyaporn_Roopkean.pdf